Monday, August 17, 2009

วัน พัก ใจ

เคยมีบ้างไหมที่จู่ๆ โลกเราชื่นชอบได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย สิ่งใดเคยรักเคยหวง กลับกลายเป็นสิ่งเชยชาน่าเบื่อ การงานที่คุ้นเคยกลับกลายเหมือนโซ่ตรวนที่หน่วงหนัก คนเคยร่วมสังสรรค์เฮฮากลายเป็นคนแปลกหน้าที่เหมือนไม่เคยจะรู้จัก กระทั่งห้องหอที่เคยคุ้มหัวก็แปรเปลี่ยนไปเหมือนเป็นเรือนจำ

จากนั้นความเงียบเหงา อึมครึมก็โอบล้อมเข้ามาราวเมฆหมอกปีศาจ รู้สึกหมดพลังไปเสียทุึกอย่าง ไร้ซึ่งพลังจินตนาการสร้างสรรค์ใดๆสิ้น จบดิ่งสู่หุบเหวลึกล้ำหาที่สุด

สภาพเ่ช่นนี้ บางทีอาจนับได้ว่าเป็นความป่วยไข้ชนิดหนึ่ง ไ่ม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บในความหมายสามัญ หากเป็นโรคร้ายที่ทุกคนต้องเผชิญ เป็นทางสองแพร่งของชีวิตกับความตาย ด้านหนึ่งมองเห็นความไร้แก่นสารของสรรพสิ่งที่เคยผูกพัน อีกด้านหนึ่งเป็นความกลัวที่จะต้องสูญทุกอย่างไป

มันเหมือนสภาพกึ่งๆ ครึ่งๆ ไม่เต็มเต็ง จะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ จะกลับข้างหลังก็ไม่ดี จะคิดว่าเป็นมายาก็ไม่ใช่เพราะความรู้สึกทรมานนี้มันจริงเหลือเกิน จะคว้าสิ่งใดมายึดเหนี่ยวบรรเทาก็ไม่มี เหมือนลอยคว้างอยู่กลางทะเล

บางทีนี่อาจเป็นสัญญาณเป็นเวลาให้เดินทางค้นหาความกลวงโบ๋ของสิ่งที่อยู่ข้างใน เส้นทาง-สาย-หัวใจ

Saturday, August 08, 2009

ความรู้โลกความจริงโลกไม่ใช่ความแท้

http://www.thaipost.net/sunday/090809/8973

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2518 ร่วม 35 ปีมาแล้ว เอกอัครราชทูตของประเทศสแกนดิเนเวียประเทศหนึ่ง ส่งเจ้าหน้าที่สถานทูตชาติเดียวกันไปรับผู้เขียนถึงสถานที่หนึ่งที่นัดไว้ ไม่ไกลจากบ้านที่ผู้เขียนหลบไปซ่อนตัว ตอนนั้นวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศว่า ผู้เขียนได้หนีไปที่ทุ่งไหหินไปแล้ว สองเดือนหลังจากวันนั้น หนังสือพิมพ์และแมกกาซีนที่พิมพ์เมืองนอกได้บอกว่า นักการเมืองที่เป็น "ลิเบอรัล" คนหนึ่งได้หลบหนีภัยการเมืองไปอยู่ในสถานทูตของประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งในตอนนั้นผู้เขียนคิดว่าผู้เขียนเป็นนักการเมือง "ลิเบอรัล" จริงๆ เพราะไม่รู้ "ความรู้" รอบตัวอะไรเท่าใดนัก คิดแต่ว่าในทางการเมืองของประเทศไทยนั้น ถ้าไม่เป็นเผด็จการทหารหรือเผด็จการทุกรูปแบบ รวมทั้งคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เป็นรอยัลลิสต์หรืออนุรักษนิยมแล้ว คำว่า สังคมนิยม รัฐสวัสดิการ ก็ไม่ได้แตกต่างจาก "ลิเบอรัล" เท่าใดนัก ทั้งที่ว่าไปแล้วผู้เขียนเกลียดหรืออย่างน้อยก็ไม่ชอบระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และกายวัตถุนิยมกับเทคโนโลยีที่ทำลายและทำร้ายธรรมชาติอย่างที่สุด นั่นเป็นตอนนั้นเมื่อ 35 ปีมาแล้ว ตอนนี้ถึงได้รู้ว่า "ลิเบอรัล" นั้นหมายเฉพาะเสรีภาพของ "มนุษย์" เท่านั้น

ทำให้พลอยไม่ชอบ "ความรู้" ในทางกายภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยตัวแทนแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เป็นธรรมที่แท้จริง เพราะมีฐานที่มีมนุษย์เป็นใหญ่ (anthropomorphic) กว่าชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ที่แม้มนุษย์ด้วยกันเองก็ขึ้นกับความฉลาดแกมโกง อำนาจ เงินที่เจือจางด้วยกิเลสตัณหา รวมทั้งสิ่งอะไรๆ ที่มนุษย์คิดขึ้น-ที่ล้วนแล้วแต่ทำร้ายหรือผิดธรรมชาติแทบจะทั้งสิ้น-ไปด้วย

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร? ผู้เขียนก็คิดว่าโลกและจักรวาลของเราอันนี้หรือแห่งนี้ มีชีวิตอย่างแน่นอน การมีชีวิตคือการมีจิตที่เข้าไปอยู่ ดังที่ผู้เขียนได้เขียนเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว คืออยู่ "ภายใน" จักรวาลและ "ภายใน" หัวสมองของสัตว์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เรา และจิตจักรวาลส่วนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ภายในหัวสมองของมนุษย์ ได้ถูกบริหารโดยสมองให้เป็นจิตรู้หรือจิตสำนึก-ทั้งของปัจเจกบุคลและจิตร่วม โดยรวม สำหรับหมู่คนชุมชนหรือสังคม-นั่นทั้งไม่ผิดไปจากศาสนาที่มีพระเจ้าและไม่มี พระเจ้า สำหรับกลุ่มแรกเพียงแต่พระเจ้าอยู่ในจักรวาลนี้ (ไม่ใช่อยู่นอกจักรวาลนี้) และเป็นผู้สร้างสรรค์จักรวาลอันนี้ขึ้นมาจาก "ซิงกูลาริตีที่เป็นซูเปอร์ซิมเมตรี" ซึ่งเป็นส่วนของจิตพระเจ้า (mind of God) สำหรับกลุ่มหลังเช่น ศาสนาพุทธที่บอกว่า "เป็นไปของมันเอง" ซึ่งสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ที่ไม่เดินเป็นเส้นตรง (non-linear dynamicity science) ซึ่งทำงานด้วยระบบของการจัดองค์กรให้กับตนเอง โดยมีทฤษฎีไร้ระเบียบเป็นเครื่องมือ (self-organizing system and chaos theory) ทั้งสองกลุ่มจึงผิดกันที่ลำดับก่อนหลัง โดยกลุ่มแรกเกิดก่อนและกลุ่มหลังอธิบายหนักไปทางกลไก แบบนี้ทั้งสองกลุ่มยังไปสอดคล้องกันกับความพ้องจองกัน (coincidence) ที่มีนับร้อยนับพัน ประหนึ่งทำให้จักรวาลเป็นเหมือนกับผลพวงของฤทธิ์เดชของปาฏิหาริย์มายากล ดังที่นักฟิสิกส์ระดับนำของโลกหลายๆ คนเชื่อในทุกวันนี้ นั่นคือพื้นฐานของจักรวาลวิทยาใหม่และฟิสิกส์ดาราศาสตร์

ผู้อ่านทุกคนเลยคิดว่าตนรู้ดีว่าความรู้ (knowledge) คืออะไร? แต่ที่เราเข้าใจว่าเรารู้ดีนั้น อาจจะเป็นความรู้กายวัตถุที่เป็นประหนึ่งสิ่งของที่ถูกแช่แข็งอยู่ตลอด เวลา แน่นิ่งอยู่กับที่ดุจจะพูดได้ว่าเป็นก้อนหินที่ไม่มีชีวิตชีวา เราเข้าโรงเรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ อายุยังไม่ถึงสามขวบ เพื่อเรียนและรู้ซึ่งความรู้ที่ไม่มีชีวิตชีวานั้นๆ โดยเข้าใจว่าความรู้คือความจริงหรือนำไปสู่ความจริง และโดยทั่วไปของเด็กเล็กๆ เหล่านั้นในเมืองใหญ่ของปัจจุบัน เด็กเล็กๆ ในวัยแค่นั้นยังไม่รู้จักโลกรอบตัว หรือรู้จักตัวเองได้มากพอที่จะรู้ถึงความสัมพันธ์ของตัวตนต่อสิ่งแวดล้อม เหล่านั้น นั่นคือความสัมพันธ์และความสำคัญของตัวเองกับสังคมและจิตวิญญาณ หรือวัฒนธรรมที่แสดงออกของสังคมนั้น เพราะฉะนั้นไปๆ มาๆ เราก็จะรู้หรือเรียนแต่เฉพาะความสำคัญของตัวเองกับความสัมพันธ์ของตัวเองกับ สิ่งแวดล้อมกายวัตถุ ในที่นี้และในเมืองใหญ่คือสังคม ตกลงสิ่งที่เราเรียน เรารู้ และสิ่งที่เราใช้กำกับชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย คือการเรียนเพื่อที่จะรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือความเกี่ยวเนื่องระหว่างสังคมกับตัวตนของตัวเองที่สำคัญที่สุด เราเรียนเพื่อรู้แค่นั้น-สำหรับคนส่วนใหญ่-จริงๆ แต่จริงๆ แล้ว ความรู้ไม่ใช่ทั้งสองอย่างสองประการที่กล่าวมานั้น คือทั้งไม่ได้ถูกแช่แข็งตายซากอยู่เฉยๆ และที่สำคัญกว่านั้นความรู้ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่ตรงกันข้าม ความรู้คือกระบวนการหรือเป็นกรรมวิธีของธรรมชาติ (natural process) จึงไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาโดยเชื่อมโยงกันทั้งหมด และความรู้ไม่ใช่ความจริงที่แท้จริงเพราะว่าอธิบายเฉพาะแต่รูปธรรมวัตถุภาย นอก ไม่มีอะไรแม้แต่น้อยที่เป็นเรื่องของภายใน ความรู้ในโลกของรูปธรรมวัตถุนิยมจึงไม่สมบูรณ์เลย เพราะธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องของภายนอกกับภายในเป็นบูรณาการ จริงๆ แล้วแม้ว่าภายนอกจะสำคัญ แต่ว่าภายในสำคัญยิ่งกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดอย่างใดไปไม่ได้ในเรื่องของธรรมชาติแห่งองค์ รวม นั่น-ก็เป็นการอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนบอกว่าความรู้ไม่ใช่ความ จริง เนื่องจากธรรมชาติของความจริงจะต้องเป็นองค์รวมซ้อนองค์รวม ซ้อนๆ องค์รวม...ฯลฯ ภายนอกกับภายในเป็นบูรณาการ... แอดอินฟินิตัม

ผู้เขียนใช้คำว่าจิตวิญญาณ (spirituality) ของสังคมหรือวัฒนธรรมในที่นี้ จริงๆ แล้วเพียงเพื่อต้องการที่จะเน้นความสำคัญของคำว่าวัฒนธรรมเท่าที่ผู้เขียน เข้าใจ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากที่คนทั่วไปเข้าใจและใช้ๆ กันอยู่ในทุกวันนี้มากนัก ในความเห็นของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าวัฒนธรรมคือจิตรวมทั้งจิตวิญญาณร่วมของสังคมด้วย ในขณะที่สังคมคือรูปกายวัตถุโดยรวม พูดง่ายๆ สังคมมีบริบททางรูปธรรมหรือมีบริบทไปในทางพฤติกรรม ขณะที่วัฒนธรรมเป็นเรื่องของจิตรู้กับจิตไร้สำนึก คำว่าจิตนั้นกว้างมากที่สุดเลย ที่ทำให้นักคิดนักปราชญ์เข้าใจไม่ตรงกัน ผู้เขียนอาจเป็นคนที่ชอบคิด จึงอาจจัดว่าเป็นนักคิดทั่วไปก็ได้ แต่เป็นถึงนักปราชญ์นั้นคงจะยาก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้อ่านและได้คิดเรื่องจิตนี้อย่างจริงจังและยาวนาน ที่ทำให้ผู้เขียนสามารถจะเข้าใจมันได้บ้าง ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน หากว่าเรายอมรับกันว่าจักรวาลนี้มีเป้าหมายสูงสุดเพียงประการเดียวคือ วิวัฒนาการ-จากหนึ่งสู่ความหลากหลายที่ซับซ้อนมากขึ้นๆ เป็นวัฏจักรเช่นล้อของเกวียน เพื่อที่กลับมาหาหนึ่งใหม่ไปเช่นนั้นเรื่อยไปอย่างไม่รู้จบ-ของจิต ฉะนั้น จิตจะรวมทั้งหมดตั้งแต่จิตปฐมภูมิ (primordial mind) ของจักรวาลที่เป็นจิตไร้สำนึก (cosmic unconsciousness) ที่มีอยู่ทุกหนแห่ง

และต่อมาส่วนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในสมองของสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์ และจะถูกบริหารโดยสมองไปเป็นจิตที่เรียกรวมๆ ว่าจิตใจ และมีวิวัฒนาการและถูกบริหารต่อไปเป็นจิตสำนึก (consciousness or conscious mind) ที่รวมความรู้สึก อารมณ์ ความจำ หรือจิต (ตื่นรู้ (cognition) ไล่ต่อๆ ไปตามสเปกตรัมของจิต ไล่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจิตวิญญาณและนิพพาน ปัจเจกบุคคลก็เช่นนั้น โดยรวมหรือสังคมก็เช่นนั้น นิพพานที่ผู้เขียนเข้าใจจึงเป็นทั้งลักษณะของปัจเจกพุทธและโพธิสัตว์ วัฒนธรรมจึงหมายความคล้ายๆ กับจิตที่รวมจิตใจ จิตสำนึก รวมทั้งจิตวิญญาณไล่ไปถึงนิพพาน-ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นทั้งสภาวะและไม่ใช่ สภาวะ-ฉะนั้น วัฒนธรรมที่สาธารณชนคนทั่วไปนำมาใช้ๆ กันนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงคำที่มักจะหมายถึงจิตใจของสังคม จารีตประเพณีที่ดีงามและยั่งยืน รวมถึงวิญญาณของเทพเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ ผีหรือวิญญาณที่เราใช้กันจนเปรอะไปหมด ซึ่งอย่างไรก็ตามทั้งหมดที่กล่าวมาหรือวัฒนธรรม ก็คือเรื่องของจิตที่กำกับควบคุมพฤติกรรมของสังคมอีกที

การรับรู้ของเราที่ทำให้เรา "รู้" ซึ่งความรู้ (หนึ่งๆ ใดๆ) แล้วจำเอาไว้เป็นประสบการณ์เพื่อระลึกเอามาใช้เมื่อเราต้องการนั้น เราจึงจำเป็นที่ต้องระลึกถึงความเป็นทั้งหมดของความรู้นั้นๆ ซึ่งได้แก่ ความสนใจหรือความจงใจ-หนึ่ง พฤติกรรม (การอ่านหรือการฟัง)-หนึ่ง บริบทของสังคมในขณะนั้น-หนึ่ง และวัฒนธรรมของสถานที่-เวลาในขณะนั้นๆ อีกหนึ่ง ความรู้ทุกๆ อย่างจะต้องประกอบด้วยความเป็นทั้งหมดทั้งสี่อย่างนั้นเสมอไป เป็นบูรณาการโดยขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ และต้องเข้าใจตลอดเวลาว่าดังที่ได้พูดมาแล้ว ความรู้ที่เรารับและเรียนรู้นั้น มันไม่เคยอยู่กับที่ หากแต่มันเป็นกระบวนการธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสัมพันธ์กับทั้งหมด เหมือนกับความจริงทางโลกหรือทางสังคมที่ไม่ใช่ความจริงแท้ ที่คล้ายๆ กันกับสายน้ำด้วย จริงๆ แล้วผู้เขียนคิดว่า การเรียนรู้ ทั้งสามรู้ คือ รู้รอด รู้เพราะมีความรู้ และรู้แจ้ง ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือของวิวัฒนาการของมนุษย์และจักรวาล จากหนึ่งสู่ทั้งหมด เพื่อหวนกลับสู่หนึ่งใหม่ไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ นั่นคือขามาและขากลับของวิวัฒนาการ อันเป็นเป้าหมายของจักรวาลที่ยาวมากๆ และมนุษย์ที่สั้นมากๆ ดังที่ผู้เขียนมองเห็น เชื่อ และเอามาเขียนเล่าตลอดมา

นั่นคือขั้นตอนของวิวัฒนาการของจักรวาล วิวัฒนาการทางกายภาพจะต้องผ่านขั้นตอนของชีววิวัฒนาการของพืชและสัตว์ต่างๆ ไล่ไปตั้งแต่ต่ำไปหาสูง ทวีความซับซ้อนขึ้นไปตามลำดับก่อน ต้องผ่านการ "รู้รอด" ของพืช สัตว์และมนุษย์ก่อน ถึงจะเป็นการรู้หรือการแสวงหาความรู้ของสัตว์ชั้นสูง ไล่มาตั้งแต่แมมมอล ไพรเมต เอปส์ เช่น ชิมแปนซี และมาถึงมนุษย์ตามลำดับ ไล่มาอีกทางกายภาพตั้งแต่ปัจเจกและโดยรวมหรือสังคมตามลำดับ ก่อนที่จะมาถึงวิวัฒนาการของจิตและวัฒนธรรม ซึ่งก็คือจิตแห่งสังคมตามลำดับเช่นเดียวกัน ความรู้ทางโลกหรือทางสังคม-อันไม่ใช่ความจริงแท้ดั่งที่ได้ว่าไปแล้ว-จะ ประกอบด้วยความตั้งใจ-หนึ่ง พฤติกรรม-หนึ่ง สังคมในเวลานั้น-หนึ่ง และวัฒนธรรมในเวลาและสถานที่อีกหนึ่ง แล้วจึงจะมาถึงการค้นพบความจริงที่แท้จริงหรือ "รู้แจ้ง" ไล่ไปตั้งแต่จิตวิญญาณ (spirituality) ถึงนิพพานการรู้ (knowing or cognition) และความรู้ (knowledge) จึงเป็นกลไก หรือเครื่องมือของวิวัฒนาการของจักรวาลที่มีมนุษย์เป็นตัวแสดง การรู้และความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่ต้องเรียนรู้ทั้งสามรู้ที่กล่าวมานั้นจนรู้แจ้งหรือรู้ว่าความจริงแท้ นั้นคืออะไร? และการรู้ความจริงที่แท้จริง-อันเป็นเป้าหมายของจักรวาลนั้นจำเป็นที่จะต้อง รู้จักรู้การเอาตัวให้อยู่รอดหรือรู้รอดก่อน และการรู้เพื่อแสวงหาความรู้ก่อน-หรือรู้แจ้งนั้น.