from https://www.facebook.com/theaestheticsofloneliness/posts/pfbid031LxgksivU4SLpQiK5YBLatCFTzKNVseEqSa6uBWf9tHBezgdJCB2Lm54tffXA6nVl
ในยามที่ประเทศเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ทำไมประชาชนจึงชื่นชมการแก้ปัญหาด้วยการบริจาค และเรียกร้องระบอบเผด็จการให้เข้ามาจัดการ?
ตัดทอนและเรียบเรียงจาก The Righteous Mind "ความถูกต้องอยู่ข้างใคร" ของโจนาทาน ไฮด์ต สนพ.Being โดยเกลาและเปลี่ยนศัพท์เฉพาะหลายคำ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและเข้ากับบริบทการอ่านในเฟซบุค
ปล. ต้องหมายเหตุไว้ก่อน ว่าไม่ได้จะบอกว่าการช่วยกันบริจาคในยามนี้เป็นสิ่งไม่ดีนะครับ แค่จะบอกว่าให้ระวังพวกเผด็จการที่เข้ามาสร้างความนิยม พวกไอโอไม่ต้องยกเอาไปบิดเบือน
เอมิล เดิร์กไฮม์ บอกว่ามันมีสิ่งที่เป็น "ข้อเท็จจริงทางสังคม" ที่ไม่สามารถลดทอนให้กลายเป็น "ข้อเท็จจริงระดับปัจเจก" ข้อเท็จจริงทางสังคมที่ว่านี้ เกิดขึ้นเมื่อมีผู้คนมาอยู่รวมกัน มันมีอยู่จริงและควรค่าแก่การศึกษาโดยสังคมศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ปัจเจกและสภาวะทางจิตใจของเขาถูกศึกษาโดยจิตวิทยา
เดิร์กไฮม์มักจะวิพากษ์วิจารณ์คนร่วมสมัยของเขา อย่างฟรอยด์ ผู้พยายามอธิบายศีลธรรมและศาสนา โดยใช้เพียงแค่จิตวิทยาของปัจเจกและความสัมพันธ์กับคู่ ในทางที่แตกต่างกัน เดิร์กไฮม์เสนอว่าโฮโมเซเปียนส์นั้น แท้จริงแล้วเป็น โฮโมดูเพล็กซ์ (Homo duplex) คือสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ในสองระดับพร้อมๆ กัน
คือ 1. ในระดับที่ตัวเขาเป็นปัจเจกหนึ่ง และ 2. ในระดับที่ตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ใหญ่กว่า โดยที่ในแต่ละระดับ คนเราจะมีความรู้สึกสองชุดที่แยกขาดจากกัน
ความรู้สึกชุดแรก คือสิ่งที่เห็นได้ภายในชุมชนหนึ่งๆ อยู่ในความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของปัจเจกคนนั้น เกี่ยวข้องกับการเอาตัวรอด การต่อสู้แข่งขันกันภายในสังคม ชิงดีชิงเด่นเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง นับเป็นเรื่องปกติที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล ว่าคนเรากระทำสิ่งต่างๆ ไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ด้วยความเห็นแก่ตัว ความรู้สึกชุดแรกนี้อธิบายได้ด้วยทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วิน
แต่อย่างไรก็ตาม คนเรายังมีศักยภาพที่จะมีความรู้สึกอีกชุดหนึ่ง ความรู้สึกชุดที่สอง คือสิ่งที่ผูกมัดฉันเข้ากับสังคมของฉัน (ซึ่งเป็นสิ่งที่มีตัวตนจริง) ในฐานะที่ฉันเป็นหนึ่งเดียวกันกับสังคมนั้น ความรู้สึกเหล่านี้เห็นได้ในความสัมพันธ์ของสังคมเรากับสังคมอื่น หรือเรียกว่า "ระหว่างสังคม"
บางครั้งเราจะเห็นว่าคนบางคนไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น ยอมสละชีพเพื่อชาติ ฯลฯ นั่นคือเมื่อเขากระทำภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกชุดที่สองนี้ คือเขารู้สึกขึ้นมาว่าเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ซึ่งเขาต้องกระทำตามการกระทำของมัน และเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลของมัน ตัวเขาต้องนำมาอุทิศหรือเสียสละเพื่อมัน
ความรู้สึกทางสังคมชุดที่สองนี้ มีไว้เพื่อช่วยกลุ่มของเรา เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกันระหว่างสังคม เป็นสัญชาตญาณแบบชนเผ่าที่มีอยู่ในใจเรา
ในความสัมพันธ์แบบ "ระหว่างสังคม" ความรู้สึกชุดที่สองนี้เหมือนสวิทช์ปิดเปิด มันทำให้เราปิดสวิทช์ความเห็นแก่ตัว และเปิดสวิทช์ความเห็นแก่กลุ่มที่ปกคลุมสังคมนี้อยู่ และทำให้เราวาร์ปขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่า
สิ่งสำคัญของความรู้สึกชุดที่สองนี้ คือการสร้างความรู้สึกตื่นเต้นมีชีวิตชีวาแบบรวมหมู่ขึ้นมา ให้สมาชิกผู้เข้าร่วมได้รู้สึกถึงความปีติอย่างท่วมท้นที่พิธีกรรมประจำกลุ่มนั้นๆ ได้สร้างขึ้น
ดังที่เดิร์กไฮม์กล่าวว่า การกระทำในการรวมตัวกันเป็นชุมนุม เป็นตัวกระตุ้นอันทรงพลังอย่างแสนพิเศษ เมื่อปัจเจกมารวมตัวเข้าด้วยกัน กระแสไฟฟ้าชนิดหนึ่งก็จะถูกสร้างขึ้นมาจากความใกล้ชิด และปลดปล่อยพวกเขาให้พุ่งขึ้นไปสู่ความปีติอันเหนือระดับปกติอย่างรวดเร็ว ในภาวะเช่นนี้ พลังชีวิตจะพลุ่งพล่านเกินขีด ความปรารถนาจะยิ่งเร่าร้อน ความรู้สึกก็ช่างทรงพลัง
จุดที่น่าสนใจคือ อารมณ์ชุดที่สองนี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา มันมาชั่วคราวแล้วก็ไป มันฉุดดึงเราไว้ได้เพียงชั่วคราว ให้ขึ้นไปสู่ดินแดนที่สูงส่ง เรียกว่า ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (sacred) มันเป็นสถานที่ซึ่งตัวตนสลายหายไป และเราถูกครอบงำไว้ด้วยผลประโยชน์ของกลุ่ม
ส่วนอีกดินแดนหนึ่งที่ตรงข้ามกัน เรียกว่า ดินแดนทางโลก (profane) คือชีวิตของเราตามปกติที่ดำเนินไปแต่ละวัน ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่ สนใจเรื่องเงินทอง สุขภาพ ชื่อเสียง
แต่บ่อยครั้งที่เราก็มักจะฉุกคิดขึ้นมาแว้บๆ หรือเกิดความรู้สึกทะแม่งๆ ว่ามันต้องมีที่ไหนสักแห่ง หรืออะไรสักอย่าง ที่อยู่สูงขึ้นไปกว่าโลกนี้ และมีความสูงส่งขึ้นไปกว่าชีวิตมนุษย์อย่างเรา
เดิร์กไฮม์เชื่อว่าการเคลื่อนขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างสองดินแดนนี้ในใจคนเรา ทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับเทพเจ้า จิตวิญญาณ สวรรค์ และรวมถึงความคิดทั้งหลายเกี่ยวกับระเบียบศีลธรรมแบบภาววิสัย
เหล่านี้คือข้อเท็จจริงทางสังคม ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยนักจิตวิทยาที่ทำการศึกษาปัจเจกหนึ่ง เปรียบเหมือนกับโครงสร้างของรังผึ้ง ไม่สามารถลดทอนโดยนักกีฏวิทยาที่ศึกษากับผึ้งตัวหนึ่ง
วิธีทำให้ซาบซึ้งน้ำตาไหล (ไม่ได้บอกว่าถูกผิด หรือดีเลวนะครับ แค่ขึ้นกับว่ามันถูกนำไปใช้กันอย่างไร) ยกตัวอย่างเช่น การสร้างความรู้สึกพรั่นพรึง
ช่วงทศวรรษ 1830 ราล์ฟ วาลโด อีเมอร์สัน ได้บรรยายถึงเรื่องธรรมชาติไว้ชุดหนึ่ง ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของปรัชญา American Transcendentalism คือขบวนการที่ปฏิเสธการคิดวิเคราะห์ด้วยปัญญาอย่างล้นเกิน ของพวกมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำในอเมริกายุคนั้น
อีเมอร์สันโต้แย้งว่าความจริงที่ลึกซึ้งที่สุด จะเข้าถึงได้โดยปัญญาญาณเท่านั้น หรือ intuition ไม่ใช่ด้วยเหตุผล และประสบการณ์ประหวั่นพรั่นพรึงต่อธรรมชาติ ก็คือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดเพื่อกระตุ้นปัญญาญาณที่ว่านี้ขึ้นมา เขาพรรณนาถึงความกระปรี้กระเปร่าและความปีติที่ได้มาจากการมองดูดาวบนฟ้า หรือทัศนียภาพท้องทุ่งกว้างไกล หรือเพียงแค่การเดินอยู่ในป่าเขา
"ยืนอยู่กลางผืนดินกว้างใหญ่ ศีรษะโลมไล้ด้วยสายลมแช่มชื่น และล่องขึ้นไปบนเวิ้งฟ้าอันเหลือคณา หมายความว่าตัวข้านี้เลือนหาย กลายเป็นดวงตาที่โปร่งใส ข้านี้ไม่เป็นสิ่งใด ข้ามองเห็นทุกสิ่งเป็นกระแสธารของสัตตะแห่งจักรวาลไหลผ่านไป ข้าเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหรืออณูแห่งพระเจ้า"
ไม่เพียงแค่ธรรมชาติป่าเขาเท่านั้น ความพรั่นพรึงจะถูกกระตุ้นขึ้นมาได้ด้วยบางสิ่งที่มีลักษณะท่วมหัวท่วมหู ยิ่งใหญ่ล้นฟ้า จนคุณไม่อาจต้านทานมันได้ คุณจะพรั่นพรึงเมื่อคุณเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีสองลักษณะ คือ
1. ความยิ่งใหญ่ไพศาล (หมายถึงบางสิ่งที่ท่วมหัวท่วมหู จนทำให้คุณรู้สึกเหลือตัวลีบเล็ก)
2. สิ่งที่ต้องทำใจยอมรับ (หมายถึงประสบการณ์ของคุณตอนนี้มันเลวร้ายมาก คุณไม่สามารถปรับเปลี่ยนมันให้เข้ากับโครงสร้างทางจิตใจที่มีอยู่เดิมได้ คุณจึงจำเป็นต้องทำใจยอมรับประสบการณ์นี้ โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางจิตใจของตัวคุณแทน)
ความพรั่งพรึงเป็นเหมือนสวิทช์ที่กดเพื่อย้อนกลับไปยังค่าตั้งต้น มันทำให้คนเราละคน ปล่อยวางความทุกข์โศก ลืมความลำบากยากจน ทำให้คนเรารู้สึกว่าเล็กกระจ้อย และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมด
นอกจากนี้ พวกสารเคมีที่เกี่ยวกับจิตและประสาท อย่างเช่นสารไซโลไซบิน ก็มีผลต่อความรู้สึกนี้ รวมถึงกิจกรรมรวมหมูู่ต่างๆ ปาร์ตี้ ดนตรี เต้นรำ คอนเสิร์ต การชุมนุมทางการเมือง ก็สร้างความรู้สึกทำนองนี้ได้
ในหนังสืออัตชีวประวัติของ โทนี เช (Tony Hsieh) Delivering Happiness เชคือซีอีโอของร้านออนไลน์ Zappos เขาร่ำรวยขึ้นมาด้วยวัยเพียงยี่สิบสี่ เมื่อเขาขายบริษัทเทคสตาร์ทอัพของตัวเองไปให้ไมโครซอฟต์ หลังจากนั้นมาอีกสองสามปี เขาก็สงสัยชึ้นมาว่าจะทำอะไรต่อไปในชีวิตนี้ดี เขามีเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ที่ออกตระเวนเที่ยวด้วยกันในซานฟรานซิสโก ครั้งแรกที่เชกับ “เผ่า” ของเขา (tribe พวกเขาเรียกตัวเองอย่างนี้) เข้าร่วมปาร์ตี้เรฟ เขาได้บรรยายไว้ดังนี้
สิ่งที่ผมประสบได้เปลี่ยนมุมมองของผมไปตลอดกาล ... ใช่ การตกแต่งภายในและแสงเลเซอร์ก็เจ๋งดี และใช่ ในห้องขนาดใหญ่ยักษ์นั้น แน่นขนัดไปด้วยผู้คนกำลังเต้นรำอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ทั้งสองสิ่งนี้ก็ไม่ได้ช่วยอธิบายความรู้สึกพรั่นพรึงที่ผมได้ประสบ ... ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งในกลุ่มเราถือว่ามีตรรกะและเหตุผลมากที่สุด ผมเองยังประหลาดใจที่พบว่าตัวเองท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกแห่งจิตวิญญาณ ไม่ใช่ในเชิงศาสนา แต่ในเชิงความเชื่อมโยงอย่างล้ำลึกกับทุกคนที่อยู่ตรงนั้น และกับทุกคนในจักรวาล มันเป็นความรู้สึกว่าไม่มีการตัดสิน...ที่ตรงนี้ไม่มีความรู้สึกเก้อเขิน หรือความรู้สึกว่ามีใครเต้นเพื่อให้ถูกมองว่ากำลังเต้น ... ทุกคนหันหน้าไปทางดีเจ และดีเจคือหัวหน้าชนเผ่าของทั้งกลุ่ม ... จังหวะคงที่โดยไม่ต้องมีถ้อยคำจากเครื่องดนตรีอิเลกทรอนิกส์ รวมหัวใจของฝูงชนให้เต้นไปพร้อมกัน ราวกับการดำรงอยู่ของสติรับรู้ของปัจเจกได้สูญหายไป และแทนที่ด้วยการรับรู้ของกลุ่มที่เป็นหนึ่งเดียว
โทนี เช บังเอิญหลุดเข้าไปในอีกรูปแบบหนึ่งของความซาบซึ้งน้ำตาไหล มันเป็นรูปแบบที่ทันสมัยและวัยรุ่นกว่า ภาพและประสบการณ์ตรงหน้าทำให้เขาปิดสวิทช์ตัวฉัน และเชื่อมโยงเขาเข้ากับพวกเราขนาดยักษ์ ค่ำคืนนั้นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา มันเริ่มต้นให้เขาออกเดินบนหนทางการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นรูปธรรมของความเป็นชุมชนและการกดข่มอัตตาตัวเอง ที่เขาได้รับความรู้สึกมาจากปาร์ตี้เรฟ
ยังมีอีกหลายวิธีที่จะเปิดสวิทช์ เช่นการร้องเพลงประสานเสียง ร่วมการสวนสนาม ฟังเทศน์ เข้าร่วมประท้วงทางการเมือง และนั่งสมาธิ คนส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์กับภาวะซาบซึ้งน้ำตาไหลมาแล้วอย่างน้อยสักครั้ง มีบางคนบอกว่ามันเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ผลกระทบนี้ค่อยๆ เลือนไปภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือภายในไม่กี่วัน
เพราะว่าคนเราไขว่คว้าและแสวงหาความรู้สึกทั้งสองระดับไปพร้อมๆ กัน และสลับขึ้นๆ ลงๆ เข้าๆ ออกๆ ดินแดนทางโลกและดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลา เพราะว่าเราทุกคนล้วนเป็นโฮโมดูเพล็กซ์
ในวิวัฒนาการของมนุษย์ เราไม่ได้วิวัฒนาการมาแค่ความสามารถในการเอาตัวรอด เห็นแก่ตัว เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น แต่เรายังวิวัฒน์ความสามารถในการสนับสนุนกลุ่มของเรา ให้ไปเอาชนะกลุ่มอื่นด้วย รวมถึงความสามารถในการสนับสนุนผู้นำกลุ่มของเรา
เมื่อถึงคราวที่กลุ่มของเราประสบภัยพิบัติร่วมกัน หรือถูกคุกคาม หรือต้องไปแข่งขันกับกลุ่มอื่น สัญชาตญาณความเป็นชนเผ่า และการมีโครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมจะปรากฏขึ้นมา
มีงานวิจัยแสดงให้เห็นด้วยว่าคนแปลกหน้าจะมารวมตัวกันเองโดยธรรมชาติ และจัดตั้งกลุ่มที่มีผู้นำและผู้ตามขึ้นมา เมื่อพวกเขาประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ ผู้คนยินดีจะยอมเป็นผู้ตาม เมื่อพวกเขาเห็นว่ากลุ่มของเขาจำเป็นต้องมีผู้นำขึ้นมา เพื่อทำให้ภารกิจบางอย่างให้สำเร็จ
และยังมีกรณีที่เรียกว่า ปรากฎการณ์ the rally-round-the-flag reflex หมายถึงในช่วงเวลาที่ประเทศเกิดวิกฤต ผู้คนจะให้การสนับสนุนผู้นำมากกว่าในยามปกติ ยอมยกอำนาจเบ็ดเสร็จให้ไปเผด็จการ เพราะลึกๆ ในใจแบบชนเผ่าของเรา เรารู้ว่ากลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการเกาะกุมกันและให้ความร่วมมือกัน จะเอาชนะกลุ่มอื่นที่ไม่ได้มารวมตัวกัน
ผู้นำที่ยิ่งใหญ่จะเข้าใจสังคมวิทยาและจิตวิทยาเรื่องนี้ อย่างเช่นในอเมริกา สำหรับชาวอเมริกันที่เกิดก่อน ค.ศ. 1950 คุณสามารถปลุกธรรมชาติที่สูงส่งแบบเดิร์กไฮม์ ได้โดยพูดเพียงสองคำว่า "อย่าถาม" ประโยคเต็มๆ ที่พวกเขาจะได้ยินอยู่ในใจ มาจากคำกล่าวในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อปี ค.ศ. 1961 หลังจากเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทุกคน "แบกรับภาระฟันฝ่าสนทยาอันยาวนาน" นั่นคือการจ่ายราคาและรับความเสี่ยงในการต่อสู้สงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต
เคนเนดีกล่าวถ้อยคำที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันว่า "และดังนั้น ผองอเมริกันชนทั้งหลาย อย่าถามว่าประเทศทำอะไรให้คุณ จงถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศ"
ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะรับใช้บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา เป็นรากฐานของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมายในยุคสมัยใหม่
จาก The Doctrine of Fascism โดย เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ได้บอกว่า
... ขบวนการของเราปฏิเสธมุมมองที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นปัจเจก ยืนหยัดด้วยตัวเอง ถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง อยู่ภายใต้เพียงกฎแห่งธรรมชาติ ซึ่งนั่นจะผลักดันเขาโดยสัญชาตญาณไปสู่ชีวิตที่เห็นแก่ความสุขส่วนตัวเพียงชั่วแล่น มันต้องไม่ใช่เพียงแค่ปัจเจก แต่ต้องมีประเทศและชาติด้วย ปัจเจกแต่ละรุ่นผูกพันกันด้วยกฎศีลธรรม มีขนบ และภารกิจร่วมกัน ที่จะกดข่มสัญชาตญาณในชีวิต ให้ปิดวังวนแห่งความสุขอันคับแคบ หันมาสร้างเสริมชีวิตที่สูงส่งขึ้นไปบนฐานของหน้าที่ กลายเป็นชีวิตที่อิสระจากข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ เพื่อที่ปัจเจกผู้เสียสละตน สละสิทธิ์ในผลประโยชน์ส่วนตน … จะสามารถบรรลุถึงการดำรงอยู่ทางจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีคุณค่าเท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งพึงมี
ฟังดูให้แรงบันดาลใจดี แต่เราทุกคนรู้ว่าคนพูดนี้คือผู้นำเผด็จการลัทธิฟาสซิสม์ มันคือจิตวิทยาความซาบซึ้งน้ำตาไหล ที่ถูกยกระดับขึ้นไปสูงลิบจนวิปริตผิดเพี้ยน
มันคือหลักการที่ถือว่าประเทศชาติเป็นมหาองคาพยพ หรือ superorganism ที่สำคัญเป็นหลัก ขณะที่ปัจเจกที่อาศัยอยู่ภายในนั้นสูญเสียความสำคัญไปหมดสิ้น
คำถามคือ ถ้าเช่นนั้น ความซาบซึ้งน้ำตาไหลก็เป็นสิ่งไม่ดีกระนั้นหรือ? การบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเสียสละตนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น การต่อสู้ความยากลำบากในชีวิตอย่างอดทน การเดินขบวนของ LGBT การชุมนุุมของผู้ต่อต้านรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ไม่ดีไปหมดเลยเหรอ? และผู้นำที่กำลังพยายามทำให้ประชาชนละตัวตน และหลอมรวมเข้าสู่ทีม น้ำตาไหลกับความยิ่งใหญ่ของอุดมคติอะไรก็ตาม นั่นคือเขากำลังหลอกล่อเราด้วยลัทธิฟาสซิสต์ใช่ไหม
บาร์บารา เอห์เรนไรช์ (Barbara Ehrenreich) ในหนังสือ Dancing in the Streets อธิบายคำถามนี้ มีพิธีกรรมทางสังคมมากมายที่ใช้ความเป็นโฮโมดูเพล็กซ์ของมนุษย์ เพื่อนำเรามารวมตัวกันเพื่อให้เกิดสายใยทางสังคมและเกิดเป็นพลังได้ ในสังคมแบบชนเผ่าโบราณก็มีพิธีกรรมเต้นรำ ให้สมาชิกมาเริงร่ายอย่างปีติ มันเป็นเทคโนโลยีทางชีวภาพที่วิวัฒน์มา เพื่อสลายโครงสร้างลำดับชั้นและผูกมัดผู้คนเข้าด้วยกันเป็นชุมชน จนในปัจจุบันก็กลายเป็นงานเทศกาลรื่นเริง ขบวนแห่เฉลิมฉลอง ที่จะช่วยลบเลือนโครงสร้างลำดับชั้น หรือช่วยสลับโครงสร้างลำดับชั้น เช่น ผู้ชายแต่งกายเป็นผู้หญิง ชาวไร่ชาวนาแสดงเป็นขุนนางสูงศักดิ์ และเอาผู้นำมาล้อเล่นได้โดยไม่อันตราย เมื่องานจบลง ผู้คนก็กลับไปสู่สถานะทางสังคมตามปกติของพวกเขา โดยสถานะเหล่านั้นก็จะแข็งกระด้างน้อยลง และหมู่ผู้คนในสถานะต่างๆ ก็จะเชื่อมโยงร้อยรัดกันอย่างอบอุ่นยิ่งขึ้น
แต่การชุมนุมของลัทธิฟาสซิสม์นั้นไม่มีอะไรที่เหมือนกับการเริงร่ายอย่างปีติเลย ลัทธิฟาสซิสม์นั้นแสดงให้เห็นแต่ความยิ่งใหญ่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่ใช่เทศกาลรื่นเริงของประชาชน มันใช้ความน่าพรั่นพรึง เพื่อเน้นย้ำให้โครงสร้างลำดับชั้นทางสังคมแข็งแรงยิ่งขึ้น และผูกมัดผู้คนเข้ากับตัวผู้นำที่ยิ่งใหญ่ดั่งเป็นพระเจ้า
ประชาชนในประเทศเผด็จการฟาสต์ซิสต์ไม่ได้เริงร่ายและพวกเขาก็ไม่ได้ล้อเลียนผู้นำ แต่พวกเขาต้องมายืนห้อมล้อมกันอย่างเฉื่อยชาเป็นเวลานานนับชั่วโมง ตบมือเมื่อมีกลุ่มทหารเดินสวนสนามผ่านมา หรือส่งเสียงดีใจโห่ร้องอย่างบ้าคลั่ง เมื่อผู้นำอันเป็นที่รักเดินทางมาถึงและกล่าวปราศรัยกับพวกเขา
ชัดเจนว่าผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ สามารถหาประโยชน์จากความเป็นโฮโมดูเพล็กซ์ และความเห็นแก่กลุ่มของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ในห้วงยามที่เกิดความเดือดร้อนในสังคม