Tuesday, February 27, 2007

การปฏิบัติภาวนา โภวา

ในธรรมเนียมปฏิบัติของพุทธศาสนาสายทิเบต การภาวนาโภวา ถือเป็นการปฏิบัติภาวนาที่คุณค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับความตาย คำว่า “โภวา (Phowa)” หมายถึง การเคลื่อนย้าย ส่งต่อ หรือ ปลดปล่อยจิตวิญญาณ เข้าสู่สภาวะแห่งสัจธรรม หลักการปฏิบัติที่สำคัญที่จะทำให้การภาวนานี้ เป็นผลสำเร็จ คือ การอัญเชิญองค์พระพุทธเจ้า หรือองค์แห่งความปัญญาตื่นรู้ มาผนวกกับการอุทิศตนและการเปิดรับอย่างกว้างขวางของเรา โดยจะต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติเป็นประจำจนชำนาญ ตลอดชีวิตของเรา
การภาวนาโภวานี้ เป็นหนึ่งในหกของคำสอนหลัก ของท่าน นาโรปะ (Naropa) เมื่อประมาณพันปีมาแล้ว ท่านโซเกียล รินโปเช (Sogyal Rinpoche) อธิบายว่า การภาวนาโภวานี้ ไม่ใช่เป็นการภาวนา สำหรับในกรณีของความตายอย่างเดียว แต่สามารถใช้ชำระล้างความเศร้าเสียใจ ความเจ็บปวด หรือความรู้สึกทางลบของเราได้ และสามารถใช้ช่วยเยียวยาทั้งทางอารมณ์และทางร่างกาย การปฏิบัติภาวนาโภวา เป็นการปฏิบัติที่ใช้ได้สำหรับทั้งในการดำเนินชีวิตตลอดชีวิตของเราและในเวลาที่เรากำลังจะตาย และเป็นการปฏิบัติภาวนาที่สำคัญที่เราจะใช้ได้ ในการช่วยเหลือผู้อื่นในทางจิตวิญญาณ ในขณะที่เขากำลังจะตาย และหลังจากนั้น
ถ้าเราปฏิบัติภาวนาโภวาบ่อยๆ แรงจูงใจแห่งความรักความเมตตา และความมั่นใจในการอุทิศตนทางจิตวิญญาณของเรา จะยิ่งลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จิตใจของเราจะเปิดออกอย่างกว้างขวางขึ้น ถ้าเราเตรียมตัวสำหรับการตายของเราด้วยการภาวนาซึ่งเต็มไปด้วยการอุทิศตนและความวางใจเช่นนี้จนคุ้นเคย เราจะได้รับผลที่ดีตอบแทนในภายหลัง เช่น ความกลัวตายของเราจะลดน้อยลง และแม้ว่า เราจะต้องประสบอุบัติเหตุ และจะต้องเผชิญความตายที่กะทันหัน เราจะรู้ว่า จะปล่อยวางชีวิตอย่างไรโดยอัตโนมัติ โดยอาศัยความคุ้นเคยและชำนาญในการปฏิบัติภาวนาโภวานี้
หากเราปฏิบัติภาวนาโภวาอย่างสม่ำเสมอ และจริงจัง เราจะพบว่า ในยามที่คนที่เรารักกำลังมีความทุกข์หรือกำลังจะตาย เราจะสามารถช่วยเหลือเขาได้ด้วยความรักและความเมตตากรุณาทั้งหมดของเรา ด้วยการปฏิบัติภาวนาโภวานี้ให้แก่เขา ในเวลาที่เราได้ยินข่าวร้ายหรือหายนภัยทางธรรมชาติ เราจะตระหนักว่า เราสามารถจะช่วยเหลือเขาได้และไม่ต้องจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ และเศร้าหมองเท่านั้น ด้วยการภาวนาโภวาเพื่อประโยชน์ทางจิตวิญญาณให้แก่ผู้ที่ประสบทุกข์ภัยนั้น
แม้ว่าท่านจะปฏิบัติภาวนาโภวาได้ในทุกขณะตลอดชีวิต แต่การปฏิบัติสำหรับสภาวะที่ใกล้จะตาย เป็นการภาวนาที่มีพลังมากที่สุด โดยควรจะปฏิบัติให้แก่ผู้ที่กำลังจะตาย ในขณะที่เขากำลังจะสิ้นใจ หรือทันทีที่ท่านได้ทราบข่าวการตายของเขา หากท่านไม่สามารถจะอยู่ใกล้ๆ เขาได้ในขณะนั้น ให้ท่านจินตนาการว่า ตนเองกำลังภาวนาอยู่ข้างๆ กายเขา ทั้งนี้ การภาวนาโภวา จะช่วยนำทางให้วิญญาณของผู้ตาย ให้เข้าสู่สภาวะของจิตเดิมแท้ที่บริสุทธิ์สว่าง ได้ดียิ่งขึ้น

วิธีการปฏิบัติภาวนาโภวา ให้ตนเอง
ให้เริ่มต้นด้วยการนั่งเงียบๆ กลับมาอยู่กับกายและใจของตัวเอง ผ่อนคลายอยู่ในปัจจุบันขณะ ก่อนจะเริ่มการภาวนา ให้บ่มเพาะความปรารถนาที่เต็มไปด้วยความรักความเมตตาขึ้นในใจของท่าน ดังที่แนะนำไว้ในหนังสือ คัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต (The Book of the Dead) ของท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช โดยอธิษฐานว่า “โดยอาศัยความตายนี้ ข้าพเจ้าจะน้อมนำสภาวะจิตแห่งการตื่นรู้ และแห่งความรักความเมตตาเข้ามาสู่ตน และจะมุ่งสู่การบรรลุหลุดพ้น เพื่อประโยชน์แห่งสรรพชีวิต ที่มากหลายไม่รู้จบสิ้น”

v จากนั้น ด้วยหัวใจทั้งหมดของท่าน ให้ท่านอัญเชิญพระพุทธองค์ หรือ องค์ผู้ซึ่ง
มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือศรัทธา มาปรากฏอยู่บนท้องฟ้าตรงเบื้องหน้าของท่าน โดยพระองค์นั้น ปรากฏมาในรูปของแสงสว่างที่ส่องรัศมีโชติช่วง ให้ท่านตระหนักเห็นคุณสมบัติแห่งปัญญาที่สมบูรณ์ ความรักความเมตตาที่ไร้ขอบเขต และพลังอำนาจที่ไร้ขีดจำกัด ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นขององค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์พระองค์นั้น เป็นคุณสมบัติ ที่ไม่แตกต่างจากคุณสมบัติแห่งปัญญาที่ท่านมีอยู่โดยธรรมชาติ
ให้ท่านจินตนาการว่า องค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์นี้ อยู่ต่อหน้าท่านบนท้องฟ้าในขณะนี้ โดยมีชีวิต มีลมหายใจ และมองลงมายังท่านด้วยความรักและความเมตตากรุณา ถ้าท่านไม่สามารถจะคิดภาพพระพุทธองค์หรือองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดได้อย่างชัดเจน ก็ขอให้ท่านจินตนาการ องค์แห่งปัญญาและความรัก ผู้ซึ่งเป็นองค์แห่งความจริงแท้ ดำรงอยู่บนท้องฟ้าเบื้องหน้าท่านในรูปของแสงสว่าง ขอให้ท่านผ่อนคลายกายและใจอย่างลึกซึ้ง และให้แสงสว่างขององค์ท่านผู้นั้น มาสัมผัสกับตัวท่าน

v ให้ท่านเปิดตัวเองออกเต็มที่ และตระหนักเห็นส่วนที่ต้องการชำระล้างให้
บริสุทธิ์ การให้อภัย และการให้พร ในตัวของท่าน ให้ท่านตระหนักเห็นความเศร้าเสียใจของท่าน ความรู้สึกด้านลบ อารมณ์ที่บั่นทอนทำลาย ที่ท่านต้องการปลดปล่อยออกไปหรือชำระให้บริสุทธิ์ ให้ท่านตระหนักถึงส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายของท่าน ที่เจ็บป่วยไม่สบาย อ่อนแอ หรือเกรงว่าจะเจ็บป่วย รวมทั้งตระหนักถึงความรู้สึกสงสัย ไม่มั่นใจ ความกลัว หรือบาดแผลเก่าๆ ในหัวใจที่ท่านต้องการการเยียวยาและความรัก จากนั้น ให้ท่านขอจากหัวใจของท่าน ให้องค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เบื้องหน้าท่าน ช่วยเหลือท่าน

v ทันใดนั้น พระพุทธองค์ หรือ องค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้น ได้ตอบสนองต่อคำอธิษฐาน
ของท่าน โดยได้ส่งความรักและความเมตตาจากดวงใจของพระองค์ลงมายังท่าน เป็นลำแสงที่สว่างโชติช่วง ให้ท่านเปิดรับให้ลำแสงดังกล่าว แทรกเข้ามาในตัวท่านอย่างเต็มที่ และชำระท่านให้บริสุทธิ์ ทำให้ท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยการให้อภัย พลังแห่งการเยียวยา ความเชื่อมั่น และความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ให้ท่านเห็นว่า ลำแสงสว่างเจิดจ้าแห่งความรักความเมตตานั้น สลายความกลัว และการพยายามปกป้องตนเองของท่าน ไปจนหมดสิ้น จนกระทั่งท่านหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับแสงนั้นอย่างสมบูรณ์ ในตอนนี้ ตัวของท่าน ในรูปของแสง ค่อยๆ ลอยขึ้นและหลอมรวมผสานเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับดวงใจขององค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์พระองค์นั้น เหมือนดั่งแสงสว่าง ที่ผสานรวมเข้ากับแสงสว่าง
ให้ท่านดำรงอยู่ในสภาวะที่สงบสุขเช่นนี้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ตัวท่านนั้น คือ ความเรียบง่ายที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นอทวิลักษณ์ และ คือ การเปิดรับอย่างกว้างขวาง หากมีความคิดใดเกิดขึ้น หรือ “ความรู้สึกของการมีตัวตน” เริ่มที่จะก่อตัวขึ้น ให้ท่านเพียงแต่ปล่อยให้มันสลายกลับเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างเปล่า ปล่อยวางทุกสิ่งลง และดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมชาติเช่นนั้น
เมื่อจะจบการภาวนา ให้ท่านกลับมาตระหนักรู้ตัวอยู่กับร่างกายของตนเองอีกครั้ง ให้ท่านยังคงรักษาสภาวะของความบริสุทธิ์ และการตระหนักรู้ที่แจ่มชัดเช่นนี้ ในปัจจุบันขณะต่อไป ในทุกกิจกรรมที่ท่านทำในชีวิตประจำวัน และเมื่อใด ที่ท่านสูญเสียมันไป ให้ท่านค่อยๆ ดึงจิตของท่านกลับมาที่ธรรมชาติเดิมแท้ของมันอีกครั้ง
เมื่อการภาวนาสิ้นสุดลง ให้ท่านอุทิศการภาวนาของท่าน โดยแบ่งปันกุศลบุญแห่งพรและปัญญาที่เกิดขึ้น แก่สรรพชีวิต และอธิษฐานว่า ท่านจะช่วยผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ และมีความสุข ในทุกวิถีทางที่ท่านจะกระทำได้ และเหนืออื่นใด ท่านจะช่วยให้สรรพชีวิตตระหนักถึงความสงบสุขแห่งธรรมชาติของจิตที่แท้ของตน ซึ่งเป็นนิรันดร์

วิธีการปฏิบัติภาวนาให้ผู้อื่น
ท่านสามารถภาวนาโภวาให้กับผู้ที่กำลังเจ็บปวด หรือกำลังจะตาย ด้วยวิธีการทำนองเดียวกับที่ท่านภาวนาให้กับตัวเอง โดยเพียงแต่ต้องจินตนาการภาพขององค์พระพุทธเจ้า หรือองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้น เหนือศีรษะของบุคคลนั้น และอธิษฐานแทนตัวเขา ขอให้พระองค์ช่วยเหลือเขา แล้วจินตนาการภาพองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้น ส่งลำแสงที่ส่องสว่างลงมายังบุคคลผู้นั้น เพื่อชำระเขาให้บริสุทธิ์ และเปลี่ยนสภาวะในตัวเขาทั้งหมด จากนั้น ให้ท่านจินตนาการภาพบุคคลผู้นั้น ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ และหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับแสงสว่างนั้น อย่างแยกไม่ออกจากองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่เต็มไปด้วยปัญญาแห่งการตื่นรู้นั้น

v การภาวนาโภวาสำหรับการตายแบบปัจจุบันทันด่วน (sudden death)
หากมีใครที่เพิ่งจะตายอย่างปัจจุบันทันด่วน และท่านไม่มีเวลามากนัก เช่นในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุขึ้น ท่านสามารถจะภาวนาโภวาแบบสั้นๆ ให้กับเขาได้ โดยขณะที่ท่านอยู่ข้างกายของเขา ให้ท่านอัญเชิญองค์พระพุทธเจ้าหรือองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีรัศมีส่องสว่างจ้ามาปรากฏอยู่เบื้องบนต่อหน้า และให้จินตนาการว่า รัศมีแห่งความรักความเมตตาที่แผ่ออกมาจากองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ท่านนั้น ฉายสว่างไปทั่ว ล้อมรอบตัวผู้ที่ตายและตัวท่านเพื่อปกป้องและให้พร
ให้ท่านเห็นภาพว่า จิตของผู้ที่เพิ่งจะเสียชีวิต ลอยพุ่งขึ้นจากร่างของเขา เป็นมวลของแสงสว่างเล็กๆ เหมือนดาวตก และพุ่งหายเข้าไปในดวงใจขององค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อสิ้นสุดการภาวนา ในการกล่าวอุทิศการภาวนานี้ ให้ท่านอธิษฐานให้บุคคลผู้นั้น เป็นอิสระจากความทุกข์หรือความวุ่นวายใจ เพราะการตายของเขา ให้เขาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เข้าสู่แสงสว่างแจ่มจ้า และธรรมชาติที่แท้ของจิตของเขาที่ดำรงอยู่อย่างไร้ขอบเขต เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์แก่สรรพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่เขาทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง หลังจากนั้น ให้ท่านทำภาวนาโภวาอย่างเต็มรูปแบบให้กับเขาอีกในภายหลัง ในวันต่อๆ มา และในสัปดาห์ต่อๆ มา ด้วย



(ข้อมูลส่วนใหญ่ จาก http://spcare.org/practices,
และบางส่วน จาก http://ayangrinpoche.org/archives/an-introduction-to-phowa/ ข้อมูลส่วนใหญ่ เขียน โดย Chistine Logaker แปลและเรียบเรียง โดย ชลลดา ทองทวี)

Monday, February 19, 2007

เรื่องไทยที่เพิ่งรู้จัก

จากกระแสหนังตำนานพระนเรศวรมหาราช ทำให้กระแสความรักชาติ ชาตินิยม เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว วงการหนังสือก็ออกบทความมากมายเกี่ยวกับไทยแลนด์แดนสยามมาให้อ่าน ทำให้ได้เห็นความเป็นไทยที่ไม่รู้จักมากมาย

อย่างแรกที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องตำนานพระนเรศวร เป็นตำนานทั้งนั้น ในพงศาวดารจริงๆแทบไม่มีเรื่องราวใดๆเลย อย่างฉากชนไก่กับพระมหาอุปราชแห่งพม่า หรือ การที่พระเจ้าบุเรงนองทรงชุบเลี้ยงพระองค์เป็นอย่างดี รวมถึง เรื่องของพระสุพรรณกัลยาที่ยอมถวายตัวเพื่อแลกตัวกับพระองค์ดำกลับประเทศไป เรื่องราวพวกนี้ เริ่มมาจากสมัยรัชกาลที่ห้าที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ศิลปินเขียนกลอนวาดภาพด้วยจินตนาการจากพงศาวดารสมัยอยุธยา (ที่ไม่ใช่ประวัติของคนไทย แต่เป็นของคนสยาม) และต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงทำการศึกษาเพิ่มเติมและนิพนธ์ ประวัติสมเด็จพระนเรศวร โดยอิงจากภาพวาดและกาพย์กลอนที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า (อ้างจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) แต่ในความเป็นจริงหลักฐานเกี่ยวกับตัวพระองค์มีน้อยมาก ที่ชัดเจนก็คือจากบันทึกของชาวต่างชาติที่มาค้าขายกับอยุธยาในสมัยของพระองค์หรือหลังพระองค์ ที่บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่รบเก่ง มีพระปรีชาสามารถ เพียงมีพระชนพรรษา ยี่สิบ พรรษา ก็เป็นที่เลื่องลือพระนาม ทรงสามารถกอบกู้เอกราชได้ อย่างไรก็ตามตลอดเวลาประมาณยี่สิบปีที่ทรงครองราชย์ ก็ได้สังหารผู้คนไปมากกว่าแปดหมื่นคน ซึ่งส่วนมากก็เป็นผลของสงครามที่มีการรบพุ่งตลอดรัชกาล

ส่วนในเรื่องวัฒนธรรมประเพณี พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่บังคับให้พวกเจ๊กต้องทำตามอย่างประเพณีไทยเรื่องการหมอบคลานเข้าเฝ้าที่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน แต่กับพวกชาวตะวันตกแล้ว พระองค์ทรงยกเว้นให้เพราะเป็นเรื่องการทูตที่พระองค์ไม่มีพระประสงค์จะเปลี่ยนแปลงประเพณีของพวกเขา พวกฝรั่งที่พระองค์ทรงคบค้าด้วยเป็นพิเศษคือพวกดัตช์ และพวกดัตช์นี้เองได้รับราชการด้วยและได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆไว้

เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ชาวดัตช์ซึ่งคนไทยเรียกว่านาย วันวลิต หัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาได้เขียนพงศาวดาร พรรณาเรื่องอาณาจักรสยาม โดยเฉพาะได้วิจารณ์นิสัยคนไทยไว้อย่างละเอียด และเจ็บแสบ เอาที่เฉพาะแย่ๆคือ "การทหาร โดยทั่วไปชาวสยามรักความสงบ รักการค้าขาย และกสิกรรม ...ตามที่กล่าวมาแล้ว พวกสยามเป็นพวกที่ขี้ขลาด ไม่มากก็น้อย และไม่ใช่พวกนักรบมาโดยกำเนิด แต่มีอาวุธยุทโธปกรณ์มาก ทำให้สามารถโจมตีได้ทั้งทางน้ำและทางบก ในเรื่องความกล้าหาญ ทหารที่ขลาดและกลัว...แต่โหดร้ายกับข้าศึกที่ปราบได้แล้ว ต่อพวกที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ยอมรับ และคนที่ศาลพบว่ามีความผิด" ซึ่งสาเหตุนายวันวลิตได้กล่าวไว้ประมาณว่าเป็นเพราะผู้นำของคนไทย คนไทยจะดีจะเลวอย่างไร ขึ้นกับผู้นำเสมอ

นอกจากนั้น นายวันวลิตยังได้กล่าวว่าคนไทยเป็นคนหยิ่งและอวดดี "พวกเขาหยิ่งและคิดว่า ไม่มีชาติไหนๆ สามารถเท่าเทียมพวกเขาได้ กฎหมายขนบธรรมเนียมและความรู้ของพวกเขาดีกว่าที่ไหนๆ ในโลกนี้ ท่าทางและใบหน้าดุ หยิ่ง พวกเขาสุภาพในการสนทนา นิสัยพวกเขาร่าเริง ขลาดกลัว ไว้ใจไม่ได้ ปิดบังอำพราง หลอกลวง ช่างพูด และเต็มไปด้วยการโกหก...เราไม่สามารถเชื่อใจในประเทศนี้ และไม่มีใครเป็นที่ไว้วางใจ หรือเชื่อถือได้เลย" แม้ภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาของนายวันวลิตจะดูแย่แค่ไหน แต่นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เป็นกันทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อคนต่างชาติ คนที่ไม่ใช่พวกตน ย่อมต้องถูกกีดกันออกไปเป็นธรรมดา เราคงได้แต่นำมันมาเป็นบทเรียนอีกบทนึงกระมัง

นอกจากเรื่องสมัยพระนเรศวร เรายังได้ไปพบเรื่องแปลกๆในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า คนสมัยก่อนที่อยู่อย่างเรียบง่าย สบายๆ มี กลับมีการละเล่นที่แปลก พิศดาร อย่าง การล่อช้างตกมันที่ชอบวิ่งไล่แทงคน ทุกปีในหน้าหนาว โดยให้ช้างตกมันออกมาวิ่งบนถนนหน้าพระลาน ให้ชาวบ้านมาล่อ ช้างให้วิ่งไล่ไป วิ่งไล่มา ให้มันมาไล่แทง จนมันเหนื่อย ซึ่งเป็นเกมกีฬาที่สนุกสนานของทั้งชาวบ้านและชาววัง เกมกีฬานี้มีประจำทุกปีจนถึงรัชกาลที่เจ็ดจึงยกเลิก นับว่าเป็นที่น่าเสียดายนักกับความบันเทิงรุ่นคุณปู่คุณย่าที่น่าหวาดเสียวเช่นนี้ พอมีเรื่องแบบนี้ก็ชวนให้คิดถึงพวกเพื่อนต่างชาติที่ชอบถามว่าคนไทยสมัยนี้ยังขี่ช้างไปทำงานหรือเปล่า ถ้าตอบว่าใช่และเล่าเรื่องนี้ให้ฟังคงจะเป็นที่ชวนหวัวพิลึก (บางทีเราก็เห็นพวกฝรั่งขี่ม้าไปโรงเรียนเช่นกัน แต่ไม่ยักกะมีใครว่าอะไร)

หลังจากอ่านเรื่องโบราณๆพวกนี้ เรายังได้ไปอ่านเจอบทความของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในบล๊อกของอาจารย์ เรื่องเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่แปด ซึ่งยังเป็นความลับมาจนถึงวันนี้ ที่พอสรุปได้คือ สาเหตุการสวรรคตยังไม่กระจ่าง แต่ จำเลยสามคนที่ถูกประหารชีวิตคือ นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน เป็นเพียงแพะที่ถูกกระบวนการศาลแบบมั่วๆตัดสิน และที่เสริมไปเสริมมาจากบทความจนทำให้คิดเอาเองว่า คนที่ทำเป็นคนที่ไม่สามารถพูดถึงได้ ทั้งการฆาตกรรมและการปรักปรำจำเลยทั้งสาม รวมทั้ง รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ทราบว่าอาจารย์แกมีความมั่นใจแค่ไหนกับหลักฐานที่แกมีซึ่งก็มีส่วนขัดเเย้งกันตลอด แต่จากการเขียนก็พอให้ทราบว่าแกมีความในใจว่าอย่างไร อยากรู้ก็ชวนให้อ่านเอง ใน http://somsakwork.blogspot.com

ทั้งหมดนี่ก็เป็นเรื่องไทยๆที่เพิ่งรู้และน่าสนใจ ตลก เสียดสี เจ็บปวด ก็ขอแบ่งปันในวันนี้

สวัสดี

อ่านมาจาก
บทวิจารณ์ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร โดย Subhatra Bhumiprabhas ในหนังสือพิมพ์ the Nation (จำวันที่ไม่ได้)
คอลัมน์ สโมสร โดย จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ใน ศิลปวัฒนธรรม เดือน มกราคม ๒๕๕๐
http://somsakwork.blogspot.com

Sunday, February 04, 2007

GMOs

"คนยากจนไม่ได้ต้องการวิตามิน แต่พวกเขาต้องการผืนดินทำกินเท่านั้น"
เสียงก้องจาก เดชา ศิริภัทร ประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกแห่งประเทศไทย

จีเอ็มโอหรือพืชสวรรค์ของบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตรข้ามชาติที่ว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและสารอาหารไม่เพียงพอของคนยากจนทั่วโลก อย่าง ข้าวสีทอง ที่อุดมด้วยวิตามินเอ หรือ กล้วยพันธุ์พิเศษที่บรรจุวัคซีนป้องกันโรคอยู่ภายใน หรือ ฝ้ายบีที ที่ทนแมลงได้มากมาย
การที่ประชาชนยากจน ขาดแคลนอาหาร หรือแม้กระทั่งขาดแคลนสารอาหาร ไม่สามารถแก้ไขที่ปลายเหตุอย่างการสร้างพืชประหลาดพวกนี้ขึ้นมาทดแทน
แต่คือการมองไปที่ต้นเหตุของปัญหาอย่างเด็ดขาด
พวกเขา(ชาวนา) ขาดสารอาหารเพราะอะไร เพราะขาดอาหารที่ครบถ้วน
แล้วพวกเขาขาดอาหารเพราะอะไร เพราะพวกเขายากจน
ทำไมพวกเขายากจน เพราะพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้
แล้วทำไมเขาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เพราะเขาไม่ที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง
ถูกผู้ได้เปรียบทางสังคมยึดเอาที่ทำกินไปอย่างถูกกฎหมาย
แต่ตัวพวกเขาเองต้องเป็นลูกจ้างนายทุนพวกนั้น
ทั้งที่พวกเขาเป็นคนปลูกข้าว พวกเขากลับไม่ได้แม้แต่จะกินสิ่งที่พวกเขาปลูก
ระบบสังคมไม่ได้แจกจ่ายทรัพยากรสำคัญให้กับเขาอย่างทั่วถึง
อย่าง โอกาส และ ความรู้ที่ถูกต้อง
ที่ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียดินแดนบรรพบุรุษให้กับนายทุนเกษตรกรรมทั้งหลาย

ปัจจุบันอาหารมีล้นโลก โลกไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่บรรษัททั้งหลายกล่าวอ้าง
เพียงแต่คนยากจนไม่มีโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากรนั้นอย่างเท่าเทียม
เช่น มันสำปะหลังที่เป็นอาหารหลักของคนแอฟริกา ประเทศยากจนเหล่านั้นผลิตมันสำปะหลังไปขายให้ประเทศที่ร่ำรวยเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ แล้วนำผลิตภัณฑ์นั้นมาเป็นอาหารของคนรวย
ขณะที่เด็กที่แอฟริกาต้องอดตายเพราะไม่มีเงินซื้อกิน

นอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดแล้ว การใช้พืชตัดต่อพันธุกรรมยังมีปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์พันธุ์
ที่บริษัทผู้คิดค้นจะเป็นเจ้าของทั้งหมด แม้ว่าบริษัทนั้นจะทำเพียงแค่เสริมยีนของไวรัสบางตัวเข้าไปเท่านั้น โดยไม่สนใจยีนที่เหลือที่เป็นต้นพืชนั้นอันเป็นสมบัติของส่วนรวมแม้แต่น้อย
อีกทั้งคนจน ชาวนา ยังต้อง หักเงินรายได้อย่างน้อยสามสิบเปอร์เซ็นต์เป็นค่าสายพันธุ์อีกด้วย
ถ้าพบว่าพืชที่ชาวนานำไปขายมีพันธุกรรมตัดต่อปนไป แม้ว่านั่นจะเป็นการปนเปื้อนตามธรรมชาติที่ชาวนาไม่ได้ต้องการอีกด้วย

นอกจากนี้ ปัญหาในเรื่องความปลอดภัยที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ทางชีววิทยา
ทั้งต่อร่างกาย และต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม
แต่จากเวลาที่ผ่านมามีแต่รายงานความเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากพืชพันธุกรรมเข้ามาทั้งนั้น
นั่นก็พอจะพิสูจน์ได้ว่า พืชตัดแต่งพันธุกรรมไม่เหมาะสมกับโลกนี้จริงๆ

ปล ชาวนา กับ แรงงานกรรมาชีพ ก็คือ กลุ่มคนเดียวกัน ที่ถูกเอาเปรียบเพียงแต่แต่งตัวคนละแบบ