Monday, June 29, 2015

น้ำขึ้น น้ำลง น้ำแล้ง : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความนี้ให้ภาพสังคมไทย กับ น้ำได้ดี

from 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435543211

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

มติชนรายวัน
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558



คลองสายหนึ่งในกรุงเทพฯ รูปนี้น่าจะถ่ายสมัย ร.5 

มีผู้คาดว่าน่าจะเป็นย่านที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่มีคำอธิบาย

มีเรือนตลาดแบบจีนติดกันเป็นแถว เรียกเรือนแถว แล้วมีบันไดท่าน้ำทอดพาดเรียงกันลงในคลอง สำหรับขนถ่ายสิ่งของขึ้นลงเรือ และเป็นทางลงตักน้ำใช้น้ำกิน กับอาบน้ำ

ช่วงเวลากลางวัน น้ำลงเหลือติดก้นคลอง สองฝั่งเห็นโคลนตม เรือติด จนต้องจอดเกยฝั่งอยู่อย่างนั้น เหลือแอ่งน้ำท้องคลองไว้ให้เรือเล็กแล่นไปมาได้ เรือใหญ่แล่นไม่ได้ 

พอตกกลางคืน น้ำจะขึ้นเต็มฝั่งตามปกติ เป็นอย่างนี้ชั่วนาตาปีสำหรับพื้นที่ใกล้ทะเล อยู่ใต้อิทธิพลของน้ำทะเลขึ้นลง

ปลาตีนริมคลองน้ำลง

เมื่อนุ่งกางเกงขาสั้นเรียนมัธยม ผมเคยอาศัยบ้านญาติอยู่ริมคลองวัดดาวดึงษ์ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี (เข้าออกโดยลงเรือข้ามฟากที่ท่าพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ทุกวันนี้) 

ยุคนั้นยังไม่มีน้ำประปาเข้าไป ผมต้องรอเวลาน้ำขึ้นคอยตักน้ำจากคลองไปแกว่งสารส้ม รอตกตะกอน แล้วช้อนน้ำใสข้างบนใส่ตุ่มไว้ใช้ บางทีน้ำขึ้นกลางวัน แต่บางทีก็ขึ้นกลางคืนตอนดึกๆ ต้องถ่างตารอน้ำขึ้น(ให้รีบตัก)

ถ้าน้ำลงตอนกลางวันจะเห็นปลาตีนแหวกโคลนตมตามริมคลองวัดดาวเต็มไปหมด ผมตื่นเต้นมากๆ เพราะเด็กบ้านนอกเป็นที่ดอนไม่เคยเห็นปลาตีน

ที่เห็นน้ำขึ้นน้ำลงอย่างนี้ได้ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นยุคไม่มีเขื่อนควบคุมน้ำ

[เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปิดใช้งาน 7 กุมภาพันธ์ 2500 หลังจากนั้นมีเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เปิดใช้งาน 17 พฤษภาคม 2507]

แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อน้ำลงในหน้าแล้ง จะเหลือน้ำไหลปิดท้องน้ำเท่านั้น มองเห็นโคลนตมและเศษขยะสิ่งของสองข้างตลิ่ง(แบบเดียวกับคลองในรูปประกอบ)

เมื่อเดินลงเรือข้ามฟากดูน่ากลัวหกล้มตกโคลน เพราะสะพานทอดลงโป๊ะเรือจะชันกว่าตอนน้ำขึ้น

คนกรุงเทพฯสมัยนั้นมองเป็นเรื่องปกติของหน้าแล้ง เพราะมีให้เห็นทุกปี

Wednesday, June 03, 2015

นิสัยที่แท้ของคนไทย

อ่านบทความอาจารย์ โกวิท แล้ว คิดออกมาได้ดังนี้ (ดูต่อด้านล่าง)

กรมพระยาดำรงราชานุาภาพทรงเคยดำรัสว่า อุปนิสัยคนไทยคือ การรักความเป็นไทย ปราศจากวิหิงสา รู้จักประสานประโยชน์

คนไทยทั่วไปเข้าใจตัวเองว่า อุปนิสัยคนไทยคือ ความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

แต่ รูธ เบเนดิกต์ ปรมาจารย์ของวิชามานุษยวิทยา ผู้เขียนหนังสือ "ดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร" ที่ พลเอก แมคอาเธอร์ใช้เป็นตำราในการปกครองญี่ปุ่น ซึ่งถือว่า เป็น "การยึดครองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างวิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์" กลับบอกว่า ความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่น่าจะเป็นนิสัยเฉพาะของคนไทย เพราะว่า ทุกสังคมการเกษตรจะมีนิสัยแบบนี้
รูธ ได้ฟันธงว่า นิสัยเฉพาะของคนไทย คือ "คนไทยมีนิสัยชอบซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้งจากการถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้าย แต่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าคนที่หลอกลวงหรือทำร้ายคนอื่นนั้นมีความผิดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยจะเห็นว่าการหลอกลวงหรือการทำร้ายบุคคลอื่นนั้นจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายอะไรนัก" 

นี่ก็เป็นความเห็นฝรั่งคนหนึ่งเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า ปัจจุบัน ยังเป็นจริงไหม

ถ้าแค่สมน้ำหน้า คิดว่า มีทุกชาติ แต่ เอาหนักๆแบบนี้ อาจจะมีที่จีน กับ อินเดีย ที่อินเดียน่าจะใช่เลย แบบ กรณี ข่มขืน ผญ บนรถบัสประจำทาง คนในสังคมก็มีกระแสคิดแบบเดียวกัน


---------------------------------------------
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1433313206

รูธ เบเนดิกต์ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์


ที่มา:มติชนรายวัน 3 มิ.ย.2558
รูธ เบเนดิกต์ เป็นปรมาจารย์ของวิชามานุษยวิทยา (Anthropology) ที่จัดว่าเป็นวิชาการสาขาใหม่ที่ศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ ในเรื่องของมนุษยชาติในประเด็นของวิวัฒนาการของมนุษย์ และสังคมวัฒนธรรมมนุษย์เริ่มปรากฏตัวบนโลกครั้งแรกเมื่อไหร่ ไปจนถึงประเด็นที่ว่าทำไมมนุษย์ในแต่ละสังคมทั่วโลกจึงแตกต่างกันทั้งทาง พัฒนาการและวัฒนธรรม


รูธ เบเนดิกต์ เขียนหนังสือเรื่อง Patterns of Culture (1934) ซึ่งหัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ "วัฒนธรรม (วิถีการดำเนินชีวิต-ไม่มีดีไม่มีเลว เช่น คนไทยกินข้าว ฝรั่งกินขนมปัง หรือคนไทยเผาศพ คนจีนฝังศพ เป็นต้น) มีแบบแผนสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมนั้น" หรือจะเน้นให้ชัดเจนก็คือ "วัฒนธรรมก็คือบุคลิกภาพของคนในสังคมนั่นเอง"

รูธ เบเนดิกต์ เป็นสุภาพสตรีผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องลักษณะนิสัยประจำชาติของไทยและของ ญี่ปุ่น สำหรับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทั้งประเทศญี่ปุ่นและไทยนั้นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทางกระทรวงกลาโหมอเมริกันก็เลยอยากรู้จักศัตรูของเขาให้ถ่องแท้ เข้าทำนอง "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะทั้งร้อยครั้ง" นั่นแหละ

ผลงานรูธ เบเนดิกต์ เกี่ยวกับลักษณะนิสัยประจำชาติของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่แพร่หลายรู้จักกันดี ทั่วโลก โดยถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเรื่องคือ The Chrysanthemum and the Sword-ดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร ซึ่งหนังสือเล่มนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของนายพลแมคอาเธอร์ ยึดถือเสมือนคัมภีร์ไบเบิลในการปกครองชาวญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถือว่าเป็นการยึดครองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างวิเศษที่สุดในประวัติ ศาสตร์เลยทีเดียว

ส่วนงานของรูธ เบเนดิกต์ เกี่ยวกับประเทศไทยนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เพราะไม่ได้ถูกตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาอังกฤษ แต่ทางเมืองไทยได้แปลออกมาพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว โดยพรรณี ฉัตรพลรักษ์ ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2524 โน่น ยังพอหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ชื่อเรื่องคือ Thai Culture and Behavior ส่วนชื่อหนังสือภาษาไทยคือ "วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย"

งานวิจัยเกี่ยวกับนิสัยประจำชาติคนไทยนี้ รูธ เบเนดิกต์ทำเสร็จแล้วส่งให้กระทรวงกลาโหมอเมริกันตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2486 เธอเสียชีวิตในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2491 รวมอายุได้ 61 ปี 

สิ่งที่จะต้องระลึกไว้ตลอดเวลาก็คือองค์ประกอบของเวลา เพราะทั้งคนที่ศึกษาและผู้ที่ถูกศึกษาก็เสียชีวิตหมดแล้ว บริบท (Context-สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศทั้งหมดในขณะหนึ่ง) ของประเทศไทยก็เปลี่ยนไปเยอะแยะแล้ว 

อาทิ เมื่อสมัยก่อน (ช่วงที่รูธ เบเนดิกต์ วิจัยนั่นแหละ) ถือว่าโรงแรมเป็นสถานที่อโคจร ผู้หญิงดีๆ เขาไม่เข้าโรงแรมกัน แต่ปัจจุบันนี้ต้องจัดงานแต่งงานในโรงแรมถึงจะโก้ แม้แต่ในแวดวงการศึกษา เช่น พวกมหาวิทยาลัย ยังนิยมจัดงานประชุมทางวิชาการกันที่โรงแรมเลยครับ 

ดังนั้น เรื่องที่ว่ารูธ เบเนดิกต์ ค้นพบความจริงเกี่ยวกับลักษณะนิสัยประจำชาติของคนไทย และสิ่งที่ค้นพบความจริงหรือไม่จริง ถูกหรือไม่ถูก จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพิจารณากันอย่างจริงจัง 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความแปลกในการมองและมุมมองสังคมไทยของ นักวิชาการตะวันตก และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าศึกษา พูดง่ายๆ ก็คือเทคนิควิธีการวิจัยของเขาน่าจะมีประโยชน์ในการศึกษาวิจัยของบ้านเรา ด้วย เพราะปัจจุบันนี้เราเน้นเฉพาะเทคนิควิธีวิจัยเชิงประมาณมากจนเกินไป แทบจะเรียกได้ว่าเอะอะอะไรก็ต้องเป็นเชิงประมาณไปเสียหมด พวกที่วิจัยเชิงคุณภาพกลับถูกมองข้ามไปหมดทีเดียว 

ที่ว่าน่าสนใจนั้นก็เพราะการมองของนักวิชาการต่างชาติแบบเป็นระบบ นั้นได้ให้ข้อคิดที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรูธ เบเนดิกต์ ตัดเรื่องที่เป็นสากลออกไป เช่นที่ว่าคนไทยเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนในสังคมเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ไหนๆ ที่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ผู้คนก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ทั้งนั้นแหละ 

ส่วนเรื่องไม่ตรงต่อเวลาก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะในสังคมเกษตรกรรมมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะไปเร่งรัดนักก็ไม่ได้ ไม่เหมือนการทำงานในโรงอุตสาหกรรมที่ต้องแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ดังนั้น การตรงต่อเวลาแบบเป๊ะๆ จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคมเกษตรกรรม สังคมเกษตรกรรมที่ไหนๆ ในโลกก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการตรงต่อเวลาทั้งนั้น 

สิ่งที่รูธ เบเนดิกต์มองเห็นและวิเคราะห์สรุปออกมาเป็นลักษณะนิสัยประจำชาตินั้น ต้องเป็นลักษณะที่เด่นและแจ้งชัดจริงๆ แบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม่ใช่เรื่องสากล

ที่น่าพิศวงที่สุดที่รูธ เบเนดิกต์ สรุปว่าเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติของไทยก็คือ "คนไทยมีนิสัยชอบซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้งจากการถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้าย แต่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าคนที่หลอกลวงหรือทำร้ายคนอื่นนั้นมีความผิดแต่ อย่างใด มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยจะเห็นว่าการหลอกลวงหรือการทำร้ายบุคคลอื่นนั้นจะเป็นการ กระทำที่เลวร้ายอะไรนัก" 

ดูเหมือนคำพูดที่ติดปากคนไทยที่ว่า "สมน้ำหน้า" จะเป็นแคปซูลที่บรรจุลักษณะนิสัยประจำชาติของคนไทยเอาไว้ทั้งหมด ซึ่งตรงข้ามกับพวกฝรั่งที่เขามีความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติที่เป็นบรรทัด ฐานว่าต้องช่วยเหลือผู้ที่ถูกหลอกลวงหรือผู้ที่ถูกทำร้าย เพราะเหยื่อที่ถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้ายเป็นผู้ที่ควรแก่ความสงสาร สำหรับผู้ที่หลอกลวงหรือทำร้ายผู้อื่นนั้นเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย 

สำหรับการมองโลกของไทยนั้น ถ้าหากผู้หญิงถูกข่มขืนก็มักจะถูกคนไทยสมน้ำหน้า โดยถูกหาว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย ยั่วผู้ชาย หรือไม่ก็หาเรื่องใส่ตัวโดยไปในที่ไม่ปลอดภัยเอง สรุปก็คือเป็นความผิดของเหยื่อเองที่โง่ ส่วนผู้ชายที่ข่มขืนผู้หญิงดูจะถูกยกย่องว่าเก่งเสียด้วยซ้ำไป 

ส่วนถ้าใครถูกหลอกให้เสียเงินเสียทอง เช่น เรื่องตกทอง (ลูกไม้ของการหลอกลวงที่เก่ากะลาแต่ยังใช้ได้ผลอยู่จนทุกวันนี้ คือนักต้มมนุษย์ มักจะหลอกคนที่มีทองคำเป็นเครื่องประดับ ว่าเก็บสร้อยทองคำหนัก 5-10 บาทได้ ให้เอาไปขายเอาเงินมาแบ่งกัน แต่ฝากให้ถือเอาไว้ก่อนจะไปตามเพื่อนอีกคน แต่ขอแหวนทองหรือกำไลทองหรือสร้อยทองของเหยื่อที่หนักสัก 2-3 สลึง หรือ 1-2 บาท ไปเป็นประกันก่อน แล้วก็หายไปเลย ส่วนสร้อยทองที่ให้ถือไว้ก็เป็นของเก๊) หรือเล่นไพ่สามใบ (การหลอกให้เล่นไพ่สามใบนั้นจะมีหน้าม้าเล่นกับเจ้ามือ แล้วก็เล่นได้เอาๆ แบบรวยกันง่ายๆ แล้วจึงชักชวนให้เหยื่อเล่นด้วย ก็หมดเนื้อหมดตัวทุกที) ก็จะถูกสมน้ำหน้าว่าโง่เอง ดังนั้น คนไทยที่ถูกใครโกงหรือถูกหลอกลวงจะปิดปากตัวเองเงียบเพราะกลัวจะถูกซ้ำเติม แบบว่ากลืนเลือดเงียบๆ นั่นแหละ 

ถ้าจะแปลงจากที่รูธ เบเนดิกต์ เขียนมาตรงๆ แบบมีกลิ่นนมกลิ่นเนยแรงหน่อยก็ได้ดังนี้ คือ "พฤติการณ์ที่เป็นการหลอกล่อ อาจนำมาใช้ได้โดยไม่มีข้อตำหนิติเตียน และเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อาจใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ความไม่รู้ ความละโมบของฝ่ายตรงข้าม เช่นเดียวกับภาษิตของคนไทยที่ว่า หนามยอกให้เอาหนามบ่ง และเข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม ความสนใจของคนไทยมุ่งไปที่การเยาะเย้ยคนที่ถูกหลอกล่อ ไม่ใช่การตำหนิวิธีการ"

ครับ! พอมาทบทวนงานวิจัยเก่ากะลาของคนที่ตายไปแล้วร่วม 70 ปี ก็เลยไม่มีข้อกังขาอะไรกับการที่คนไทยจำนวนมากแสดงออกถึงความโกรธ เกลียด เคียดแค้นชาวโรฮีนจาอพยพและผู้สื่อข่าวชาวไทยที่รายงานข่าวเรื่องนี้