Saturday, November 13, 2010

ภูมิปัญญาจากภาษิตท้องถิ่นแอฟริกา

วันนี้ไปเดินเล่นในเมือง เข้าร้านหนังสือเจอหนังสือรวมข้อคิดจากแอฟริกา ตอนแรกคิดดูถูกว่าทวีปนี้ที่ไม่มีอารยธรรมใหญ่ๆมันจะมีอะไรลึกซึ้ง แต่พอเปิดมาอ่านดู ทำให้ตัวเองประทับใจ หลายภาษิตถือว่าคมคายมาก คนเหมือนกันไม่ว่าจะชาติไหน ภาษาใด อารยธรรมแบบไหน ก็มีความรู้ที่สั่งสมกันมาหลากหลายและลึกซึ้งเช่นเดียวกัน มีอะไรคล้ายๆกันเลยกับภาษิตจากชาิติอื่นๆ เหมือนกับที่ไอน์สไตน์เคยบอกว่า "ความรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียน แต่คือสิ่งที่คุณสะสมมาทั้งชีวิต (ในที่นี้ก็เป็นสิ่งที่สะสมมารุ่นสู่รุ่นได้เช่นกัน)" ผมจึงขอคัดลอกบางส่วนมาแปลแ่บ่งกันอ่านกันไว้ที่นี่ครับ

"แนบหูซ้ายไว้กับพสุธา แล้วหูข้างขวาจะเปิดรับเสียงฟ้า"
จาก แอฟริกากลาง

"คนที่มองแต่ฟากฟ้า จะไม่สามารถค้นพบสิ่งสำคัญบนพื้นดิน"
จาก กาน่า และ โตโก

"สังคมที่แท้จริงเริ่มจากหัวใจของผู้คน"
จาก มาลิโดม่า โซเม่ นักเขียนจากแอฟริกาตะวันตก

"ความผิดดังภูเขา เรายืนอยู่บนยอดเขานั้นกล่าวว่าความผิดของผู้อื่นโดยไม่เห็นของตัวเอง"
จาก แอฟริกาตะวันตก

"เป็นเพื่อนกับสัตว์ป่า ง่ายกว่าเป็นเพื่อนกับคนขี้นินทา"
จาก ชาวมอริเชียส

"เมื่อเจ้าเลี้ยงดูเด็กชาย เจ้าจะได้ผู้ชายหนึ่งคน เมื่อเ้จ้าเลี้ยงดูเด็กหญิง เจ้าจะได้ปวงชน"
จาก กาน่า

"ตามรอยแม่น้ำ เจ้าจะพบมหาสมุทร"
จาก ชาวสวาฮิลี

"ในชีวิตคนหนึ่งคนจะมีช่วงเวลาพริบตาที่กำหนดชีวิต"
จาก แอฟริกาตะวันออก

"คนไม่รู้จักต้นไม้ ใช้ไม้ได้แค่ไม้ขีดไฟ"
จาก อูกันดา

"ความหวังเป็นเหมือนดั่งหมุดหมายแห่งโลก"
จาก แอฟริกาใต้

"สูเจ้าผู้ใดคิดทำการใหญ่ มันผู้นั้นต้องเดินทางไกลผ่านหลายราตรีกาล"
จาก แอฟริกาเหนือ

"ความจนเหมือนดั่งสิงโต ถ้าไม่สู้มัน เจ้าก็ถูกมันกิน"
จาก เผ่า ฮายา

"การช่วยเหลือผู้อื่น หาใช่การละเลยตัวเอง"
จาก เผ่า มัมพรุสซี่

"ปีนต้นไม้ต้องเริ่มจากโคน หาใช่จากยอด"
จาก เผ่า ชี่

"กินข้าวคนเดียว ก็เหมือนตายไปคนเดียว"
จาก เผ่า มามพรุสซี่

"ไฟที่เผาหญ้าเลวได้ ก็เผาหญ้าดีได้เหมือนกัน"
จาก เผ่า กานดา

"ข้าีชี้ดวงจันทร์ให้เจ้าดู แต่เ้จ้ากลับเห็นเพียงแค่นิ้วของข้า"
จาก เผ่า ซูกูม่า

ภาษิตสุดท้ายนี้เรื่องการชี้ดวงจันทร์นั้นตรงกับนิทานเซนอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่ง บรูซ ลี ได้นำไปใส่ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Enter the dragon ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายของตัวเองด้วย ภูมิปัญญานี้ได้อยู่ในฉากการสอนศิษย์น้อยคนนึงให้จิตใจมีสติ สมาธิ (emotional content) ไว้เสมอทุกเวลาที่อยู่ต่อหน้าศัตรู โดยไม่ต้องสนใจปรากฏการณ์มายาภาพที่หลอกล่อ แต่ให้มุ่งความสนใจไปที่ศัตรูอันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงดุจนิ้วชี้ไปที่ดวงจันทร์ อย่าไปเพ่งที่นิ้วมือ ให้จิตใจไหลลื่นมองผ่านนิ้วมือไปแล้วจะเห็นดวงจันทร์ เป้าหมายที่แท้จริง

ข้อคิดนี้ช่างแสนลึกซึ้งที่ อาจารย์เซน บรูซ ลี และ ชาวเผ่าในแอฟริกาก็ได้ถ่ายทอดข้อคิดนี้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลังสืบมา

ด้วยจิตคารวะ บรรพชนของมนุษยชาติ

(แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันที่ http://www.ffgleo.de/wb/media/news/2010_Afrikanachmittag/Weisheiten%20aus%20Afrika.pdf และ http://www.afrika-start.de/afrikanische-sprueche-und-weisheiten/)

Monday, October 11, 2010

เป็นคนหรือไม่? อยู่ที่ความหมายไม่ใช่ที่สมอง

ผมเพิ่งอ่านบทความ อาจารย์ หมอ ประสาน ต่างใจ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม 2553 แล้วพบว่าน่าสนใจ แต่พบว่าอ่านยากมากเลยลองเรียบเรียงใหม่ให้กระชับขึ้น ตัดบางอย่างออก และเติมคำบางคำเพิ่มเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็ลองอ่านกันดูนะครับ:-)

ที่มา http://www.thaipost.net/sunday/101010/28515

เราคงไม่ชอบ หรือบางคนอาจจะโกรธเสียด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าถูกดูถูก-หากใครมาพูดใส่หน้าตรงๆ ว่า “คุณเป็นคนที่ไม่มีความหมายอะไรสำหรับใครๆ เลย-รู้มั้ย?” เพราะเราคิดว่า เรา-และจริงๆ แล้วทุกคนในโลกเลย ต้องมีความหมายไม่อะไร-ก็อะไรซักอย่างกับคนที่รักเรา เช่น แม่ของเราคนนั้นๆ ความหมายจึงเหมือนเป็นคู่กับความรักในกรณีนี้ แต่ในกรณีทั่วๆ ไป ทั้งความหมายกับความรักเป็นเรื่องของจิตคนละอย่างและคนละส่วนของวิวัฒนาการกัน ความหมายจึงเป็นจุดมุ่งหมาย (purpose)

มนุษย์หลายคนจึงคิดว่า ความหมาย เป็นเรื่องที่สมองกำหนดมาให้มี แต่จากงานวิจัยของวิทยาศาสตร์ใหม่ พบว่า แม้สมองจะเหมือนกับ
อวัยวะอื่นๆ เช่นเดียวกับหัวใจ ตับ ไต ปอด ฯลฯ ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ของตนไปตามนั้น โดยประสานงานกันเพื่อให้เราและสัตว์เหล่านั้นอยู่รอด บนโลกนี้จักรวาลนี้ เช่นกัน - โดยแต่ละอวัยวะก็มีหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นอิสระ แม้ว่าจะประสานกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน

ผู้เขียนและนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงคิดและเชื่อว่าสมองก็มีหน้าที่ที่เป็นอิสระเหมือนกับอวัยวะอื่นที่ยกมาเช่นเดียวกัน นั่นคือ สมองมีหน้าที่หลักในการบริหาร (carried out order) จิตไร้สำนึกของจักรวาล ให้เป็นจิตสำนึกใหม่และใหม่ๆ ตลอดเวลาไปตามความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ส่วนคำถามที่บางคนอาจจะถามว่า “แล้วใครหรือสิ่งอะไรล่ะ? ที่เป็นผู้บัญชาให้จิตไร้สำนึกโดยรวมของจักรวาลเข้ามาอยู่ในสมองคนแต่ละคนเป็นปัจเจก แล้วสั่งให้สมองนั้นบริหารจิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึก?” ศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเต๋า อาจจะตอบว่า “มันก็เป็นเช่นนั้นของมันเอง” ซึ่งวิทยาศาสตร์ใหม่ของมาตาเรลลาจะบอกว่า มันคือระบบจัดองค์กรให้กับตนเอง (self-organizing system) แต่ศาสนาที่มีพระเจ้าทั้งหลายที่เชื่อตามความเคยชินของมนุษย์ว่า ถ้าไม่มีเหตุแล้วจะมีผลได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น จักรวาล โลกและทุกๆ อย่างจึงต้องมีผู้สร้างทั้งหมดนั้นขึ้นมา และผู้สร้างที่อยู่ข้างนอกการสรรค์สร้างนั้น ก็คือ พระเจ้านั่นเอง ดังนั้นสมองก็เป็นเช่นอวัยวะที่อยู่ในร่างกายทั้งหลาย นั่นคือ มันจะมีหน้าที่หลักเช่นเดียวกับหัวใจ ซึ่งมีหน้าที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกาย จิตไร้สำนึกจักรวาลจึงไม่ใช่สมองและไม่ใช่กาย แต่มาจากจักรวาลนอกรูปกายของตัวตนคนนั้นๆ ดังนั้นใคร่ขอบอกอีกครั้ง ไม่ว่าใครจะเชื่อเป็นตรงกันข้ามถ้าหากเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และคิดอย่างมีเหตุผลบนหลักฐานของงานวิจัยแล้วไม่ใช่เชื่อแบบที่ไม่ฟังอะไร ทั้งไม่ยอมอ่านดูหลักฐานอะไรทั้งนั้น “ข้าจะเชื่อของข้าอย่างนี้ มีอะไรมั้ย? ถ้าพูดกันอย่างนั้นก็จนปัญญา จิตที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย เช่น จอห์น เอคเคิลส์ วิลลิส ฮาร์แมน จอร์จ วอลด์ ฯลฯ และแม้แต่นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษคนหนึ่ง เซอร์ คาร์ล ป๊อปเปอร์ ก็เชื่อว่าการวิจัยหลากหลายในปัจจุบัน ต่างล้วนแลัวแต่ชี้บ่งไปทางเดียวกัน นั่นคือ จิตไม่ใช่สมอง วิลเดอร์ เพ็นฟิลด์ ศัลยแพทย์สมองที่ฝีมือเยี่ยมที่สุดของแคนาดา ผู้ที่ทีแรกไม่เชื่อว่าจิตกับสมองแยกจากกันเป็นคนละเรื่องในทีแรก ดังที่ได้เคยเล่าไปแล้วที่นี่เมื่อวันก่อน วิลเดอร์ เพ็นฟีล์ดได้บอกกับจอร์จ วอลด์ - หลังจากเขาใช้เวลาผ่าตัดสมองผู้ป่วยจนแทบนับไม่ถ้วนเพื่อหาตำแหน่งของจิตในสมอง - ว่า “จะบอกอะไรให้ จิตมันไม่ได้อยู่ในสมองอย่างแน่นอน” แต่สมองมีความสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ เพราะมันให้ตัวรู้ที่รู้ว่าฉันเป็นผู้ที่รู้นั้น


เมื่อสมองไม่ใช่จิต ไม่ได้เป็นตัว "ให้" ความหมาย แก่แต่ละอย่างที่เรารับรู้แล้ว แล้วจริงๆ ความหมาย (meaning) ที่เราพูดถึงอยู่มันคืออะไร

ความหมาย (meaning) ในที่นี้หมายความถึง “ความสำคัญของความหมายอันละเอียดที่สุดแสนละเอียดที่ซ่อนไว้จากสิ่งที่เรารู้ตามปกติ”

แล้วมันมาจากไหน

มาจากสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เรารู้ตามปกติจะต้องประกอบด้วย 3 อย่างคือ
1.เราต้องมีสติที่จะรับรู้
2.การรู้ต่างๆ ของเรานั้นต้องอาศัยตัวรู้หรือจิตรู้หรือจิตสำนึก
3.รู้ว่าสิ่งอันสำคัญนั้นคืออะไร? และรู้ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร?

แต่สิ่งพวกนี้นั้นปกติเราไม่รู้ ที่เราสามารถจะทำได้คือ รอคอยให้สิ่งที่สุดแสนจะละเอียดนั้น-ออกมาจากที่ซ่อน เพื่อที่เราจะได้รู้ด้วยจิตรู้หรือจิตสำนึกปกติของเรา ถ้าหากมันไม่ออกมาจากที่ซ่อนและไม่มีทางที่จะให้มันออกมาได้ตามปกติธรรมดา เราก็ไม่มีทางรู้ ยกเว้น 2 กรณีอันไม่ปกติเลยคือ 1.เราเป็นผู้วิเศษ เป็นฤๅษี 2.เราอาจรู้ได้ด้วยจิตจักรวาลซึ่งเป็นจิตไร้สำนึก (unconsciousness continuum AS consciousness) เช่น คนที่ตายไปแล้ว แต่ยังไม่เกิดใหม่ หรือ “ชีวิตระหว่างภพ (life between life)”

ถ้าหากเราแปลคำว่าความหมาย (meaning) อย่างหนึ่งเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เดวิด โบห์ม นักควอนตัมฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่จริงๆ คนหนึ่งของโลก - เพื่อนต่างวัยกันของกฤษณามูรติ ปราชญ์แห่งพุทธศาสนาที่ตายไปไม่นานนัก (1986 A.D.) ความเห็นของทั้ง 2 คน ก็เป็นไปได้ที่อาจจะถูก เพราะมันใกล้เคียงกับพุทธศาสนาในเรื่องที่มาของจักรวาล

เดวิด โบห์ม บอกว่า จักรวาลเป็นองค์รวมที่เป็นทั้งหมด (wholeness) ซึ่งเป็นความจริงทางควอนตัมฟิสิกส์ โดยเดวิด โบห์ม บอกต่อไปว่าในรายละเอียดนั้น จักรวาลจะเคลื่อนตัวเองโดยการเคลื่อนที่เป็นวงจรอยู่ตลอดเวลา (holomovement) ด้วยลักษณะเหมือนกับหยดหมึกลงไปในถังน้ำเชื่อมที่เหนียวข้น ซึ่งเมื่อกวนน้ำที่เหนียวข้นนั้นไปทางหนึ่ง หยดหมึกนั้นจะละลายหายไปในน้ำเชื่อมนั้น แต่ถ้าเรากวนน้ำเชื่อมนั้นในทางกลับกัน หยดหมึกที่หายตัวไปโดยละลายในน้ำเชื่อมหรือ “เป็นองค์กรที่ซ่อนตัวเอง” (enfold) อยู่ในน้ำเชื่อมนั้นก็จะโผล่ปรากฏออกมาเป็นหยดหมึกเหมือนเดิม คือเป็นเสมือน “องค์กรที่คลี่ออกมาจากที่เคยซ่อนตัวเองอยู่นั้น” (unfold หรือ implicate order ก็ได้) และหยดหมึกหรือองค์กรที่ “ซ่อนตนเอง” และ “คลี่ขยายตนเอง” (enfold and unfold) จะเคลื่อนตัวเองเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ว่าง อวกาศ (space) ของจักรวาลก็จะเป็นประหนึ่งน้ำเชื่อมที่ข้นนั้น

ส่วนองค์กรที่จะ unfold แล้วแทนที่หยดหมึกที่อยูในน้ำเชื่อมที่ข้นเหนียวหนืด มี 3 องค์กรคือ
1. ความหมาย (meaning) ที่ผู้เขียนคิดว่าคือจิตไร้สำนึกนั้น
2. พลังงาน (energy)
3. สสารวัตถุ (matter)
ทั้งหมดจะผลัดกันซ่อนเร้นตัวเองแล้วก็ผลัดกันคลี่ขยายตัวเองออกมาเรื่อยๆ

ที่ผู้เขียนพูดว่ามีความใกล้เคียงกับพุทธศาสนาก็เป็นดังได้อธิบายไว้ในคอลัมน์นี้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คือพุทธศาสนาในระยะแรกๆ บอกว่า ที่ว่างหรืออวกาศนั้นเป็นต้นตอที่กำเนิดของจิตไร้สำนึกก่อนจะมีจักรวาล หรือก่อนมีบิกแบ็งเสียอีก นั่นคือก่อนมีจักรวาลจะมีที่ว่างหรืออวกาศ จิตไร้สำนึกที่แยกออกจากกันไม่ได้กับพลังงานจะปรากฏขึ้นมาจากที่ว่าง อวกาศนั้น ตอนนี้ก็คล้ายๆ องค์กรซ่อนตัวเองที่คลี่ขยายออกมาจากองค์กรที่ซ่อนเร้นตนเอง (unfold ออกมาจากที่มันซ่อนเร้นตัวอยู่ enfold or implicate order) ในที่ว่างอวกาศ - นั่นคือ ความหมายที่ผู้เขียนว่าคือจิตไร้สำนึกนั้น พอมีจักรวาลขึ้นมาแล้ว จิตไร้สำนึกก็เข้าไปอยู่ในทุกๆ ที่ว่าง (infiltrate and permeate) เรียกว่าจิตร่วมจักรวาลตามนักควอนตัมฟิสิกส์และเซอร์อาร์เธอร์ เอดดิงตัน บอก ซึ่งตรงกับที่ชวนจื่ออธิบายเต๋าไว้ หรือ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ปราชญ์บนรถเข็นก็กล่าวว่า จักรวาลออกมาจากสิ่งที่ไม่อะไรเลย ซึ่งองค์กรซ่อนตัวเองของโบห์มนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ (Erwin Laszlo) เรียกว่าควอนตัมสุญญากาศ (quant um vacuum) - ที่เดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้ว่ามีจริง (Casimir’s effect) นั่นคือความว่างเปล่าที่เป็นความเต็มที่พุทธศาสนาบอก ที่ผิดไปก็ตรงที่พุทธศาสนาบอกว่าจิตปฐมภูมิแยกออกจากพลังงานปฐมภูมิไม่ได้หนึ่ง กับสสารวัตถุรุปกายที่แยกออกมาจากที่ว่างอวกาศ “หลัง” ที่มีจักรวาลแล้ว ซึ่งเดวิด โบห์ม ไม่ได้บอกเช่นนั้นอีกหนึ่ง
ไม่ว่าจะเชื่อเดวิด โบห์ม ตามนักควอนตัมฟิสิกส์มีชื่อหลายคนเชื่อ หรือเชื่อในพุทธศาสนาเรื่องจักรวาลหรือไม่? แต่ผู้เขียนเชื่อ ความหมายไม่ใช่เรื่องของสมองแน่ๆ.

Tuesday, August 17, 2010

รีวิวหนัง: ลุงบุญมีระลึกชาติ (จากนักวิจารณ์เยอรมัน)

ภาพยนตร์ "ลุงบุญมีระลึกชาติ"
ประเภท ตลก

ลุงบุญมี หมอผีที่ประตูแห่งความตาย

อันที่จริงแล้ว หนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับชาวไทย อภิชาิตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไม่มีทางที่จะหาคำอธิบายได้ ดังนั้นต้องดูด้วยตัวเอง และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ชมจำนวนไม่น้อยที่คานส์ปีนี้ ต้องออกจากโรงก่อนเวลา แต่ใครที่ทนอยู่จนจบได้ จะได้รางวัลเป็นประสบการณ์หนังที่ภาพยนตร์สมัยนี้น้อยครั้งจะให้ได้ เพราะความยากที่จะควบคุมขนาดของหนังและความยากที่จะตีความความเชื่อและโลกของผู้กำกับในหนัง ทำให้ "ลุงบุญมีระลึกชาติ" เป็นความงามที่แปลกประหลาด และเป็นความแปลกประหลาดที่งดงาม

ลุงบุญมี (ธนพัฒน์ สายเสมา) รู้ตัวหลังจากอาการไตวายว่าตัวเองจะเหลือเวลาอีกไม่นาน จึงอยากจะกลับบ้านที่อีสานเพื่อรอความตายในแวดล้อมของครอบครัวและคนรู้จัก ขณะที่ลุงบุญมีรับประทานอาหารเย็นกับน้องสาว ป้าเย็น (เจนจิรา พงพาส) กับหลานชาย ต้อง (ศักดา แก้วบัวดี) วิญญาณภรรยาของลุงบุญมี ก็ปรากฏมาในวงกินข้าว หลังจากนั้นไม่นาน ลุงบุญมี ก็เจอกับ สัตว์ประหลาดร่างลิงที่มีดวงตาสีแดงวาว แล้วลุงก็พบว่า สัตว์ตัวนี้คือลูกของลุงที่หายไปอย่างลึกลับ แล้วลุงบุญมีก็ออกเดินทางครั้งสุดท้ายกับคนที่ยังมีชีวิตไปยังถ้ำ้ที่ลุงได้เกิด เพื่อจะจบชีวิตลงที่นั่น ขณะที่วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วพาลุงไปสู่ความลับของการเกิดใหม่

แม้ว่า เผด็จการทหารที่ปกครองประเทศไทยจะต่อต้านความเชื่อของการเกิดใหม่และเรื่องผีห่าซาตาน แต่ความเชื่อเรื่องพวกนี้ของคนไทยก็ไม่ได้ถูกทำลายไป อภิชาตพงศ์ที่มีความเชื่อในเรื่องนี้อย่างแน่นแฟ้นได้พัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้จากหนังสั้นเรื่องจดหมายถึงลุงบุญมี ในงานศิลปะชุด primitive ของเขา งานชุดนี้ เป็นงาน Installation และ รวมภาพถ่าย ที่ได้จากการผสมผสานประสบการณ์ส่วนตัว ภาพสารคดี และ ความคิดเรื่องชาิติพันธุ์ ผู้กำกับได้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ด้วยพลังสร้างสรรค์เต็มไปด้วยศิลปะ รวมทั้งเรื่องราวที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม ตามด้วยภาพของความตายและการเกิดใหม่ ที่ลุงบุญมีได้รับประสบการณ์จากการค้นหาทางวิญญาณนี้ ถ้าตัวหนังได้เล่าเรื่องตามเวลา ในขณะเวลาที่หนังดำเนินไปเกือบสองชัี่่วโมง หนังค่อยๆละลายประสบการณ์ จินตนาการ และแฟนตาซี ระหว่างโลกจริงและโลกวิญญาณ ไปสู่ภาพหลอนที่เต็มไปด้วยคำถามและเวทมนตร์ประหลาด

ลุงบุญมีฯ เป็นภาพยนตร์ที่เป็นตัวของตัวเองและอาร์ตที่สุดในงาน และสำหรับผู้ชมหลายคนมันเป็นหนังที่เข้าใจยากที่สุดในคาสน์ปีนี้ มันเป็นหนังที่ไม่ใช้เทคนิกพิเศษหรือทริกใดๆ มันเล่าเรื่องโดยตัวของมันเองและทำให้ผู้ชมได้เห็นอะไรบ้างอย่างที่ตนเองได้ปกปิดไว้ ในแต่ละเฟรมและการจัดตัวแสดงประกอบ อภิชาติพงศ์ สร้างเรื่องราวด้วยการใช้แว่บแรกของแต่ละฉาก ทำให้ผู้ชมเหมือนมองทิวทัศน์บ้านเกิดของเขาในกล้องคาไลโดสโคป ที่ความตาย และ วิญญาณแห่งอดีต ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับลุงบุญมี แต่เป็นดั่งบทกวีเปรียบเปรยดินแดน ในภาวะที่หยุดชะงัก ในชายขอบระหว่างชีวิต ความตาย และ การเกิดใหม่
ในประสบการณ์แบบผ่านพ้นและในการติดอยู่ในประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสและภาพเหมือนฝัน หนังจะเดินเป็นเพื่อนผู้ชมไปอย่างสบายๆไปสู่การรับรู้อีกระดับหนึ่ง เเละเมื่อคุ้นเคยกับหนัง ผู้ชมก็จะเชื่อการมีอยู่ของวิญญาณ สิ่งเหนือจริง และวงจรการเกิดใหม่ แม้จะไม่มีความเชื่อในเรื่องนี้มาก่อน ลุงบุญมีฯเป็นหนังที่ควรดูอย่างยิ่งที่ด้านหนึ่งช่างไร้เดียงสาแต่ก็ถ่ายทอดมุมมองที่ยิ่งใหญ่ต่อความจริงรูปแบบใหม่และการมองโลกอีกแบบหนึ่งโดยไม่ต้องมีภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกใดๆ นี่คือ มหัศจรรย์ของโลกภาพยนตร์จริงๆ

หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่หนังที่ดีที่สุดของอภิชาติพงศ์ แต่เป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดของเขา และการที่หนังเรื่องนี้ชนะรางวัลปาล์มทองคำก็เหมือนเป็นสัญญาณต่อไปว่า หนึ่งที่คานส์นั้นรับรู้สถานการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยและสนับสนุนศิลปินผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างอภิชาติพงศ์ด้วย และสอง ภาพยนตร์ที่แปลกประหลาดเต็มไปด้วยปริศนาและงดงามอย่างมีเอกลักษณ์ แม้จะเข้าถึงได้ยากก็ยังมีที่ยืนอยู่ในวงการภาพยนตร์โลก

การที่หนังของอภิชาติพงศ์จะมาเข้าโรงที่เยอรมันนั้นยังไม่เป็นที่รับรู้ และก็เป็นไปได้ที่หนังเรื่องนี้จะไม่เข้าฉายแก่ผู้ชมทั่วไปในเยอรมันอย่างไรก็ตาม เมื่อมีโอกาสได้ฉาย ก็ควรชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ไม่ว่าคนจะชอบหนังเรื่องนี้หรือไม่ ความตายของลุงบุญมีนี้เป็นประสบการทางภาพยนตร์บนชายขอบของประสบการณ์ที่มีคุณค่าและหาชมได้ยากในเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง

โดย Joachim Kurz
http://www.kino-zeit.de/filme/uncle-boonmee-who-can-recall-his-past-lives

ปล แปลโดยคนยังไม่ได้ดูหนัง มีข้อผิดพลาดแน่นอนครับ ต้องขออภัยด้วย

Thursday, May 27, 2010

มนุษย์แสงมนุษย์สีมนุโส

มนุษย์เป็นดั่งแสง เพราะแบ่งแยกจึงเกิดสี

คละ เคล้าชั่วตาปี ลืมกำเนิดมืดมัวมน

คำสอนพระชินสีห์ เกิดมีดีชั่วปะปน

สุดท้ายเราก็คน จะเกลียดกันไปทำไม

วันนี้ เริ่มด้วยรัก ใช่แช่งชักหักหัวใจ

ทางออกเห็นไวไว แสงสว่างอาบโลกา

Wednesday, March 17, 2010

Et tu Brute เจ้าก็เอากับเขาด้วยหรือ บรูตัส

เดือนมีนาคม ภาษาอังกฤษเรียกว่า March ตามชื่อเทพแห่งสงครามดาวอังคาร จึงคาดว่าเดือนนี้จะมีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้น
ในประวัติศาสตร์ที่ค้นไปได้ เหตุการณ์นองเลือดแห่งเดือนมีนาคมที่โด่งดังที่สุคครั้งหนึ่งก็คงเป็นเหตุการณ์ที่ จูเลีัยส ซีซ่าร์ ถูกลอบสังหารโดยคณะรัฐประหารที่มีลูกบุญธรรมของเขา บรูตัส ร่วมอยู่ในนั้นด้วย เลยเป็นที่มาของวลีประวัติศาสตร์ "Et tu Brute เจ้าก็เอากับเขาด้วยหรือ บรูตัส" หลังจากนั้นบรูตัสก็ได้ขึ้นสู่อำนาจแต่อยู่ได้ไม่นานก็โดนลอบสังหารเช่นกัน และเป็นจุดเริ่มการนองเลือดและการเสื่อมถอยของอาณาจักรโรมันตั้งแต่หลังรัฐประหารครั้งนั้นเป็นต้นมา
ตั้งแต่นั้นคติความเชื่อเรื่องนี้ (The Ides of March) ก็หลอกหลอนผู้ศึกษาประวัติศาสตร์โลกหัวฝรั่งตลอดมา ในประเทศไทยคตินี้ก็เหมือนจะใช้ได้เพราะเลือดได้หลั่งชโลมแผ่นดิน เปรีัยบดั่งสัญญาณนำทางไปสู่ความรุนแรง แต่เคราะห์ดีที่ในเดือนมีนาคมนี้ยังไม่มีคนเสียชีวิตเพราะเป็นเพียงพิธีกรรมหลั่งเืลือดบูชายัญทางการเมืองเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

ทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องไกลตัวแต่อยู่ในประเทศ พอมาเป็นเรื่องของตัวเองที่อยู่นอกประเทศเข้าหน่อย ก็เหมือนจะกระอักเลือดขึ้นมาได้

เดือนนี้แม้จะไม่มีเหตุการณ์นองเลือดของตัวเอง แต่ก็เป็นเดือนที่หนักหนา ถ้าจะหาไพ่ยิปซีเป็นตัวเเทนคงเลือกไพ่ Death ให้แก่ตัวเองได้ไม่ยากนัก ตามตำราเขาว่าใครที่ได้ไพ่ใบนี้จะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเด็ดขาด สำหรับเราที่เจอแล้ว death คาที่แน่ๆก็เช่น งานวิจัยที่ทำมาเป็นปี ผลสุดท้ายก็ตีพิมพ์ไม่ได้เพราะมีคู่แข่งแย่งตีพิมพ์ไปก่อน หนำซ้ำยังมาพบข้อผิดพลาดในข้อมูลที่ทำมาเป็นปีจนข้อมูลนั้นอาจจะไร้ค่าไปในทันใด แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไหร่ หรือว่าต้องเดินสายไปสอบสัมภาษณ์มาราธอนที่โคตรทรหด ก็พลาดไปเกือบหมดเช่นกัน แต่เรื่องนี่ก็ไม่เท่าไหร่ แม้จะยังมีที่คาใจนิดๆที่ำำตำแหน่งที่น่าจะได้กลับไม่ได้แต่ที่ไม่น่าได้กลับได้มากกว่า

แต่นั่นก็ไม่น่าเศร้าใจกว่าการที่เห็นคนที่เคารพรักอย่างหัวหน้าที่ทำงานหนักแต่เช้ายันดึก ทิ้งเพื่อนฝูง ทิ้งครอบครัวมาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกลับต้องพลาดโอกาสในชีวิตเพราะงานนี้ถูกตีพิมพ์แย่งไปก่อน แม้เขาไม่บอกและยังใจถึง พูดให้ฟังว่า เพราะเราทำมาถูกทาง ก็เลยมีคนทำผลได้เหมือนๆกันแค่เราช้าไปหน่อยแค่นั้น แต่สายตาและน้ำเสียงนั่นบ่งบอกถึงความเหนื่อยใจอย่างบอกไม่ถูก ชีวิตนักวิจัยที่นี่แข่งขันกันสูงมาก พลาดไปนิดเดียว โอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างที่ใฝ่ฝันก็ผ่านเลยไปในทันใด

เขาว่าชีวิตนักวิจัยจริงๆเริ่มต้นเมื่อจบ ป เอก อย่างเรานี่เป็นแค่ผู้ฝึกวิจัยยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม หัวหน้าเราเมื่อจบ ป เอก ก็ทำ post-doc แล้วก็มาเป็น Group leader ต่อไปที่พัฒนาเป็นได้ มีหนึ่งคือ เป็นโปรเฟสเซอร์ ซึ่งเป็นทางที่ดีที่สุด สองคือ ไปทำงานในบริษัทเอกชน ซึ่งได้เงินดีกว่า แต่ไม่ท้าทาย และสาม อาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีของผู้แพ้บนเส้นทางสายนี้ คือต้องเลิกงานด้านนี้ไปทำอย่างอื่น เช่น ครูมัธยม คนประสานงาน(เบ๊ดีๆนั่นเอง) หรือ แม้แต่เป็น เจ้าหน้าที่คุมเครื่อง อนาคตของหัีวหน้าเรา ถ้าไม่มีงานตีพิมพ์ก็คงมาทางนี้ นับว่าเสียดายความรู้ความสามารถของเขามาก เพราะเขาทั้งสอนเก่ง ถามก็อะไรก็รู้ไปหมดเหมือนอับดุล เอ้ย! ตามาหรือยัง:-)

ไม่รู้สิ เรื่องของตัวเองแม้จะปวดหัวแล้ว (โดยเฉพาะเรื่องที่เรียนต่อ) ก็ยังโอเค แต่เรื่องแย่ๆของคนที่เราเคารพรัก นี่แหละที่ทำให้เราเศร้าใจจริงๆ บางทีนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ที่อาจจะดีกว่าของเขาก็ได้กระมัง เห็นชีวิตหัวหน้าแบบนี้ นักวิจัยคงไม่เหมาะกับ life style ที่เราต้องการ ชีวิตต้องออกแบบได้ ใช่ไหม:-)

เก็บเรื่องไม่พึงปรารถนาไว้ก่อน หวังว่าจะกลับบ้านมาพักกายพักใจ คุึณปู่เจ้าของบ้านที่คุ้นเคยกันก็เข้ามาบอกว่า
"เพราะมีคนรู้จักของปู่เขาอยากได้ห้อง ขอให้คุณหลานย้ายออกไปก่อนฤดูร้อนปีนี้!"

โอ้! Et tu Brute! บรูตัส! เจ้าก็เอากะเขาด้วยหรือนี่!

HAHAHA

Saturday, February 13, 2010

อนาคตสดใส แต่ไม่เห็นอนาคต

ก็ผ่านพ้นไปอีกครับ กับการสอบสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 ที่ ETH ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งเรื่องโลกๆ อย่างการเตรียมตัว การพบเพื่อนใหม่ การเข้าหาโปรเฟสเซอร์ การเข้าหาคนในแล็บ วิธีคุย เพื่อจะได้ตำแหน่งปริญญาเอก เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนมาดีทีเดียว ต้องรู้งานของเเล็บนั้นอย่างแจ่มแจ้งและดิสคัสกับเขาได้ เราจะไม่สามารถที่เข้าไปอย่างคนรู้น้อยไม่ได้เลย ประตูที่เปิดไว้อยู่ใชว่าจะรับได้ทุกคน

ไปครั้งนี้ก็ได้แบบฝึกหัดดูใจตัวเอง อย่างไม่โกหกตัวเองด้วยว่า ซูริกไม่ใช่เมืองที่ผมอยากอยู่ เเม้จะเป็นเมืองที่สวยงามและมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง พอได้ไปใช้ชีวิต ไปค้างคืน แล้วพบว่าเมืองนี้ไม่ใช่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ที่เคยผ่านๆไปก็รู้สึกชื่นชมเมืองนี้อยู่ไม่น้อย ที่ผมรู้สึกกระดากใจก็คงเป็นเรื่องของเงินที่เหมือนกับว่าจะปั่นขึ้นไปจากความเป็นจริงทำให้ค่าครองชีพแพง เงินเดือนสูง ทุกคนที่นี่ดูเหมือนจะเป็นคนรวยทั้งนั้น ดูภาพโดยรวมเมืองนี้เป็นทุนนิยมเต็มขั้นมากกว่าเยอรมันที่เหมือนจะเป็นสังคมนิยมกว่าหน่อย แต่ที่สำคัญผมรู้สึกขาดรสชาตเผ็ดมันอะไรบางอย่างที่มากับความยากแค้น ความขาดแคลนทางวัตถุ อันพบไม่ได้ง่ายๆในเมืองสวรรค์อย่างสวิสเซอร์แลนด์หรือว่ายังไม่พบเลย อีกทั้งแล็บที่เขาเปิดตำแหน่งว่าง ก็ไม่มีตำแหน่งที่เหมาะกับผม ที่ตรงกับความชอบของผม ที่พอผมได้รับรู้แล้วบอกด้วยอารมณ์ภายในทันทีว่า "ใช่เลย" มีแต่ความรู้สึกแบบว่า "โอเค เราปรับตัวได้" ซึ่งยังไม่แรงพอที่จะทำให้ผมละทิ้งบ้านเกิดในเยอรมันของผมอย่างไฟร์บวก (แม้ว่าปีที่ผ่านมาของผมจะทำลายผมมากก็ตาม)

อาการที่บอกมาทางใจนั้น มันมาในแว่บแรก และเหมือนคลื่นโผล่ออกมาจากทางหน้าอกประมาณหัวใจ แต่ไม่ใช่ที่หัวใจ เสร็จเเล้วความคิดต่างๆก็ขึ้นมารกสมอง ปรุงแต่งเปลี่ยนความหมายจากสัญญาณใจนั้นไปต่างๆนานา ทำให้เกิดความสับสน ความมึนงง ความคาดหวัง ตึงเครียด ไม่สบายใจ แต่เมื่อพอรู้ทุกอย่างก็คลี่คลายแต่พอเผลอเพียงชั่วจิตเดียว ก็กลับมาหลงเพ้อ เละเทะไปอีก

นี่ก็เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการไปสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผลของการไปครั้งนี้ แม้ไม่ได้ตำแหน่งใดๆ แต่ก็ได้ประสบการณ์ที่ดี ที่เจ็บใจ และที่รู้ใจ ครับ:-)

Thursday, January 14, 2010

PK Jan 12 a.m.‏

เวลาในเมืองไทยของผมใกล้งวดเ้ข้าไปทุกทีแล้ว เวลาส่วนใหญ่ก็ถูกใช้ไปเพื่อพบปะเพื่อนฝูงแต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังไม่ครบอยู่วันยังค่ำเพราะเพื่อนๆเขาแยกย้ายกันไปหมด เรียนอยู่บ้าง ทำงานบ้าง อยู่บ้านบ้าง ก็กระจายกันไปทั่วทั้งโลก
ดังนั้น ถ้าได้มีโอกาสเจอเพื่อนคนใดได้แม้จะเจอได้เพียงสั้นๆ ค่อยๆตามไปทีละคน ก็จะพยายามดั้นด้นไปหา
อย่างวันก่อนก็ได้ไปหาเพื่อนคนหนึ่งที่ในการกลับมาครั้งนี้ ผมตั้่งใจจะเจอมาก เพราะเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นคนสนใจทางชีววิทยามากๆเหมือนกัน และ หลายปีก่อนโน้น ได้สัญญาว่าจะเอาเท๊กซ์บุ๊กมาฝาก ครั้งนี้ก็ได้เวลาเสียที อุตส่าห์หอบหิ้วเท๊กซ์บุ๊กหนาๆมาจากเยอรมัน
ไอ้ตัวผมก็เสียดาย เนื่องจากว่ามันแพงอยู่เอาการ วันที่จะเอาไปให้ตั้งท่าอ่านเท็กซ์หนาๆหนักๆ บนรถไฟฟ้า รถเอนไปเอนมา ผมก็เอนไปเอนมา พาลเท็กซ์จะตกลงทันใด แต่ก็อ่านพอได้เนื้อหาอยู่
แต่เจ้ากรรมคุณพระช่วย อยู่ดีๆก็มีมือที่สามยื่นมาอุ้มหนังสือเรา เป็นมือขนดกๆ มองขึ้นไปเป็นหน้าเครียดๆของฝรั่งคนหนึ่ง
เขาพร้อมใจยินดีที่จะช่วยถือเพื่อให้ผมอ่านหนังสือได้อย่างราบรื่น ผมก็อ่านต่อไปด้วยท่าทีที่เคอะเขิน
แต่ชะรอยบรรทัดต่อไปของหนังสือเป็นเรื่องพฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่นของมนุษย์ว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมเราต้องช่วยเหลือผู้อื่น
มันก็สะดุ้งให้ผมกลับมาคิดว่า ทำไมฝรั่งคนนี้ต้องช่วยผมด้วย ผมกลับมาจดๆจ้องๆในหนังสือ มันมีอยู่สามทฤษฏีที่เขาถกเถึยงกันเท่าไหร่ก็ไม่จบคือ
1. ช่วยเพราะอยากให้ตัวเองได้ดี ได้สิ่งดีๆ ได้ความสุข หรือให้เผ่าพันธุ์ ได้แพร่พันธุ์มากขึ้น
2. ช่วยเพราะถูกสอนมาแบบนี้ สังคมสั่งสอน หรือต้องปรับตัวตามสังคม
3. ช่วยเพราะเป็นการเมืองที่ถูกบังคับให้ต้องทำ
ผมอ่านถึงตรงนี้ก็วางสายตาลงและชวนเขาคุยแทนเพราะในความรู้สึกผมมันเกินกว่าที่จะรับได้ ถ้าผมจะอ่านต่อไปโดยไม่สนใจคนๆนี้ แล้วเขาก็เอ่ยว่า เขาเคยอ่่านงานของ E.O. Wilson นักวิชา่การฮาร์วาร์ดที่คิดเรื่องนี้อย่างหนัก แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัด ทำให้ไม่ได้ตามมาก ผมเลยถามเขาว่า ทำไมต้องช่วยผม เขาตอบว่า "เพราะการคิดเป็นสิ่งสำคัญ เมืองเเบงค๊อก ที่เติบโตอย่างไร้ทิศทางไปเรื่อยๆนี้ ต้องการคนที่คิดจริงจังกับปัญหาโลกแตกทางวิชาการบ้าง มากกว่าคิดอะไรเรื่อยเปื่อยแบบคนไทยทั่วไป เมืองหลวงนี้ขาดคนอย่างคุณ" ผมขอบใจเขาและบอกว่า คำกล่าวของเขาออกจะยกย่องผมเกินไป
เขากล่าวต่อไปด้วยเเววตาจริงจังว่า "การคิดเป็นเรื่องที่น่าสนุกที่สุดของมนุษย์และเป็นตัวอย่างที่สำคัญของความเป็นตัวเป็นตนของมนุษย์" ผมออกจะเห็นคัดค้านแต่คิดไม่ออกว่าจะเถียงอะไรออกไป แล้วเราก็คุยกันเรื่องอื่น เขาบอกว่าเขาชอบเมืองไทยและชอบทำบุญ ตอนนี้ก็อยู่เมืองไทยมา 20 ปีแล้ว พูดไทยได้นิดหน่อย ถึงสถานีที่ผมต้องลงพอดี ผมต้องลาเขาซะแล้ว เขาก็ให้นามบัตรผมไว้เผื่อติดต่อ บนนั้นเขียนไว้ว่า "PK Jan 12 a.m.‏ ยินดีที่ได้พบกับ Mr. Tim BTS"
แม้เราจะไม่ได้คุยอะไรกันมาก แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผมค่อนข้างที่จะปิ๊งแว๊บกัีบอะไรบางอย่าง
คำพูดของคนๆนึงลอยมาในหัวผม "ความบังเอิญไม่มีในโลก" อันจะเป็๋นแนวคิดที่ค่อนข้างจะต่อต้านกับวิทยาศาสตร์ที่ผมเรียนว่า อะไรๆก็เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แล้วเย็นวันนั้นผมก็ได้เจอกับนักวิทยาศาสตร์


...ผมอาจจะฝันไป...