Tuesday, October 31, 2017

วัน Allerheiligen วันกำเนิด Halloween (All Hallows' Eve)

เมื่อวาน 31 ตุลาคม เป็นวันฉลองของชาวโปรแตสเเตนท์ วันนี้วันที่ 1 พฤศจิการยน เป็นวันฉลอง Allerheiligen หรือ วันนักบุญทั้งหลายของชาวคาทอลิก ซึ่งเป็นวันหยุดในห้ารัฐของเยอรมนีได้แก่ Baden-Württemberg, Bayern, Nordrhein-Westfalen, Rheinland-Pfalz และ Saarland นอกจากนั้นยังเป็นวันหยุดในออสเตรียและ บางส่วนของสวิตเซอร์แลนด์
Allerheiligen ไม่ใช่เป็นแค่วันระลึกนักบุญทั้งหลายที่ได้รับการยกย่องจากพระสันตะปาปาแต่ยังเป็นวันยกย่องนักบุญหรือทุกคนที่มีความศรัทธาแต่อาศัยอยู่อย่างเงียบๆ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของเขานั้นไม่มีใครรู้ได้นอกจากพระเจ้า และสำหรับประชาชนคนทั่วไป วันนี้เหมือนวันเช็งเม้งที่คนจะไปหลุมฝังศพคนในครอบครัวที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเพื่อแสดงความระลึกถึง
ในอดีตวันนี้จะเป็นวันอาทิตย์แรกหลังช่วง Pfingsten แต่พระสันตะปาปา Gregor IV ได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่
9 เพราะเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวพอดี ชาวบ้านจะได้นำพืชพันธุ์ที่เก็บได้มาจัดโต๊ะฉลองกันได้เต็มที่ ขณะที่ชาวคริสต์ออร์โทดอกซ์จะยังเฉลิมฉลองวันนี้ในช่วงหลัง Pfingsten เหมือนเดิม
ส่วนวัน Halloween มีชื่อเดิมคือ All Hallows' Eve หรือ คืนก่อนวัน Allerheiligen ซึ่งพบว่าเป็นการเฉลิมฉลองที่เริ่มมีในไอร์แลนด์ และ สก็อตแลนด์ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้นในยุคปัจจุบันคนเริ่มทำมาร์เก็ตติ้งทำให้คืนก่อนวัน Allerheiligen เป็นวันโด่งดังในชื่อ Halloween (31 ตุลาคม)
บางทฤษฎีบอกว่า วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของปฏิทินชาวเซลติก (เคลท์) คืนก่อนขึ้นปีใหม่จึงมีการเฉลิมฉลองด้วยเทศกาล Halloween และที่แต่งหน้าเเต่งตาเป็นผีเพราะเชื่อว่า เป็นวันที่โลกของคนเป็นจะติดต่อกับโลกของคนตายได้
http://www.spiegel.de/panorama/allerheiligen-und-halloween-worum-geht-es-a-1174476.html

แนะนำหนังสือ ชาวเยอรมัน และ ชาวยิว ก่อนปี 1939 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง)

ผู้คนมักจะคุ้นชินกับเรื่องราวของโชคชะตาชาวยิว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 1939-1945 แต่หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องต่างออกไป โดยจะเล่าเรื่องก่อนหน้านั้น และ พยายามตอบคำถามว่า ความเกลียดชังระหว่าง ชาวเยอรมัน และ ชาวยิว เกิดขึ้นได้อย่างไร
Wolfgang Effenberger, Reuven Moskovitz คู่หูนักเขียน คนหนึ่งเป็นคนเยอรมัน อีกคนเป็นคนยิว ได้ร่วมกันค้นคว้าหลักฐาน และ เปิดเผยข้อมูล ว่าทั้งคนเยอรมัน และคนยิว มีรากร่วมกันมาก่อนอย่างเเน่นแฟ้น อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน มีหลักฐานว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆกัน อย่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และการเมือง ช่วงรอยต่อระหว่าง คริสตศตวรรษที่ 19 กับ 20 พบว่า ทั้งสองชนชาติอยู่กันได้อย่างกลมกลืน ชาวยิวรู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวเยอรมัน ซึ่งมีพยานหลักฐานมากมาย โดยเฉพาะความเห็นในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ของชาวยิวในช่วงปี 1850 - 1938 ที่ชาวยิวกลายเป็นชนชาติต้องห้าม

นอกจากนั้นหนังสือนี้ยังได้ศึกษาปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมว่า ทำไมอยู่ดีๆ แนวคิดชาติพันธุ์นิยมจึงเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความโกรธเกลียด และความหัวรุนแรง จนทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ตัวอย่าง ข้อมูลใหม่ที่ (อาจ) ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน
- ชาวยิวในเยอรมนี มีความรักชาติเยอรมันมาก จนไปสมัครเป็นทหารอย่างสมัครใจ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (เสียดายที่น่าจะประกาศตัวให้ฮิตเลอร์รู้ว่าเป็นสหายร่วมรบตั้งแต่นั้น - ผู้แปล)
- ชาวยิวในเยอรมันไม่ค่อยเห็นด
้วยกับการอพยพของชาวยิวจากทางตะวันออกเข้าเยอรมนี
- มีความคิดแตกแยกในเรื่องการตั้งประเทศในเขตของชาวอาหรับ ในปี 1907 
- มีชาวยิวไม่กี่คนในเยอรมนี ที่เห็นด้วยกับ ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือ ลัทธิสังคมนิยม แม้ว่าผู้นำลัทธิ อย่าง คาร์ล มาร์กซ หรือ เคิร์ท ไอส์เนอร์ จะเป็นยิว
- ชาวยิวในรัสเซีย ก่อตั้ง รัฐสังคมนิยมที่ปกครองตัวเอง ชื่อ Birobidschan ซึ่งยังอยู่จนถึงปัจจุบัน
- ขบวนการเกลียดยิว เร่ิ่มอย่างเป็นระบบเมื่อปี 1919/1920 ที่การปฏิวัติรัฐบาเยิร์นให้เป็นรัฐสังคมนิยม ล้มเหลว
- ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 1938 พวกนาซีและไซออนนิสต์ ร่วมมือกันอย่างลับๆในการอพยพคนอย่างผิดกฎหมายไปยังปาเลสไตน์
- นักเขียนหลายคนรวมทั้งนักเขียนชาวยิว เชื่อว่า ฮิตเลอร์เป็นเพียงแค่ปรากฎการณ์ชั่วคราว (อาจจะคล้ายที่คนคิดกับทรัมป์ครั้งนี้-ผู้แปล)
รายชื่อ ชาวเยอรมัน และ ชาวยิว ที่โดนอ้างอิงในเล่ม

Martin Luther • Heinrich Heine • Karl Marx • Wilhelm Emmanuel von Ketteler • Ferdinand Lassalle • Friedrich Nietzsche • Theodor Herzl • Otto von Bismarck • Kaiser Wilhelm II. • Kurt Eisner • Walther Rathenau • Victor Klemperer • Wilhelm Reich • Lion Feuchtwanger • Helene Mayer • Arthur Koestler • Bischof von Galen • Hannah Arendt และอีกมากมาย
Reuven Moskovitz (เกิดปี 1928) เป็นชาวยิวจากโรมาเนีย และเป็นผุ้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขามีความพยายามที่จะรักษารอยร้าวด้านเผ่าพันธุ์นี้ จนได้รับรางวัลด้านสันติภาพมากมาย ปัจจุบันพักอาศัยที่กรุงเยรูซาเล็ม
ประเทศอิสราเอล
Wolfgang Effenberger เกิ
ดปี 1946 เป็นนักข่าวอิสระ เชี่ยวชาญด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ปัจจุบันพักอาศัยที่ Starnberger See ในรัฐบาเยิร์น
ทั้งสองคนเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อไม่ให้คนลืม จนยุโรป ต้องลุกเป็นไฟอีกครั้ง

https://zeitgeist-online.de/buecher/neu-im-programm/116-buecher-und-dvds/962-deutsche-und-juden-vor-1939.html

ครบ 500 ปีปฏิรูปศาสนา มรดกของลูเทอร์ในเยอรมนีมีอะไรบ้าง

31 ตุลาคม 1517 มาร์ติน ลูเทอร์ นักบวชในเมืองเล็กๆอย่าง Wittenberg ได้ติดงานเขียน "ญัตติ 95" เรื่องพระเจ้า ที่หน้าประตูโบสถ์ตั้งแต่วันนั้นมาเยอรมนีและโลกก็ไม่เหมือนเดิม
การปฏิรูปศาสนาโดยลูเทอร์ในครั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อภาษาเยอรมัน จิตใจ และ วิถีีชีวิต อย่างมาก จนช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมแบบลูเทอร์ได้ชัยชนะในเยอรมนี จนปัจจุบันนี้สิ่งที่คนทั่วโลกคิดว่าเป็น "เยอรมัน" นั้น เป็นวัฒนธรรมของพวกโปรเเตสเเตนท์มาก่อน
อย่างด้านความงาม ลูเทอร์จะค่อนข้างซีเรียส จะถือว่า ชาวคริสต์ที่ดีต้องใช้ชีวิตในสิ่งที่ควรได้ ดังนั้นทุกอย่างจะเรียบง่าย ไม่ดูฟุ้งเฟ้อ ตัวอย่างเช่น ศิลปะอย่าง Bauhaus หรือ แม้กระทั่ง IKEA ก็ได้รับอิทธิพลจากลูเทอร์ ขณะถ้าเป็นเรื่องดนตรีลูเทอร์จะเปิดกว้างกว่าเพราะคิดว่าเสียงดนตรีเป็นสิ่งที่เป็นอาวุธไว้ต่อสู้กับปีศาจได้ มาจนปัจจุบันนี้ ประเทศเยอรมนีก็มี คณะดนตรีออร์เคสตร้ามากว่า 130 คณะที่ได้เงินสนับสนุนจากสาธารณะ มากกว่าประเทศอื่นๆ
ต่อมาเป็นด้านการอ่าน เยอรมนีเป็นประเทศที่คนอ่านหนังสือมาก มีตลาดหนังสืออันดับสองของโลก ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะ การแปลไบเบิ้ลเป็นภาษาเยอรมันโดยลูเทอร์ คนเยอรมันที่มีศรัทธาจึงหามาอ่านกัน อัตราการรู้หนังสือในตอนแรก พวกโปรแตสแตนท์ในเยอรมนีสูงกว่า คาทอลิก มาก และในที่สุดในปัจจุบัน ทำให้คนเยอรมันชอบอ่านหนังสือ
ทางด้านการเงิน ลูเทอร์สอนว่าการสร้างหนี้เป็นสิ่งไม่ดี ศัพท์ภาษาเยอรมันของหนี้เเปลว่าความผิด ผลส่งให้คนเยอรมันชอบทำงานเก็บเงินและลงทุนกับการออมหรือ ประกันชีวิตมากกว่า การซื้อหุ้น เพราะเชื่อว่าการได้เงินมาต้องมาจากการทำงานด้วยตัวเอง ซึ่งแนวคิดนี้ขัดกับยุโรปใต้มาก ที่นับถือคาทอลิกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ตอนวิกฤตเศรษฐกิจมีทางเลือกในการแก้ปัญหาการเงินต่างกัน อย่างเยอรมนีจะบอกว่าให้ประหยัดตลอด แต่ทางประเทศที่ประสบปัญหาอย่างทางใต้ของยุโรป จะเน้นให้ลงทุน
ทางด้านมุมมองต่อการทำงาน ลูเทอร์มองว่า ทุกคนมีสิทธิ์ถึงพระเจ้า พระเจ้าจะช่วยเหลือทุกคน ดังนั้นการทำงานจะไม่เป็นการทำงานเพื่อให้ตัวเองร่ำรวยแต่เป็นการทำงานเพื่อสังคม การงานไม่ใช่ภาระ แต่เหมือนเป็นการเรียกให้มาช่วยจากสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานของ แนวคิดสังคมนิยม และ รัฐสวัสดิการ
แต่สิ่งที่เป็นข้อเสียของลูเทอร์คือ ลูเทอร์เป็นพวกเกลียดยิว คิดว่า การที่ยิวจ้องตัวเองทำให้ตัวเองป่วย และ เคยเสนอให้ฆ่ายิวด้วย นอกจากนั้น ลูเทอร์ แม้ว่าจะกล้าขัดต่อศาสนจักร แต่ลูเทอร์นั้นนอบน้อมต่อรัฐทางโลกที่ปกครอง ทำให้ปกครองง่าย คนไม่ค่อยลุกฮือ และจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็เห็นได้ในคนเยอรมันปัจจุบัน ที่ลูเทอร์เสนอแบบนี้ี้เพราะลูเทอร์นั้นแยก รัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน
นอกจากบทความนี้ในดิ อิโคโนมิสต์แล้ว ซีเอ็นเอ็นก็ได้ประมวลอิทธิพลของลูเทอร์ต่อโลกไว้สามประการคือ การสืบค้นตั้งคำถามอย่างอิสระซึ่งนำมาซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ ประชาธิปไตย และ การจำกัดอำนาจรัฐ อ่านเต็มๆต่อได้ที่
http://edition.cnn.com/…/reformation-world-change/index.html
---------
(เพิ่ิมเติม)
พอดีแอดมิน ได้สนทนากับคนเยอรมัน ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆเป็น Atheiist และ ชำนาญด้านประวัติศาสตร์
เขาเสนออีกแบบเลยว่า สิ่งที่เป็นมรดกของลูเทอร์จริงๆแล้วคือ ภาษา และ ศิลปะ โดยเฉพาะดนตรี ลูเทอร์เป็นเหมือนคนสร้าง Hochdeutsch ขึ้นมา ประดิษฐ์คำใหม่ๆ จากการแปลไบเบิลและงานเขียนต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่คนแรกที่แปล ที่ดังเพราะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นมาพอดี
สิ่งที่ลูเทอร์เก่งอีกอย่างจนคนยอมรับคือ ได้แต่งเพลง กวี อีกมากมายที่ไพเราะ ถือเป็นมรดกที่สำคัญต่อวัฒนธรรมเยอรมัน
ส่วนทางด้านความขยันขันแข็งจนร่ำรวย หรือ รสนิยม เขาบอกว่า ไม่ใช่มรดกของลูเทอร์ เพราะ มันเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว สืบทอดมาตั้งแต่สมัย โรมันมายึดครองเยอรมนี ความรู้วิศวกร เขาให้ดู ศิลปะแบบโกธิก เป็นตัวอย่าง และ วัฒนธรรมคาทอลิกก็สร้างสรรค์ต่างๆในสังคมดีอยู่
เขายังชี้อีกว่า ข้อเสียของลูเทอร์นั้นมีเยอะมาก เช่นชอบด่าคนไปทั่ว ชอบฆ่าคน ฆ่าเด็กที่เข้าโบสถ์ ล่าแม่มด และตึความคัมภีร์ตามตัวอักษร แม้บางจุดในคัมภีร์ไม่เมคเซนส์ ทำให้เคร่งครัดเกินไป ขณะที่คาทอลิก นั้นจะสบายๆกว่า
สิ่งเลวร้ายที่ลูเทอร์ทำนั้นคือ การทำให้สังคมแตกแยก เยอมรนีต้องเผชิญกับสงครามศาสนาอีกสามสิบปี คนตายมหาศาล สิ่งก่อสร้างที่มีความหมายโดนทำลาย
อันที่จริงเขาควรจะโดนประหารเหมือนคนที่ทำก่อนหน้านี้ แต่ที่เขารอดเพราะ ไกเซอร์สมัยนั้น อ่อนแอ และอายุน้อย นอกจากนั้น ยังพูดเยอรมันไม่ได้ เพราะมาจาก สเปน
เขาสรุปว่า สิ่งที่ลูเทอร์ทำนั้นเปลี่ยนแปลงเยอรมนีจริง แต่ไปในทางเลวร้ายมากกว่า ที่ลูเทอร์ทำเพราะอิจฉาที่โบสถ์ร่ำรวย ในยุคนั้น ก็มีพวกคาทอลิกที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว จากภายในและจะทำให้การเปลี่ยนเเปลงไปอย่างสงบ
---------
ก็เป็นอีกความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจครับ เป็นอีกทฤษฏีหนึ่งในการอธิบายประวัติศาสตร์ จะได้มองมันอย่างครบถ้วนที่สุด และ ถอดบทเรียนได้แม่นยำที่สุด
---------
แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม
http://www.lindenbaum-verlag.de/contents/de/p86.html

--------

แนะนำคลิปที่เล่าเรื่องการเมืองเบื้องหลังการปฏิรูปศาสนา

500th reformation
จะปฏิรูปต้องมาเป็นทีม มีอนุสาวรีย์ที่เมือง Worms ครบทั้งบุ๋น และ บู๊ นำโดย Martin Luther

---------

อันนี้ เพื่อนคนนึงเขียนเล่าย่อๆได้ดีครับ

"เป็นเวลา 500 ร้อยปีมาแล้ว Martin Luther นักบวชและศาสนาจารย์จากอาณาจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์(เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีในปัจจุบัน) ประกาศ"ญัตติ 95 ข้อ" วิจารณ์การกระทำของศาสนจักรและได้ทำการแปลไบเบิลเป็นภาษาเยอรมัน (ภา
ษาเยอรมันได้ตอกหมุดสร้างให้เป็นแบบแผนขึ้นโดยผ่านการแปลไบเบิลของ Luther เมื่อคราวนั้นเอง) ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงสิ่งที่บันทึกไว้ในไบเบิลได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการแปลจากนักบวชของศาสนจักรอีกต่อไป จนทำให้เกิดความเชื่อที่ตีต่างออกจาก คริสเตียนคาทอลิก การกระทำของ Luther ได้สั่นสะเทือนไปถึงนครวาติกัน ทำให้ศาสนจักรซึ่งนำโดยพระสันตะปาปา เรียกคนกลุ่มที่เดินตาม Luther ว่า "Protestan" (พวกต่อต้าน)
วันนี้ 31 ตค เป็นวันครบรอบ 500 ร้อยปี ที่ Martin Luther ทำการติดประกาศ "ญัตติ 95" ไม่บ่อยครั้งนักที่ Christian Protestan จะระลึกนักบุญที่ตายแล้ว เหมือนอย่างคาทอลิกปฏิบัติกัน แต่การระลึกถึง Luther ครั้งนี้เป็นเหมือนการขอบคุณเพราะการกระทำให้ครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างใหญ่หลวงของรัฐต่าง ๆ ทั่วทั้งอาณาจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์ และ ทำให้ศาสนาคริสต์มีนิกายและเน้นการสอนหลากหลายความเชื่อ นับร้อยนิกาย ไม่ยึดติดกับคนแต่ยึดติดกับไบเบิลและการตีความจากพระคัมภีร์
สิ่งที่ Luther ทำหาใช่การเป็นกบฏและเป็นการปฏิรูป Reformation ทำให้ศาสนา พระเจ้าของอับบราฮัม เป็นพระเจ้าที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้โดยทางไบเบิล"

Wednesday, July 19, 2017

ย้อนปูม “สี่ทหารเสือคณะราษฎร” สหายร่วมอภิวัฒน์-รอยร้าว-ความพ่ายแพ้

ที่มา https://www.matichonweekly.com/scoop/article_41978

การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ของไทย ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆตามมาและเป็นโอกาสให้บุคคลในช่วงเวลานั้นแสดงบทบาทโดดเด่น เกิดเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และถกเถียงในแง่มุมต่างๆ และอย่างที่ทราบกันการก่อการไม่อาจสำเร็จได้้ หากไม่ได้กำลังทหารในการปฏิบัติการ ซึ่งคนที่มีบทบาททางทหาร ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎรสายทหาร
งานเสวนา “เส้นทางสี่ทหารเสือ ตำนานการเมืองไทยสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่มติชนอคาเดมี โดยสโมสรศิลปวัฒนธรรม เชิญ พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ อดีตนายทหาร นักเขียนและคอลัมนิสต์ ซึ่งสนใจศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะบทบาทของทหาร โดยครั้งนี้ พ.อ.บัญชรได้นำเรื่องราวของชายทั้งสี่ประกอบด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และที่เพิ่มมาอีกหนึ่งคือ พระศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ที่กลายเป็นบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องราวอันน่าเศร้า ขมขื่น
พ.อ.บัญชร เริ่มต้นเรื่องว่า อาจารย์กับทหารมีนัยสำคัญบางอย่าง สมัยก่อนปี 2475 ทหารที่เคารพกันจะเรียกเป็นศิษย์อาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินแล้ว ถ้าไม่ใช่ทหาร จะจับนัยยะนี้ไม่ได้ ซึ่งตนจะเฉลยว่าทำไม และตอนนี้ทหารใช้อะไร แปลว่าอะไร รวมถึงเรื่องระบบรุ่นที่ชอบเรียกกันว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่
“ก่อนอื่น ต้องเรียกตัวเองว่าผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ที่เตรียมมานี้ จึงเรียกตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่อง จึงยินดีรับฟังทุกความเห็น ตนเริ่มเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตของนายทหารสี่ และบวกหนึ่ง ตั้งแต่เข้าสู่่ชีวิตนักเรียนนายร้อย ไปเรียนต่างประเทศ รับราชการ ร่วมอภิวัฒน์สยาม สิ่งที่ตนเน้นคือหลังเหตุการณ์อภิวัฒน์ โดยเฉพาะการรัฐประหารของพระยาพหลฯ ในปี 2476 กลายเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งสี่คน ซึ่งตนคิดไม่ผิดหากเรียกว่า “เส้นทางของคนแพ้” จะแพ้ต่อโชคชะตาหรือเวรกรรม ให้เก็บไปคิดกันเอง” พ.อ.บัญชร กล่าว

ก้าวสู่นักเรียนนายร้อย-เข้ารับราชการ 
นายทหารหนุ่ม 4+1 เริ่มต้นเข้าศึกษาในปีใกล้เคียงกัน ซึ่งโรงเรียนนายร้อยเริ่มเปิดรับสามัญชนเข้าศึกษา เรียน 4 ปีจบได้ร้อยตรีนั้นคือในปี พ.ศ.2441 เจ้าคุณพหล (พจน์) มาเป็นคนแรกเข้าศึกษาในปี พ.ศ. 2444 จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา พ.ศ.2446 มีนักเรียนนายร้อยอีก 3 คนตามมาซึ่งจากการค้นคว้าเพิ่งทราบว่าเป็นรุ่นเดียวกัน คือ เทพ พันธุมเสน สละ เอมะสิริ และดิ่น ท่าราบ และ วัน ชูถิ่นตามมาหลังสุดคือเข้าศึกษาในปี พ.ศ.2451 แล้ว แปลก พิบูลสงครามตามหลังคือ ปี พ.ศ. 2452
มาตรงนี้ขอเสริมเรื่องช่วงอายุให้ โดยในช่วงก่อการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 พระยาพหลฯ 45 ปี พระยาทรงสุรเดช 40 ปี พระยาฤทธิอัคเนย์ 43 ปี พระประศาสน์พิทยายุทธ 38 ปี พระยาศรีสิทธิสงคราม 41 ปี หลวงพิบูลสงคราม 35 ปี และหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์) 42 ปี ดูแล้วช่วงวัยเลขสี่คิดการณ์ใหญ่แล้ว แต่ต้องอย่าลืมว่าในเวลานั้นไม่รู้ดีหรือร้าย พวกเขาแก่เร็วกว่าพวกเราในตอนนี้ ฉะนั้นความคิดความอ่านไม่ได้เด็กแล้ว
สรุปแล้วคือช่วงที่เรียนในโรงเรียนนายร้อย ทุกคนเรียนเก่ง นายพจน์ เป็นคนแรกได้รับเลือกไปศึกษาต่อที่เยอรมนี (ขณะนั้นเป็นจักรวรรดิเยอรมัน) ตามด้วย นายเทพ นายดิ่น และสุดท้ายคือนายวัน นายพจน์ไปเรียนถึง 7-8 ปี ระหว่างปี 2447-2455 ระหว่างที่เรียน รุ่นน้องคือ นายเทพ นายดิ่น ไปต่อจะเหลือมกัน 5-6 ปี จนกลายเป็นมิตรภาพ ส่วนน้องเล็กคือ นายวัน ไปทีหลัง ไปเหลือมกับนายพจน์ 1-2 ปี โดย
ระหว่างเรียนที่เยอรมนีนั้น นายเทพจะสนิทกับนายวันมาก จนถึงกับเป็นศิษย์-อาจารย์ ตามที่ตนเข้าใจนั้น เหตุผลหนึ่งคือ การอยู่เรียนด้วยกันมานาน สนิทสนมจนกลายเป็นความเคารพนับถือ และใกล้ชิดกันเกือบตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้
ต่อมานายพจน์ได้ไปเรียนต่อที่เดนมาร์กก่อนกลับไทยมารับราชการ ส่วนคนที่แปลกที่สุดคือ นายวัน ซึ่งไปเรียนที่เยอรมนีหลังสุด เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี ทำให้เรียนต่อไม่ได้ ต้องย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยโพลีเทคนิคที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ไม่ทันจบก็ไปสมัครรบ ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการที่ฝรั่งเศสและเดินทางกลับไทยพร้อมกับทหารอาสากองที่ 2
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมถึงเรียนที่เยอรมนี หากจำเหตุการณ์ ร.ศ.112 ได้้ รัชกาลที่ 5 นอกจากปฏิรูปทั้งระบบแล้ว ยังจัดตั้งกองทัพประจำการ ซึ่งต่างจากการเข้าเป็นทหารแบบศักดินาที่วิชาต่อสู้ต้องเรียนเอง อาวุธต้องหาเอง บางทีข้าวปลาต้องหุงหาเอง จนเกิดเหตุการณ์นั้นที่ทำให้ รัชกาลที่ 5 ตระหนักว่าต้องทำให้ประเทศทันสมัย ตั้งกระทรวง รวมถึงการจัดกองทัพแบบยุโรป ซึ่งสมัยนั้นมหาอำนาจทางทหารที่ขึ้นชื่อที่สุดคือฝรั่งเศสและเยอรมนี ส่วนอังกฤษเป็นเด่นทางเรือ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิเยอรมนี โดดเด่นในเรื่องแสนยานุภาพของทหาร ซึ่งสยามมีนักเรียนนายร้อยคนแรกที่จบจากเยอรมนีนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าของวังบางขุนพรหม และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม
นักเรียนสยามที่เรียนเยอรมนีเรียกว่าได้รับรูปแบบการจัดทัพ การรบ วัฒนธรรมทหารแบบเยอรมันมาเต็ม และคนที่มีส่วนแปลตำรารบของเยอรมันมาใช้ในการสอนคือ นายเทพ
  • ระบบรุ่นของทหารไม่ได้มีมาแต่ก่อตั้ง
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ นักเรียนนายร้อยไทยไม่มีการรวมรุ่นเหมือนปัจจุบัน ยกตัวอย่่างนักเรียนนายร้อยปัจจุบันที่มีรุ่น เราก็รักกัน ไม่คิดเป็นการณ์อื่นนอกจากดูแลกันและกัน จึงเข้าใจนักเรียนนายร้อยรุ่นนายพจน์ นายเทพนั้น คงไม่มีกิจกรรมอย่างอื่น
เรื่องรุ่นกลับเป็นที่ีรู้จักต่อสาธารณชน เพราะเริ่มมีพลังที่เบ่งบานอยู่นอกกองทัพ นั้นคือ รุ่น จปร.7 หรือที่เรียกกันว่า “ยังเติร์ก” และที่สูสีกันคือ จปร. 5 ซึ่งเป็นรุ่นของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงตั้งข้อสังเกตว่า การรวมรุ่นที่มีพลังของรุ่น 5 และ 7 มันเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนหน้านั้น อำนาจทหารรวมศูนย์อยู่ที่ ผู้บัญชาการทหารบก แต่พอขุมพลังนี้ถูกทำลายโดยพลังนักศึกษาประชาชน เอกภาพที่เคยมีได้หายไป
นอกจากนั้น ทหารเกิดความรู้สึกว่าทั้งที่ทุ่มกำลังรบทั้งในและนอกประเทศ แต่ทำไมสังคมถึงรังเกียจ นักเรียนนายร้อยแต่งเครื่องแบบเดินออกไปข้างนอกไม่ได้ ถูกนักเลงถอดหมวก เขกหัว ทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งได้คิดจริงจังเริ่มจากคุยกันในรุ่น ที่ว่าทำไมทหารตกต่ำ แล้วจะกู้เกียรติกลับมาอย่างไร ความปึกแผ่นของรุ่นจึงเริ่มขึ้นตรงนั้น

ต่อมาเมื่อทั้ง 5 นายทหารเรียนจบ กลับมารับราชการในเมืองไทย คนที่มีบทบาท ผลงานที่โดดเด่นจนมีการขบคิดคือ นายเทพ ที่ได้เป็นพระยาทรงสุรเดช เลือกเส้นทางทหารช่าง ขณะที่ พระยาพหลฯ กับพระยาศรีสิทธิสงครามเลือกเป็นทหารปืนใหญ่
พระยาทรงสุรเดช รับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ 2 ปี ก่อนย้ายไปโคราช และได้สร้างผลงานคือสร้างรางรถไฟเล็กสำหรับรับส่งทหารจากสถานีไปค่ายทหาร จนเป็นที่โดนใจ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้ง 1 เยอรมนีที่มีโครงการสร้างรถไฟต้องหยุดไป จึงได้พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้บังคับทหารช่างได้รับมอบหมายทหารช่างไปสร้างรางรถไฟของเยอรมนีที่เหลือค้างไว้ จากขุนตาลไปถึงเชียงใหม่ และทำเสร็จในเวลา 6 เดือน เคล็ดลับอยู่ที่การจัดระบบหน่วยทหาร แบ่งเป็นหน่วยวางราง ตอกหมุด ทำหน้าที่ชัดเจน ต่อมาได้รับมอบหมายทำรางต่อจากฉะเชิงเทราไปอรัญประเทศ และเส้นทางที่ 3 คือจากโคราชไปถึงท่าช้าง จนมีชื่อเสียงกระฉ่อน เป็นที่โปรดปรานของบรรดาเจ้านาย แล้วได้ย้ายกลับมากรุงเทพฯ เป็นครูวิชาการฝ่ายทหาร ตรงนี้เองที่ทำให้ชื่อเสียงของพระยาสุรเดชเบ่งบานคือการแปลตำราการรบให้กองทัพบกใช้ ที่ใช้ได้ตั้งแต่ระดับกอง จนถึงพลทหาร โดยมีพระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ช่วย
ชื่อเสียงของพระยาทรงสุรเดช เด่นไม่มีทหารใดเทียบเคียง ซึ่งสะท้อนว่า ทหารสมัยนั้นกระหายความรู้ โดยมีงานวิจัยรองรับระบุว่า นับตั้งแต่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถหลังเรียนจบที่รัสเซีย มาตั้งโรงเรียนนายร้อยโดยเปลี่ยนการสอนจากท่องจำมาเป็นแสดงความคิด จนถึงกับมีการตีพิมพ์เสนาสาร ทำให้เป็นที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงสุรเดชในฐานะอาจารย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ในฐานะศิิษย์
ต่อมามีนักเรียนนายร้อยจากฝรั่งเศสแปลตำราปืนใหญ่ ต่อมารู้จักในตอนนั้นคือ หลวงพิบูลสงคราม
งานเขียนของนายหนหวยเรื่อง ประชาธิปกเจ้าฟ้าประชาธิปไตย เขียนว่า ทหารในยุค 2475 นับถือกันที่ความรู้ความสามารถ สะท้อนความสัมพันธ์ศิษย์อาจารย์ในหมู่ทหาร แม้ตอนนี้ไม่ค่อยเรียกกัน แต่ในโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนเสนาธิการ ยังคงมีค่านิยมบนฐานของความรู้
และด้วยผลงานการแปลตำราของพระยาสุรเดช รองรับความกระหายใคร่รู้ของทหาร ทำให้พระยาทรงสุรเดช โดดเด่นเป็นอย่างมาก และยังได้ไปดูงานที่สหรัฐฯและญี่ปุ่น แล้วได้ไปเรียกตัวพระยาพหลฯมาเป็นอาจารย์ใหญ่แทน 3 ปี
ขณะที่ พระยาพหลฯ หลังเรียนจบเยอรมนี ก็ได้ไปเรียนที่เดนมาร์กด้านการช่างแสน แต่เกิดเงินไม่พอ ได้ทำเรื่องถึงไทย เจ้านายเห็นแล้วไม่พอใจ จึงเรียกพระยาพหลฯกลับมา รับราชการเป็นร้อยตรี และถูกส่งเป็นผู้หมวดปืนใหญ่อยู่ที่ราชบุรี ไต่เต้าตามตำแหน่ง แต่ไม่มีผลงานโดดเด่น
ระหว่างที่พระยาทรงสุรเดช กับพระยาศรีสิทธิสงครามดูงานก็ได้พบกับพล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งชักชวนร่วมก่อการ แต่ทั้งสองยังไม่ได้ตอบรับ ก่อนแยกย้ายกันไป กลับมารับราชการ
เมื่อเข้าปี 2475 ตอนนี้ พระยาทรงสุรเดช ได้เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก ไม่ได้คุมกำลังพล พระยาพหลฯ อยู่ในตำแหน่งรองจเรทหารบก ไม่มีหน่วยบังคับบัญชา พระยาฤทธิอัคเนย์(ไม่ได้เรียนต่างประเทศ) อยู่ที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นคนเดียวมีกำลังพลอยู่ 2 กองพัน พระประศาสน์พิทยายุทธ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เกือบทั้งหมดเป็นทหารสายวิชาการ

สู่ร่วมก่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 
ก่อนจะเข้าเรื่องเหตุการณ์อภิวัฒน์ พ.อ.บัญชรได้เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ยังมีอีกเรื่องที่เพิ่งมีการค้นพบคือ พระยาศรีสิทธิสงครามมีศักดิ์เป็นตาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่เพียงแค่นั้น บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ ยังร่วมก่อการอภิวัฒน์แต่เป็นทหารระดับปลายแถว แต่ต่อมาจะรู้จักในชื่อของ ‘สหายคำตัน’ พ.ท.พโยม จุลานนท์ เสนาธิการกองทัพปลดแอกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
จากการค้นคว้า ระบุว่า พระยาศรีสิทธิสงครามได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ ในตอนนั้นเป็นเสนาธิการกองทัพที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นเสนาธิการของหน่วยหรือใหญ่ที่สุดในบรรดาเสนาธิการ
ระหว่างที่พระยาทรงสุรเดชและพระยาศรีฯ ร.ท.ประยูรชักชวนแต่ไม่สำเร็จ พอกลับไทยก็ชวนอีก โดยชวนพระยาทรงสุรเดชก่อน ตามด้วยพระประศาสน์ฯ พระยาศรีสิทธิสงครามได้รับเชิญและได้ถามถึงแผน แต่พระยาทรงสุรเดชไม่เปิดเผย ซึ่งแผนก่อการนั้นไม่มีลายลักษณ์อักษรอาจเพราะเรื่องรักษาความลับ หรือไม่ทราบได้ ทำให้พระยาศรีไม่ขอร่วมแต่สัญญาว่าจะไม่แพร่งพรายให้ใครรู้
ก่อนที่วันที่ 24 มิถุนายน ได้เกิดเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับพระยาฤทธิอัคเนย์เรื่องแผนการณ์ที่หวังจะจบศึกโดยเร็ว แต่พระยาทรงสุรเดชไม่เห็นด้วยเพราะเสี่ยงรบกันเละ จนให้อ.ปรีดีไกลเกลี่ย
ในเรื่องขุมกำลังนอกจากกองทัพปืนใหญ่ที่ 1 แล้วยังมีนักเรียนโรงเรียนนายร้อย ซึ่งรุ่นนั้นมีนักเรียนที่ภายหลังรู้จักในชื่อ จอมพลประภาส จารุเสถียร
นายหนหวยบันทึกว่า ในช่วงก่อการพระยาพหลฯ ได้ประกาศโดยใช้ข้อเขียนสั้นๆ ซึ่งคนละฉบับกับประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่หลวงประดิษฐ์มนูญธรรมเขียนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง พระยาฤทธิอัคเนย์ุคุมอยู่ภายนอก มีนักเรียนนายร้อยอยู่วงใน
ตอนที่เคลื่อนพลที่เกียกกาย พระยาทรงสุรเดชสั่งพระประศาสน์พิทยายุทธ์จับตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระยาสีหราชเดโชชัย และหลวงเสนาสงคราม แต่เหตุการณ์จริงจับได้แค่ 2 เห็นว่าพระประศาสน์ฯรับบทหนักสุดเพราะต้องจับกรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่วังบางขุนพรหม ทั้งที่พระประศาสน์ฯกับกรมพระนครสวรรค์วรพินิตมีความสัมพันธ์กัน ตอนที่ถูกจับ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถึงกับตรัสว่า “ตาวัน นี่แกเอาด้วยหรือ”
เมื่อถึงตรงนี้ จะเห็นมิตรภาพของ 3 คน คือพระยาทรงสุรเดช พระยาศรีสิทธิสงครามและพระยาพหลฯ เป็นที่รับรู้กันในเรื่องความเก่งกาจของนักเรียนเยอรมนี กับความเป็นเพื่อนรัก ช่วงนั้นทั้ง 3 สนิทกันจนทำให้เสนาธิการกระทรวงกลาโหมให้ฉายาทั้ง 3 ว่า “ทะแกล้วทหารสามเกลอ” ตามบทประพันธ์เรื่องสามทหารเสือ
หลังก่อการอภิวัฒน์ พระยาทรงสุรเดชมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ ยกเลิกกองทัพหรือเพียงกองพัน ตั้งตำแหน่งผู้บังคับการต่างๆ ขึ้นตรงกับผู้บัญชาการทหารบก ให้พระยาพหลฯเป็นผู้บัญชาการทหารบก ส่วนตัวพระยาทรงสุรเดช รับตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการหรืออีกนัยคือรองผู้บัญชาการทหารบก แม้ตำแหน่งพระยาพหลฯอยู่สูง แต่คนกำกับดูแลตัวจริงคือพระยาทรงสุรเดช
พระยาทรงสุรเดช เป็นคนเก่งแต่เป็นคนไม่คบค้าสมาคม อยู่กับงาน กับตำรา ไม่ถนัดเรื่องสังสรรค์และเป็นคนพูดน้อย เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่และออกจะดูถูกนายทหารคนอื่น ตรงกันข้ามกับพระยาพหลฯที่สุภาพ และคนที่อ่อนน้อมก็คือหลวงพิบูลสงคราม แต่การที่พระยาทรงสุรเดชปรับโครงสร้างกองทัพก็ได้สร้างไม่พอใจกับพระยาพหลฯ กลายเป็นข้อบาดหมาง
ส่วนพระยาศรีสิทธิสงคราม ชีวิตหลังอภิวัฒน์สยาม ถูกย้ายจากกระทรวงกลาโหมไปอยู่กระทรวงธรรมการ ในตำแหน่งผู้ตรวจการณ์ลูกเสือ อยู่อย่างสงบเจียมตัว 
ความร้าวฉานสู่การรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนา
ความแตกร้าวในหมู่คณะราษฎรสายทหารเริ่มเกิดขึ้น เช่นเดียวกับรอยร้าวในสายพลเรือนจากกรณีการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจจากทำให้รัฐสภาแตกแยก พระยามโนปกรณ์ฯไม่เสนอเค้าโครงเข้าสภาพิจารณา แม้ดร.ปรีดี จะใช้ฐานส.ส.ร่วมผลักดัน
31 มีนาคม 2476 ได้มีการประชุมสภา ความขัดแย้งคุกรุ่นมาก สมาชิกเข้าร่วมประชุม ได้ใช้เส้นสายของพระยาทรงสุรเดช ให้นำทหารมาตรวจอาวุธสมาชิก ส.ส.ที่เข้าสู่สภา และเช็คความเรียบร้อยด้วยการเอาปืนมาส่องไปยังประธานสภา สร้างความไม่พอใจให้กับสภาผู้แทนราษฎร
พระยามโนปรณ์ออกคำสั่งปิดที่ประชุมสภาแบบไม่มีกำหนด ซึ่งหลายคนเห็นแย้งว่าทำไม่ได้ เท่ากับเป็นการยึดอำนาจ และตามด้วยประกาศ พรบ.กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ดร.ปรีดี ต้องเดินทางออกนอกประเทศ
ตอนนี้ บรรดาสายทหารไม่พอใจในตัวพระยาพหลฯกับพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลฯไม่มีกำลัง จึงเข้ากับหลวงพิบูลสงคราม
มิถุนายน 2476 ความเคลื่อนไหวของพระยามโนฯ แม้ปิดประชุมสภา แต่ยังมีอำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มเปี่ยม และหันไปหาพระยาทรงสุรเดช
กลุ่มทหารหนุ่มนำโดยหลวงพิบูลเริ่มแข็งขันบวกกับสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนของนายปรีดี
ในช่วงนี้เองย้อนกลับไปความขัดแย้งระหว่างสายทหาร พระยาทรงสุรเดชเสนอไปยังสี่ทหารเสือว่าจะครบปีของการอภิวัฒน์สยามว่า วางมือกัน จึงเกิดการวางมือกันทั้ง 4 คน เหตุผลเบื้องหลังคือ หวังให้ผู้มีอำนาจเห็นชอบใบลาออกยกเว้นพระยาทรงสุรเดช แต่ที่น่าสนใจคือ 4 คนที่ลาออกจะลาออกเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง แต่ตำแหน่งทางการทหารยังคงอยู่
วันที่ 18 มิถุนายน 2476 ได้มีประกาศจากกระทรวงโฆษณาการซึ่งเนื้อหาย้อนแย้ง วันที่ 19 ประกาศออกแค่ตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ในช่วงนี้เอง ได้มีประกาศเฉพาะทหาร ปลดพระยาพหลฯออกจาการเป็นผู้บัญชาการทหารบก ปลดพระยาทรงสุรเดชจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกและเรียกพระยาศรีสิทธิสงครามกลับมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก บันทึกระบุว่า พอประกาศออก พระยาศรีสิทธิสงครามยังไม่ทันเข้ารับตำแหน่งตามกำหนด กลับเข้าที่ทำการ เซ็นย้ายหลวงพิบูลออกจากการคุมกำลังพล วันที่ 20 มิถุนายน หลวงพิบูลจึงนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์ นำพระยาพหลฯกลับไปเป็นผบ.ทบ. และให้พระยาฤทธิอัคเนย์พ้นตำแหน่งผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 1 ไปเป็นปลัดกระทรวง แล้วให้หลวงพิบูลสงครามรักษาการณ์ตำแหน่งนั้นไป
มาถึงตรงนี้ พระยาทรงสุรเดช ไม่มีตำแหน่ง พระยาศรีสิทธิสงครามพ้นตำแหน่งกลับไปที่กระทรวงธรรมการ ทำให้เกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่การร่วมกับฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองในกบฏบวรเดช
สรุปคือ พระยาพหลฯ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาทรงสุรเดช ไม่มีตำแหน่ง พระยาฤทธิอัคเนย์เป็นปลัด พระประศาสน์พิทยายุทธ์ยังอยู่ตำแหน่ง แต่มีหลวงพิบูลเขยิบเข้ามาตำแหน่งที่สูงขึ้น
ความแตกแยกและตอนจบของแต่ละคน
กบฎบวรเดชเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2476 กองทัพรัฐบาลสู้รบกับกองทัพพระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายบวรเดชในตำแหน่งกองระวังหลัง มีการยิงปะทะตลอดเส้นทางรถไฟถนนวิภาวดี ทุ่งบางเขน ทัพฝ่ายบวรเดชเสียท่าถอยร่นไปตั้งแต่ดอนเมือง ยาวจนถึงโคราชซึ่งเป็นจุดรวมพลเริ่มแรก และตรงบริเวณสถานีหินลับ จังหวัดสระบุรี ระหว่างที่พระยาศรีสิทธิสงครามเข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ได้ถูกยิงเสียชีวิต ในวันที่ 23 ตุลาคม
พระยาทรงสุรเดช หลังจากเดือนมิถุนายน 2476 ได้ขอทุนดูงานกับพระยาพหลฯและให้โดยไปพร้อมกับพระประศาสน์ฯ ในช่วงนั้นบ้านเมืองระส่ำระสาย มีเสียงร้องให้พระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่หลวงพิบูลสงครามเฝ้ามองดูอยู่ จะแรงกดดันหรืออะไรก็ตาม พระยาพหลฯได้เชิญพระยาทรงสุรเดชกลับไทย โดยพระยาทรงสุรเดชปฏิเสธตำแหน่งการเมือง ขอทำงานที่ถนัด ได้อนุมัติตั้งโรงเรียนรบที่เชียงใหม่ แต่พอจอมพลป.พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาทรงสุรเดชเดินทางไปกัมพูชา ต่อมาฝรั่งเศสให้ไปอยู่ไซ่ง่อน ไร้เบี้ยหวัด ชีวิตลำบาก ต้องแกะของเก่าของภรรยาขายหาเงินจุนเจือ และเสียชีวิตในปี 2487 ด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ
พระยาฤทธิอัคเนย์ โดยเกิดเหตุช่วงปลายรัฐบาลพระยาพหลฯ มีการพูดคุยในวังปารุสก์ หลวงพิบูลได้ยื่นข้อหาอยู่เบื้องหลังที่หลวงพิบูลถูกลอบทำร้าย โดยให้ทางเลือกคือเดินทางออกนอกประเทศหรือขึ้นศาลพิเศษ พระยาฤทธิอัคเนย์เลือกไปต่างประเทศอยู่ที่ปีนัง จนสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงก็ย้ายไปสิงคโปร์ ต่อมามีประกาศจับพระยาฤทธิอัคเนย์แทน ทำให้ขาดรายได้ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกถึงสิงคโปร์ และไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร พระยาฤทธิอัคเนย์ถูกจับขัง แต่ถูกปล่อยตัวหลังญี่ปุ่นตีสิงคโปร์แตก หลังสงคราม จอมพลป.พิบูลสงครามแพ้การเมือง นายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาฤทธิอัคเนย์ได้รับการอภัยโทษและกลับไทยไปปฏิบัติธรรมที่วัดอโศการาม
ส่วนพระประศาสน์พิทยายุทธ์ จอมพล ป. พิบูลสงครามส่งไปเป็นทูตที่เยอรมนี ลูกหลานของพระประศาสน์ได้บันทึกว่า ดร.ปรีดีได้ฝากกล่องเงินเล็ก ข้างในมีไพลินพร้อมแนบจดหมายเล็กฉบับหนึ่ง ระบุทำนองคำเตือนให้รีบเดินทางโดยเร็ว แต่พอคำสั่งแต่งตั้งทูตออกก็เดินทางไปตามปกติ แต่เข้าไปเป็นทูตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเยอรมนีแพ้ ทูตไทยถูกจับขังไปอยู่มอสโคว์ ไม่รู้ชะตากรรมลูกหลาน แต่เมื่อรู้ข่าวว่าอยู่ที่วอชิงตัน ก็ได้กลับมาพบกันอยู่ที่ไทย ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และได้เสียชีวิตในวัย 55 โดยลูกสาวระบุว่าบิดาตัวเองเป็นคนดื่มหนัก
พ.อ.บัญชรได้กล่าวสรุปว่า “ทั้งหมดนี้คือเส้นทางของคนแพ้ ไม่มีใครชนะ ถึงที่สุดแล้ว ถ้ายกคำพระคือก็ต้องไปด้วยกันทั้งหมด ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องราวของสี่ทหารเสือให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง ลองนึกถึงนิทานอีสปที่มีเรื่องเล่าและมีคติสอนใจตอนท้าย แต่เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราต้องสรุปเรื่องนี้กันเอาเอง”

Friday, May 19, 2017

ปัญญาปะทุ

https://www.facebook.com/notes/nuttarote-wangwinyoo/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B8/10155290461233279/
ตอนที่ 1 การสรุปบทเรียนและต่อยอดความรู้ (Reflection leads to synthesis)
การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นั้นอาจเข้มข้นเต็มไปด้วยความสนุก ซาบซึ้ง ตื่นตาตื่นใจ ได้มุมมองใหม่ แต่หากไม่มีการทบทวนและเก็บเกี่ยวก็อาจจะทำให้ไม่เกิดความชัดเจนแก่ผู้เรียนเอง เหมือนเรียนผ่านๆไป ไม่ได้มีการจดบันทึกในใจหรือในสมองอย่างมั่นคง ราวกับการจารึกสลักไว้เพื่อให้กลับมาระลึกและทบทวนได้เรื่อยๆหลังจากกลับไปสู่ชีวิตปกติที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยินและภาวะโกลาหลของชีวิตทั่วไป
เปรียบได้กับการได้เดินทางมายังดินแดนแห่งความรู้ที่เต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจกับความรู้และประสบการณ์ใหม่ แล้วก่อนออกจากดินแดนนี้เราจะเลือกหยิบฉวยของวิเศษอะไรกลับไปใช้ในโลกมนุษย์
เมื่อเป็นเช่นนี้ การทบทวนและสะท้อนบทเรียนที่ได้รับและจะนำกลับไปใช้ สำคัญไม่แพ้ตัวกระบวนการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ หลายครั้งที่เรารับรู้และเรียนรู้ผ่านอายตนะทั้งห้า แต่เมื่อมีการมาทวนสะท้อนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการรับรู้ใหม่ หรือได้ความเข้าใจใหม่กับตัวเอง แล้วยิ่งได้แบ่งปันพูดคุยกับเพื่อนก็จะยิ่งทำให้ความเข้าใจเข้มข้นและหลากหลายมากขึ้น เกิดไอเดียใหม่ รวมทั้งในแงของสิ่งที่อยากจะนำกลับไปทำก็หลากหลายและสดใหม่มีพลังอีกด้วย เกิดนวัตกรรมอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการสรุปบทเรียนเป็นเหมือนการสร้างหรือสังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเองมากกว่า (สรุปคือสร้าง)
คำถามที่จะช่วยสะท้อนและสะกัดความรู้ให้ผู้เรียน เช่น
  1. ตัวเองได้เรียนรู้อะไร
  2. สิ่งที่ได้รู้นี้มีความหมายหรือสำคัญอย่างไรกับเรา
  3. มันทำให้เราเข้าใจตัวเองหรือคนอื่นมากขึ้นอย่างไร
  4. เราจะใช้ความรู้นี้อย่างไรเมื่อกลับไปสู่ชีวิตของเรา เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร
  5. เราจะเตือนตัวเองอย่างไร หรืออยากจะรักษาความเข้าใจหรือทักษะนี้อย่างไร
  6. ถ้าเราไม่ใช้ความรู้หรือทักษะนี้ จะเกิดผลลัพท์อะไร (optional)
ทั้งนี้ กระบวนการตกผลึกในสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ สภาวะจิตต้องอยู่ในภาวะผ่อนคลายและพร้อมที่จะลงลึกแบบคิดแบบลึกซึ้ง ไม่ต้องรีบมีคำตอบ เป็นการค้นหาหรือควานหา ที่เรียกว่า Contemplation นี่แหล่ะ ให้การคิดแบบน้อมนำประสบการณ์มาสู่ใจ บ่มเอาไว้จนตกผลึกอย่างแยบคาย (หรือภาษาวิชาการเรียกว่า โยนิโสมนัสสิการ) เป็นทักษะธรรมชาติและดั้งเดิมของจิตที่ยังไม่ฟุ้งซ่านยุ่งเหยิง จะเรียกว่าจิตของนักคิด นักวิทยาศาสตร์ นักปฏิบัติธรรม ศิลปินหรือกวีก็ได้ที่เฝ้ามองเรื่องราวได้อย่างพินิจพิจารณา แล้วยิ่งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมองและความเข้าใจที่หลากหลายก็อาจะก่อให้เกิด ปัญญาปะทุ มากมายราวกับไม่ได้ใช้ความพยายามอะไร
สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ว่ากระบวนกร หรือ ฟา มีความเก่งฉกาจในการสร้างกระบวนการณ์เรียนรู้หรือกิจกรรมเด็ดๆเพียงใด แต่ก็อาจจะมองข้ามหรือให้เวลากับกระบวนการสรุปบทเรียนแบบเจียรไนยน้อยไป ด้วยเงื่อนไขของเวลาหรือด้วยความเชื่อว่า “เขาได้กันแล้ว คงไม่ต้องสรุปอะไรมาก” หรือไม่ก็สรุปบทเรียนให้ผู้เรียนไปเลย จะได้ว่าแนวคิดแนวปฏิบัติชัดๆกลับไป หรือไม่ก็ “ไปอ่านในเอกสารประกอบการอบรมนะครับ” ก็อาจจะละเลยการสร้างโอกาสให้กับการขบคิดจนแตกฉานในความรู้ และประจักษ์แจ้งถึงแก่นสารของความรู้ จนถึงขั้นตราตรึงในใจของด้วยตัวผู้เรียนเอง


For more information on Facilitator Training Program please visit KPD website at www.kwanpandin.com

Sunday, April 30, 2017

เล่าประวัติศาสตร์ ยุโรป โดย เพจ สตาร์เลส ไนท์

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1344564652298290&id=1030548200366605&substory_index=0
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1344985962256159&id=1030548200366605&substory_index=0
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1345902595497829&id=1030548200366605&substory_index=0
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1347350422019713&id=1030548200366605&substory_index=0
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1348896515198437&id=1030548200366605&substory_index=0
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1350635285024560&id=1030548200366605&substory_index=0

อำนาจรวมศูนย์ หรือ แบ่งอำนาจดีกว่ากัน?
หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สนุกที่สุดของยุโรปคือ ช่วงปี 1660 - 1710 ครับ
เป็นช่วงพีคของราชวงศ์บูร์บงฝรั่งเศส ในรัชสมัยของสุริยกษัตริย์ หลุยส์ที่14
และรุ่งอรุณของเสรีนิยมของอังกฤษ ผ่าน พรินซ์วิลเลียมแห่งออเรนจ์
เป็นการปะทะกันระหว่างจักรวรรดิฝรั่งเศสของหลุยส์ที่14 สู้กับพวกพันธมิตรฝ่ายปฏิรูป
ก่อนหน้านั้น ยุโรปอยู่ในระบบการปกครองแบบที่เรียกว่าฟิวดัล (Feudalism) ซึ่งต้นแบบมาจากระบบแบบชนเผ่า พัฒนามาเป็นระบบอัศวิน
มีคิงเป็นหัวหน้า ซึ่งมอบที่ดินแก่พวกพรินซ์ ดยุก ลอร์ดไล่ลงมาตามลำดับชั้น
เหล่าลอร์ดก็จะมีหน้าที่ถวายความจงรักภักดี ไปเก็บภาษีคนในพื้นที่มาให้เจ้านาย ไล่ขึ้นไปตามลำดับ และมีหน้าที่ไปรบตามคำสั่งเจ้านาย
กลายเป็นระบบราชาธิปไตย (Monarchy) มีชุดความคิดต่างๆมาเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กษัตริย์ กับผู้ปกครอง เช่นการสวมมงกุฎโดยโป๊บ การที่โบสถ์สอนเรื่องสิทธิ์การปกครองที่พระเจ้ามอบให้ผู้ปกครองเป็นต้น
แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 16 ระบบดังกล่าวเริ่มอ่อนแอลง ระบบรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมาแทน และเกิดการปรับเปลี่ยนไปสองแนวทาง
หนึ่งคือแนวทางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute monarchy
ในสมัย Monarchy นั้น พวกพรินซ์ ดยุก มักจะมีกองกำลังของตัวเอง มีเมืองของตัวเอง ออกกฎหมายของตัวเองที่ต่างจากศูนย์กลาง บางทีก็จะกบฏ ไม่ยอมจ่ายภาษีตามที่ถูกสั่ง
หลักการของ Absolute monarchy คือ ริบอำนาจทางกฎหมาย ภาษี และกองทัพคืนสู่กษัตริย์ ให้มีผู้ปกครองคนเดียว กฎหมายเดียวทั่วทั้งรัฐ
วิธีรวบอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่14 คือสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ขึ้น และจัดงานเลี้ยงแทบทุกอาทิตย์ ใครไม่มาพระเจ้าหลุยส์ก็กาหัวจดชื่อไว้ ทำให้พวกเจ้านายต่างๆต้องมาอาศัยที่ปารีส และมางานเลี้ยงทุกครั้ง จนไม่มีเวลาปกครองเมืองของตัวเอง
อันที่จริงพวกเจ้านายสมัยนั้นก็ไม่ค่อยจริงจังกับการดูแลเมืองเท่าไหร่ เน้นล่าสัตว์ตกปลา ไปวันๆอยู่แล้ว เมื่อข้าราชการของพระเจ้าหลุยส์รับการศึกษาด้านการปกครองมาโดยเฉพาะและทำงานจริงจัง อำนาจก็ค่อยๆถูกโอนไปให้ข้าราชการของพระเจ้าหลุยส์ที่ส่งไปดูแลแทน
ด้วยเหตุนี้แวร์ซายส์เลยเป็นวังที่สำคัญของโลก เพราะไม่ใช่แค่สวยแค่เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองด้วย
นอกจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ยังทำให้ฝรั่งเศสออกจากอำนาจทางศาสนาจักร ปลดตัวเองออกจากคำสั่งของโป๊บที่น่ารำคาญ ด้วยการประกาศไม่รับคำสั่งทางการเมืองของโป๊บอีกต่อไป - คือยังเป็นคาทอลิก แต่นโยบายทางรัฐไม่เกี่ยวกับโป๊บอีกต่อไป จะมาสั่งให้หยุดสงครามไม่ได้
ด้วยเหตุของการรวบอำนาจนี้ ภาษีทั้งหมด และเงินโบสถ์ ถูกรวมเข้าสู่พระเจ้าหลุยส์ พระองค์มีเงินมหาศาลกว่ากษัตริย์ใดใด และเมื่อรวยแล้ว จะทำอะไรเล่าถ้าไม่สร้างตำนาน!!
สมัยนั้นความขัดแย้งหลักของยุโรปคือเรื่องศาสนา ระหว่างคาทอลิก กับโปรแตสเตนท์
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประกาศตัวเป็นผู้อุปถัมภ์คาทอลิก และโจมตีเข้าใส่เนเธอร์แลนด์ทางตะวันออกของฝรั่งเศสซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์
โดยร่วมมือกับพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ของอังกฤษ ที่ย้ายข้างมาเป็นคาทอลิก ให้เจมส์ที่ 2 ช่วยบุกเนเธอร์แลนด์ทางน้ำด้วย
เนเธอร์แลนด์ตอนนั้นมีสองอาณาจักรใหญ่ๆคือ เนเธอร์แลนด์ในปกครองของสเปน กับ สาธารณรัฐดัทช์
ดัทช์เป็นรัฐพ่อค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปตอนนั้น เป็นแค่เมืองเล็กๆแต่เป็นมหาอำนาจของทวีปได้
วิทยาการสูงสุดของดัทช์ในสมัยนั้นคือ "การเงิน" ดัทช์รู้จักระบบตลาดหุ้น ธนาคารกลาง และระบบบริษัทที่มีการตรวจสอบการทำงานโดยผู้ถือหุ้น
เวลาพ่อค้าดัทช์จะนำเรือออกค้าขายหรือตั้งอาณานิคมก็จะไปขายหุ้นในตลาดหุ้น เพื่อหาคนลงทุน เมื่อเรือกลับมาก็จะแบ่งกำไรกัน
ด้วยวิธีนี้ทำให้พ่อค้าดัทช์หาเงินทุนได้โดยไม่ต้องรอผู้อุปถัมภ์ที่เป็นขุนนาง ดัทช์มีกองทัพเรือขนาดใหญ่ ทำการค้าได้ไกลถึงตะวันออกไกล มีอาณานิคมไปทั่วโลก
ในด้านการเมืองนั้น ดัทช์มีความคิดแบบโปรแตสแตนท์ ความต่างทางการเมืองระหว่างฝ่าย โรมันคาทอลิก กับ โปรแตสแตนท์คือ
ฝ่ายโรมันคาทอลิกเชื่อในการเจิมตั้งโดยพระเจ้า คือโป๊บตั้งพระ และสวมมงกุฎให้กษัตริย์ ผู้ปกครองเลยถือสิทธิ์จากพระเจ้ามาปกครองตามลำดับขั้น
ฝังโปรแตสแตนท์เชื่อในการปกครองแบบ "เพรสไบทีเรียน" (Presbyterianism) คือไม่มีมนุษย์พูดแทนพระเจ้าได้ว่าจะตั้งใคร ดังนั้นผู้ปกครองโบสถ์ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลไปถึงแนวคิดในการเลือกผู้นำด้วย
ดัทช์เป็นรัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของพ่อค้าตั้งแต่ต้น ถึงมีพรินซ์ที่เป็นเจ้าเมืองแต่ละเมือง แต่ผู้ปกครองสูงสุดมาจากการเลือกตั้งของเหล่าพรินซ์
เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ (William of Orange หรือในภาษาดัทช์ว่า วิลเลม ฟาน ออรังเย่ Willem Van Oranje) เป็นพรินซ์ของแคว้นในดัทช์ มีเชื่อสายของกษัตริย์อังกฤษผ่านทางแม่
วิลเลียมโตมาในแนวคิดแบบโปรแตสแตนท์ ระบบรัฐสภาและการเงินของดัทช์ อายุน้อยกว่าพระเจ้าหลุยส์ที่14 12 ปี
ในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของดัทช์ ปี 1672 วิลเลี่ยมได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรัฐเพื่อต่อกรกับกองทัพฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยอายุแค่ 22 ปีเท่านั้น
วิลเลี่ยมนำทัพสู้กับฝรั่งเศส โดยเน้นใช้แผนโจมตีตัดเส้นทางการส่งเสบียงของศัตรู การต่อสู้เป็นอย่างดุเดือด ผลัดกันแพ้ชนะในแต่ละสมรภูมิ
สงครามดำเนินอยู่สองปี ในที่สุดปี 1674 ทัพฝรั่งเศสก็ค่อยๆล่าถอยไป
ผลคือ ความทะเยอทะยานของพระเจ้าหลุยส์ที่14ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน ดัทช์ก็เสียหายหนักมาก ถึงศัตรูจะถอยไป แต่ก็ไม่รับประกันความมั่นคงของดัทช์
หลังจากสงคราม 3 ปี ในปี 1677 วิลเลียมแต่งงานกับเจ้าหญิงแมรี่ ลูกสาวของเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ
ไม่รู้ว่าเป็นโอกาสที่พระเจ้าประทานมา หรือแผนการของวิลเลียม แต่งงานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของฝ่ายเสรีนิยมบนยุโรป
เนื่องจากนับจากเหตุการณ์ กฎบัตรแม็คนาคาร์ตาเป็นต้นมา กษัตริย์อังกฤษก็ถูกถ่วงดุลด้วยรัฐสภา
ประชาชนส่วนใหญ่ของอังกฤษนับถือโปรแตสแตนท์ มีสงครามกลางเมืองกันด้วยประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ
ทว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กลับเป็นคาทอลิก และแสดงความชื่นชมระบบรวบอำนาจแบบฝรั่งเศส ฝ่ายรัฐสภาคาดหวังว่าเดี๋ยวเจมส์ที่ 2 ตาย ลูกที่เป็นโปรแตสแตนท์ก็ขึ้นแทน
ทว่าเจมส์ที่2 กลับได้ลูกชาย(ซึ่งน่าจะถูกเลี้ยงให้เป็นคาทอลิก)ในปี1677
ฝ่ายรัฐสภาอังกฤษจึงสงจดหมายไปหาวิลเลี่ยมที่แต่งงานกับลูกสาวของเจมส์ที่ 1 ให้ช่วยเหลือเหล่าโปรแตสแตนท์ในอังกฤษ
วิลเลียมตกลงทันที และนำทหารดัทช์ชั้นยอดขึ้นเรือมุ่งสู่อังกฤษ ฝ่ายเจมส์ที่ 2 พยายามสะกัด แต่กระแสลมกลับเป็นใช้กับวิลเลียม เรืออังกฤษจึงคลาดกับวิลเลียมจนยกพลขึ้นฝั่งได้ และเคลื่อนพลอย่างรวดเร็วด้วยการสนับสนุนของพวกโปรแตสแตนท์อังกฤษ
เจมส์ที่ 2 รีบหนีลงท่อระบายน้ำ ล่องเรือเล็กไปตามคลอง ทว่ากลับถูกจับตัวไว้ได้โดยชายประมงกลุ่มหนึ่ง
ผลคืออำนาจอยู่ในมือรัฐสภาอังกฤษอย่างสมบูรณ์ ที่ประชุมหารือกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อหารือว่าจะทำให้อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ จะมีกษัตริย์ต่อไป และจะทำอย่างไรกับเจมส์ที่ 2
เนื่องด้วยความกลัวในสิ่งที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) เคยทำไว้ รัฐสภาตัดสินใจคงระบบกษัตริย์ และตัดสินใจจะให้แมรี่ภรรยาของวิลเลียม ซึ่งมีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์เพราะเป็นลูกของเจมส์ที่ 1 ถือเป็นน้องของ เจมส์ที่ 2 ขึ้นเป็นราชีนี
ทว่าแมรี่ปฏิเสธ เธอบอกว่าไม่ได้ยิ่งใหญ่ไดเท่าสามี
รัฐสภาจึงต้องหาทางออกใหม่ โดยการแถว่า วิลเลียม มีเชื่อสายของแมรี่สจวด ซึ่งต้องไล่ไปไกลมากๆ และให้สิทธิ์เป็นกษัตริย์ได้
ด้วยเหตุนี้ วิลเลียมจึงกลายเป็นทั้งผู้นำรัฐดัทช์ และ คิงวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษร่วมกับควีนแมรี่
วิลเลียมตัดสินใจปล่อยตัวเจมส์ที่ 2 ไปฝรั่งเศส
วิลเลียมและรัฐสภาได้ออก Bill of Rights 1689 หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ์ 1689 ขึ้น
หลักการของมันคือ
- ไม่มีกฎหมายใดบังคับใช้ได้โดยไม่ผ่านรัฐสภา
- ไม่มีการขึ้นภาษีโดยไม่ผ่านรัฐสภา
- การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นอย่างเสรี
- เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรัฐสภา จะต้องไม่ถูกเอาโทษ หรือฟ้องร้องในศาลใด
- กษัตริย์มาจากการรับรองของรัฐสภา และต้องเป็นโปรเตสแตนท์เท่านั้น
เหตุการณ์นี้เรียกว่า "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" (Glorious Revolution)
หลักการดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอังกฤษ
ผลของมันทำให้อังกฤษเกิดการแยกฝ่ายบริหารของกษัตริย์กับรัฐสภาออกจากกัน และเริ่มมีสองสภาคือสภาขุนนางและสภาล่าง (ซึ่งสภาล่างยังต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจต่อไป)
ระบบดั่งกล่าวเรียกว่า constitutional monarchy กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งสูญเสียพันธมิตรทางทะเลให้กับดัทช์ไปตอบโต้ด้วยการ ให้กองทัพของเจมส์ที่ 2 เพื่อกลับไปทวงบัลลังคืน
เจมส์ขึ้นฝั่งที่ไอร์แลนด์ซึ่งเป็นคาทอลิก และหวังจะทำสงครามตามความขัดแย้งทางศาสนา - ทว่าผลคือโป๊บเกลียดหลุยส์ที่14 ซึ่งประกาศไม่รับคำสังโป๊บ มากกว่าเกลียดฝ่ายโปรแตสแตนท์ - พวกไอริชก็ยังจำครอมเวลได้ เลยไม่อยากทำสงครามศาสนาแล้ว เจมส์จึงไม่ได้รับการหนุนจากไอร์แลนด์นัก
ชัยชนะจึงตกเป็นของวิลเลียม รวมถึงทำให้ ไอร์แลนด์เป็นของอังกฤษอย่างสมบูรณ์อีกด้วย
พระเจ้าหลุยส์พยายามขยายอำนาจอีกครั้ง ด้วยการเข้าสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์สเปน ในปี 1700 ด้วยการอ้างสิทธิ์ราชบัลลังก์สเปน หลังกษัตริย์เดิมสวรรคต
แต่คราวนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม อีกต่อไป เมื่อต้องเผชิญกับฝ่ายผู้สืบทอดราชบัลลังก์สเปน ซึ่งหนุนโดยจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์(เยอรมัน) ที่ตอนนี้มีพันธมิตรเป็นอังกฤษและดัทช์
หลังพระเจ้า วิลเลียมที่ 3 สวรรคต ในปี 1702 สงครามยังดำเนินต่อไปในรัชสมัยของราชีนีแอน (Queen Anne) ที่สภาเลือกมารับตำแหน่ง
คนอังกฤษเรียกสงครามนี้ว่าสงครามควีนแอน
ผลจบลงแบบเสมอในยุโรป แต่อังกฤษชนะในอเมริกา
ราชีนีแอน เป็นราชีนีแห่งความงุนงงของยุโรปสมัยนั้น ในเทรนด์ที่นิยมการรวมอำนาจอันยิ่งใหญ่ของยุโรปซึ่งนำโดยฝรั่งเศส ควีนแอนถูกดูถูกว่าเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอที่สุดของยุโรป ถูกควบคุมโดยข้าราชบริพานของตัวเอง
ว่ากันว่าราชีนีแอนนี้แทบไม่ได้ว่าราชการอะไรเลย วันๆของพระองค์คือการเล่นไพ่ ดื่มน้ำชา เขียนจดหมายโต้ตอบกับเพื่อนทางจดหมาย เมื่อคณะรัฐบาลเข้ามาพบ พระองค์ก็แค่แตะที่ต้นคอ และอวยพร ปล่อยให้กิจการทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐสภาไป
แต่เมื่อรู้ตัวอีกที รัฐสภาของอังกฤษก็เจรจากับรัฐสภาของสก็อตแลนด์ ว่าไหนๆเราก็มีควีนคนเดียวกันแล้ว สก็อตถังแตกอยู่ใช่มั้ยล่ะ ทำไมไม่รวมกันเป็นประเทศเดียวกับอังกฤษไปเลย เราจะใช้หนี้ให้
ผลคือเกิดจักรวรรดิบริเตนใหญ่ขึ้นในสมัยราชีนีแอน
ประวัติศาสตร์บันทึกว่าควีนแอนมีชัยเหนือฝรั่งเศส และเป็นผู้รวมบริเตนใหญ่ ทั้งๆที่พระองค์ไม่เคยไปประชุมทัพด้วยซ้ำ
ฝรั่งเศสซึ่งมีทังเกียรติ และกองทัพยิ่งใหญ่ พยายามทำสงครามซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่ว่าจะพยายามกี่ครั้งก็ถูกดึงไว้ได้แค่เสมอ
เรื่องน่าประหลาดใจที่สุดของฝรั่งเศสคือ เหตุใดประเทศอังกฤษในเวลานั้นที่มีประชากรน้อยกว่าฝรั่งเศส 4 เท่า และมีปริมาณการค้านอกทวีปน้อยกว่า 2 เท่า จึงมีเงินมาสร้างกองทัพและกองเรือไม่จบไม่สิ้น
ในขณะที่ฝรั่งเศสขูดภาษีประชาชนกันจนหน้าเขียว อังกฤษที่น่าจะจนกว่าเอาเงินมาจากไหน?
ตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ไม่รู้ แต่คำตอบของเรื่องนี้คือ "พันธบัตร" ครับ
เป็นระบบที่ถูกนำเข้ามาโดยดัทช์ และพัฒนาต่อยอดโดยอังกฤษ
รัฐสภาอังกฤษตั้งธนาคารกลางขึ้น และออกพันธบัตรเพื่อสร้างกองเรือขึ้น โดยผู้ที่ซื้อพันธบัตรจะได้รับดอกเบี้ยรายปี ซึ่งมาจากกำไรของอาณานิคม และค่าปฏิกรรมสงคราม
พันธบัตรนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง พวกชนชั้นล่างฝันอยากเปลี่ยนฐานะเป็นทหาร หรือออกเดินทางไปผจญภัยที่โลกใหม่ กับพวกนักวิชาการพ่อค้าชนชั้นกลางที่มีเงินออม และชนชั้นสูงที่ต้องการระดมเงินไปทำสงคราม
ดอกเบี้ยของพันธบัตรอังกฤษในสมัยนั้นโหดสัสมากๆ
ในขณะที่คนฝรั่งเศสถูกรีดภาษี เหล่าชนชั้นกลางอังกฤษก็ใช้ชีวิตสุขสบายจากการกินดอกเบี้ยพันธบัตร ใช้ชีวิตแบบไม่ทำอะไร ไปนั่งคุยกันในร้านกาแฟ ร้านชา ถกปรัชญาไปวันๆ และเกิดเป็นชนชั้นนายทุนขึ้นในอนาคต
.
.
.
มาถึงคำตอบของคำถามตอนแรก ว่าการปกครองแบบไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน
ในเวลานั้นผลคือเสมอกันครับ ทั้งสองฝ่ายยันกันไว้ได้ ไม่มีใครแพ้หรือชนะเด็ดขาด และพัฒนาต่อ ขยายความยิ่งใหญ่ออกไปได้ทั้งคู่
แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้ว 100 ปีต่อมาแล้ว
อังกฤษที่ไม่ยอมให้อาณานิคมได้สิทธิ์มีตัวแทนในรัฐสภา และไม่ยอมให้สิทธิ์แบบเดียวกันกับอาณานิคม ก็เจอปัญหากับความคิดเสรีนิยมที่สอนให้ประชาชนของตัวเอง จนอเมริกาประกาศเอกราช เลยต้องปล่อยอาณานิคมเหล่านั้นไป
อย่างไรก็ตามรัฐบาลของอังกฤษก็ยังปรับตัวต่อไปได้ ไม่ว่ารัฐจะรุ่งเรือง หรือตกต่ำ คนที่รับผิดชอบไปก็คือนักการเมือง สามารถยุบสภา เลือกตั้งใหม่ การสืบสายของราชบัลลังก์อังกฤษก็เป็นไปอย่างราบรื่นมาจนปัจจุบัน
ส่วนปลายทางของบูร์บงคือการปฏิวัติฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสในยุคต่อมาจึงสุดโต่งมากๆ คือถ้าไม่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ตีกลับเป็นสาธารณรัฐสุดทาง เข่นฆ่ากันไม่จบสิ้นกลับไปกลับมาอยู่สองสามรอบ


----------------------------

เมื่อเขียนถึงการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ปี 1688 ของอังกฤษแล้ว ผมคิดว่าควรจะเขียนต่อไปถึง จอห์น ล็อก อีกสักหน่อย
( อ่านเรื่องการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ https://goo.gl/LXweFh )
จอห์น ล็อก ที่หน้าตาเหมือนอาจารย์โรงเรียนฮอกวอตส์นี้ เป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่ทรงอิธิพลที่สุดในศตวรรษที่17 เป็นรากฐานความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรม อังกฤษ-อเมริกัน
ด้วยแนวคิดที่เข้าใจง่าย เฉียบแหลม และทรงพลังอย่างยิ่ง
สมัยที่ผมเรียน มักจะพบว่าพวกนักปรัชญาต่างๆเนี่ยพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ล็อกเป็นคนเดียวที่อ่านเข้าใจทันทีโดยไม่ต้องพยายามคิดว่าเขาพูดอะไรของเขา
จอห์นล็อกเกิดที่อังกฤษในปี 1632 ตอนอายุได้ 10 ขวบอังกฤษก็เกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง
ระหว่างฝ่ายรัฐสภาโปรแตสแตนท์นำโดยโอลิเวอร์ครอมเวล กับฝ่ายนิยมกษัตริย์คาทอลิกโดยพระเจ้าชาร์ล
ครอบครัวของล็อกอยู่ฝ่ายโปรแตสแตนท์ พ่อของล็อกเป็นนายกองในกองทัพฝ่ายรัฐสภา
ผลจบลงด้วยชัยชนะของครอมเวล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อังกฤษที่กษัตริย์ถูกลงโทษด้วยการตัดหัว - พวกฝ่ายนิยมกษัตริย์ถูกฆ่าล้างโดยครอมเวล - เรื่องนี้เป็นหนึ่งในความทรงจำฝังใจของล็อก
เมื่อโตขึ้นล็อกจึงเข้ารับการศึกษาเป็นหมอที่อ๊อกฟอร์ด และได้เป็นหมอส่วนตัวให้กับชาร์ฟเบอรี่ ขุนนางที่เป็นนักการเมืองพรรควิก จึงย้ายไปลอนดอน
ด้วยฐานะหมอประจำตัวนักการเมือง ที่ลอนดอนล็อกได้เข้าร่วมการถกเถียงทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง และศาสนา
ต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่2 ล็อกตามชาร์ฟเบอรี่เดินทางท่องเที่ยวในยุโรปเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง
และกลับมาปี 1669 หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจ
งานสำคัญของล็อก 3 ชิ้น เริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงนี้
.
.
.
เล่มแรกคือ a letter concerning toleration หรือจดหมายเกี่ยวกับความอดทนอดกลั้น
สรุปย่อของหนังสือเล่มนี้คือ เราควรจะให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในการนับถือศาสนา และอดทนต่อความแตกต่างทางศาสนาของคนอื่น
การใช้รัฐควบคุมศาสนานั้นไม่ควร เพราะความคิดแบบโลกนั้นไม่สามารถตัดสินความถูกต้องทางศาสนา หรือถ้าทำได้การใช้กำลังบังคับให้นับถือศาสนานั้นก็ไม่อาจเป็นแนวทางที่พระเจ้าต้องการ
นี่เป็นแนวคิดที่ใหม่มากๆในยุคสมัยนั้น ในขณะที่ยุโรปกำลังทำสงครามศาสนา ส่วนเอเชียก็ไล่ล้างบางคริสเตียน
.
.
.
เล่มที่สองคือ Two Treatises of Government ซึ่งวางแนวคิดเรื่อง "สัญญาประชาคม" ที่ใช้มาจนปัจจุบัน
สัญญาประชาคม เกิดขึ้นครั้งแรกโดยโทมัส ฮ็อป หลังสงครามกลางเมืองอังกฤษ
ก่อนหน้านั้น คนเชื่อว่าตำแหน่งผู้ปกครองรัฐนั้นได้มาจากพระเจ้า หรือเทวสิทธิ์
โทมัส ฮ็อป บอกว่าตำแหน่งนั้นได้มาจากที่ผู้คนตกลงกันสร้างรัฐ และมอบตำแหน่งให้ผู้ปกครองต่างหาก
โทมัส ฮ็อปชื่อว่า ธรรมดามนุษย์นั้นเลวร้าย และจะฆ่ากันชิบหาย ถ้าไม่มีใครเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นมนุษย์เลยต้องสยบสยอมมอบอำนาจทั้งหมดให้ใครสักคนเป็นผู้คุ้มกันไม่ให้คนฆ่ากัน
รัฐของฮ็อปนั้นคนไม่มีสิทธิ์ใด นอกจากสิทธิ์ในชีวิต
แต่จอห์น ล็อก ไม่คิดเช่นนั้น
ล็อกมองว่า ธรรมชาติของมนุษย์ดีกว่านั้น มนุษย์มีสิทธิ์ตามธรรมชาติบางอย่างที่ไม่อาจยกเลิกได้ เช่นสิทธิ์ในชีวิต สิทธิ์ในทรัยพ์สิน
มนุษย์รวมกันเป็นรัฐ และยอมทิ้งอิสระบางอย่าง เข้ามาอยู่ในกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิ์เหล่านี้ของตัวเอง เพื่อรับประกันว่าจะไม่ขโมยของกันและกัน ไม่ฆ่ากันและกัน ไม่ทำลายสิทธิ์ของกันและกัน
ผู้ปกครองได้รับอำนาจจากคนในรัฐ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของคนในรัฐ
ดังนั้น เมื่อใดที่ผู้ปกครองทำตัวเป็นเผด็จการ ล่วงละเมิดสิทธิ์เหล่านี้ คนในรัฐย่อมมีอำนาจที่จะถอดถอนผู้ปกครอง และตั้งคนใหม่ขึ้นปกครองแทน
นี่คือความคิดพื้นฐานของรัฐแบบเสรีนิยม ซึ่งถูกใช้เป็นหัวใจหลักของอังกฤษ อเมริกา และประเทศยุโรปอื่นๆ
.
.
.
ชุดที่สามมีสองเล่ม คือ Some Thoughts Concerning Education และ Of the Conduct of the Understanding ซึ่งว่าด้วยการศึกษา
ล็อกเชื่อว่ามนุษย์เราเมื่อเกิดมานั้นว่างเปล่า และจะเป็นเหมือนสิ่งที่เราได้เรียนรู้เข้าไป
ดังนั้นการสอนเรื่องหลอกเด็ก พวกภูติผี กอบลิน ฯลฯ เพื่อขู่ให้เด็กกลัว จึงเป็นการกระทำที่แย่มาก
ล็อกเชื่อว่าการเรียนรู้ในวัยเด็กมีผลมากกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ล็อกแนะนำให้ยกเลิกวิชาเรียนที่ไม่มีประโยชน์ตามจารีตเดิม พวกบทกวี ภาษากรีก แต่ให้เรียนรู้การคิดแบบวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แทน
อย่าลืมว่านี่คือปลายศตวรรษที่ 17 ปี 169X ผมคิดว่าทุกวันนี้บ้านเรายังสอนเด็กด้วยการหลอกให้เด็กกลัวด้วยเรื่องผีอยู่เลย
แนวคิดนี้ของล็อกเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนประถมยุคใหม่ และเป็นพื้นฐานในการผลิตบุคลากรของอังกฤษ และอเมริกา มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18
.
.
.
เมื่อบวกกับหลักการของการปฏิวัติอันรุ่งโรจ แนวคิดที่เรียบง่ายของฮ็อปนี้ เป็นรากฐานของรัฐบาลประชาธิปไตยของอังกฤษ และความยิ่งใหญ่ต่อไปอีก 2-3ร้อยปี
อังกฤษกลายเป็นดินแดนประชาธิปไตยที่มีอิสระในการนับถือศาสนา
นอกจากนั้นมรดกที่ชัดเจนที่สุดของล็อกคือการปฏิวัติ และรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา
แนวคิดเรียบง่ายเพียงแค่
- ทุกคนมีสิทธิ์ตามธรรมชาติ จึงมารวมกันเป็นรัฐ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง
- ระบบประชาธิปไตย ทำให้ผู้ปกครองไม่กลายเป็นเผด็จการ และเราจะถอดถอนผู้ปกครองได้ถ้าละเมิดสิทธิ์
- รัฐไม่ควรยุ่งกับศาสนา เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะนับถือศาสนาของตัวเอง เราควรมีความอดทนอดกลั้นกับความต่างของศาสนา
- ทุกคนเกิดมาว่างเปล่าเหมือนกัน การให้การศึกษากับเด็กนั้นสำคัญที่สุด ไม่ควรหลอกเด็ก และสอนให้เด็กคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์
ง่ายๆแค่นี้เอง แค่ประเทศของเรายังไม่คิดแบบนี้เท่านั้นเอง

---------------------------------

โอลิเวอร์ ครอมเวล (Oliver Cromwell) เจ้าผู้พิทักษ์ (lord protector)
เป็นประมุขของอังกฤษเพียงผู้เดียวในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่กษัตริย์ หนึ่งในบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป
อันที่จริงอีกหนึ่งคนที่น่าพิศวงในความก้าวหน้าคือ โทมัส ครอมเวล ผู้เป็นน้าของโอลิเวอร์ ที่ก้าวจากนักกฎหมายสามัญชน ขึ้นไปเป็นถึง ราชเลขาและผู้นำหมู่รัฐมนตรีของพระเจ้าเฮนรี่ที่8 และเนำความคิดแบบโปรแตสแตนท์ไปราชวงศ์ทิวดอร์ (ดูได้ในซีรี่ tudor กับหนัง elizabeth)
โอลิเวอร์ ครอมเวล เป็นลูกของพี่สาวโทมัส เกิดในปี 1499 ในช่วงปลายยุคของควีนอลิซาเบทซึ่งเป็นโปรเตสเตนท์ - และมีบทบาทโดดเด่นในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ล (อลิซาเบท>เจมส์>ชาร์ล)
สมัยนั้นผมแบ่งนิกายศาสนาคริสต์ในอังกฤษให้เข้าใจง่ายคือ
- โรมันคาทอลิก คือพวกนับถือวาติกัน ซึ่งตอนนั้นมีน้อย และผิดกฎหมาย
- โบสถ์อังกฤษ หรือแองกลิคัน โปรเตสแตนท์แบบสายกลางของควีนอลิซาเบท มีการปกครองสงฆ์แบบบิช็อป แต่ปฏิรูปหลักศาสนาเป็นโปรเตสแตนท์
- พิวริแตน โปรเตสแตนท์แบบสุดทางของอังกฤษ ไม่เอาโบสถ์และพิธีกรรมที่ไม่มีในไบเบิล ต้องการระบบคริสจักรแบบเพรสไบทีเรียน คือไม่มีพระ ไม่มีระบบปกครองจากศูนย์กลาง แต่มีผู้นำคริสตจักรแต่ละที่จากการเลือกตั้ง
<พิวริแตนท์ = แองกลิคัน = คาทอลิก>
พวกครอมเวลเป็นพิวริแตนสุดโต่ง - ในขณะที่พระเจ้าชาร์ลมีความเชื่อทางศาสนาแบบแองกลิคัน และถูกมองว่าเอนเอียงไปทางคาทอลิก
ครอมเวลใช้ชีวิตในฐานะชาวนารวย คือมีที่ดินขนาดใหญ่ของตัวเอง มีลูกน้องทำนาให้ แต่ไม่ใช่ลอร์ดขุนนาง
ครอมเวลไม่มีชื่อเสียง จนกระทั้งอายุราว 40 ปี ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาในปี 1628–29
ซึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลกับรัฐสภาขึ้น
ในสมัยนั้นพระเจ้าชาร์ลเชื่อในแนวคิดเรื่องเทวสิทธิ์อยู่ คือเชื่อว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้าน้อยๆ (little Gods on Earth) ที่ได้รับสิทธิ์ในการปกครองมาจากพระเจ้า (Divine Right of Kings)
รัฐสภาของสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ คือเป็นแค่เครื่องมือในการปกครองของกษัตริย์ จะยุบสภาเมื่อใดก็ได้ เหมือนเรียกมาประชุมเพื่อจะได้รับคำสั่งไปบอกคนในพื้นที่ให้ปฏิบัติกันได้ต่อไป ส่วนใหญ่เรียกประชุมเพื่อหารือเรื่องเก็บภาษี
พระเจ้าชาร์ลมีความทะเยอทะยานที่จะรวมอังกฤษสก็อต และไอร์แลนด์เป็นอาณาจักรเดียว รวมถึงอยากขยายอำนาจเข้าไปในยุโรป
พระองค์แต่งงานกับเจ้าหญิงสเปนที่เป็นคาทอลิก ซึ่งทำให้เหล่าโปรเตสแตนท์อังกฤษไม่พอใจ และเข้าไปยุ่งกับสงครามสามสิบปีในยุโรป จึงต้องเรียกเก็บภาษีมากขึ้น
เมื่อรัฐสภาคัดค้านก็ตอบโต้ด้วยการยุบสภา และปกครองโดยไม่เรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งเรียกว่า "สิบเอ็ดปีแห่งการกดขี่"
นอกจากนั้นในทางศาสนาพระเจ้าชาร์ลยังปรับเปลี่ยนพิธีกรรมของโบสถ์อังกฤษ ให้ย้อนกลับไปหรูหราแบบคาทอลิกมากขึ้น รวมถึงปลดพระที่มีความคิดเอียงไปทางพิวริแตนออก
พระเจ้าชาร์ลเริ่มแผนรวมเกาะบริเตนโดยการบังคับให้คริสตจักรสก็อตแลนด์ที่เป็นระบบเพรสไบทีเรียน มาปกครองแบบมีบิช็อปที่ส่งมาจากส่วนกลาง
ทำให้เกิดการต่อต้านของชาวสก็อตที่เรียกว่า สงครามบิช็อป ในปี 1639
พระเจ้าชาร์ลไม่มีเงินพอจะปราบปรามกบฏสก็อต และติดข้อกำหนดในกฎบัตรแม็คนาคาร์ตาของอังกฤษว่าจะขึ้นภาษีไม่ได้ถ้าไม่ผ่านรัฐสภา จึงเรียกประชุมรัฐสภาที่พึ่งเลือกตั้งมาใหม่ในปี 1640 ซึ่งครอมเวลก็ได้รับเลือกอีกครั้ง
แต่ผลคือรัฐสภากลับมาประท้วงการปกครองของพระเจ้าชาร์ลใน 10 ปีที่ผ่านมา
พระเจ้าชาลส์ทรงเห็นว่าการกระทำของรัฐสภาเป็นการกระทำที่หยามพระเกียรติ หรือ “Lèse majesté” จึงสั่งยุบสภาที่มีอายุแค่ 3 สัปดาห์ (เลยเรียกสภานี้ว่าสภาสั้น) แล้วยกทัพไปเท่าที่มี ผลคือแพ้ยับเยิน
พระเจ้าชาร์ลจึงต้องยอมให้เกาะไอร์แลนด์มีเสรีภาพในการนับถือโรมันคาทอลิกแลกกับการจ่ายภาษี และสั่งเลือกตั้งเปิดสภาอีกครั้ง (เรียกว่าสภายาว)
ปรากฎว่าสภาใหม่ด่าพระเจ้าชาร์ลหนักกว่าเดิม และสภายังออกกฎปฏิรูปต่างๆเอง เช่น จะประชุมกันปีละ 3 ครั้งโดยไม่ต้องรอกษัตริย์เรียก, ห้ามเก็บภาษีโดยไม่ผ่านรัฐสภา, กษัตริย์จะยุบสภาเองไม่ได้ - และหนักสุดคือออกกฎหมายจับขุนนางคนสำคัญของพระเจ้าชาร์ลมาประหารข้อหากบฏ
จังหวะนั้นฝ่ายโรมันคาทอลิกไอร์แลนด์ก็ก่อกบฏในการปฏิวัติไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 ฆ่าโปรเตสแตนท์ไปราว 4000 คน
มีข่าวลือในอังกฤษว่าพระเจ้าชาร์ลสนับสนุนคาทอลิกไอร์แลนด์ ความขัดแย้งระหว่างสภา กับพระเจ้าชาร์ลดูจะมีถึงจุดแตกหัก
มกราคม 1642 พระเจ้าชาร์ลตัดสินใจนำทหาร 500 บุกเข้าสภา เพื่อจับผู้นำในสภา 5 คนฐานกบฏ ทุกคนรู้ตัวหนีไปหมด ยกเว้นโอลิเวอร์ครอมเวล
ไม่รู้ว่าครอมเวล ไปบ้าอะไรมาถึงไม่หนี อาจจะแค่ไม่รู้เหมือนคนอื่นก็ได้ แต่แน่นอนว่าถ้าไปดูในนิยาย ภาพยนต์ หรือทีวีซีรี่ ก็จะเล่าถึง ความห้าวเป้งของครอมเวลที่ไม่หนี
พระเจ้าชาร์ลถามประธานสภาว่า "คนที่หายนี่ไปไหนกัน" - ประธานสภาตอบว่า "ขอทรงพระเจริญ ณ ที่นี้ ข้าพระองค์ไม่อาจพูดสิ่งใดได้ นอกจากสิ่งที่ รัฐสภาซึ่งข้าพระองค์รับใช้อนุญาตให้พูดพระเจ้าข้า" เป็นอันว่าประธานสภาบอกว่ารับใช้สภา ไม่ใช่พระเจ้าชาร์ล
สรุปสถานการณ์ตอนนี้คือ ไอร์แลนด์ที่เป็นคาทอลิกกบฏ - พวกพิวริแตนสก็อตก็กบฏ - รัฐสภาในอังกฤษก็คุมไม่ได้
เจอแบบนี้พระเจ้าชาร์ลก็เลยหนีจากลอนดอน และพยายามส่งจดหมายต่อรองกับสภาแต่ไม่เป็นผล
ดังนั้นพระเจ้าชาร์ลก็เลยประกาศพระราชกฤษฎีการะดมพล
ส่วนฝ่ายรัฐสภาก็เสริมกำลัง และระดมทหารอาสาเช่นกัน
พวกราชนาวี และเมืองส่วนใหญ่เข้าข้างรัฐสภา ส่วนทางชนบทจะเข้าข้างพระเจ้าชาร์ล
ในที่สุด 22 สิงหาคม ค.ศ.1642 พระเจ้าชาร์ลก็ชูธงศึก เป็นจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมืองอังกฤษอย่างเป็นทางการ
โอลิเวอร์ ครอมเวล ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาให้เป็นหัวหน้ากองทหารม้า และด้วยความสามารถที่แสดงให้ประจักษ์ ครอมเวลก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น รองแม่ทัพ (Lieutenant general)
จากกรณีศึกษาของครอมเวล (และนโปเลียนในอีก100 ปีต่อมา) ผมคิดว่ากองทัพแบบฟิวดัลของฝ่ายรอยัลลิสม์นี้มีประสิทธิภาพต่ำ
เหตุผลคือ กองทัพแบบฟิวดัลนั้น ผู้นำกองทัพคือขุนนาง ทหารคือพวกลูกน้องที่มารบให้นาย และทหารรับจ้าง ลอร์ดA ก็มีทหารส่วนตัวของ ลอร์ดA เป็นลูกน้องที่เกิดในเขตดินแดนบ้าง จ้างมาบ้าง - คิดแล้วไม่ต่างจากระบบเจ้าพ่อ หัวหน้าแกงค์ และกลุ่มมือปืน เท่าไหร่ พวกชาวนาที่ถูกเกณฑ์มาก็ไม่ได้อยากรบอะไร - นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องสายบัญชาการ ที่แต่ละหน่วยรับคำสั่งของนายตัวเอง ฯลฯ
ในขณะที่ครอมเวลเป็นผู้ริเริ่มสร้างกองทัพสมัยใหม่ขึ้นมา คือใช้การเลื่อนขั้นตามผลงานไม่ใช่ชาติกำเนิด มีการจัดระบบสายบัญชาการ และมีอุปกรณ์อาวุธและเกราะของรัฐ
ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปี 1642–46 ในที่สุดกองทัพฝ่ายพระเจ้าชาร์ลก็ค่อยๆถอยร่น ในที่สุดปี 1646 ฝ่ายรัฐสภาก็ได้รับชัย ระบบเพรสไบทีเรียนถูกนำกลับมาใช้ในโบสถ์สก็อต และทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าชาร์ล
ทว่าปี 1648 พระเจ้าชาร์ลก็ยังรวบรวมกองทัพฝ่ายรอยัลลิสท์ราว 9000 คน และชูธงสู้กับพวกรัฐสภาอีกครั้ง - ครอมเวล ยังคงมีชัยเหนือพระเจ้าชาร์ล
คราวนี้กองทัพสมัยใหม่ที่ครอมเวลสร้างขึ้นได้ยึดอำนาจในรัฐสภา และเสนอให้ประหารประเจ้าชาร์ลโดยการตัดหัว - พระเจ้าชาร์ล และชาวอังกฤษตกใจมาก
ในศตวรรษที่ 17 การประหารกษัตริย์โดยข้าราชบริพารของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย แถมยังด้วยการตัดหัวด้วย สมัยก่อนพวกเจ้านายยุโรปรบกัน ขนาดข้าศึกจับได้ยังไม่ประหาร จับไปเรียกค่าไถ่บ้าง เนรเทศบ้าง การประหารกษัตริย์โดยข้าราชบริพารเป็นความคิดที่ไม่เคยอยู่ในหัวของคน ไม่มีใครนึกภาพแผ่นดินที่ไม่มีกษัตริย์ออก (ขนาดไทยยังเชื่อว่าเลือดกษัตริย์จะตกต้องพื้นไม่ได้มาจนปัจจุบัน)
แต่พวกครอมเวลไม่แคร์ พระเจ้าชาร์ลถูกรัฐสภาลงมติให้ตัดหัวในวันที่ 30 มกราคม 1649
เป็นการเริ่มยุคสมัยไร้กษัตริย์ครั้งแรกของอังกฤษ รัฐสภาเรียกระบบนี้ว่าเครือจักรภพ หรือ Commonwealth หมายถึงการดูแลความมั่งคั่งร่วมกัน - ครอมเวลจัดตั้งรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกชุดใหม่ขึ้น ซึ่งเวลานี้เขาเป็นผู้มีอำนาจใหญ่ในสภาแล้ว
เป้าหมายต่อไปของรัฐสภาก็คือการจัดการกับพวกกบฏคาทอลิก
ปี 1649 ครอมเวลยกทัพราว 15,000 นาย ข้ามไปยังเกาะไอร์แลนด์ แน่นอนว่ากองทัพของฝ่ายกบฏไม่มีทางสู้กับกองทัพสมัยใหม่ที่มีจำนวนมากกว่าสิบเท่า
ในการบุกตีเมืองในไอร์แลนด์ ครอมเวลสั่งประหารทุกคนที่มีอาวุธ ชาวไอริชตายไปราว 10,000 ในนี้มีชาวบ้านและพระคาทอลิกด้วย
ครอมเวลเขียนจดหมายรายงานรัฐสภาว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างสันติภาพระยะยาว
สำหรับเราที่อ่านประวัติศาสตร์เอเชียมาก่อน อาจจะรู้สึกว่าตัวเลขคนถูกประหาร 10,000 นี้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับยุโรปแล้ว นี่เป็นเรื่องน่าสยดสยองมากๆ
สรุปว่าปี 1652 ไอร์แลนด์ก็ถูกปราบเรียบ จำนวนคนที่นับถือคาทอลิกจาก 60% เหลือ 2%
และแล้วปี 1653 ครอมเวลซึ่งมีอำนาจควบคุมกองทัพทั้งหมด ก็ตั้งตัวเองเป็น เจ้าผู้พิทักษ์ หรือ Lord Protector และยุบอำนาจของสภาทิ้งไป - เครือจักรภพกลายเป็นรัฐเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ
เจ้าผู้พิทักษ์ครอมเวล วางกองทัพแบบประจำการตลอดเวลาในจุดต่างๆของอังกฤษเพื่อป้องกันการกบฏ ซึ่งฟังดูบัดซบ แต่เป็นการเกิดของระบบตำรวจ-ทหาร สมัยใหม่
ครอมเวลมีนโยบายแบบพิวริแตนสุดโต่ง ยกเลิกระบบโบสถ์แบบแองกลิคันไปเป็นแบบพิวริแตน และประกาศใช้กฎหมายศีลธรรมทั่วทั้งอังกฤษ
เช่นห้ามกีฬาสู้หมี ห้ามจัดงานเลี้ยงและการละเล่นฟุ่มเฟือย จับพระคาทอลิกสึก ห้ามฉลองคริสต์มาส ห้ามมีพิธีกรรมนอกจากมหาสนิทกับบัพติสมา เผาพระธาตุ เผาเรลิค( Relics - ของวิเศษต่างๆ) เผาเสื้อคลุมอาร์คบิชอป ทำลายรูปปั้นเทวดา, รูปปั้นพระแม่, และรูปปั้นนักบุญ
ครอมเวลสั่งสร้างกองทัพราชนาวีขนาดใหญ่ และเปิดศึกกับดัทช์
ส่วนทางอาณานิคมอเมริกา ครอมเวลมีพันธมิตรเป็นอาณานิคมที่ก่อตั้งโดยพิวริแตนอพยพ แต่ต้องปราบปรามอาณานิคมที่ยังนิยมฝ่ายกษัตริย์ ครอมเวลยึดจาไมกาได้จากสเปน และเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิ์อังกฤษ
ผลของยุคเครือจักรภพคือชาวบริเตนเข็ดขยาดไปตามๆกัน นอกจากจะต้องผ่านสงครามกลางเมืองยาวนานนับสิบปี ผลที่ได้กลับเป็นเผด็จการทหารรัฐศาสนา
ความเกลียดชังของชาวไอริชที่มีต่อรัฐบาลลอนดอน จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้สืบทอดมาอีกหลายร้อยปี จนกระทั้งการประกาศเอกราชของไอแลนด์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ทำให้ฝ่ายรอยัลลิสต์อ่อนแอไปมาก และจารีตแบบพิวริแตนได้ซึมเข้าสู่การใช้ชีวิตของชาวบริเตน - ทำให้ชาวบริเตนกลายเป็นโปรแตสแตนท์อย่างยากที่จะกลับไปเป็นคาทอลิกได้
โอลิเวอร์ ครอมเวลตายในปี 1658 และพยายามสืบทอดอำนาจให้ลูกชาย คือริชาร์ด ครอมเวล แต่ริชาร์ดอยู่ในอำนาจได้แค่ 9 เดือน ก็เสียอำนาจให้กับรัฐสภา ซึ่งเชิญชาร์ลที่2 ลูกของพระเจ้าชาร์ล กลับมาเป็นกษัตริย์
พอพระเจ้าชาร์ลที่ 2 กลับขึ้นสู่อำนาจ ก็เอาระบบทุกอย่างแบบเดิมกลับมา และสั่งให้ขุดศพของโอลิเวอร์ ครอมเวลมาทำพิธีประหารศพ พร้อมประจานหัว สิ้นสุดตำนานของเผด็จการโชกเลือด โอลิเวอร์ ครอมเวล
ส่วนริชาร์ด ครอมเวล ลูกชาย หลบหนีไปฝรั่งเศสทัน และแอบกลับมาปี 1681 ตายปี 1712 ตอน อายุ 85 อายุยืนมากๆ
บทสรุปของเรื่องราวของครอมเวลยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ บางคนบอกว่าครอมเวลเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยอังกฤษ บ้างก็บอกว่าเป็นเผด็จการโหดเหี้ยม พวกพิวริแตนพูดถึงเขาดั่งนักบุญ แต่ถูกสาปแช่งว่าเป็นปีศาจร้ายของคาทอลิก เป็นฝันร้ายแห่งอังกฤษ เป็นผู้สังหารกษัตริย์ แต่ก็เป็นฮีโร่ของสามัญชน
ตลอดช่วงร้อยปีหลังจากนั้นชื่อของ โอลิเวอร์ ครอมเวล ทำให้ทั้งทั้งฝ่ายนิยมกษัตริย์ และรัฐสภากลัวกันหัวหด ครอมเวลเป็นหนึ่งในคนที่ถูกถกเถียงกันมากที่สุดว่าเขาเป็นอย่างไรกันแน่
หลังจากนี้การประนีประนอมของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นได้ ด้วยความรู้สึกว่า "ดีกว่าให้มีครอมเวลคนที่สอง" ซึ่งนำไปสู่ "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" ล้มน้องชายของชาร์ลที่2
ทุกวันนี้มีอนุเสาวรีย์ครอมเวลอยู่หน้ารัฐสภาอังกฤษ เป็นการเตือนใจทั้งสองด้านว่า ถ้าผู้ปกครองทำตัวเป็นพระเจ้าชาร์ลจะมีจุดจบอย่างไร และเผด็จการแบบครอมเวลนั้นน่ากลัวขนาดไหน ทำไมประชาชนจะต้องป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
( อ่านเรื่องการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ https://goo.gl/LXweFh )
( อ่านแนวคิดของ จอห์น ล็อก https://goo.gl/JMBfyy )

---------------------------------

อะไรกันแน่ที่เป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ยุโรปมีอำนาจเหนือกว่าภูมิภาคอื่นๆ
นักรบที่เก่งกว่า? อาวุธที่ดีกว่า? ไม่ใช่ครับ
คำตอบคือตลาดหุ้น
หนึ่งในนวัตกรรมที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้ยุโรปในศตวรรษที่ 17 คือ "บริษัท"
เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการเดินเรือและค้นพบ ชาวยุโรปก็เรียนรู้ที่จะแสวงหากำไรจากการค้าขายข้ามทวีป ซึ่งเกิดเป็นแนวคิดการแข่งกันค้าขายของแต่ละรัฐโดยเชื่อว่ายิ่งค้าขายเยอะ ยิ่งมั่งคั่ง ยิ่งมีอำนาจมาก ที่เรียกกันว่า "พาณิชย์นิยม" (mercantilism)
หลังค้นพบอเมริกา ในศตวรรษที่ 15 พวกพิวริแตนที่ต้องการสร้างสวรรค์ในการนับถือศาสนาแบบที่ต้องเองต้องการก็เริ่มอพยพไปตั้งรกรากที่อเมริกา หลังจากผ่านความยากลำบากนานับประการ และการล้มหายตายจากไปเกินครึ่ง ในที่สุดอาณานิคมในอเมริกาก็เริ่มเติบโตขึ้น
พวกเขาเริ่มต้นทำไร่ฝ่าย ยาสูบ น้ำตาล และพืชต่างๆซึ่งปลูกไม่ได้ในยุโรป
อาณานิคมขายของเหล่านี้ แลกกับข้าวของเครื่องใช้จากประเทศแม่ สร้างผลกำไรให้กับท้องพระคลัง
ช่วงศตวรรษที่ 16 ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษกับสเปน ทำให้มีกฎหมายห้ามค้าขายกับอาณานิคมของประเทศอื่นเกิดขึ้น
พวกพ่อค้าแสวงหาทางซิกแซกด้วยการซื้อสินค้าจากประเทศศัตรู แล้วแวะไปย้อมสินค้าเปลี่ยนเรือที่แอฟริกาก่อน เกิดเป็นสามเหลี่ยมทางการค้าระหว่าง อเมริกา - แอฟริกา - ยุโรป ขึ้น
เมื่อวิทยาการเดินเรือดียิ่งขึ้น ชาวยุโรปไม่หยุดอยู่แค่นี้ พวกเขายังทำการค้ากับตะวันออกไกล
ขายปืน แลกกับเครื่องเทศ งาช้าง ผ้าไหม เครืองหอม ถ้วยชาม ชา
การค้ารูปแบบนี้ได้กำไรเยอะมาก เรือแต่ละลำที่กลับเข้าสู่ท่าจะทำกำไรได้นับสิบเท่าของเงินลงทุน
แต่ความเสี่ยงที่เรือจะไม่รอดกลับมาก็แทบจะ 50-50
ตอนแรก กัปตันเรือที่จะค้าขายจะต้องวิ่งหาขุนนางที่มีเงินทุนมหาศาล และมีใจกล้าชอบเสี่ยงดวงมากพอมาอุปถัมภ์ต้นทุนในการเดินทาง ซึ่งยุ่งยาก หายาก
สมมุติว่าจะออกเรือต้องใช้ทุน 1 แสน จะหาคนที่มีเงินแสนได้สักกี่คน
จนกระทั้งปี 1609 พ่อค้าหัวใสชาวดัทช์สักคนก็คิดระบบที่เรียกว่า "ตลาดหุ้น" ขึ้นมาได้
หลักการคือ เมื่อจะออกเรือ ก็ไปขายใบหุ้นที่ตลาด คนที่ซื้อใบหุ้นไป จะได้รับส่วนแบ่งของกำไรเมื่อเรือกลับมา
ด้วยวิธีนี้กัปตันเรือก็จะไม่ต้องลงทุนเอง และระดมทุนง่ายกว่า
คนที่มีเงินเล็กๆน้อยๆไม่พอจะลงทุนกับเรือทั้งลำก็ร่วมลงทุนได้ หาคนที่อยากลงเงินพันร้อยคน ย่อมง่ายกว่าหาคนที่อยากลงเงินแสน
นอกจากนั้นนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงได้
แทนที่จะเสี่ยงลงเงินแสนไป แล้ววัดดวงว่าถ้าเรือกลับมาได้ ล้าน แต่ล่มคือ 0
สู้กระจายเงินไปที่เรือ 10 ลำ ลำละหมื่น แล้วคิดว่ามีโอกาสกลับมา 5 ลำ ให้ได้เงิน 5 แสน ไม่ดีกว่าหรือ?
ระบบหุ้นของดัทช์พัฒนาไวมาก มีทั้งการเก็งกำไร ปั่นราคาหุ้น ซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ
เมื่อเกิดระบบผู้ถือหุ้นขึ้น จึงบีบบังคับให้ผู้ที่รับเงินผู้ถือหุ้น พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นองค์กรที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่าเงินที่ผู้ถือหุ้นลงไปจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
จึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า "บริษัท" ขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนผูกพันต่อเนื่องมากกว่าล่องเรือเป็นครั้งๆ
บริษัทมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรที่ทำสัญญาได้เหมือนบุคคล จะเป็นของผู้ถือหุ้นไม่ใช่ของกัปตันเรือคนใดคนหนึ่ง กัปตันเรือมีฐานะเป็นผู้จัดการที่เป็นลูกน้องของผู้ถือหุ้น และจะต้องปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น
การพัฒนาของระบบบริษัท เกิดขึ้นจากความเขี้ยวของเหล่าพ่อค้าผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ที่จะไม่ยอมให้เงินหลุดไปสักแดงเดียว - มาตรฐานความซื้อสัตย์ต่อสัญญา และความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของพ่อค้า
นี่เป็นแนวคิดที่พูดตอนนี้แล้วเหมือนง่ายๆ โง่ๆ แต่ในศตวรรษที่ 17 นี่คือจุดเริ่มต้นของการครองโลกจริงๆ
เมื่อเทียบกับตะวันออก ระบบที่ก้าวหน้าที่สุดคือระบบกงสีแล้ว ประสิทธิภาพในการระดมทุนของตลาดหุ้นนั้นสูงกว่าแบบคนละชั้น
นอกจากนั้นยังเป็นความต่างเรื่องนิสัยการทำธุรกิจแบบตะวันตก กับตะวันออกอีกด้วย
การขยายตัวของธุรกิจตะวันตกในรูปแบบบริษัทยิ่งใหญ่ได้อย่างน่ากลัวมากๆ
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแนวคิดการระดมทุนแบบใหม่จะทำให้ประเทศเล็กๆที่มีประชากรและดินแดนไม่มาก จะทำให้เกิด บริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ หรือ VOC อ่านแบบดัชว่า "เฟโอเซ" โคตรอภิมหาบริษัทข้ามชาติขึ้น
รัฐสภาดัทช์อนุญาติให้ VOC มีกองกำลังของตัวเอง และเมื่อการติดต่อกับดัทช์เป็นไปได้อย่างล่าช้าในยุคนั้น จึงอนุญาตให้ประกาศสงคราม ตั้งศาลตัดสินคดีความได้เอง จริงๆก็เท่ากับว่า VOC มีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง
จนถึงปี 1663 VOC เข้าโจมตีทุกภูมิภาคของโลก อเมริกาเหนือ-ใต้ แอฟริกา อินเดีย อินโดนิเซีย จีน เพื่อบังคับให้เกิดท่าการค้า และการเปิดด่านค้าขายแบบปลอดภาษี
VOC เคลื่อนไหวเพื่อผู้ถือหุ้น จึงไม่แคร์อะไรทั้งนั้นนอกจากกำไร VOC ไม่ลังเลเลยที่จะฆ่าล้างเกาะ จมเรือคู่แข่ง ทำลายรัฐ ค้าทาส หนุนเจ้าที่สนับสนุนขึ้นบัลลัง อะไรก็ได้ขอให้ได้กำไร-เป็นระบบอาณานิคมสามานย์แบบที่เราเรียนรู้กันมา
ประมาณการว่าถ้าเทียบเป็นมูลค่าเงินสมัยนี้ VOC น่าจะมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 7ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าไมโครซอฟต์ 7 เท่า
VOC จ่ายปันผล 18% ทุกปี เป็นเวลายาวนานนับ 200 ปี จนกระทั่งล้มละลายในปี 1800
VOC ทำให้ประเทศเล็กๆที่มีประชากรนิดเดียวอย่างดัทช์กลายเป็นมหาอำนาจในสมัยนั้น
นักวิชาการบ้านเราเกลียดVOCมากๆ และพยายามไม่พูดถึงมันใน่แง่ดี - แต่ลองคิดดูว่าคนป่าที่โดนยิงตายย่อมเกลียดปืน แต่วิธีที่จะเลิกโดนยิงตายฝ่ายเดียวก็ต่อเมื่อเรียนรู้ว่าจะผลิตปืนบ้างได้ยังไง
เอาจริงๆ สำหรับบ้านเราระบบตลาดหุ้นและบริษัทยังเป็นของใหม่ ในไทยเปิดครั้งแรกปี 1962 (พ.ศ.2505) - ผมเข้าใจว่าคนไทยส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะเข้าใจว่านิติบุคคลแบบห้างหุ้นส่วนและบริษัทคืออะไรกันแน่ - ความคิดการบริหารแบบบริษัทก็พึ่งเริ่มเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง
คราวหน้าผมจะพูดถึงสิ่งที่นวัตกรรมทางความคิดที่ทรงพลังมากกว่า พาณิชย์นิยม คือ "ทุนนิยม"
ภาพ ตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัม ปี 1653 โดย Emanuel de Witte
( อ่านเรื่องการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ https://goo.gl/LXweFh )
( อ่านแนวคิดของ จอห์น ล็อก https://goo.gl/JMBfyy )
( อ่านเรื่องครอมเวล https://goo.gl/OMlKn0 )

------------------

หลังจากเล่าถึงการแผ่ขยายอำนาจของยุโรปที่เกิดขึ้นจากพาณิชย์นิยม (mercantilism) ในศตวรรษที่ 17 (ปี1600-1700) แล้ว ผมจะขอกระโดดข้ามไปศตวรรษที่ 18 สักครู่
เราพูดกันไปแล้วว่าพาณิชย์นิยมเป็นแนวคิดหลักของ "ความรุ่งเรือง" มาตั้งแต่ช่วงปี 1600
เนื่องจากคิดกันว่าใครมีเงินทองมากย่อมมีเงินต่อเรือ ซื้อปืนใหญ่ จ้างทหาร ซื้อเสบียงทัพ มากกว่า
แต่ละรัฐของยุโรปต่างแข่งกันค้าขาย เป้าหมายเพื่อนำเงินทองเข้าสู่ท้องพระคลัง และกระเป๋าของผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด
แต่ละประเทศทำสงครามแก่งแย่งกันเพื่อแย่งชิงตลาดซื้อขายสินค้า เหมืองเงิน เหมืองทอง
อันที่จริงแล้วก็ไม่มีใครสงสัยเลยในความคิดว่า เงินทอง = ความรุ่งเรือง
ความคิดนี้คงอยู่มาเกือบ 200 ปี
จนกระทั้ง อดัม สมิธ พิมพ์หนังสือ "ความมั่งคั่งของชาติ" (The Wealth of Nations) ในปี 1776
แนวคิดของ อดัม สมิธ เรียบง่ายและทรงพลังมาก
1. เงิน-ทอง โลหะมีค่าไม่ใช่ความมั่งคั่ง เป็นแค่ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ความมั่งคั่งที่แท้จริงคือ "กำลังการผลิต"
สเปน เคยล้มละลายเพราะพบเหมืองทองในอเมริกาใต้ หลังจากเร่งขุดทองเข้าคลัง แทนที่จะรวยขึ้น กลับพบมาพอมีทองมากๆ มูลค่าของทองแต่ละชิ้นกลับน้อยลง เกิดเป็นภาวะ "เงินเฟ้อ"
ทองจึงไม่ใช่ความมั่งคั่งไม่ใช่เป้าหมายของการสะสมความมั่งคั่ง เป็นแค่ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น
ความมั่งคั่งของชาติคือมูลค่ารวมของสิ่งต่างๆที่คนในชาติผลิตได้ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า สินค้า และการบริการ
ชาติที่มีกำลังการผลิตสูงกว่าย่อมมั่งคั่ง และมีอำนาจกว่าชาติที่ผลิตได้น้อย
สมมุติว่าชาติ A ผลิตอาหารได้ล้านตัน เสื้อได้ปีละล้านตัว ปืนปีละแสนกระบอก ย่อมมั่งคั่งกว่า B ที่ผลิตอาหารได้แสนตัน เสื้อปีละแสนตัว ปืนปีละหมื่นกระบอก
ความมั่งคั่งที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในท้องพระคลังแต่คือ "กำลังการผลิต" มวลรวมของทั้งชาติ
สมมุติรบกันจริง ประเทศที่ปั้มปืน ปั้มเรือได้เยอะกว่าสองเท่า ก็จบแล้ว นี่ยังไม่พูดถึงประสิทธิภาพ
.
.
.
2. กำลังการผลิตในโลกนั้นไม่ได้มีจำนวนจำกัด แต่ทำให้เพิ่มขึ้นได้ โดยการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการแบ่งงานกันทำ
ในแนวคิดแบบ พาณิชย์นิยม นั้นความมั่งคั่งที่เป็นเงินทองมีจำนวนคงที่ การค้าคือการถ่ายโอนความร่ำรวยจากจุดหนึ่งมายังอีกจุด ถ้ามีคนรวยขึ้น ก็ต้องมีคนจนลง
แต่ในแนวคิดของอาดัม สมิธ ความมั่งคั่งในทุกส่วนของโลกสามารถเพิ่มขึ้นได้พร้อมๆกันโดยไม่มีใครต้องจนลง
การผลิตนั้นเกิดขึ้นโดยสมการง่ายๆคือ = ทุน (แรงงาน,ที่ดิน,เครื่องจักร,การบริหารจัดการ) > กิจกรรมการผลิต > ผลผลิต
ในสมัยของอาดัม สมิธมีการปฏิวัติการทำการเกษตร และเริ่มมีการคิดค้นเครื่องปั่นฝ้ายแล้ว คันไถแบบใหม่ไถได้เร็วกว่าเดิมสามเท่า ทำให้ชาวนาคนหนึ่งทำนาได้ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า เครื่องปั่นฝ่ายทำงานได้มากกว่าคนนับร้อยเท่า เทคโนโลยีจะยกระดับประสิทธิภาพของการผลิต
นอกจากนั้นความชำนาญในการผลิตยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้การผลิตได้ผลดีขึ้น คนที่พัฒนาความถนัดของตัวเองเพื่อทำน็อตตัวเดียว ย่อมทำน็อตได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการทำเครื่องจักรทั้งอัน
แทนที่การทำชุดสักตัวจะเริ่มจากปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้า ตัดเย็บ ด้วยตัวคนเดียว ที่สักปีคงจะได้สักสี่ห้าชุด ก็กลายเป็นแยก อุตสาหกรรมฝ้าย ด้าย ทอผ้า ตัด และเย็บ ออกจากกัน จนวันนึงผลิตได้เป็นร้อยๆชุด
ดังนั้นงานจึงถูกแยกเป็นส่วนๆ คนก็ถูกฝึกในทำงานแบบแบ่งส่วนให้เชี่ยวชาญ เกิดเป็นระบบโรงงานที่เรารู้จักกันดี
ยินดีต้อนรับสู่ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่
.
.
.
3. มูลค่าของสินค้าขึ้นอยู่กับ ความต้องการสินค้า และความสามารถในการผลิตสินค้า หรืออุปสงค์ และอุปทาน - ซึ่งอาดัม สมิธ เชื่อว่าราคาจะเข้าสู่จุดดุลยภาพด้วยตัวเอง โดยสิ่งที่เขาเรียกว่า "มือที่มองไม่เห็น"
คิดง่ายๆเหมือนบัตรคอนเสริทที่มีที่นั่งจำกัด
วงไหนมีแฟนเยอะ คนอยากไป เก้าอี้ไม่พอ ก็คืออุปสงค์เยอะ คนก็จะปั่นราคาขายกันเอง ราคาก็แพงขึ้น
แต่ถ้าเพิ่มเก้าอี้ที่นั่ง ทำให้ได้ไปทุกคนไม่มต้องแย่งกัน คืออุปทานเยอะขึ้น ราคาก็ถูกลง
ถ้าใครเล่นการ์ด ฟิกเกอร์ หรือขายไอเท็มในเกมส์ออนไลน์ จะเข้าใจเรื่องนี้ดี ว่ามูลค่าบางทีก็เกี่ยวกับความสามารถที่แท้จริงของสิ่งของเลย อยู่ที่ภาพสวย แฟนอวย หายาก ล้วนๆ
.
.
.
4. การค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะการแบ่งงานกันทำในสเกลใหญ่ เมื่อมือที่มองไม่เห็นจัดการอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคืออย่ามาเสือก
เนื่องจากยุโรปปลูกชาไม่ได้ ก็ให้เอเชียปลูกชาไป
ถ้าต่างประเทศผลิตอะไรได้ราคาถูกกว่าเราทำเองในประเทศ ก็ซื้อมันสิ จะผลิตเองให้แพงกกว่าทำไม ผลิตในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี แล้วก็ซื้อสิ่งที่ชาติอื่นทำได้ดีกว่า คือแนวคิดตลาดเสรีของอาดัม สมิธ
พวกภาษีการค้า นโยบายแทรกแซงโดยรัฐเนี่ย เป็นปัจจัยที่ทำให้การแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศไม่มีประสิทธิภาพ
ในยุค พาณิชย์นิยม เนี่ย แต่ละประเทศจะทำทุกอย่างเพื่อกีดกันการค้าจากคู่แข่ง โดยช่วงแรกคือทำให้ผิดกฎหมายไปเลย ส่วนยุคหลังๆคือการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งอาดัม สมิธ ไม่เห็นด้วย
เขาสนับสนุนให้เก็บภาษีสินค้าฟุ้มเฟือย และภาษีรายได้ โดยองค์กรการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นรากฐานของระบบภาษีทุกวันนี้ แต่เห็นว่าภาษีการค้าระหว่างประเทศจะต้องหายไปจากโลก
ยินดีต้อนรับสู่ตลาดเสรี นับแต่นั้นมาพวกประเทศที่เชื่อเรื่องนี้ก็จะนิยมเอาเรือปืนไปปิดอ่าวประเทศอื่น บังคับให้ยกเลิกภาษีนำเข้าส่งออก ยังทำกันอยู่จนปัจจุบัน
.
.
.
แนวคิดของอาดัม สมิธ เป็นต้นกำเนิดความคิดทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด และต้นกำเนิดของระบบทุนนิยม
พื้นฐานความเชื่อเรื่องตลาดเสรีใน ข้อ 3 กับ 4 ของเขาเรียกว่า "เศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิค" ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 19
เอาล่ะเรื่องมือที่มองไม่เห็น กับตลาดเสรี เนี่ย เป็นหัวข้อที่ยังถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้ หลักจากเศรษฐกิจตกต่ำไปหลายรอบ แนวคิดนี้ก็ถูกพัฒนาไปเป็นพวก เนโอ-คลาสสิค บ้าง พวก เนโอ-ริเบอรัล บ้าง - แต่ก็ไม่รู้ว่ามันถูกหรือไม่อยู่ดี
แต่ความคิดเรื่องการผลิต ข้อ 1 กับ 2 นั้นเป็นความคิดพื้นฐานของความมั่งคั่งของชาติ
เมื่อรวมกับการเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์แล้ว มันนำไปสู่ "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ยุโรปก้าวกระโดดจนภูมิภาคอื่นไม่มีทางสู้ได้ในเวลานั้นอย่างแท้จริง
นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องสนใจ GDP (ตัวเลขรวมมูลค่าของผลผลิตทั้งหมดในประเทศ) กันนัก
ลองคิดว่าคนญี่ปุ่นที่ มี GDP ต่อหัวมากกว่าไทย 6 เท่า ก็ต้องมีเสื้อผ้าดีกว่า อาหารดีกว่า บ้านดีกว่า เฉลี่ยๆแล้ว 6 เท่า
(ถ้าคุณเคยเดินทางไปประเทศที่ GDP น้อยกว่าไทย และไปประเทศที่ GDP มากกว่าไทย คุณจะเป็นภาพของความต่างนี้ชัดเจนมาก)
จริงอยู่ว่ามันก็มีเรื่องอื่นๆเช่น การกระจายรายได้ ฯลฯ เป็นปัจจัยของความเป็นอยู่ด้วย แต่ถึงพูดอย่างนั้นการกระจายรายได้ของบ้านเรามันก็ห่วยกว่าอยู่ดี
( อ่านเรื่องครอมเวล https://goo.gl/OMlKn0 )
( อ่านเรื่องการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ https://goo.gl/LXweFh )
( อ่านแนวคิดของ จอห์น ล็อก https://goo.gl/JMBfyy )
( อ่านเรื่องพาณิชย์นิยมของ VOC https://goo.gl/ra64gr )

-----------------------

ก่อนจะจากประเด็นเกี่ยวกับทุนนิยมไป เราสังเกตหรือเปล่าว่าประเทศจุดเริ่มต้นของทุนนิยมมันเป็นคริสเตียนโปรแตสแตนท์หมดเลย
ทำไมประวัติศาสตร์การเกิดของทุนนิยมที่ ดัช อังกฤษ อเมริกา
ทำไมความมั่งคั่งถึงเป็นของประเทศพวกนี้ทั้งๆที่ก่อนศตวรรษที่ 16 เป็นแค่ประเทศเล็กๆที่มีประชากรน้อย ทำไมถึงกลายเป็นต้นกำเนิดของทุนนิยม
ทำไมมันไม่เกิดที่เวนิสซึ่งเป็นรัฐพ่อค้าที่รวยมาตั้งแต่คุยกลาง?
หรือไม่เกิดในฝรั่งเศสที่เป็นศูนย์กลางพื้นทวีปยุโรป ร่ำรวย กำลังทหารเยอะ?
ทำไมไม่เกิดในรัฐอิสลามที่เดินเรือค้าขายกับตะวันออกไกลมาก่อนยุโรปหลายร้อยปี?
ทำไมไม่เกิดในภูมิภาคอื่นๆเช่นจีนหรือญี่ปุ่น?
ทำไมประเทศพวกนี้ไม่คิดตลาดหุ้น ทุนนิยม แล้วออกไปล่าอาณานิคม ทำไมต้องเป็ดัช อังกฤษ และอเมริกา
แล้วทำไมประเทศต้นกำเนิดของทุนนิยมมันต้องเป็นโปรแตสเตนท์กันหมดเลย
ผมไม่ได้บอกว่าพระเจ้าอวยพรให้โปรแตสแตนท์ (เว้นแต่จะอธิบายว่าสาเหตุของเรื่องทั้งหมดคือพายุพัดเรือสเปนจม ควีนอลิซาเบทเลยชนะและครองน่านน้ำ)
แต่หมายว่าวิถีชีวิตแบบโปรแตสแตนท์นั้นมีจารีตในสังคมบางอย่างที่ทำให้เกิดสิ่งที่พัฒนาเป็นจารีตแบบทุนนิยมขึ้น
(ผมสรุปง่ายๆ ก่อนว่าโปรแตสแตนท์คือคริสต์แบบปฏิรูปที่ไม่เอาวาติกัน ไม่มีรูปปั้นพระแม่ - โรมันคาทอลิกก็ตรงข้ามกัน)
นักวิชาการต่างตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำถามนี้มาตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 20 งานคลาสสิคของ Max Weber คือ protestant ethic and the spirit of capitalism ได้อธิบายเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้
ซึ่งผมขอเสริมเติมบางส่วนโดยอธิบายเพิ่มกับข้อสังเกตที่เปรียบเทียบกับบริบทของประเทศไทย
อาจจะเรียกว่า "สูตรรวยแบบโปรแตสแตนท์ (ศตวรรษที่16)" ได้มั้ย ไหนๆก็มีพวกรวยแบบจีน รวยแบบญี่ปุ่น กันเยอะแล้ว
.
.
.
1. พวกคริสเตียนเชื่อว่าพวกเขามีสิทธิ์ในความรุ่งเรืองเท่ากันหมด โลกเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้พวกเขา
ในวัฒนธรรมไทยเรามักจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า "วาสนา" ทำบุญมาน้อย เกิดมาได้แค่นี้
ไม่ต้องพูดถึงศตวรรษที่16 เอาปัจจุบันก็ยังมี วัฒนธรรมของเราเชื่อว่ามีคนที่เกิดมาแล้วถูกกำหนดให้รวย กับคนที่เกิดมาแล้วถูกกำหนดให้เป็นคนรับใช้ตั้งแต่ต้น ในบ้านเราไม่มีทางเกิดทุนนิยม เพราะการค้าขายเป็นเรื่องของเจ้านาย เป็นไพร่ก็ทำนาไป เกิดมาโง่แต้มบุญไม่ถึง
ยุโรปเองก็เคยเชื่อคล้ายๆแบบนั้นในยุคฟีดัล คือมีบางคนเกิดมาได้รับเทวสิทธิ์ ศาสตร์คริสต์แบบโรมันคาทอลิกในศตวรรษที่16 ก็ยังเชื่อเรื่องนี้อยู่
แต่ในขณะที่พวกโปรแตสแตนท์ โดยเฉพาะที่เชื่อแนวคิดแบบคาวิลนิสม์ เชื่อว่าพวกเขาทุกคนคือผู้ที่ถูกพระเจ้าเลือก จึงมีสิทธิ์ในฐานะบุตรของพระเจ้าทุกประการเท่ากันหมด
ในความเชื่อนี้ ความมั่งคัง ทรัพยากร หรือโลกใบนี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าสัญญาว่าจะมอบให้กับพวกเขา ความรุ่งเรืองอาจเกิดได้กับทุกคนเท่าๆกัน ตามพระประสงค์
ต่างจากความเชื่อที่ประสานเป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติ เช่นในแอฟริกา อเมริกาพื้นเมือง ที่ไม่มุ่งให้แสวงหาการผลิตโดยการบังคับธรรมชาติ
พวกนี้จึงมองโลกเป็นพื้นที่สำหรับการแสวงหา เป็นที่ดินที่พร้อมสำหรับการผลิต
.
.
.
2. คริสเตียนเชื่อว่าการทำงานคือความหมายของชีวิต - ทำให้เกิดปริมาณงานมาก
ความมั่งคังไม่ได้เกิดจากการหว่านเงินลงพื้นแล้วรอมันงอก แต่เกิดขึ้นมาจากแรงงานและเวลาอันยาวนาน
ในยุคนั้น เป้าหมายชีวิตของผู้คนคือการไปสวรรค์หลังตาย แต่ทำยังไงถึงจะได้ไปสวรรค์? บริจาคเงิน? นั่งสมาธิ? ปฏิบัติธรรม?
ในจารีตแบบคาทอลิกเดิมในศตวรรษที่16 มีความเชื่อเรื่องการทำดี ซึ่งความหมายคล้ายๆ การทำบุญของพุทธ ที่รวมถึงการสร้างวัดวาอารามทำนุบำรุงศาสนาเป็นการทำดีด้วย ทางคาทอลิกเลยนิยมสร้างโบสถ์วิหาร เหมือนทางบ้านเรา
แต่พวกโปรแตสแตนท์เชื่อในหลัก Sola fide คือความเชื่อก็พอแล้ว การทำดีเป็นผลของความเชื่อ ดังนั้นการสร้างวัดวาอารามเลยไม่มีผลต่อการไปสวรรค์ - มันเลยเกิดที่ว่างขึ้นว่า อ้าว แล้วอย่างนั้นต้องใช้ชีวิตยังไงล่ะถึงจะได้ไปสวรรค์
นักวิชาการโปรแตสเตนท์ หาวิธีอธิบายเรื่องนี้ว่าพระเจ้าต้องการให้โลกนี้ดีขึ้น และการทำงานจะทำให้เกิดสิ่งนั้น ดังนั้นการทำงานหนัก การอุทิศ และเสียสละตนเองคือการแสดงถึงความเชื่อ
มันเขียนอยู่ในบทปัญญาจารย์ในไบเบิลและอีกหลายๆบท ที่บอกว่าเรื่องอื่นในโลกมันว่างเปล่า ความสุขในงานที่ทำคือสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ - และ ไม่ว่าจะทำอะไรให้ทำให้ดีที่สุดเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า อะไรพวกนั้น
พวกพิวริแตนท์เลยทำงานเหมือนการบำเพ็ญพรต บางคนทำงานในไร่วันละ 12 ชั่วโมง โดยไม่พักเที่ยง (ประมาณว่าถ้าพักจะดูไม่จริงจังพอ)
เป้าหมายของคริสเตียนไม่ใช่ทำงานให้เสร็จๆไป แต่การทำงานเป็นเป้าหมายของชีวิตด้วยตัวของมันเอง
ทำงานเพื่อทำงาน
.
.
.
3. คริสเตียนรังเกียจความหรูหราฟุ่มเฟือย - ทำให้เงินเหลือเพื่อกลับไปเพิ่มทุนการผลิต
การเคลื่อนไหวของโปรแตสแตนท์เกิดขึ้นเพื่อประท้วง ความหรูหราของศาสนจักร มันจึงสร้างค่านิยมต่อต้านความหรูหราให้กับผู้นับถือ
โปรแตสแตนท์ปฏิเสธโบถส์แบบหรูหรา พวกที่เคร่งมากจะทำพิธีในโรงนา ส่วนพวกสายกลางที่พยายามประณีประนอมกับโบถส์เดิม ก็ทุบรูปปั้น และเครื่องประดับทิ้งไป
พิวริแตนท์เชื่อว่าเครื่องประดับนั้นเป็นบาป เป็นการบูชาเงินในฐานะรูปเคารพ นั่นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและต่อต้านพระเจ้า
พวกพ่อค้าดัชในภาพวาด จึงมักจะใส่เสื้อสีดำ-ขาว เรียบๆ ไม่มีทองคำ หรือเครื่องประดับอะไรเลย บ้านก็เป็นผนังเปล่าๆ
ศิลปะต่างๆก็เริ่มถูกลดรูปจากงานที่ใช้ทุนสูงสร้างสูง เหลืองานง่ายๆที่ทำในผ้าใบได้ด้วยตัวคนเดียว
ในขณะที่ดูอิตาลี่ ฝรั่งเศส จะหรูหราฟูฟ่ามากๆ ทั้งโบสถ์ วิหาร รูปปั้น ภาพเขียน แบบพวกแนวโรโคโค
ด้วยไลฟ์สไตล์ที่ตรงกันข้ามกับความรวยเช่นนี้ ทำให้มีเงินที่คนอื่นใช้ซื้อเสื้อผ้า สร้างโบถส์ เครื่องประดับ กลายเป็นเงินเหลือที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร
เงินตรงนี้เรียกว่า surplus เอ่อ... แปลไทยแบบมาร์คซ์ๆน่าจะแปลว่า ผลผลิตส่วนเกิน และทำให้เกิดการนำเงินตรงนี้ไปลงทุนเพิ่มอีก
เป็นกระบวนการที่เรียกว่า reinvest หรือการลงทุนซ้ำ
พูดเป็นภาษายุคเราคือ พวกโปรแตสแตนท์มันเอากำไรโยนวนกลับเข้าพอร์ทลงทุนหมด พอร์ทเลยโตขึ้นเรื่อยๆ
เป็นการผลิต เพื่อทำให้ผลิตได้มากขึ้นอีก
พวกชาวนา หรือพ่อค้า ศตวรรษที่16 ภูมิภาคอื่นๆบ้าไม่ได้แบบนี้ไง ถ้าไม่เอากำไรจากการลงทุนไปทำอะไรฟูฟ่าๆอวดกันจะรวยไปทำไมจริงมั้ย
.
.
.
4. พวกคริสเตียนจริงจังกับเวลา
ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมพวกโปรแตสเตนท์ถึงจริงจังกับเวลา แต่ในศตวรรษที่16 ชาวดัชจริงจังกับเวลาอยู่แล้วแล้วมันก็ถูกถ่ายโอนให้อังกฤษ อาจจะเกิดจากจารีตของการเป็นพ่อค้ามากกว่าเริ่มต้นจากศาสนา แล้วค่อยถูกกระจายไปพร้อมศาสนา
ในสังคมเกษตรคนไม่ค่อยสนใจเรื่องเวลาหรอก จริงๆไม่อยากนับวันที่ด้วยซ้ำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโบถส์ที่คอยบอกวันสำคัญทางศาสนา
ถ้าคุณไปประเทศเพื่อนบ้านเรา หรือชนบทมากๆของไทย จะยังมีความชิลแบบนี้อยู่ คุณจะนัดพวกเขาแบบกำหนดเวลาเป็นหน่วยชั่วโมงไม่ได้ บอกนัดกันได้แค่ว่า เย็นนี้เจอกัน แล้วมันอาจจะโผล่มาได้ตั้งแต่บ่ายสามถึงหนึ่งทุ่ม ถึงจะนัดว่าเจอกันห้าโมง มันก็จะโผล่มาช่วงบ่ายสามถึงหนึ่งทุ่มอยู่ดี
โฮโระจากเรื่อง spice and wolf บอกไว้ว่าเวลาสำหรับชาวนาคือ หว่านในฤดูใบไม้ผลิ ดูการเติบโตในฤดูร้อน เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง แล้วก็พักผ่อนในฤดูหนาว
จารีตนี้ใช้ไม่ได้กับวัฒนธรรมพ่อค้า เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทอง
พวกดัชจริงจังกับเวลาเป็นระดับนาทีมาตั้งแต่ศตวรรษที่17 โดยการคิดนาฬิกาลูกตุ้มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1656
และที่อังกฤษนาฬิกาก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความมีอารยธรรม พวกอังกฤษบ้าเวลายิ่งกว่าดัชซะอีก ต้องมีหอนาฬิกา อาชีพคนตั้งนาฬิกา คนเคาะกระจกปลุก
การทำงานต้องตามเวลา เวลาเข้างาน เวลาพักเที่ยง เวลาน้ำชา
พอนิวตันปรากฎตัว โลกยิ่งถูกควบคุมด้วยหน่วยวัดซึ่งเป็นมิติใหม่ของเวลา มีความเร็วที่มีเวลาเป็นตัวหาร
เวลาเป็นอำนาจที่ทรงพลังในการควบคุมแรงงานในการผลิตแบบทุนนิยม เป็นจังหวะของระเบียบในการผลิต
.
.
.
5. พวกคริสเตียนมีอัตราการรู้หนังสือสูง
ถ้าทำงานหนักอย่างเดียวแล้วรวยทาสก็คงรวยกันหมดแล้ว ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี และทักษะในการประกอบการจำเป็นในการผลิตแบบทุนนิยม
ถ้าพูดถึงพิวริแตนท์ในสมัยนี้จะหมายถึงพวกคลั่งศาสนา ปิดตัวเอง ดูบ้าๆ เผาแม่มด แต่สมัยนั้นพิวริแตนท์คือพวกที่มีการศึกษาสูง ผู้นำของพิวริแตนท์ส่วนใหญ่จบวิทยาลัย และมีความคิดทางเทววิทยาแบบหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น
การอ่านไบเบิลเป็นพื้นฐานของการเป็นคริสเตียน ทำให้การศึกษาพื้นฐานของคริสเตียนมุ่งให้คนอ่านหนังสือออกทั้งชายและหญิง
ไม่มีการนับอัตรารู้หนังสือของอเมริกาสมัยนั้น แต่มีเขียนบันทึกว่า ในศตวรรษที่ 18 มีพิวริแตนท์หญิงที่อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกาอ่านไบเบิลให้ลูกฟังได้ ศตวรรษที่ที่19มีภาพหญิงอ่านหนังสือไปด้วยขณะปั่นด้าย
ส่วนอังกฤษ ปี 1700 ผู้ชายรู้หนังสือมากกว่า 50% ส่วนผู้หญิง ราว 15% - ปี 1800 ผู้ชายรู้หนังสือ 60% ผู้หญิง 40% - พอ 1900 ก็แทบจะ 100% (https://goo.gl/1Ffqqp)
(อัตราการรู้หนังสือครั้งแรกที่สำรวจครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาปี 1870 อยู่ที่ 80% - ของไทยก่อนปฏิวัติอยู่ที่ ~20% กราฟมาหักหัวขึ้นสมัยจอมพล ป. 1937 มาเป็น 80% ในปี 1970)
อัตราการรู้หนังสือเป็นเรื่องสำคัญมากของความมั่งคั่งแบบทุนนิยม มันนำไปสู่การรับรู้ข่าวสาร การศึกษาหาความรู้ การกระจายความคิด การติดต่อสื่อสารกันด้วยงานเอกสาร
.
.
.
มีใครอยากลองทำอะไรบ้าๆแบบนี้ดูมั้ยครับ
ผ่านมา 3-4 ร้อยปีแล้ว ระเบียบที่ถูกพัฒนาเป็นแบบแผนการใช้ชีวิตแบบทุนนิยมถูกส่งไปทั่วโลก
ทุกวันนี้คงไม่มีใครทำงานแบบพิวริแตนท์อีกแล้วมั้ง แต่ค่านิยมพวกนี้ยังถูกสืบทอด และพัฒนาต่อมาในสังคม อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน สแกดิเนเวีย เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ต่างกันไปของแต่ละประเทศ
( อ่านเรื่องครอมเวล https://goo.gl/OMlKn0 )
( อ่านเรื่องการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ https://goo.gl/LXweFh )
( อ่านแนวคิดของ จอห์น ล็อก https://goo.gl/JMBfyy )
( อ่านเรื่องพาณิชย์นิยมของ VOC https://goo.gl/ra64gr )
( อ่านเรื่องอาดัม สมิธ กับความคิดทุนนิยม https://goo.gl/hZ0rKp )

----------------------

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าจุดเปลี่ยนที่สุดที่ทำให้ยุโรปยิ่งใหญ่ว่าภูมิภาคอื่นชัดๆคือ "วิทยาศาสตร์"
"ยุครู้แจ้งทางปัญญา" หรือยุค Enlightenment ในศตวรรษที่ 18 คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ยุโรปที่เริ่มขึ้นนำภูมิภาคอื่นๆ ทะยานทิ้งห่างเป็นผู้นำของโลกในสมัยนั้นอย่างแท้จริง
คำถามคือว่า ทำไมวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ต้องไปเกิดที่ยุโรป
ทำไมไม่เกินที่จีนที่ชอบพูดกันมากๆว่าประดิษฐ์นั่นนี่ได้มากมาย
หรือทำไมไม่เกิดในไทยหรืออินเดียที่บอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญานัก
ทำไมต้องเป็นยุโรป
เพื่อการนี้ ผมจะเริ่มจากการสรุปการเดินทางของวิทยาศาสตร์อย่างย่อ
ผู้ที่อาจเรียกว่าจุดเริ่มต้นของปรัชญายุโรปคือ โสเกรติส แห่งเอเธน
เอเธนเต็มไปด้วยนักคิด เถียงกันทั้งวัน แต่เถียงกันไปจะรู้ได้ยังไงว่าใครถูก
โสเกรติสตั้งคำถามถึงเทพเจ้ากรีกที่มีมากมาย ความจริงคืออะไร? ความดีคืออะไร? ในจารีตกรีกที่มีเทพเจ้ามากมายและการทำตามที่เทพเจ้าพอใจคือความดี แสดงว่าความจริง หรือความดีก็มีมากมาย ใครเถียงชนะก็คือคนที่ดีกว่าอย่างงั้นเหรอ?
ไม่ใช่แบบนั้นแน่ โสเกรติสบอกว่า ความจริงและความดีสูงสุด จะต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และการเข้าใจสิ่งนี้คือ "ความรู้"
เพลโตศิษย์ของโสเกรติสได้อธิบายว่า เราจะเข้าถึง "ความรู้" ได้ด้วยการคิด ความดีเป็นเช่นวงกลม ที่ไม่มีวงกลมที่กลมแท้ๆตามนิยามบนโลก แต่เราก็รู้จักวงกลมในความคิดของเรา และบอกได้ว่าวัตถุไหนใกล้เคียงกับความกลมในนิยาม
ส่วนลูกศิษย์ของเพลโตคือ อริสโตเติล บอกว่า ไม่ใช่หรอกอาจารย์ ความจริงนั้นเกิดจากการสังเกตด้วยตา และสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสต่างหาก หลังจากเราเห็นของที่ใกล้เคียงความกลมมากๆก่อน เราถึงมีความคิดเรื่องความกลมในหัว
แล้วศาสนาคริสต์ก็เข้ามา บอกว่าความจริงทางจิตจริยศาสตร์คือพระเจ้าที่มีหนึ่งเดียว ส่วนความจริงทางวัตถุคือโลกที่พระเจ้าสร้าง
ในมุมมองของชาวพุทธนั้น ศาสนาสายอับราฮิมเมียนคือ ยิว คริสต์ อิสลาม ที่เชื่อพระเจ้านั้นดูไร้เหตุผล ทำไมศาสนาแบบนี้ถึงทำให้เกิดวิทยาศาสตร์ได้?
แต่ศาสนาสายอับราฮิมเมียน มีปัจจัยสำคัญที่ต่างจากฮินดู ซึ่งเป็นรากของวิทยาศาสตร์ในอนาคตคือ ทัศนคติเกี่ยวกับ Omniscience หรือ ความสัพพัญญ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการรู้แจ้งรู้ทุกอย่างในจักรวาล
ศาสนาสายอับราฮิมเมียนนั้นเชื่อว่า "มีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้แจ้ง"
(พระเยซูอ้างว่าตัวเองOmniscienceยิวเลยประหารประเยซูข้อหาลบหลู่พระเจ้า
ส่วนคริสเตียนเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าที่มาในโลกเลยOmniscience
ส่วนนบีมูฮัมหมัดนั้นไม่ได้ Omniscience เป็นผู้รับพระคำภีร์ที่พระเจ้าบอกมามอบให้มนุษย์อีกต่อ)
ในขณะที่ศาสนาสาย ฮินดู เชื่อว่า "มนุษย์สามารถรู้แจ้งได้เมื่อผ่านการปฏิบัติฝึกฝนบางอย่าง"
ดังนั้นความจริงของศาสนาสายอับราฮิมเมียนจึงมีเท่าที่พระเจ้าบอกไว้ จากนั้นมนุษย์อยู่ในความมืดบอด ต้องไปหาวิธีคลำทางต่อเอาเอง
ศาสนาคริสต์ได้รวบเอาความคิดของทั้งเพลโต และอริสโตเติลไว้ และส่งมอบให้โรมัน
เมื่อเผ่าอนารยชนได้โจมตีโรมตะวันตกจนแตก ศาสนาคริสต์กระจายไปยังเผ่าเหล่านี้
แต่องค์ความรู้ต่างๆยังถูกเก็บไว้ในศาสนาคริสต์นิกายออเธอด็อกซ์ ในโรมตะวันออก และถ่ายโอนไปยังอิสลาม
ในศตวรรษที่ 9-11 จักรวรรดิอิสลามเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเชีย กับยุโรป
นักวิชาการของอิสลามสืบทอดองค์ความรู้ของเพลโตและอลิสโตเติล
ในกรุอาน อัลเลาะห์ได้บอกมนุษย์ให้พิจารณาการเคลื่อนที่ของดวงดาว และท้องฟ้า เพื่อจะได้เข้าใจความยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้าง
ด้วยเหตุนี้นักเล่นแร่แปรธาตุอิสลามถือกันว่าเพราะความรู้เป็นของพระเจ้า การเข้าถึงความรู้ของโลกจึงเป็นการเข้าถึงพระเจ้ามากขึ้นด้วย
อิบนฺ อัล-ฮัยษัม (อ่านว่าอะไรวะ) ชาวเปอร์เซีย ได้วางรากฐานของวิทยาศาสตร์และฟิสิคส์ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต
ในช่วงยุคทองของจักรวรรดิอิสลาม โลกอิสลามวิทยาการทั้งทางเคมี ดาราศาสตร์ และกลไก ที่ก้าวหน้ามาก
มุสลิมมักจะโทษว่าความก้าวหน้าทั้งหมดจบลงเพราะการมาของพวกมองโกลในศตวรรษที่ 12 แต่จริงๆมันเริ่มแผ่วเพราะผู้ปกครองของจักรวรรดิอิสลามเองที่เปลี่ยนนโยบายไปขัดขวางวิทยาศาสตร์
จักรวรรดิมองโกลที่โจมตีตะวันออกกลางได้เชื่อมโลกฝั่งตะวันออกกับตะวันตก วิทยาการของจีนก้าวกระโดด ในขณะที่ดินปืนได้เข้ามาสู่ยุโรป
เพราะมองโกลเช่นกัน จักรวรรดิอิสลามเดิมจึงล่มสลาย แทนที่ด้วยอ็อตโตมันที่ค้าขายกับยุโรป ทำให้ยุคของครูเสทจบลง
เวนิสที่ค้าขายกับตะวันออกกลาง เริ่มซึมซับวิทยาการต่างๆมาจากโลกมุสลิม ความร่ำรวยของอิตาลีทำให้เกิดยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขึ้น
เกิดการทำให้ความรู้ของอริสโตเติลซึมเข้าหาโลกของศาสนาคริสต์โดยเซนท์โทมัส อควีนัส
ปัญหาเกิดขึ้นเพราะอริสโตเติลและนักวิชาการยุคเก่าไม่ได้ถูกทุกเรื่องขนาดนั้น เมื่อความรู้พวกนี้ถูกดูดเข้าไปรวมกับความรู้ของโบถส์ และเริ่มมีคนเอาไปต่อยอดก็เริ่มเกิดเหตุการณ์คนรู้เยอะเกินอาจารย์ขึ้น
ในตอนแรกโบถส์ทั้งหมดในยุโรปปกครองโดยวาติกัน แต่เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่16หลายทีก็แยกออกไปเป็นโปรแตสแตนท์ ทำให้เกิดสงครามมากมาย
พอเกิดเรื่องนี้ วาติกันในตอนนั้นไม่ได้ผ่อนปรนปฏิรูป แต่ยิ่งระวังเข้มงวดมากขึ้น
ถ้าเถียงโบถส์อาจจะถูกบอกว่าเป็นพวกของลูเธอร์ แล้วถ้าเถียงชุดวิทยาศาสตร์ของอริสโตเติลที่วาติกันรับรองล่ะ?
บางเรื่องโป๊บอาจจะรับได้ แต่ไม่ใช่การไปเชื่อเคปเลอร์ ซึ่งเสนอว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์แน่นอน - นอกจากความคิดนี้จะขัดต่อความคิดของปโตเลมี ที่เซนท์โทมัส อควีนัสรับรองแล้ว เคปเลอร์เป็นโปรแตสแตนท์เยอรมัน
ปัญหาคือข้อเท็จจริงโลกมันโคจรรอบดวงอาทิตย์ไง แต่ถ้าบอกว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ก็จะโดนหาว่าเชื่อโปรแตสแตนท์ จะให้ทำยังไง
ในศตวรรษที่ 15-16 นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากถูกข่มเหงโดยศาสนจักร พวกเขามีทางเลือก 3 ทาง 1.อยู่เงียบๆเลิกทดลอง - 2.โดนเผา - 3.หนีไปเขตปกครองของโปรแตสเตนท์
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจึงหลั่งไหลไปยังเยอรมัน ดัช และอังกฤษ
พวกโปรแตสแตนท์มีความสุขมากกับการใช้เรื่องนี้ด่าวาติกัน เพื่อชวนคนมาเข้าพวก (จริงๆฝ่ายศาสนจักรก็ไม่ได้โง่มากขนาดที่เราคิดกัน เช่นรู้กันแล้วว่าโลกกลม เรื่องเชื่อว่าโลกแบนเป็นเรื่องที่โปสแตสแตนท์โกหกมาด่าวาติกัน)
ด้วยการยอมรับความหลากหลายทางความคิด ทำให้วิทยาศาสตร์ฝ่ายโปรแตสแตนท์ก็ก้าวหน้าขึ้นมากจริงๆ
ในศตวรรษที่ 16 ฟรานซิส เบคอน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาของเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ ก็วางรากฐานของการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกันดีขึ้น
อังกฤษได้สนับสนุนวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมองเห็นว่าวิทยาศาสตร์ทำให้ปืนใหญ่ของเรือดีกว่าปืนของคู่แข่ง (โดยใช้เงินโบสถ์นั่นแหละ ให้พวกนักวิทยาศาสตร์มีฐานะเป็นพระรำเงินเดือนโบสถ์)
ระบบการศึกษาของอังกฤษในตอนนั้นค่อนข้างดี ครอมเวลเองก็สนับสนุนการศึกษาของชาวบ้านทั่วไป
และในที่สุด ก็มีลูกชาวนาที่ชื่อ ไอแซ็ค นิวตัน ก็ปรากฎตัวในศตวรรษที่ 17
เซอร์ ไอแซค นิวตัน คือศาสดาแห่งความคิดยุคสมัยใหม่ ถ้านิวตันเป็นคาทอลิกคงจะได้เป็นเซนต์ไปแล้ว
นิวตันเป็นคนกำหนดวิธีการมองโลกในอีก 300 ปี ต่อจากนั้น มาจนปัจจุบัน
จากนั้นยุโรปได้มองจักรวาลว่า
- พระเจ้าได้วางกฎในการเคลื่อนจักรวาลไว้ และปล่อยให้มันทำงานไปโดยไม่แซงแทรง โลกเป็นเครื่องจักรของพระเจ้า วิทยาศาสตร์คือกระบวนการเข้าใจกฎการทำงานของมัน
- ทุกอย่างบนโลกนั้นวัด ความร้อนมีหน่วยวัด ความเร็วมีหน่วยวัด แรงมีหน่วยวัด ทุกสิ่งทุกอย่างอาจวัดได้ด้วยเครื่องมือ
- เวลานั้นเป็นดั่งสายน้ำที่ไหลอย่างคงที่ วัดได้อย่างเที่ยงตรง มีจุดเริ่มต้น และจุดจบ เวลาเป็นส่วนหนึ่งของค่าอื่นๆเช่น ความเร็ว แรง ฯลฯ
- เราอาจทำนายทุกสิ่งได้โดยการเขียนสูตร และแทนค่าตัวเลขในสูตร เราทำนายจุดตกของปืนใหญ่ได้ รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทาง
นิวตันแสดงให้เห็นแล้วว่ามนุษย์นั้นมีอำนาจในการเข้าใจจักรวาล ด้วยเหตุผล การชั่งวัด สูตรคำนวน และมนุษย์จะควบคุมได้ใช้งานมันได้
จากนี้มนุษย์ไม่ต้องกลัวธรรมชาติ ไม่ต้องกังวลกับความยิ่งใหญ่นี้อีกต่อไป โลกทั้งใบกลายเป็นของมนุษย์แล้ว
และจากนั้นพระเจ้าก็จะถูกถอดออกจากวิทยาศาสตร์
มาถึงตรงนี้เราน่าจะพอมองเห็นปัจจัยของความคิดที่ทำให้วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นยุโรปคือ
1. การไม่เชื่อในสถานะ Omniscience ของมนุษย์ คือไม่เชื่อว่านั่งสมาธิแล้วจะรู้ความเป็นไปของจักรวาลได้ - เมื่อไหร่ที่สังคมยอมรับ ทางรู้แจ้ง ได้รับความรู้เรื่องจักรวาลทั้งมวลมา ไม่ว่าจะวิธีใด จะไม่เกิดวิทยาศาสตร์ เพราะจะทดลองไปทำไป เอาเวลาไปนั่งสมาธิ สวดขอให้พระเจ้าให้ความรู้ หรือหาทางทำพิธีเปิดประตูสู่แก่นแท้ไม่ดีกว่าเหรอ
2. เมื่อไหร่ที่มีองค์กรกลางมาควบคุมความคิดให้เป็นเหมือนที่ศูนย์กลางรับรอง วิทยาศาสตร์จะถูกคุมกำเนิดเสมอ - การยอมรับความหลากหลายทางความคิดของโปรแตสแตนท์ทำให้เกิดวิทยาศาสตร์มากกว่าการควบคุมของคาทอลิก
3. ระบบการถ่ายทอด และกระจายการศึกษาจะต้องดี - อย่าลืมว่านิวตันเป็นลูกชาวนา ถ้าลูกชาวนาอังกฤษในศตวรรษที่16ไม่ได้เข้าโรงเรียนก็จะไม่มี เซอร์ ไอแซค นิวตัน
สายธารของความรู้ของตะวันตกนั้นน่าอัศจรรย์ ถ้าไม่มีปราชญ์กรีก ไม่มีกุรอ่าน ก็ไม่มีอิบนฺ อัล-ฮัยษัม ถ้าไม่มีเจงกิสข่าน และถ้าไม่มีเซนต์ออกัสติน กับเซนต์โทมัส อควีนัส ก็ไม่มีมาติน ลูเธอร์ กับเคปเลอร์
โลกของเราเกิดจากการไต่อยู่บนลวดบางๆของพระเจ้า พลาดไปสักนิดเดียว มีคนตายช้าหรือเร็วไปสักคน ประวัติศาสตร์คงจะเปลี่ยนไปอีกทาง เราต้องพึ่งปาฏิหาริย์ขนาดไหนถึงจึงมาถึงตรงนี้ได้

อัพเดต 30 เมษายน 2017