Thursday, August 30, 2012

Euronaut เรือดำน้ำทำเองในบ้านจากฝันของวิศวกรคนหนึ่ง



หลายคนคงเคยมีความฝัน แต่ใครเล่าที่จะสามารถทำฝันให้สำเร็จได้ ยิ่งเฉพาะความฝันยากยิ่งอย่างการต่อเรือดำน้ำเองในบ้าน แต่ คาร์สเท่น สตันด์ฟุส (Carsten Standfuss) สามารถทำได้แล้ว คาร์สเท่น หนุ่มวิศวกรด้านต่อเรือ จากเมืองเล็กๆชื่อ Berneในแคว้นแซกซอนตอนใต้ (low saxony, Niedersachsen) ค่อยๆเริ่มต่อเติมความฝันที่จะสร้างเรือดำน้ำในวัยเยาว์โดยเข้าเรียนวิศวะด้านต่อเรือจนจบระดับ Diplom (เทียบเท่าปริญญาโท) แ้ล้วค่อยๆตั้งบริษัทรับจ้างต่อเรือทั่วๆไป วันหนึ่งเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ที่เขาสะสมประสบการณ์ได้ระดับหนึ่ง เขาเริ่มร่างแผนต่อเรือดำน้ำที่ใช้เวลากว่า 12 ปีกว่าที่เขาจะได้เริ่มต่อจริงๆ เขาิเิริ่มโปรเจ็คต์นี้คนเดียว ใ้ช้เวลาว่างทุกวันหลังจากเลิกงานศึกษาหาความรู้ด้านต่อเรือ เริ่มซื้อชิ้นส่วนมาประกอบ เริ่มขอสปอนเซอร์ ค่อยๆก่ออิฐทีละก้อนๆ จนมีคนมาร่วมตามความฝันกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทีมงานขึ้นมา เมื่อสองปีก่อน (2010) เรือดำน้ำของเขาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว มันถูกเชื่อมประกอบครบส่วน และในฤดูร้อนปีนี้ (2012) หลังจากการติดเครื่องมืออุปกรณ์ในการควบคุมเรือและได้รับการตกแต่ง เรือที่เขาวาดฝันไว้แต่เด็กก็ได้มีโอกาสทดลองลงน้ำจริงๆ การทดลองลงน้ำเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เรือที่หนักหลายตันถูกขนย้ายโดยรถพ่วงจากบ้านพักของเขามาที่แม่น้ำ เขาและทีมงานง่วนอยู่กับการทดสอบเครื่องยนต์ ทดสอบมาตรวัด และมิเตอร์ต่างๆ ก่อนที่จะลงน้ำ มันเหมือนจะช็อกเขาทันใดเมื่อเครื่องยนต์เรือที่เขาประมูลมาจากอินเตอร์เน็ตสตาร์ทไม่ติด แต่ด้วยประสบการณ์เขาค่อยๆแก้ปัญหาได้ เมื่อความพยายามครั้งที่สอง เครื่องยนต์ติดอย่างไร้ปัญหา คราวนี้ได้ปล่อยเรือลงน้ำจริงๆ แชมเปญขวดใหญ่ได้ถูกตีประเดิมเรือ Euronaut เอาฤกษ์เอาชัย ผู้คนที่มาคอยเชียร์ร่วมร้อยคนโห่ร้องด้วยความยินดี เรือลงน้ำได้อย่างไม่มีปัญหาแต่เขาและทีมงานก็ยังลุ้นกันอยู่ว่าจะสามารถนำเรือดำลงใต้น้ำและขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ ตามทฤษฏีแล้วเรือดำน้ำของเขามีถังอับเฉาไว้ใส่น้ำหรืออากาศอยู่ที่หัวและท้ายเรือแต่มันก็เป็นเพียงทฤษฏีเพราะบางทีถังอับเฉาของเขาอาจใหญ่ไม่พอ ในวินาทีที่เริ่มดำลงน้ำ ฟองอากาศค่อยๆลอยขึ้นมาบนน้ำสวนทางกับตัวเรือที่ค่อยๆจมลงไป ขั้นแรกนี้เขาทำสำเร็จเรือจมใต้น้ำได้โดยที่ไม่มีน้ำรั่วเข้ามา เขากะจะอยู่ใต้น้ำสัก 15 นาที จากความสามารถของเรือที่สามารถอยู่ใต้น้ำได้ประมาณ 2 วัน ต่อไปคือการลอยตัวขึ้นนี่แหละคือขั้นตอนสุดท้ายที่จะตัดสินความสำเร็จของเขา เป็นนาทีแห่งชีวิต เพราะถ้าเรือไม่ลอยขึ้น เขาต้องระเบิดเรือเพื่อลอยตัวขึ้นมา แต่ด้วยการคำนวณมาอย่างดี การปล่อยก๊าสเข้าถังอับเฉาเพื่อไล่น้ำไม่มีปัญหา เรือค่อยๆลอยตัวขึ้นท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของทีมงานและผู้ชมบนฝั่ง ความฝันวัยเด็ก เวลา 24 ปีที่ผ่านไปไม่สูญค่า ปีนี้คาร์สเท่นมี อายุ 47 ปี การทำความฝันให้เป็นจริงครั้งนี้ใช้ไปครึ่งชีวิตของเขาทีเดียว แต่ัมันก็คุ้มค่ากับเงิน เวลาและหยาดเหงื่อ แรงกายที่ทุ่มลงไป นี่คือ Euronaut เรือดำน้ำที่สร้างโดยคนเล็กๆที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ดูข้อมูลเพิ่มเิติมได้ที่ http://www.euronaut.org/
(คาร์สเท่นเคยสร้างเรือดำน้ำสำหรับหนึ่งคนมาแล้ว แต่ Euronaut ลำนี้สามารถจุคนได้มากถึง 6 คน และสามารถดำน้ำได้ลึกกว่า)

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการ Galileo ทาง Pro7 ช่องโทรทัศน์ของเยอรมัน วันที่ 30 สิงหาคม 2555

Wednesday, August 29, 2012

วัฒนธรรมร่วมราก วัฒนธรรมเริ่มแรกในอาเซียน มุมมอง สุจิตต์ วงษ์เทศ


เป็นบทความช่วยให้เข้าใจที่มาของเรา ชาวเอเชียอาคเนย์ได้อย่างมาก พร้อมรับการรวมเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เลยขอก็อปมาเก็บไว้ในบล็อกนี้:-)


โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช  (ที่มา:มติชนรายวัน 29 สิงหาคม 2555)
ภาพคนทำท่าคล้ายกบ บนไหหิน ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง สปป.ลาวสัญลักษณ์ของฟ้าฝน และความอุดมสมบูรณ์อย่างสุวรรณภูมิ
ปี 2558 ไทยจะเข้าไปร่วมชายคาเดียวกันกับอีก 9 ชาติ รวมเป็นประชาคมอาเซียน

วัตถุประสงค์ของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนที่เริ่มมีการร่วมมือกันจัดตั้งเป็นสมาคมอาเซียน หรือกระทั่งปัจจุบันก็เพื่อให้รวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นพลังที่ต่อสู้ต่อรองกับประชาคมโลก

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ก็คือสิ่งเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมรากเดียวกัน

อาเซียนมีรากวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นวัฒนธรรมข้าวเหมือนๆ กัน เป็นคนไทด้วยกัน ถ้าใช้ภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้ง เราจะเห็นความร่วมกันของคนในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่ความร่วมกันของปัจจัยสี่ การกินการอยู่ เช่น การเป็นวัฒนธรรมข้าว อาศัยอยู่บนเรือนเสาสูง การถือผีบรรพบุรุษ ฯลฯ

สุจิตต์ วงษ์เทศ เปิดเรื่องคราวที่รับเชิญไปบรรยายหัวข้อ "วัฒนธรรมร่วมราก วัฒนธรรมเริ่มแรกในอาเซียน" เนื่องในวาระ 50 ปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

"เราเรียนประวัติศาสตร์โดยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องภูมิศาสตร์ เพราะใช้วิธีการท่องจำแบบเถรวาทะ ใช้คำพูดของอาจารย์เป็นหลัก ไม่มีการเถียง

"หลายปีมาแล้วตอนผมทำศิลปวัฒนธรรมใหม่ๆ ทำเรื่องคนไทยไม่ได้มาจากไหน โดยอธิบายว่าไม่มีหรอกภูเขาอัลไต มันมีแต่น้ำแข็ง คนอยู่ไม่ได้ คนไทยอยู่แถวๆ นี้แหละ อยู่ที่ว่าเราเรียก "คนไทย" ตั้งแต่เมื่อไหร่ มันก็เหมือนกันหมดคนเซาธ์อีสเอเชีย"

สุจิตต์บอกว่า ถ้าจับชายหรือหญิงแต่ละแห่งมายืนเทียบเคียงกัน โดยไม่มีเรื่องของเครื่องแต่งกายและภาษาเข้ามาข้องเกี่ยว แทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นคนชาติใด เพราะว่าท่าทางเหมือนกันหมด โครงกระดูกเหมือนกันหมด รูปร่างใกล้เคียงกันหมด ตั้งแต่หมู่เกาะไปถึงลังกา อินเดียใต้ ทมิฬ

"ผมเคยพาพรรคพวกปักษ์ใต้ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ไปอินเดียใต้ บอกว่าเจอะญาติเต็มเลย หน้าตาเหมือนคนใต้ทั้งนั้น สิงหลกับทมิฬก็พอกับคนนครศรีธรรมราช หรือสุราษฎร์ธานี คือคนกลุ่มเดียวกันหมด" 

ภาพสลักรูป ชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือกวนเกษียรสมุทร ที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา (ภาพจาก www.sujitwongthes.com)


ความเหมือนๆ กันในคนกลุ่มประเทศเหล่านี้ สุจิตต์แจกแจงไว้เป็นข้อๆ 8 ข้อด้วยกัน

กินข้าวเหนียวเป็นหลัก ตั้งแต่ 5,000 ปีเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่สิบสองปันนาจนถึงนครศรีธรรมราช

"พันธุ์ข้าวเหนียวเป็นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้าวเจ้าเป็นของต่างประเทศ"

แม้ว่าเรื่องนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่สุจิตต์บอกว่า เมื่อดูหลักฐานจากการเข้ามาของพุทธศาสนาจากอินเดีย ครั้งนั้นข้าวเจ้าเข้ามาด้วย และทำให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยข้าวเจ้า จึงเรียกว่า ข้าว "เจ้า" เพื่อให้ต่างจากข้าแผ่นดิน จะเห็นว่ามีนาหลวงไว้ปลูกข้าวเจ้า เราจะพบนาหลวงอยู่แถวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนเปลี่ยนข้าวเจ้า ก็มีนาหลวงปลูกข้าวเหนียว เอาไว้ไหว้ผี

กับข้าว "เน่าแล้วอร่อย"

เช่น ปลาแดก ปลาร้า น้ำบูดู เน่าแล้วอร่อยหมด ไม่มีปลาทำให้เน่า เอาถั่วมาทำให้เน่า ฉะนั้นภาคเหนือมีถั่วเน่าอร่อย เพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่พบเฉพาะที่เอเชียอาคเนย์ ที่อื่นอาจจะมีบ้าง แต่ไม่เป็นกระแสหลักอย่างเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงกะปิ น้ำปลา ด้วย

อยู่ เรือนเสาสูง

ประเด็นของเรือนเสาสูงอยู่ที่ "ใต้ถุน" ไม่เกี่ยวกับเรื่องหนีน้ำ เพราะใช้ใต้ถุนเป็นฟังก์ชั่นสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของคน เรือนเอาไว้นอนเฉยๆ หนีสัตว์ ตอนดึก แต่ตอนกลางวันอยู่ใต้ถุน หุงข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงหมา อยู่ที่ใต้ถุนหมด หนีน้ำเป็นเพียงผลพลอยได้

เรือนไทย ที่บอกว่าทำหน้าจั่วสวยงามมักจะบอกว่าเป็นเรือนของประชาชน มันเป็นเรือนขุนนางเจ้านาย ไพร่ทั้งหลายอยู่กระท่อมไม้ไผ่ เกิดมาออกจากมดลูกแม่ก็ "ตกฟาก" ถึงมีเวลาตกฟาก เพราะพื้นเป็นฟากไม้ไผ่ 

กลองสัมฤทธิ์ พบที่ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพจากศิลปะสุวรรณภูมิ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2550)


ผู้หญิงเป็นหัวหน้า นี่เป็นเรื่องปกติ ผมไม่ได้ใช้คำว่า "ผู้หญิงเป็นใหญ่" เพราะก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก เพียงแค่ผู้หญิงเป็นหัวหน้าในพิธีกรรม เช่น พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เช่น ลาวมีผีฟ้า เขมรมีผีมด มอญมีผีเม็ง ผีพวกนี้ลงผู้หญิง ผู้หญิงจึงเป็นผู้เข้าทรง

ในสังคมเซาธ์อีสเอเชีย เวลาแต่งงานผู้ชายต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง เขาถึงเรียกว่า "เจ้าบ่าว" บ่าว แปลว่า "ขี้ข้า" สาว แปลว่า นาย, ผู้เป็นใหญ่

สิ่งที่เหมืนกันอีกอย่างคือ เซ่นวักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในอุษาคเนย์มีบุคลิกเฉพาะ คือ ไหว้ "กบ"

กบ คนดึกดำบรรพ์ถือว่ามากับน้ำ เป็นผู้บันดาลให้เกิดฝน จึงเคารพกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กลองมโหระทึก มีกบอยู่บนหน้ากลอง ใช้ตีเพื่อขอฝน เรียกว่า วัฒนธรรมดองซอน เพราะพบครั้งแรกที่ดองซอน ประเทศเวียดนาม แต่ไม่ได้ทำแค่ที่เวียดนาม ในจีนก็มี พบมากว่าที่เวียดนามเสียอีก

เพราะกบเป็นสัญลักษณ์ของน้ำนี่เอง กบจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีภาพเขียนสีที่พวกจ้วงเขียนเป็นรูปคนทำท่าเป็นกบ คือถ่างขาเป็นรูปฉาก แล้วส่งอิทธิพลมาถึงภาคอีสานภาคกลางของไทย อย่างที่กาญจนบุรี คือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการบูชากบ

ในผ้าทอทั้งเซาธ์อีสเอเชียจะมีลายกบ คือทำท่ากางแขนกางขาเหมือนกบที่ถูกแผ่สองสลึงจะถูกบูชายัญ

สุจิตต์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอก เขาเรียกอวัยวะเพศหญิงว่า "กบ" เช่น ผู้หญิงถ้านั่งหวอออก จะบอกว่านั่งดีๆ เดี๋ยวกบออก และเรียกเด็กน้อยเด็กผู้หญิง ว่า "อีเขียดน้อย"

การทำท่ากบ คนกางแขนกางขาย่อเข่าเป็นสี่เหลี่ยม มันคือ ท่ารำละคร ท่ารำโนราห์ ท่าโขน ท่ายักษ์กับท่าลิง ต้องแบะขาย่อเข่า นั่นแหละท่ากบ

อีกอันหนึ่งคือ ประเพณีของอุษาคเนย์ คือ การทำศพ เมื่อมีคนตายจะเก็บศพไว้หลายวันให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยย่อยสลายเหลือแต่กระดูก แล้วจึงทำพิธีอีกครั้ง

กระดูกที่เก็บจะอยู่ในภาชนะพิเศษ ทำด้วยดินเผาเรียก หม้อดินเผา หรือ แคปซูลและหิน มีตัวอย่างให้เห็นคือ ไหหินในลาว หีบหินบนปราสาทนครวัดกับหมู่เกาะ

"หีบหิน (หีบศพ) เดิมทีมีอยู่ในปราสาทนครวัด ในบรรดาหมู่เกาะทั้งหลายจะมีหีบหิน แต่ก่อนมีเต็มไปหมด...

ส่วนที่ตั้งพระบรมโกศเป็นซุ้มที่จำลองมาจากปราสาทนครวัด สัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ตามหลักฐานเพิ่งมีสมัยพระเจ้าปราสาททอง เลียนแบบปราสาทหินนครวัด แต่ทำหินไม่ได้ เอาไม้ก็ยังดี

สิ่งที่ร่วมกันที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันก็คือ ฆ้อง นี่แหละฆ้องศักดิ์สิทธิ์ เสียงที่ตีเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ค้นพบเมื่ออย่างน้อย 2,000-3,000 ปี เมื่อเสียงมันกังวาน การได้ยินเสียงที่กังวาน ครั้งแรกมนุษย์แทบจะขาดใจตาย กลัวมาก เป็นเสียงที่สื่อสารกับสวรรค์ จึงศักดิ์สิทธิ์สืบมาจนปัจจุบัน ในอินโดนีเซียก็มีใหญ่กว่าเมืองไทยด้วย ฉะนั้นเสียงฆ้องจึงเป็นเสียงที่สำคัญที่สุดในวงปี่พาทย์

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีมาก่อนอินเดีย คือ 2,000-3,000 ปีมาแล้วก่อนจะรับอารยธรรมอินเดียเข้ามาร่วมกับเซาธ์อีสเอเชีย

ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราโกหกตัวเอง สิ่งที่เรารับมาจากอินเดีย อย่างการไหว้ หรือลายไทย ลายกนก ความจริงมาจากอินเดีย

เอาเป็นว่าวัฒนธรรมที่เราเรียกว่า "ไทย" มีส่วนทั้งก้าวหน้าและล้าหลัง แต่สิ่งที่เราใช้ส่วนใหญ่มันเป็นส่วนที่ล้าหลัง

ส่วนที่ก้าวหน้าก็มี เช่น เรื่องของอาหาร มีการผสมผสานสูง แกงน้ำข้นก็แขก แกงน้ำใสก็เจ๊ก ทั้งหมดคือการผสมผสานจากนานาชาติ แล้วเกิดสิ่งใหม่

หรืออย่าง "ไข่เจียว" ในเมืองจีนไม่มีหรอก แต่กระทะเหล็กซึ่งเป็นเทคโนโลยีของจีน ส่งผลให้อาหารไทยพัฒนา

Tuesday, August 28, 2012

เจ็ดเสาเจริญสติ (บทความจากครูอาจารย์)

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕

"อาจารย์ครับ ผมอยากรู้เรื่องการเจริญสติครับ อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยสิครับ"

นักศึกษามักจะหาโอกาสทั้งออนไลน์ออฟไลน์มาปรึกษาเรื่องการเจริญสติอยู่เสมอๆ ทำให้รู้สึกว่ายุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นแค่ยุคของความเสื่อมโทรมทางด้านจิต ใจ และด้านจิตวิญญาณ ดังที่สื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศออกข่าวกันมากมาย แต่ยังเป็นยุคเบ่งบานของการพัฒนาจิตอีกด้วย ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องการฝึกฝนพัฒนาจิตใจตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมาก หนังสือขายดีอันดับต้นๆ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ ก็เป็นหนังสือแนวธรรมะและพัฒนาตนเอง สถานปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นมากมาย มีครูบาอาจารย์ที่สอนเก่งๆ หลายท่าน สื่อต่างๆ ที่สามารถดาวน์โหลดมาชมมาฟังจากอินเทอร์เน็ตก็มากมาย เรียกว่าฟังจนตายก็ยังฟังไม่หมด แม้กระทั่งแอพพลิเคชันทางมือถือก็มีให้ใช้บนทุกระบบปฏิบัติการ

หัวใจสำคัญของการฝึกฝนเหล่านี้ก็คือ การเจริญสติ (Mindfulness) หรือ "การอยู่กับปัจจุบันขณะ" ซึ่งล้วนได้รับการวิจัยและพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กับหลายวงการ

ทางภาคธุรกิจ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีสถาบันการศึกษาหรือแคมปัสเป็นของตนเอง เช่น กูเกิ้ล หรือ แอปเปิ้ล ก็จัดให้มีหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่อง (สตีฟ จอบส์ ก็เป็นชาวพุทธนิกายเซนที่ปฏิบัติจริงจังมาก) แม้กระทั่งบริษัทชั้นนำของไทย เช่น เครือบริษัทเอสซีจี ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ในด้านการศึกษา การฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วยการเจริญสตินั้นเป็นหัวใจหลักของแนวคิด "จิตตปัญญาศึกษา" ซึ่งเป็นที่สนใจและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย มีศูนย์ เกิดหลักสูตร และรายวิชาเปิดสอนในหลายมหาวิทยาลัยในโลกและในแทบทุกมหาวิทยาลัยของไทย

วงการที่ได้ใช้ประโยชน์จากการความรู้นี้อย่างมากวงการหนึ่ง คือ วงการสาธารณสุข โดยผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ ศาสตราจารย์ จอน คาบัต-ซินน์ แห่งศูนย์การเจริญสติทางการแพทย์ สาธารณสุข และสังคม คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์สูงสุดของนิกายเซนในเกาหลีใต้ และยังได้เรียนรู้จากแพทย์รางวัลโนเบล ทำให้เขาผสานศาสตร์ทั้งสองและคิดค้นเทคนิคการลดความเครียดโดยใช้หลักการ เจริญสติ (Mindfulness-Based Stress Reduction) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก มีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า ๑๗,๐๐๐ ราย และมีการนำไปใช้ในสถานบริการด้านสาธารณสุขมากกว่าสองร้อยแห่งทั่วโลก

ศาสตราจารย์ จอน คาบัต-ซินน์ เป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเจริญสติสมัยใหม่ เขาทำให้การเจริญสติเป็นที่เข้าใจ ยอมรับ และขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เขาจัดอบรมให้กับซีอีโอ ผู้พิพากษา ผู้สอนศาสนา แม้กระทั่งนักกีฬาโอลิมปิก

ในหนังสือ Full Catastrophe Living เขาได้เขียนถึง เจ็ดเสาของการเจริญสติ (The Seven Attitudinal Pillars of Mindfulness Practice) โดยเป็นหลักทางทัศนคติ ว่าผู้ที่ใส่ใจฝึกฝนการอยู่กับปัจจุบันขณะนั้นควรมีทีท่าหรือวางจิตวางใจ อย่างไร เมื่อพิจารณาดูแล้วก็น่าสนใจ เพราะใช้ภาษาเรียบง่าย สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางควบคู่กับที่สอนกันอยู่ในไทยได้

โดยเขาแจกแจงไว้ว่าเสาทั้งเจ็ดของการเจริญสตินี้ประกอบด้วย

๑. การไม่ตัดสิน (Non-judging) คือการฝึกเป็นเหมือนกับพยานที่รับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราโดยไม่ไป ตัดสินใดๆ ไม่ไปให้ค่าเป็นบวกเป็นลบ เป็นดีเป็นไม่ดี เป็นชอบไม่ชอบ การตัดสินให้ค่านี้เรามักทำจนเป็นนิสัย บ่อยครั้งก็โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ก็รู้ตัวแต่ห้ามไม่ได้

รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาวนาช่วงเข้าพรรษาเขียนเล่าให้ฟังเมื่อเช้านี้ว่า "เมื่อ คืนวานภาวนาไม่ได้เลย ฟุ้ง ห่วง กังวลเรื่องงานที่ต้องไปร่วมอภิปราย แต่รู้สึกไม่พร้อมเลย กลัวพูดไม่ดี แล้วผลก็เป็นอย่างที่กังวล พูดๆ ไปเกิดนึกอะไรไม่ออก เศร้าจัง ... แต่ก็ยอมรับความไม่ได้เรื่องในตัวเราได้ยากเหลือเกิน"

เช่นนี้น่าจะเพิ่มการเท่าทันการตัดสินโดยการฝึกสังเกตลมหายใจของเรา หรือลองสังเกตดูว่าในช่วง ๑๐ นาทีนั้นใจเรามัววุ่นอยู่กับการชอบหรือไม่ชอบประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อยู่ตรงหน้าสักกี่มากน้อย

๒. ความอดทน (Patience) หลายครั้งผู้ฝึกฝนใจร้อน อยากให้เกิดผลเช่นนั้นเช่นนี้โดยไว รุ่นน้องที่ทำงานเพิ่งเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ ตนเองอยู่ในความทุกข์ ฝึกไปก็มักจะตั้งคำถามทำนองว่า "นี่ทำมาตั้งนานแล้วทำไมไม่เห็นเกิดมรรคเกิดผลอะไรเลย"

ความอดทนถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจและยอมรับว่า สิ่งต่างๆ มีการเกิดขึ้นเป็นไปในรูปแบบและเวลาของมันเอง เราไม่สามารถไปกะเกณฑ์ให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ ยกตัวอย่างผีเสื้อที่อยู่ในดักแด้ หากเราไปนำออกมาก่อนเวลาที่เหมาะสมก็ไม่สามารถจะบินได้ แม้ว่าเราจะทำไปด้วยความหวังดีสักเพียงใดก็ตาม

๓. จิตใจพร้อมที่จะเรียนรู้ (Beginner's Mind) สิ่งที่เราคิดว่าเรา "รู้แล้ว" คือ อุปสรรคขวางกั้นการที่เราจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง เพราะเรามองไปที่สิ่งใดเรามักจะเห็นสิ่งที่เราเห็นแล้วหรือรู้จักแล้วเป็น หลัก พร้อมกับให้ชื่อ ให้คำ พากย์ไปเบ็ดเสร็จ

ในการอบรมแนวจิตวิวัฒน์-จิตตปัญญาจึงมักมีแบบฝึกหัดให้มองหาสิ่งใหม่มิติ ใหม่ของสิ่งที่เราคิดว่ารู้จักดีอยู่แล้ว เช่น ปากกาหรือนาฬิกาที่ติดตัวเรา เมื่อกลับไปก็สามารถไปฝึกมองหรือมีประสบการณ์กับกิจกรรมที่เราทำบ่อยๆ หรือบางทีรู้สึกว่าเบื่อ เช่น ขับรถเส้นทางเดิมๆ กลับบ้าน ฝึกให้เรามองคนรู้จักเดิมๆ ด้วยสายตาใหม่ จนกระทั่งมักมีการพูดกันเล่นๆ ขำๆ ว่ามาเรียนแล้วกลับไปจะพบว่าได้ภรรยาใหม่ สามีใหม่ ความนี้ไม่ได้หมายถึงมีภรรยาหรือสามีอีกคน แต่คือคนเดิมที่เราเห็นสิ่งใหม่ในตัวเขา

๔. ความไว้วางใจ (Trust) เราต้องฝึกที่จะเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันจะถูกหรือผิดก็ตาม การบ่มเพาะความไว้วางใจนี้เช่นนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ในการฝึก เจริญสติ ซึ่งคือกระบวนการฝึกที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ที่จะฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ยิ่งเราไว้วางใจตัวเรามากเท่าไหร่ เราก็จะไว้วางใจคนอื่นง่ายขึ้นเท่านั้น

นี่จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง เพราะระบบโรงเรียนของเราฝึกให้ผู้เรียนตอบคำถามให้ถูกต้อง นักเรียนต่างแข่งขันกันพยายามทายให้ได้ว่าคำตอบที่ครูอยากฟังคืออะไร แทนที่จะฝึกจริงแท้กับความคิด กับความรู้สึกของตนเอง การฝึกความไว้วางใจจึงเป็นการฝึกที่จะเชื่อประสบการณ์ตรงของตนเอง ไม่ใช่เชื่อคำตอบจากครูหรือผู้มีอำนาจ

๕. ความไม่มุ่งเป้า (Non-striving) เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในโลกนี้เป็นไปเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อจะได้อะไรบางอย่างหรือไปที่ไหนสักแห่ง แต่นั่นไม่ใช่เสาหรือหลักของการเจริญสติ ซึ่งเป็นการฝึกทำเพื่อที่จะ "ไม่ทำ" เป็นพาราดอกซ์ (ความจริงคู่ขัดแย้ง) ซึ่งฟังดูเหมือนจะเพี้ยนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ในความทุกข์ ความเครียดหรือความเจ็บปวด

ดังตัวอย่างรุ่นน้องข้างต้น ผู้ไม่อยากทนอยู่กับความทุกข์ที่ทับถมในใจ อยากภาวนาให้ไปจากที่ตรงนี้เสียที ทั้งๆ ที่หัวใจของการฝึกเจริญสติแท้จริงแล้ว คือ การได้อยู่ตรงนี้อย่างเต็มที่เสียทีต่างหาก การฝึกเพื่อจะผ่อนคลาย หายเจ็บ หรือแม้กระทั่งบรรลุธรรมจึงขัดกับหลักการเจริญสติโดยตรง

๖. การยอมรับ (Acceptance) บ่อยครั้งที่เรามักจะปฏิเสธ ต่อต้าน ไม่ยอมรับความเป็นจริงตรงหน้า โดยเฉพาะหากว่าไม่ตรงกับใจของเรา เราใช้แรง กำลัง เวลาไปมหาศาลเพื่อที่จะแข็งขืนดึงดัน พยายามให้บางอย่างเป็นอย่างอื่นจากที่มันเป็นจริงๆ ทั้งๆ ทางที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับ ซึ่งก็คือ การมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างแท้จริงตามที่มันเป็นในปัจจุบัน การยอมรับนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะงอมืองอเท้า ปล่อยให้ใครจะทำอะไรหรือเป็นอะไรก็ช่าง เพียงแค่หมายความว่าเราไม่ต้องเสียเวลาไปต่อต้านความจริง

มีสองความเชื่อที่มนุษย์มักตัดสินตนเองอยู่เสมอๆ คือ ฉันไม่ดีพอ และ ฉันไม่เป็นที่รัก ตัวอย่างรุ่นพี่ที่รู้สึกว่าตนเองไม่เก่งไม่ดีพอ ยากที่จะยอมรับตนเองนั้น วิธีที่เหมาะที่สุดอาจจะเป็นการบอกกับตัวเองว่า "เราก็เป็นของเราอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และในระหว่างนี้ เราจะยอมรับตัวเราอย่างที่เราเป็นด้วย"

๗. การปล่อยวาง (Letting Go) ในการฝึกปฏิบัติ อาจมีบางความคิด ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งสภาวะ ที่เราชอบใจอยากจะเก็บเอาไว้ และในทางกลับกันก็อาจจะมีบางความคิด ความรู้สึก หรือสภาวะที่เราอยากปฏิเสธ การปล่อยวางในการเจริญสติ คือ การตั้งใจที่จะไม่ไปทำอะไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังที่พระไพศาล วิสาโล ใช้วลีที่ว่า "ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา" เป็นการสรุปความที่ตรงประเด็น

เจ็ดเสาของการเจริญสตินี้ชี้แนะแนวทางให้ผู้ปฏิบัติรู้จักวางจิตวางใจให้ เหมาะสมได้อย่างชัดเจน และช่วยเสริมทั้งการเจริญสติตามรูปแบบและในชีวิตประจำวันได้ โดยมากแล้วพวกเราเหล่านักปฏิบัติต่างก็มุ่งมั่นในการพัฒนาฝึกฝนการเจริญสติ ของตนอยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุนี้เอง หลายครั้งหลายคราวก็เป็นผลให้เราคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป ยิ่งปฏิบัติมามากก็ยิ่งคาดหวังถึงความก้าวหน้า หวังว่าจะทำได้ดีดังที่เคยทำได้บ้าง ความตั้งใจดีอันเกิดจากความมุ่งมั่นจริงจังต่อการปฏิบัติจึงมักกลายให้เกิด ทัศนคติที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการฝึกฝนของเราไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการด่วนตัดสินตัวเอง ความร้อนใจอยากเห็นความก้าวหน้าเห็นผลตามคาด การที่เราเชื่อว่าเรารู้แล้วทำให้ประมาทและพลาดการเรียนรู้ระหว่างรายทาง ความกังวลสงสัยไม่อาจวางใจ การดึงดันไม่ยอมรับสภาพ และสุดท้ายคือการยึดติด โดยเฉพาะกับประสบการณ์ที่ดีในการปฏิบัติ



การพัฒนาจิตจากการเจริญสติมีหัวใจหลักคือ การอยู่กับปัจจุบันขณะ และวิถีทางการปฏิบัติก็มีได้หลายแนวตามจริต ตามความสนใจของแต่ละบุคคล เมื่อราว 8 ปีที่ผ่านมานั้น ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ได้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีคุณค่ามากเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” กล่าวถึงโมเดลสำคัญคือ ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์ ซึ่งแต่ละซี่ของธรรมจักรนั้นเป็นช่องทางการพัฒนาจิตที่หลากหลาย อาทิ การทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม (และต่อมาถูกเรียกว่าจิตอาสา) การศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ (ในปัจจุบันคือจิตตปัญญาศึกษา) วิปัสสนากรรมฐานเป็นวิถีชีวิต สื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยทุกซี่เชื่อมโยงร่วมกันด้วยแกน คือ เรื่องการเจริญสติ อันเป็นการวิวัฒน์จิตนั่นเอง

ในโลกปัจจุบันที่การค้นคว้าหาข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ เราต่างสามารถหาแนวทางวิธีการฝึกฝนตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านแนะไว้ได้ ทั้งจากหนังสือ อินเตอร์เนท และสื่อซีดี อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ในบริบทหรือแวดวงของวงการไหน ก็สามารถเลือกช่องทางการพัฒนาจิตที่เข้ากันและสอดคล้องกับเงื่อนไขของเราได้ เจ็ดเสาของการเจริญสติจึงช่วยเสริมให้ได้เป็นอย่างดีว่าเราพึงวางทัศนคติของ เราอย่างไรในการปฏิบัติ

คำแนะนำที่ผมจะให้แก่ลูกศิษย์ที่อยากรู้เรื่องการเจริญสติ จึงมักไม่สามารถบอกเขาอย่างรวบรัดและจำกัดเฉพาะแนวทางหนึ่งใดได้ ด้วยหนทางนี้เป็นวิถีทางที่มีการเดินทางอันยาวไกล ผู้เรียนย่อมต้องเป็นผู้เลือกและเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง แต่จะด้วยรูปแบบใด แนวทางไหน ในช่องทางอะไรก็ตาม หากปฏิบัติด้วยทัศนคติที่เอื้อต่อการฝึกฝนใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ก็ย่อมเป็นหนทางส่งเสริมให้เกิดสติ สู่การวิวัฒน์จิตของตน