Wednesday, August 19, 2015

ความรู้ (หรือไม่รู้) เรื่องการเงินระหว่างประเทศฉบับสามัญชน โดย อาจารย์ ชวินทร์ ลีนะบรรจง

จากเฟซบุ๊กของอาจารย์ชวินทร์ วันที่ 6, 7, 13, 14, 24 สิงหาคม, 3, 7 กันยายน 2558

https://www.facebook.com/chawin.lee?fref=nf


ความรู้ (หรือไม่รู้) เรื่องการเงินระหว่างประเทศฉบับสามัญชน (1-7)

เพื่อเป็นความรู้เอาไว้จับผิดพวก "กูรู้ " ตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลายที่รู้ไม่จริงแถมชอบมั่วอีกต่างหาก

1.อัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจากในโลกนี้มีการแบ่งพิ้นที่ออกเป็นประเทศตามเชื้อชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ ย่อมต้องมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นตามการเมืองการปกครอง เงินสกุลในแต่ละประเทศจึงเป็นเงินสกุล "ท้องถิ่น" เช่น บาท ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ปอนด์สเตอริง ที่แสดงถึงอธิปไตยทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ซึ่งในประเทศ/ท้องถิ่น อื่นๆอาจรับหรือไม่รับเพื่อชำระราคาสินค้า ดังนั้นจึงต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเอาไว้เปรียบเทียบระหว่างเงินสกุลท้องถิ่นที่ต่างถิ่นกัน
2.ระบบอัตราแลกเปลี่ยน
หมายถึง วิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ระหว่างเงินสกุลท้องถิ่นตาม 1 
หากกำหนโดยใช้โลหะมีค่า เช่น ทองคำ หรือ เงิน ก็จะกลายเป็นระบบมาตรฐานทองคำ/เงิน
วิธีการกำหนดก็ง่ายๆ 
สหรัฐฯอาจกำหนด ค่าเสมอภาค เงินดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับทองคำไว้ที่
2 ดอลลาร์ แลกได้ ทองคำหนัก 1 ออนซ์ 
สหราชอาณาจักรก็อาจทำเช่นเดียวกัน โดยกำหนดไว้ที่
1 ปอนด์สเตอริง แลกได้ ทองคำหนัก 1 ออนซ์
อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปอนด์สเตอริง จะเป็น 
2 ดอลลาร์ = ทองคำ 1 ออนซ์ = 1 ปอนด์สเตอริง หรือ
เมื่อตัดทองคำตรงกลางสมการข้างต้นออก 
2 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 1 ปอนด์สเตอริงค์ เพราะกำหนดผ่าน ค่าเสมอภาคระหว่าง เงินสกุลท้องถิ่นนั้นกับน้ำหนักทองคำนั่นเอง
วิธีกำหนดไม่ได้มีวิธีเดียว
หากกำหนดโดยกลไกตลาดก็จะเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวหรือเสรี 
คิดง่ายๆ ให้ถือว่าเงินสกุล(ท้องถิ่น)ต่างประเทศเป็นสินค้า เช่น หมู หากวันนี้มีหมูเข้ามาขายในตลาดมากแต่คนกินเท่าเดิม ราคาหมูย่อมต้องถูกลงกว่าเมื่อวาน และราคาหมูจะแพงขึ้นกว่าเมื่อวานเมื่อสถานการณ์กลับข้างกัน เช่นวันนี้มีหมูเข้ามาขายน้อยแต่มีคนกินเท่าเดิม 
ราคาหมู(อัตราแลกเปลี่ยน)จึงลอยตัวไปมาตามอุปสงค์และอุปทานของหมูที่เปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลานั่นเอง
ไม่ยากกว่าที่คิดจริงไหม
---------------------------------
3.วิวัฒนาการระบบอัตราแลกเปลี่ยน
การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้โลหะที่มีค่า เช่น ระบบมาตรฐานทองคำ ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นในยุโรปต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
เหตุที่แพร่หลายก็เนื่องมาจาก ความสามารถในการแลกคืนเป็นทองคำ หรือ convertibility ระหว่าง เงินกระดาษ(ธนบัตร)ที่ถืออยู่กับทองคำ คนจึงยินยอมถือเงินที่เป็นกระดาษแทนทองหรือเงิน
และก็ด้วยเหตุนี้เช่นกันที่ทำให้ระบบนี้ล่มสลาย เพราะ
(1)มูลค่าการค้าของโลกมันเพิ่มเร็วกว่าปริมาณทองคำที่โลกนี้สามารถผลิตได้ ทองคำ(ที่อาจรวมแร่เงิน)จึงมีปริมาณไม่พอที่จะนำมาเป็นสำรอง(เอาไว้แลกหากไม่เชื่อ)เพื่อใช้ออกเงิน(กระดาษ) 
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ (2)การสะสมแร่โลหะที่มีค่า เช่น ทองคำ มันไม่ได้สะท้อนถึงความมั่งคั่งที่ประเทศนั้นมีแต่ประการใด
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะสิ้นสุดลง มีการประชุมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ Bretton Woods (สหรัฐฯ) ที่ตกลงในเรื่องระเบียบการค้าการเงินของโลก IMF World Bank และ WTO ก็เกิดขึ้นจากตรงนี้
ข้อตกลงสำคัญอันหนึ่งก็คือ ทุกประเทศออกจากระบบมาตรฐานทองคำ คือ inconvertibilityไม่ยอมรับแลกเงินสกุลตนเองเป็นทองคำอีกต่อไปเนื่องจากเหตุผล (1) ยกเว้นแต่สหรัฐฯ
ทุกประเทศจึงหันมาถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯแทนทองคำ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศ (international currency)นับแต่นั้นเป็นต้นมาเพราะทำหน้าที่ของเงินที่ทุกประเทศในโลกยอมรับได้ครบถ้วน โดยทั้งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เก็บรักษามูลค่า และเป็นหน่วยนับ
ดอลลาร์สหรัฐฯจึงเป็นเงินตราระหว่างประเทศ ที่เป็น พรแล้วยังเป็น บาป 
พรก็เพราะสหรัฐฯอยู่ในสถานะที่สามารถใช้เงินตนเองชำระราคาสินค้าระหว่างประเทศได้ หรือที่ภาษาชาวบ้านว่า เสกกระดาษเป็นเงินนั่นเอง
ในขณะที่ประเทศอื่นๆต้องขายสินค้า(ส่งออก)ไปแลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อจะได้มีไว้ชำระค่าสินค้าอื่นๆ 
ส่วน บาปก็คือหากสหรัฐฯไม่ขาดดุลการค้าไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว โลกนี้จะมีเงินดอลลาร์มาเป็นสภาพคล่องให้ทุกประเทศในโลกได้ใช้ซื้อขายชำระราคาได้อย่างไร
กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับการเก็บรักษามูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในเวลาเดียวกัน 
หากสหรัฐฯเข้มงวดไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวจนขาดดุลการค้า เช่น ใช้นโยบายเกินดุลการค้า เงินดอลลาร์สหรัฐฯก็จะมีแพร่หลายในโลกน้อยรักษามูลค่าเอาไว้ได้ แต่คู่ค้าของสหรัฐฯจะมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปชำระค่าสินค้าให้กับสหรัฐฯหรือประเทศอื่นๆได้อย่างไรเพราะต้องส่งมองดอลลาร์คืนให้สหรัฐฯในฐานะที่ซื้อมากกว่าขาย
นักการเมืองและประชาชนสหรัฐฯจึงหลงระเริงพิมพ์ดอลลาร์สหรัฐฯออกมาใช้จนประเทศต่างๆเริ่มกริ่งเกรงว่าสหรัฐฯจะมีทองคำไว้เพียงพอแลกคืนดอลลาร์สหรัฐฯหรือไม่ หลายประเทศจึงแอบทยอยแลกคืนดอลลาร์สหรัฐฯกลับไปเป็นทองคำ
จนมาถึงสมัยนายนิกสันเป็นประธานาธิบดีจึงตัดสินใจ ชักดาบยกเลิกการรับแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์ของตนเองกับทองคำ เพราะคิดคำนวณดูแล้วมีทองคำไม่พอแลกเป็นแน่
ระบบมาตรฐานทองคำจึงตายตามสหรัฐฯที่เป็นประเทศสุดท้ายที่รับแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์ของตนเองกับทองคำ
จุดนี้จึงมักมีคนเข้าใจผิดและมโนไปเอง โดยเฉพาะพวก กูรู้ทั้งหลาย
อัตราแลกเปลี่ยน ทองคำ และการพิมพ์(เพิ่ม)เงิน จึงไม่มีความเกี่ยวข้องระหว่างกันเหมือนอดีต 
สั้นๆง่ายๆได้ใจความ
จะเพิ่มเงิน(กระดาษ)ออกมามากเท่าใดก็ไม่ได้ขึ้นกับทองคำที่มีแต่อย่างใด เงินสกุลใดจะมีค่ามากน้อยเท่าใดมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนทองคำที่ประเทศนั้นมีเป็นสำรองของอีกต่อไป
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของโลกในปัจจุบันจึงกลายมาเป็นไม่มีระบบ ต่างคนต่างก็เลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่คิดว่าเป็นคุณกับตนเองมากที่สุด อาจเป็นแบบลอยตัวเสรี หรือาจลอยตัวแต่มีการแทรกแซงจากรัฐบ้าง หรืออาจเป็นแบบคงที่โดยรัฐเข้าไปแทรกแซงทุกครั้งเพื่อให้มันคงที่
ชื่อของระบบอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีอยู่อย่างมากมาย แต่ชื่ออาจไม่สำคัญเท่าการกระทำว่าได้เข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ต่างหากที่สำคัญกว่า เพราะหากจะแทรกแซงเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ก็ต้องมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯเอาไว้เป็นหน้าตักเพื่อใช้แทรกแซงเหมือนเช่นที่ประเทศไทยเคยทำช่วงปีพ.ศ.2539-40ที่ผ่านมาจนหมดตูดนั่นเอง
---------------------------------
4. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน: กรณีจีน
จีนเป็นตัวอย่างที่ดีของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่และไม่ได้ อิงหรือ รับแลกเป็นทองคำ เหมือนที่หลาย กูรู้บอกไว้ โดยอ้างจากจำนวนทองที่รัฐบาลจีนซื้อในตลาดโลก
กลไกในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนให้คงที่กับเงินสกุลอื่นๆก็คือ การแทรกแซง โดยอาศัยเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงซื้อ/ขายกับผู้ที่ต้องการขาย/ซื้อหยวน 
พูดง่ายๆก็คือธนาคารกลางจีนทำหน้าที่ตรงกันข้ามกับผู้ซื้อหรือผู้ขายนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นก็คือต้องมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพราะเงินหยวนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นที่จะเพิ่ม(หรือลด)เท่าใดก็ได้อยู่แล้ว แต่จะมีดอลลาร์สหรัฐฯได้ต้องค้าขายหรือไม่ก็ต้องไปยืมมา
ค่าเงินหรือ(อัตราแลกเปลี่ยน)ที่คงที่อยู่ได้หาใช่โดยการออกกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะกลไกตลาดมันมีอำนาจเหนือกว่า
ขณะนี้จีนมีขีดความสามารถที่จะแทรกแซงเพราะมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯจากการเกินดุลการค้ากับประเทศต่างๆในโลกมิใช่สหรัฐฯเพียงประเทศเดียวสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ละระบบอัตราแลกเปลี่ยนก็มีข้อดีและเสียในตัวของมัน อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มีข้อดีตรงที่รัฐรับภาระความเสี่ยงในความผันผวนแทนผู้ที่ใช้เงินตราต่างประเทศ แต่มันก็เป็นข้อเสียไปในตัวเองเพราะความเสี่ยงในความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นต้นทุนของผู้ที่ใช้เงินตราต่างประเทศ หาใช่ของส่วนรวมที่รัฐจำเป็นต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบแต่อย่างใดไม่
เหตุที่เป็นต้นทุนก็เพราะการแทรกแซงนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดกำไร(หรือขาดทุน)เป็นผลตามมา โดยมากมักจะขาดทุนเพราะทำสวนกระแสตลาด ดูตัวอย่างจำนำข้าวก็จะเห็นชัดว่าการแทรกแซงราคาข้าวมีต้นทุนขนาดไหนและเป็นต้นทุนของประชาชนทุกคน 
แต่ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนก็ไม่ใช่กงการอะไรของรัฐที่จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อแสวงหาประโยชน์หรือโทษ
การประกาศลดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง (depreciate) เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาจึงเป็นการแทรกแซงที่สวนกระแสกลไกตลาด 
เหตุก็คือจีนเกินดุลการค้าอย่างมหาศาลมาตลอดช่วงเปิดประเทศ การได้ดอลลาร์สหรัฐฯมามากก็เหมือน หมูเข้าตลาดเยอะแต่คนกิน(หรือใช้ดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อการนำเข้า)มีเท่าเดิม ค่าหยวน(เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ)ก็สมควรที่จะแข็งค่ามากกว่าอ่อนค่า 
หากไม่ทำให้แข็งค่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้มาก็จะทำให้มีเงินหยวนไหลเข้าท่วมตลาดจนเกิดภาวะเก็งกำไรในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์เกิดคอนโดฯร้างผู้คน(แต่มีเจ้าของ)เป็นเมืองๆไปเลยทีเดียว 
ดัชนีราคาหุ้นที่ตกลงมากว่าร้อยละ 30 ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเอกชนจีนมีเงินจากการค้าขายต่างประเทศสะสมไว้มากจนต้องนำไปซื้อหุ้นนั่นเอง เมื่อราคาหุ้น(หรือที่ดิน คอนโดฯ) มันเกินจริงไปมากเข้าก็เป็นเหมือนฟองสบู่ที่จะต้องแตกเมื่อลอยพ้นน้ำ เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อยู่แล้วไม่ต้องเป็น กูรู้ก็ได้
ในระยะหลังจีนจึงจำต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่า หยวน/ดอลลาร์สหรัฐฯจาก 7.5 มาเป็นประมาณ 6.2 จนกระทั่งเมื่อ 2 วันที่ผ่านมากลับปรับค่าให้แข็งค่าขึ้นเป็น 6.3-6.4
จะอธิบายแบบ กูรู้ทั้งหลายด้วยทฤษฎีสมคบคิดว่าทุนสหรัฐฯทุบหุ้นจีนหรือลดค่าหยวนเพื่อดัดหลังนักเก็งกำไรก็คงได้ อ่านแล้วสนุกดี แต่มันไม่มีทฤษฎีหรือหลักฐานอ้างอิงได้เลย มโนเอาเองทั้งนั้น
อย่าลืมว่าจีนยังดำรงใช้ลัทธิเศรษฐกิจแบบคอมมูนิสต์และเป็นเผด็จการเพราะมีพรรคคอมมูนิสต์เพียงพรรคเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายจีน แต่สิ่งที่คิดที่ทำมันฝืนกลไกตลาด
รู้อย่างนี้แล้วมาลองดูว่าจีนจะเอาตัวรอดปรับสมดุลเศรษฐกิจตนภายใต่เงื่อนไขข้างต้นได้อย่างไร
---------------------------------
5. เงินตราระหว่างประเทศ: มายาคติของเงินหยวน
สิ่งที่ถูกทำให้เข้าใจผิดโดย กูรู้หรือตัว กูรู้โง่เองก็คือ
5.1.สงครามค่าเงิน หรือสงครามเงินตราระหว่างประเทศ คืออะไร?
ลองถาม กูรู้ดูว่าอะไรคือสงครามค่าเงินก็คง บลา ๆๆๆ บ้าบอไปตามเรื่อง ไม่ได้ความสักเท่าไร
เหตุก็คือ โลกนี้ไม่ได้มีการแข่งขันกันลดค่าเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 ในยุโรปเพื่อเพิ่มการส่งออกเหมือนในยุคมาตรฐานทองตำอีกแล้ว
หากเยอรมันใช้วิธีลดค่าเสมอภาคตนเองกับทองคำเพื่อให้ค่าเงินตนเอง ถูกลง จะได้ขายของได้มากขึ้นและทองคำไม่ไหลออกเพราะขาดดุลการค้า แต่ก็อาจถูกตอบโต้จากประเทศคู่แข่งลดค่าเงินบ้าง สงครามค่าเงินในอดีตจึงเกิดด้วยเหตุนี้ แต่หากสู้กันจริงในที่สุดอาจไม่มีผู้ชนะเพราะค่าเงินจะกลับมาที่เดิม มึงลด 10 % ได้ กูก็ลด 10% ได้เช่นกัน
ปัจจุบันไม่มีประเทศใด ใช้มาตรฐานทองคำ ไม่รับแลกคืนเงินตนเองเป็นทองคำ จะขาดดุลหรือเกินดุลการค้ามากเท่าใด จำนวนทองคำที่มีอยู่ก็ไม่ได้ไหลไปไหน
แล้วสงครามค่าเงินมันคืออะไรกันหว่า? มั่วได้ถ้วยจริงๆ
5.2.เงินหยวนจะมาครองโลกแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ
นี่ก็เป็นมายาคติของพวก กูรู้อีกเช่นกัน
เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินตราระหว่างประเทศนั้นมีที่มาที่ไป บอกไปในตอนที่แล้ว
ประเทศที่จะนำเงินสกุลท้องถิ่นของตนเองมาเป็นเงินตราระหว่างประเทศก็ย่อมจะได้รับทั้ง พรและ บาปติดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
สหรัฐฯแม้ได้ พรจากการพิมพ์เงินดอลลาร์มาซื้อสินค้าคนอื่นได้ง่ายๆ ขณะที่คนอื่นต้องขายสินค้าตนเองเพื่อที่จะได้ดอลลาร์สหรัฐฯมาซื้อสินค้าอื่น แต่ก็ติด บาปนี้มานานจนทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯสูญเสียความเชื่อมั่นในการเก็บรักษามูลค่า ทองคำจึงกลายเป็นตัวเลือกของการเก็บรักษามูลค่า แต่ก็เป็นทางเลือกที่ไม่ฉลาดแต่อย่างใด
ถามง่ายๆว่าผู้นำจีน โง่ มากขนาดไหนที่จะนำเอาเงินหยวนตนเองไปติดกับดักเหมือนดอลลาร์สหรัฐฯเป็นอยู่ในปัจจุบัน อยากได้ พรแต่ บาปนั้นมหันต์กว่าเยอะเลย 
กูรู้มักสับสนระหว่าง ประเทศที่มีสัดส่วนค้าขายในโลกสูง เช่น ญี่ปุ่นในยุค 1980 อาหรับในยุค 1990หรือ จีนในปัจจุบัน กับ เงินจะใช้ชำระค่าสินค้าว่าต้องไปด้วยกัน
ญี่ปุ่นในยุค 1980 ก็ยังหนีสุดชีวิตไม่ยอมให้เงินเยนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ แล้วจีนจะไปรับเผือกร้อนแทนสหรัฐฯไปทำไม?
ความมั่งคั่งของประเทศจึงมิได้อยู่ที่การนำเงินตนเองไปเป็นเงินตราระหว่างประเทศแต่อย่างใด
จะครองโลกจึงไม่ต้องนำเงินตนเองมาแทนดอลลาร์สหรัฐฯ มีแต่พวก จั๊ดง่าว เท่านั้นที่คิดเช่นนั้น
---------------------------------------------
6. องค์กรโลกกบาล (supra-national organization)
องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World bank) และ องค์การการค้าโลก (WTO) ล้วนแต่เป็นผลพวงที่เกิดมาจากการประชุมของฝ่ายชนะที่ เบรดตันวู๊ดส์ ทั้งสิ้น 
เพียงแต่ WTO นั้นเริ่มดำเนินการหลัง IMF และ World bank หลายสิบปี
วัตถุประสงค์ในการจัดดั้งก็แตกต่างกันออกไป
IMF เป็นองค์กรการเงินที่มีพันธกิจหลักในการช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศสมาชิกในระยะสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับ World bank เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลดค่าเงินของตนเองให้เกิดสงครามค่าเงินเหมือนเช่นในอดีต เมื่อเกิดความไม่สมดุล เช่น ขาดดุลการค้าติดต่อกันหลายๆปีจนไม่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯเหลือพอจะไปสั่งซื้อสินค้า อาจเนื่องจากโครงสร้างการผลิตที่ล้าหลัง
ส่วน World bank ทำหน้าที่ให้กู้เพื่อบูรณะประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรกและเมื่อพันธกิจบูรณะเสร็จสิ้นก็หันมาให้กู้ด้านโครงสร้างสาธารณะที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ
เมื่อรู้พันธกิจและการใช้ไปซึ่งเงินทุนแล้ว ที่มาของเงินทุนก็ต้องสอดคล้องกัน 
IMF มีที่มาของทุนจากการส่งเงินสมทบเหมือนสหกรณ์ออมทรัพย์ โควต้าเงินกู้จึงคิดเป็นสัดส่วนกับเงินสมทบที่แต่ละประเทศมีอยู่เช่นเดียวกับสิทธิออกเสียง
World bank เป็นสถาบันการเงินระยะยาว ที่มาของเงินทุนเพื่อให้กู้ยืมจึงมาจากการขายพันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอนระยะยาวของWorld bank ในตลาดเงิน ประเทศใดมีเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯเหลือก็ไปลงทุนซื้อพันธบัตรนี้นำมาเป็นสำรองเพื่อพิมพ์เงินก็ได้ ดีกว่าเก็บเป็นดอลลาร์สหรัฐฯในบัญชี กฏหมายไทยเองก็ยอมรับให้ทำ
สมาชิกจึงจะมีสิทธิในการขอรับความช่วยเหลือ “เป็นประโยชน์” และเช่นกันที่เมื่อเป็นสมาชิกก็จำต้องยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจการเงินให้กับองค์กรเหล่านี้อัน “เป็นโทษ” ไม่มีอะไรที่ได้มา “ฟรี” อย่างแน่นอน 
จะเอาสิทธิการกู้เงินราคาดอกเบี้ยถูกระยะเวลาคืนเงินนานก็ต้องแลกมาด้วยการยอมรับกติกาที่รัฐสมาชิกองค์กรเหล่านี้ร่วมกันกำหนด จะมาเย่อหยิ่งบอกว่าเรามีอธิปไตย IMF ไม่ใช่พ่อก็ถูก แต่มันเป็นกติกาของสังคมอารยะประเทศในโลกจะเอาแต่สิทธิเสรีอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติด้วย มันจะได้อย่างไร
อย่าลืม “เงินกู้” ไม่ใช่ “เงินกู” ที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ถ้าไม่ชอบไม่ยินดีจะดิ้นรนมาเป็นสมาชิกทำไม?
วิกฤตเมื่อปี 2540 เมื่อไทยไม่สามารถหาเงินกู้ในตลาดได้จึงเป็นต้องไปพึ่งพาใช้สิทธิสมาชิกจาก IMF และมันเป็น “เงินกู้” ไม่ใช่ “เงินกู” ที่ผู้บริหาร IMF มีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องแทนรัฐสมาชิกอื่นๆ 
ไม่มีสำนักงานที่ดินโลกหรือศาลโลกที่จะบังคับให้ประเทศที่มากู้ชำระได้ ประเทศกู้ยืมนั้นยังคงมีอธิปไตยอยู่ อีกทั้ง IMF ไม่มีกองทัพที่จะไปบังคับยึดดินแดนหากไม่ชำระได้ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องตกลงกับประเทศกู้ยืมเสียก่อนผ่าน “หนังสือแสดงเจตจำนง” ที่จะทำไปเพื่อแจ้งให้ IMF ทราบว่าประเทศกู้ยืมได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้เรียบร้อย
จะมากล่าวหาบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ หรือใครก็ตามก็ทำได้ แต่ไม่รู้หรือว่าวิกฤตปี 2540 นั้นเกือบทุกประเทศที่บอกว่าจะช่วยไทยนั้นมีเงื่อนไขว่าช่วยผ่าน IMF ซึ่งหมายความว่ามอบให้ IMF เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและดูแลแทน เพราะเป็นเงินทองของประเทศไม่ใช่เงินส่วนตัว
กรีซเป็นตัวอย่างที่ดีว่า นักการเมือง “โง่ๆ” ที่อวดฉลาดทำให้ประชาชนตนเองลำบากมากกว่าเดิมจากการไม่ยอมรับกติกาที่ตกลงกับ IMF ไว้ตั้งแต่แรกจนเหตุการณ์บานปลายอย่างที่เห็นอยู่
---------------------------------------------
7.มายาคติของ AIIB
เรื่องนี้มีแต่ข้อจริงไม่มีเท็จหรือความเห็น
ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ Asian Infrastructure Investment Bank นั้นได้ถูกมโนและขยายความกันไปใหญ่โตโดย"กูรู้ " ทั้งหลายที่รู้ไม่จริงแถมชอบมั่วอีกต่างหาก
จนกระทั่งกลายเป็นสงครามค่าเงินบ้าง หรือการลดบทบาทของดอลลาร์สหรัฐฯไปบ้าง หรือจะเป็นคู่แข่งของIMFไปเสียฉิบ เลอะกันไปใหญ่โต
ในข้อเท็จจริง AIIB ก็เป็น ธนาคารเพื่อการพัฒนา เช่น เดียวกับ World Bank แต่อยู่ในระดับธนาคารพัฒนาที่เน้นเฉพาะเจาะจงในพื้นที่(เอเชีย) ดังนั้นจึงคล้ายคลึงและอยู่ในระดับเดียวกับ Asian Development Bank หรือ African Development Bank
ไม่ได้มีหน้าที่คล้ายคลึงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แต่อย่างใด Article 2 ของ Articles of Agreement ระบุไว้ชัดเจน AIIBให้กู้กับรัฐหรือเอกชนเพื่อการพัฒนาประเทศ ทำคนละหน้าที่กันกับ IMF ที่ให้กู้กับประเทศเมื่อขาดดุลการค้า/ชำระเงิน
ผู้กู้หรือลูกหนี้ AIIB จึงอาจไม่ใช่ประเทศ แต่เป็น กิจการ บริษัท หรือองค์กรก็ได้ ขณะที่ IMF ลูกหนี้คือประเทศ ไม่เล็กไปกว่านั้น
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ทุน หรือ capital stock ของ AIIB มาจากรัฐสมาชิกในภูมิภาคจะสมทบรวมกันร้อยละ 75 ของทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะอยู่ในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 หรือเงินสกุลอื่นๆที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นดอลลาร์สหรัฐฯได้ (Article 6 para 2) ซึ่งเผื่อไว้สำหรับรัฐสมาชิกประเภทด้อยพัฒนาที่อาจไม่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯไม่เกินร้อยละ 50 ของทุนที่จะสมทบ
ไทยสมทบ 1,427.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้หุ้น 14,275 หุ้นคิดเป็นสิทธิออกเสียงประมาณร้อยละ 1.5 ขณะที่จีนสมทบ 29,780.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้หุ้น 297,804 หุ้นคิดเป็นสิทธิออกเสียงเกือบร้อยละ 30
ด้วยทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯนี้ AIIB ไม่ได้เอามาให้กู้ยืมโดยตรง หากแต่เป็นทุนเอาไว้เพื่อแสดงความมั่นคงของธนาคารเพื่อที่ธนาคารจะไปออกตราสารหนี้ในตลาดระดมเอาเงินมาปล่อยกู้อีกทอดหนึ่งดังเช่นธนาคารทั่วๆไปทำกัน
ให้ทายเล่นๆว่าพันธบัตรที่จะออกมาระดมทุนจะออกในเงินสกุลใด แต่คงไม่ใช่อย่างที่บทความข้างล่างเขียนเอาไว้ว่าจะปล่อยกู้เป็น บาท หรือ วอน(เกาหลี) อย่างแน่นอน จะขยายความในตอนหน้า
--------------------------------------------
8.มายาคติของ AIIB และเงินหยวน
การใช้ไปของเงินทุน (use of funds) จะเป็นตัวกำหนด ที่มาของเงินทุน (source of funds) หรืออาจจะกลับกันก็ได้
แต่โดยพื้นฐานมันต้องสอดคล้องกันทั้งในด้าน สกุลเงินและกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน
มิเช่นนั้นมันจะ mismatch ทั้งในสกุลเงิน หรือ กำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ติดตามมา
++++++++++++++++++++++++++
ประเทศไทยก็เคยประสบปัญหานี้แล้วในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเมื่อปีพ.ศ.2540 เมื่อผู้กู้แห่ไปกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯผ่าน BIBFโดยคำนึงถึงแต่ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้ที่เป็นเงินบาทแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งๆที่ตัวเองประกอบอาชีพที่มีรายรับเป็นบาท เช่น สร้างคอนโดหรือบ้านจัดสรรขายที่มีรายรับเป็นเงินบาท
หากทำเช่นที่ว่า เมื่อถึงเวลาคืนเงิน แม้จะมีความสามารถในการชำระแต่ก็เกิดปัญหา mismatch in currency ได้โดยง่ายเพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์สหรัฐฯกับบาทอาจเปลี่ยนไปตามกลไกตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินบาทอ่อนค่า หรือ depreciate
หนี้เงินต้นอาจเพิ่มจาก 100 ล้านบาทเป็น 150 ล้านบาทได้โดยง่ายเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนไป แต่หากเป็นผู้ส่งออกมีรายรับเป็นดอลลาร์สหรัฐฯก็ไม่มีปัญหาที่จะคืนเงินกู้เป็นดอลลาร์สหรัฐ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่มาเป็นความเสี่ยงในการประกอบธุณกิจของตนเองแต่อย่างใด
++++++++++++++++++++++++++++++
หากว่าตามที่ผู้เขียนบทความข้างล่างกล่าวไว้ว่า
“สมมุติว่ารัฐบาลลาวต้องการลงทุนสร้างพัฒนาเครือข่ายเทเลคอมมีมูลค่า$200ล้าน ลาวสามารถกู้เงินจากAIIBได้เป็นเงินหยวน เงินบาท เงินวอนของเกาหลี หรือเงินสกุลอื่นของประเทศสมาชิกของAIIBได้ สมมุติต่อไปอีกว่าลาวขอกู้หยวน บาทและวอนเป็นจำนวนเทียบเท่า$200ล้าน ทั้งจีน ไทยและเกาหลีก็ทำsyndication loan หรือปล่อยกู้ร่วมกันให้กับรัฐบาลลาวไป”
++++++++++++++++++++++++++++++
เครือข่ายเทเลคอมดังกล่าวซื้อจากใครก็ควรจะกู้เป็นเงินสกุลของประเทศที่จะไปซื้อ แต่ประเทศที่มีของนี้ขายส่วนใหญ่ต้องการขายในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯเพราะตนเองก็มีชิ้นส่วนที่ผลิตไม่ได้ในประเทศเช่นกัน จริงไหม เงินดอลลาร์สหรัฐฯจึงเป็นที่ต้องการมากกว่าเพราะเป็นเงินตราระหว่างประเทศที่สามารถนำมาใช้ชำระราคาระหว่างประเทศได้
หากจะดึงดันกู้เป็น บาท หรือ วอน ก็คงสติไม่ดีเป็นแน่ เพราะไทยไม่มีเครือข่ายเทเลคอมดังกล่าวขายแน่และประเทศส่วนใหญ่ 57 ประเทศที่เป็นสมาชิก AIIB ก็ไม่ใช่ผู้ขายเช่นกัน จีนหรือเกาหลีก็เถอะ อยากจะจะขายเป็น หยวน หรือวอน มากกว่าดอลลาร์สหรัฐฯหรืออย่างไร
ยังไม่ต้องคิดไกลไปถึงว่ามีรายรับเป็นเงินกีบหรือไม่
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ประเด็นสำคัญในการตัดสินใจกู้ก็คือ เงินสกุลที่จะกู้นั้นมันผันผวนโดยกลไกตลาดหรือโดยรัฐบาลเช่น หยวน ในช่วงที่ผ่านมาที่รัฐบาลจีนไปแทรกแซงตลาดลดค่าเอาดื้อๆ
หากเป็นอย่างแรกยังพอมีเครื่องมื่อทางการเงินอีกมากชนิดที่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการผันผวน
แต่หากเป็นอย่างหลังที่ถูกกำหนดค่าโดยอำเภอใจ เช่น หยวน ใครจะกล้ากู้เป็น หยวน หากไม่มีอะไรที่ต้องซื้อจากจีน จริงไหม?