Thursday, May 28, 2015

จดหมายรักของเมฆบ้า

https://www.facebook.com/148739335287707/photos/a.148748825286758.1073741826.148739335287707/446256578869313/?type=1&theater
จากเพจ Zen Smile Zen Wisdom


"..ผืนป่าและทุ่งหญ้า โขดหินและวัชพืช มิตรแท้ของฉัน
ทางเถื่อนแห่งเมฆบ้ามิเคยแปรเปลี่ยน
ผู้คนคิดว่าฉันเสียสติ แต่ฉันมิใส่ใจ
หากฉันคือผีร้ายบนโลกนี้ ใยต้องหวาดหวั่นปรโลก

ทุกวัน นักบวชทั้งหลายตรึกตรองพระธรรมอย่างละเอียดละออ
และสวดพระสูตรอันซับซ้อนอยู่อย่างมิรู้จบ
ทว่าก่อนทำเช่นนั้น พวกเขาควรเรียนรู้ว่า
จะอ่านจดหมายรักซึ่งส่งมาโดยสายลมและสายฝน โดยหิมะและพระจันทร์ ได้อย่างไร.."

/พระอาจารย์ อิคคิว โซจุน,(一休宗純) (พ.ศ.๑๙๓๗-๒๐๒๔) แห่งพุทธศาสนานิกายเซ็นในญี่ปุ่น ในบทกวีท่านเรียกตนเองว่า เคียวอุน(狂雲) แปลตรงตัวว่า เมฆบ้า

(ภาพเขียนท่านอิคคิว โดย โบกุซะอิ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน, ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่โตเกียว)


-------------------------------------------------------

จากโพสต์นี้ ได้แรงบันดาลใจมา เรียบเรียงใหม่เป็น


ไม่ว่าจะเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร หรือ ไม่นับถืออะไร เป็น atheist
ถ้าสามารถอ่านจดหมายรัก
บน ผืนป่าและทุ่งหญ้า
บน โขดหินและวัชพืช
ที่ส่งมาโดยสายลมและสายฝน
โดยหิมะและพระจันทร์ ได้
ผู้นั้นมีความ "เป็นพุทธ(ตื่นรู้)" อยู่ในตัว
โดยไม่ต้องเป็นชาวพุทธ


ธรรมะใสกว่าน้ำ
เงียบกว่าลม
เสียงของการตบมือข้างเดียว


(อธิบายต่อ)
จิต ที่เห็นแบบนี้เป็นจิตที่เป็นกุศล มีลหุตา มีความเบา มีมุทุตา มีความอ่อนโยนนุ่มนวล มีปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่ซึมไม่ทื่อ มีกัมมัญญัตตา ควรแก่การงาน ไม่หลบหลีกการรับรู้ มีอุชุตา ซื่อตรงในการรู้ สภาวะอะไรเกิดขึ้นก็สักว่ารู้ว่
าเห็นไป จิตที่เป็นกุศลไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ
http://www.dhammada.net/2013/01/15/19044/


ในกาลามสูตร หัวใจหลักไม่ใช่การไม่เชื่อ แต่คือ การรู้กุศล อกุศล

เมื่อเข้าใจแล้ว ให้น้อมมาดูกาย ใจ รูป นาม
ถ้าฝึกกายเคลื่อนไหวแบบหลวงพ่อเทียน
แล้ว เข้าใจ ทำได้ถึงแก่น
จะได้รู้ เสียงของการตบมือข้างเดียว ก็คือ เห็นอย่างแจ่มแจ้ง วิปัสสนา
คือ แยกรูปขันธ์ เห็นจิต เคลื่อนไหวแยกออกจากกายนั่นเอง


เมื่อจิตพร้อมแล้ว นึกถึงธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าสอนท่านพาหิยะ เจริญปัญญาต่อไป

"ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อ
ทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
ในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า
ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ"

จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-pahiya-tarujeeriya.htm

เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือการจบกิจของศาสนาพุทธ ในชาตินี้
การจบคือ การสิ้นสุดของกิเลส ไม่มีโลภ โกรธ หลง ไม่ใช่ ไม่มีอะไร เลย
สิ่งที่มีคือ เมตตาล้นประมาณ ปัญญาที่เต็มเปี่ยม ความสุขที่หาอะไรเทียบไม่ได้


Thursday, May 14, 2015

"อวสานหงสา" ที่ไม่เกี่ยวกับหนัง "ท่านมุ้ย"

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1431600770

(สรุปสั้นๆ ว่า เพราะ การที่ตองอูล่มสลายแล้วเกิดอังวะใหม่ ทำให้มีการจัดระเบียบรัฐใหม่ให้แข็งเกร่งขึ้น ทั้งทางด้าน เอกลักษณ์ชาติพันธุ์ ระบบภาษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบคุมกำลังคนและยุทโธปกรณ์ อยุธยาที่ไม่ได้พัฒนาอะไรเลยนอกจากตีกันเอง ก็เลยแพ้เสียกรุงครั้งที่สอง)

ที่จะคุยต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับสมเด็จพระนเรศวรเลย แต่ผมอยากจะเสนอว่า อวสานหงสานั้นมีส่วนอย่างสำคัญต่ออวสานอยุธยาในกว่าศตวรรษครึ่งต่อมา อวสานหงสาอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง มากเสียกว่าการแย่งชิงราชสมบัติกัน หรือความไร้สมรรถภาพของผู้นำประเทศ อย่างที่มักยกเป็นสาเหตุของกรุงแตกเสียอีกก็ได้

แม้ พระนเรศวรไม่ใช่ผู้ปราบหงสาโดยตรงแต่อวสานหงสาเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ ตองอูในระยะแรกสิ้นสลายลงซึ่งก็นับเป็นโชคดีของราชวงศ์ตองอูหรือพม่า เพราะระบบปกครองของราชวงศ์ตองอูระยะแรกนั้น ไม่น่าจะทนทานต่อไปได้อีกนานเท่าไรอยู่แล้ว เมื่อขาดกษัตริย์ที่ชาญฉลาดและเก่งกล้าสามารถอย่างพระเจ้าบุเรงนอง ทุกรัชกาลจะสิ้นสุดลงด้วยการแตกสลายของจักรวรรดิ เพราะเจ้านายที่ครองเมืองลูกหลวง พากันแข็งเมืองต่อรัชทายาท ในที่สุดพม่าก็จะกลับไปสู่สภาพจลาจลเหมือนเมื่อสิ้นอาณาจักรพุกาม หัวเมืองใหญ่ทั้งหลายต่างตั้งตัวเป็นอิสระ และทำสงครามระหว่างกันอยู่บ่อยๆ เปิดโอกาสให้คนจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นมองโกล, ไทยใหญ่, หรืออาณาจักรใกล้เคียง บุกทะลวงเข้ามาปล้นสะดมและยึดครองหัวเมืองในลุ่มน้ำอิรวดีอีก

การ กลับคืนขึ้นสู่ส่วนในแผ่นดินของราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยสถาปนา ราชธานีที่อังวะกลับเป็นโอกาสให้ได้สถาปนาระบบปกครองแบบใหม่ที่ทำให้การรวม ศูนย์อำนาจอย่างยั่งยืนถาวรเป็นไปได้ ใช่แต่เพียงเท่านั้น การขยายอำนาจนำของราชวงศ์ผ่านพระพุทธศาสนา, อักขระวิธี, วรรณกรรม, การขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน และการสร้างมาตรฐานกลางของอัตราน้ำหนัก, เงินตรา ตลอดจนความชอบธรรมของราชวงศ์พม่าเหนือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ทั้งหมด ยังทำให้พม่ากลายเป็นราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งในเชิงโครงสร้าง เหนือรัฐเถรวาทอื่นๆ ในอุษาคเนย์อีกด้วย แม้ว่าในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เนื่องจากความเสื่อมโทรมของพระราชอำนาจ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ราชวงศ์ตองอูล่มสลายลง เพราะการกบฏของชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิ โดยเฉพาะพวกมอญซึ่งสามารถตีอังวะแตก ถึงกระนั้น ในเวลาไม่นาน เมื่ออลองพญาสามารถตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่ได้สำเร็จ การ "ปฏิรูป" ด้านต่างๆ ที่ราชวงศ์ตองอูซึ่งฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้วางรากฐานไว้แล้ว ก็ดำเนินต่อไป อย่างคึกคักยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ผมขอพูดถึงบางเรื่องในการปฏิรูปของราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่



การ ถอยกลับขึ้นไปสู่ส่วนในนั้นนักวิชาการแต่ก่อนโดยเฉพาะอดีตเจ้าหน้าที่ อาณานิคมอังกฤษมักอ้างว่าเป็นต้นเหตุให้พม่าทอดทิ้งการค้าระหว่างประเทศ เลยพลอยไม่ค่อยรับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก (เพื่อให้เหตุผลว่า กษัตริย์พม่าล้าหลังเสียจนสมควรต้องตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ) แต่นักวิชาการรุ่นหลังชี้ว่า ข้อเท็จจริงตามหลักฐานมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะราชวงศ์ตองอูที่อังวะ สามารถควบคุมตอนล่างของลุ่มอิรวดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถรับผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศทางทะเลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต่างจากราชอาณาจักรที่มีราชธานีไม่ไกลจากทะเลเช่นกัน

ยิ่ง ไปกว่าการค้าทางทะเลการค้าทางบกเชื่อมต่อกับยูนนานของจีนรุ่งเรืองขึ้นอย่าง สม่ำเสมอปริมาณของสินค้าที่ส่งผ่านการค้าทางบกนี้ไม่อาจระบุเป็นตัวเลขได้ แต่จากหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ชี้ว่า ปริมาณนั้นต้องสูงพอที่จะทำให้พม่ากลายเป็นแหล่งผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดใน ภูมิภาคนี้ ฝ้ายกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวแรกๆ ที่ส่งออกผ่านกองคาราวานพ่อค้ายูนนาน (ในปลายอยุธยา ก็มีการผลิตฝ้ายเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเช่นกัน... อย่าลืมว่านางพิมได้เสียกับพลายแก้วที่ไร่ฝ้าย... แต่โดยปริมาณเปรียบเทียบแล้ว น้อยกว่าที่ผลิตในพม่าสัก 10 เท่า) การถอยราชธานีกลับขึ้นไปส่วนบน ทำให้ราชสำนักอังวะสามารถควบคุมเส้นทางการค้าจากยูนนานให้ปลอดภัยได้ตลอดมา เพราะได้สถาปนาอำนาจทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมเหนือที่ราบสูงชานอย่าง มั่นคงขึ้น (รวมทั้งเลยเข้ามาในล้านนา ซึ่งพม่าเรียกว่าชานตะวันตก อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางกองคาราวานพ่อค้ายูนนานด้วย)

ในขณะเดียวกัน กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นนี้ ยังได้สร้างป้อมค่ายตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั่วราชอาณาจักร รวมถึงตามเส้นทางการค้าภายในด้วย ความสงบปลอดภัยที่รัฐบาลกลางจัดไว้ให้นี้ ยิ่งทำให้การค้าภายในรุ่งเรืองมากขึ้น ในช่วงราชวงศ์ตองอูที่อังวะกับต้นราชวงศ์อลองพญานั้น ภาษีที่เป็นเงินสดซึ่งรัฐบาลสามารถเก็บได้มีมูลค่าถึง 70% ของภาษีทั้งหมด

สะท้อนความเติบโตของเศรษฐกิจตลาดในพม่าได้ดี



แต่ ที่ผมคิดว่าสำคัญยิ่งกว่าการค้าก็คืออำนาจเหนือกำลังคนราชวงศ์ตองอูที่ ฟื้นฟูขึ้นกับราชวงศ์อลองพญา(กอนบอง)ต่างต้องให้ความสำคัญแก่การควบคุมกำลัง คน ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในที่ราบตอนกลางของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะกำลังคนเหล่านี้คือผู้ผลิตข้าว, ผลิตส่วยและภาษี, เป็นผู้ให้บริการที่จำเป็นในการปกครอง, เป็นกำลังรบกับข้าศึกต่างเมือง และกับเจ้านายและขุนนางซึ่งอาจก่อกบฏขึ้น ใน ค.ศ.1635 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูได้ทำสำมะโนประชากร-ที่ดิน-บัญชีส่วยและภาษีทั้งของ หลวงและของขุนนางเป็นครั้งแรก

ในด้านการปกครองอังวะพยายามจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นลงธรรมเนียมส่งเจ้านายไปครองเมืองลูกหลวงเป็นอันยกเลิกเด็ดขาด เจ้านายต้องอยู่ในเมืองหลวง ได้กินแต่ส่วยสาอากรจากหัวเมืองที่กษัตริย์มอบให้ โดยมีขุนนางเป็นเจ้าเมืองซึ่งอังวะพยายามไม่ให้สืบตำแหน่งทางสายโลหิต ฉะนั้น กษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นนี้ จึงมีพระราชอำนาจควบคุมส่วนกลางประเทศ ซึ่งเป็นแกนกลางของพม่าไว้ได้อย่างรัดกุม แม้ว่ายังมีปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติสืบต่อมา แต่เป็นการแย่งชิงกันในหมู่ราชวงศ์ เพราะพม่ายังถือความเป็น "เจ้า" เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสืบราชสมบัติ แตกต่างจากอยุธยาในสมัยเดียวกัน ที่ปล่อยให้ขุนนางเข้ามาร่วมเล่นเกมชิงราชสมบัติด้วย อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงราชสมบัติของพม่าไม่เป็นเหตุให้กลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างที่เกิดในสมัยราชวงศ์ตองอูตอนต้นอีกต่อไป

พัฒนาการ ทางวัฒนธรรมในช่วงนี้มีความสำคัญต่อความแข็งแกร่งของราชวงศ์ที่ได้อำนาจ ปกครองพม่าอย่างยิ่งโดยอาศัยการปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้ตรงตามคัมภีร์ราชสำนัก ได้ขยายพระพุทธศาสนา "สำนวน" นี้ออกไปอย่างกว้างขวาง พระพุทธศาสนาแบบคัมภีร์เปิดโอกาสผู้ที่สามารถบำรุงเลี้ยง "นักปราชญ์" ที่เชี่ยวชาญบาลีกลายเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนาที่ใหญ่สุด และผู้ที่มีความสามารถทำเช่นนั้นได้ก็คือราชสำนักอังวะ ยากที่หัวเมืองอื่นหรือเจ้าประเทศราชจะสามารถแข่งขันได้ คัมภีร์บาลีจากลังกาถูกถ่ายเป็นอักษรพม่าจำนวนมาก และที่สำคัญกว่านั้นก็คือมีการแปลคัมภีร์บาลีเป็นภาษาพม่าในช่วงนี้อีกมาก เหมือนกัน

ภาษาพม่าของส่วนกลางเริ่มกลายเป็นภาษามาตรฐาน ทั้งในแง่อักขรวิธี และศัพท์มีการทำอภิธานศัพท์ในภาษาพม่าขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ราชสำนักอังวะยังพยายามสร้างมาตรฐานกลางของหน่วยน้ำหนัก, การวัด และประดิทิน



การ ขยายตัวของภาษาพม่าเกิดขึ้นพร้อมกับความสามารถอ่านออกเขียนได้ซึ่งแพร่ กระจายไปยังประชาชนทั่วไปมากขึ้นก่อให้เกิดความเฟื่องฟูของวรรณคดีพม่า ไม่เฉพาะแต่ที่แต่งกันขึ้นในหมู่กวีราชสำนักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวรรณกรรมอีกมากที่แต่งกันขึ้นในหัวเมืองใหญ่อื่นๆ ทั้งที่เป็นตำนานเมือง, ธรรมสากัจฉา และบทละคร นอกจากนี้ ยังเกิดประเพณีทางวรรณกรรมใหม่ๆ ขึ้นเป็นอันมาก เช่น วรรณกรรมเสียดสีสำนวนของคนที่ไม่สังกัดชนชั้นมูลนาย แม้แต่ "มหาราชพงศาวดาร" ของอูกาลา ซึ่งไม่ใช่ข้าราชสำนัก ก็เปลี่ยนประเพณีการเขียนวรรณกรรมประวัติศาสตร์เสียใหม่ จนในบานแผนกต้องกล่าวขอโทษที่ไม่เดินตามประเพณีเดิม

ภาษาพม่าและวัฒนธรรมพม่ากลายเป็นมาตรฐานของผู้มีการศึกษาไม่เฉพาะแต่ในกลุ่มชาติพันธุ์พม่าเท่านั้นแต่รวมไปถึงเมืองประเทศราชทั้งหลาย โดยเฉพาะในคุ้มหลวงของเจ้าไทยใหญ่ และหัวเมืองมอญ (และคงรวมถึงล้านนา โดยเฉพาะเชียงใหม่ด้วย) ฉะนั้น ความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมของราชสำนักพม่า จึงเป็นพลังผนวกเอาความภักดีของชนชั้นนำในบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่าด้วย ความภักดีนี้อาจคลอนคลายได้ในบางสถานการณ์ แต่ความเป็นพม่าในส่วนลึกของจิตใจก็ยังอยู่

แม้แต่ในหมู่สามัญชนโดยทั่วไป ภาษาพม่าก็ขยายตัวขึ้นในหมู่ผู้ที่พูดภาษามอญ, พยู, ไท, ชิน และคดู โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในที่ราบตอนกลาง



พัฒนาการทั้งทางการเมือง,เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นกับราชอาณาจักรอยุธยาในสมัยนี้เช่นเดียวกัน แต่ผม "รู้สึก" ว่าความเข้มข้นไม่อาจเทียบได้กับที่เกิดในราชอาณาจักรอังวะ กว่าจะเข้มข้นเทียบเทียมกันได้ ก็ต่อเมื่อตกมาถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว โชคดีที่ผมไม่ต้องอาศัยแต่ความ "รู้สึก" อย่างเดียว เพราะ Victor Lieberman ซึ่งค้นคว้าลงลึกเกี่ยวกับราชวงศ์ตองอูที่ฟื้นฟูขึ้นกับอยุธยา ก็มีความเห็นอย่างเดียวกันใน Strange Parallels : Southeast Asia in Global Context เล่มหนึ่ง (และส่วนใหญ่ของข้อมูลเกี่ยวกับพม่าในบทความนี้ ก็เอามาจากหนังสือเล่มนี้)

ทั้ง หมดนี้ยังไม่ทำให้พม่ากลายเป็นรัฐชาติขึ้นมาหรอกครับพม่าก็ยังเป็นรัฐราช สมบัติอย่างเดียวกับอยุธยาและตั้งอยู่บนฐานของเครือข่ายกลุ่มอุปถัมภ์ที่ หลากหลายซับซ้อนเหมือนกัน เพียงแต่ว่าในพม่าศูนย์กลางของเครือข่ายอุปถัมภ์มีสมรรถนะในการควบคุมเครือ ข่ายได้กว้างและลึกกว่าอยุธยา (แม้แต่การจัดไพร่หลวงหรือ ahmudan กับไพร่สมหรือ athi ของพม่ากับไทยคล้ายกัน แต่ไพร่หลวงของพม่าเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์กว่าของอยุธยา ซ้ำยังมีภารกิจไปทางทหารอย่างเห็นได้ชัด อาจคล้ายอยุธยาตอนต้นที่แบ่งไพร่ออกเป็นสองฝ่ายคือทหารและพลเรือนก็ได้) และระบบทั้งหมดเหล่านี้ถูกพัฒนาให้เข้มข้นและเข้มแข็งยิ่งไปกว่าเดิมเสียอีก ในสมัยราชวงศ์อลองพญา

อีก สิ่งหนึ่งซึ่งดูจะก้าวไปไกลกว่าอยุธยาคือสำนึกความเป็นพม่าของข้าไพร่เด่น ชัดกว่าข้าไพร่ของอยุธยาเป็นอันมากเล่ากันว่าเมื่อกองทัพของอลองพญายกไปปราบ หัวเมืองมอญที่ร่วมกันก่อกบฏจนทำลายราชวงศ์ตองอูลง ทหารพม่าต่างพากันถอดผ้าโพกหัว ปล่อยผมสยายลง เพื่อบอกแก่ชาวพม่าซึ่งตกเป็นเชลยของมอญว่าคนชาติพันธุ์เดียวกันได้ยกกำลัง มาช่วยปลดปล่อยแล้ว คำปลุกปลอบใจของกองทัพพม่าก็คือ พม่าหนึ่งคนสามารถปราบ "ตะเลง" ลงได้ 10 คน

ถ้าเปรียบเทียบพฤติกรรมของราษฎรไทย ทั้งในครั้งศึกอลองพญาและศึกครั้งเสียกรุง เราจะไม่เห็นสำนึกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เช่นนี้เลย



เพราะอวสานหงสาเปิดโอกาสให้พม่าถอยกลับขึ้นเหนือและปฏิรูปการเมือง,เศรษฐกิจ และสังคมของตนเองไปได้ไกลกว่าอยุธยา จึงทำให้กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่กว่าปี สามารถปราบกองทัพอยุธยาที่ยกออกต่อรบได้ในเกือบทุกครั้ง มีวินัยและการวางแผนอย่างดี ในการตั้งทัพรอให้น้ำลด ต้องเข้าใจด้วยว่าการตั้งทัพรอน้ำลดนั้นเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งพม่าเองไม่เคยทำได้มาก่อนเหมือนกัน ทั้งยังไม่ใช่การตั้งทัพเพียงเพื่อให้อยู่รอดจนถึงหน้าแล้ง ทัพพม่าซึ่งต้องตั้งอยู่บนที่ดอนยังมีภารกิจสำคัญต้องทำอีกด้วย นั่นคือสกัดมิให้เสบียงอาหารไหลเข้าอยุธยา ต่อตีกับกองทัพเรืออยุธยามิให้มาทำลายค่ายได้ และป้องกันมิให้กองกำลังจากที่อื่นยกเข้ามาล้อมกระหนาบ

สิ่ง สำคัญที่สุดในทัศนะของผมก็คือจะทำอย่างไรให้ทหารชาวนาซึ่งถูกเกณฑ์มาไกลไม่ หนีทัพกลับบ้านทหารเลวที่สามารถตั้งทัพค้างฝนได้ทั้งฤดูเช่นนี้ ต้องมั่นใจว่าลูกเมียทางบ้านจะมีข้าวกินในปีถัดมา ผมไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์พม่าพอจะบอกได้ว่า ราชสำนักของพระเจ้ามังระแห่งราชวงศ์อลองพญาทำอย่างไร จึงจะสร้างความมั่นใจเช่นนี้แก่ทหารเลวในกองทัพได้ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ความสามารถที่จะทำสงครามนอกฤดูแล้งได้เช่นนี้ ต้องมีการจัดองค์กรทางสังคมที่ก้าวหน้า พอที่จะสามารถเฉลี่ยอาหารไปได้อย่างทั่วถึง แม้ผลผลิตอาจลดลงเพราะสูญเสียกำลังแรงงานไปกับกองทัพรุกรานของตน

ดังนั้น แม้กองทัพอยุธยามิได้เสียเปรียบกองทัพอังวะในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันพระนคร กองทัพอยุธยาก็ไม่สามารถต่อสู้กับกองทัพพม่าได้ เพราะกองทัพอยุธยาต้องเผชิญกับกองทัพชนิดใหม่ ที่วางอยู่บนระบบการเมืองและสังคมที่แข็งแกร่งกว่าของตนเอง



สิ่งที่ผู้นำทัพไทยหลังกรุงแตกได้เรียนรู้สืบมาจนรัชกาลที่1เป็นอย่างน้อยก็คือ ความเกรียงไกรของกองทัพนั้น ไม่ได้มาจากความสามารถในการรบเพียงอย่างเดียว ที่เป็นรากฐานอันขาดไม่ได้เสียยิ่งกว่า ก็คือระบบการเมืองและสังคมที่แข็งแกร่ง อันจะเอื้อต่อความสามารถของกองทัพที่จะพลิกแพลงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีไปได้หลายกระบวนท่า เพื่อเอาชนะข้าศึกในทุกเงื่อนไขและสถานการณ์

ดูเหมือนบทเรียนดังกล่าวนี้ถูกผู้นำทัพไทยลืมไปเสียสนิทในระยะหลัง

หากหงสาไม่ถึงกาลอวสานราชวงศ์ตองอูก็ไม่สามารถย้อนกลับไปตั้งมั่นในส่วนในของประเทศแล้วสั่งสมพัฒนาการด้านต่างๆ ของราชอาณาจักร จนกลายเป็นรัฐราชสมบัติที่ก้าวหน้ากว่าอยุธยาอย่างมากได้

ความแข็งแกร่งของราชอาณาจักรอังวะนี่เอง ที่ทำให้อยุธยาไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ เมื่อต้องเผชิญศึกกับพม่า อวสานหงสาจึงนำมาซึ่งอวสานอยุธยา ด้วยประการฉะนี้