ที่มา https://www.matichonweekly.com/scoop/article_41978
การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ของไทย ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆตามมาและเป็นโอกาสให้บุคคลในช่วงเวลานั้นแสดงบทบาทโดดเด่น เกิดเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และถกเถียงในแง่มุมต่างๆ และอย่างที่ทราบกันการก่อการไม่อาจสำเร็จได้้ หากไม่ได้กำลังทหารในการปฏิบัติการ ซึ่งคนที่มีบทบาททางทหาร ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎรสายทหาร
การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ของไทย ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆตามมาและเป็นโอกาสให้บุคคลในช่วงเวลานั้นแสดงบทบาทโดดเด่น เกิดเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และถกเถียงในแง่มุมต่างๆ และอย่างที่ทราบกันการก่อการไม่อาจสำเร็จได้้ หากไม่ได้กำลังทหารในการปฏิบัติการ ซึ่งคนที่มีบทบาททางทหาร ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎรสายทหาร
งานเสวนา “เส้นทางสี่ทหารเสือ ตำนานการเมืองไทยสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่มติชนอคาเดมี โดยสโมสรศิลปวัฒนธรรม เชิญ พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ อดีตนายทหาร นักเขียนและคอลัมนิสต์ ซึ่งสนใจศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะบทบาทของทหาร โดยครั้งนี้ พ.อ.บัญชรได้นำเรื่องราวของชายทั้งสี่ประกอบด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และที่เพิ่มมาอีกหนึ่งคือ พระศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ที่กลายเป็นบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องราวอันน่าเศร้า ขมขื่น
พ.อ.บัญชร เริ่มต้นเรื่องว่า อาจารย์กับทหารมีนัยสำคัญบางอย่าง สมัยก่อนปี 2475 ทหารที่เคารพกันจะเรียกเป็นศิษย์อาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินแล้ว ถ้าไม่ใช่ทหาร จะจับนัยยะนี้ไม่ได้ ซึ่งตนจะเฉลยว่าทำไม และตอนนี้ทหารใช้อะไร แปลว่าอะไร รวมถึงเรื่องระบบรุ่นที่ชอบเรียกกันว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่
“ก่อนอื่น ต้องเรียกตัวเองว่าผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ที่เตรียมมานี้ จึงเรียกตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่อง จึงยินดีรับฟังทุกความเห็น ตนเริ่มเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตของนายทหารสี่ และบวกหนึ่ง ตั้งแต่เข้าสู่่ชีวิตนักเรียนนายร้อย ไปเรียนต่างประเทศ รับราชการ ร่วมอภิวัฒน์สยาม สิ่งที่ตนเน้นคือหลังเหตุการณ์อภิวัฒน์ โดยเฉพาะการรัฐประหารของพระยาพหลฯ ในปี 2476 กลายเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งสี่คน ซึ่งตนคิดไม่ผิดหากเรียกว่า “เส้นทางของคนแพ้” จะแพ้ต่อโชคชะตาหรือเวรกรรม ให้เก็บไปคิดกันเอง” พ.อ.บัญชร กล่าว
ก้าวสู่นักเรียนนายร้อย-เข้ารับราชการ
นายทหารหนุ่ม 4+1 เริ่มต้นเข้าศึกษาในปีใกล้เคียงกัน ซึ่งโรงเรียนนายร้อยเริ่มเปิดรับสามัญชนเข้าศึกษา เรียน 4 ปีจบได้ร้อยตรีนั้นคือในปี พ.ศ.2441 เจ้าคุณพหล (พจน์) มาเป็นคนแรกเข้าศึกษาในปี พ.ศ. 2444 จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา พ.ศ.2446 มีนักเรียนนายร้อยอีก 3 คนตามมาซึ่งจากการค้นคว้าเพิ่งทราบว่าเป็นรุ่นเดียวกัน คือ เทพ พันธุมเสน สละ เอมะสิริ และดิ่น ท่าราบ และ วัน ชูถิ่นตามมาหลังสุดคือเข้าศึกษาในปี พ.ศ.2451 แล้ว แปลก พิบูลสงครามตามหลังคือ ปี พ.ศ. 2452
มาตรงนี้ขอเสริมเรื่องช่วงอายุให้ โดยในช่วงก่อการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 พระยาพหลฯ 45 ปี พระยาทรงสุรเดช 40 ปี พระยาฤทธิอัคเนย์ 43 ปี พระประศาสน์พิทยายุทธ 38 ปี พระยาศรีสิทธิสงคราม 41 ปี หลวงพิบูลสงคราม 35 ปี และหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์) 42 ปี ดูแล้วช่วงวัยเลขสี่คิดการณ์ใหญ่แล้ว แต่ต้องอย่าลืมว่าในเวลานั้นไม่รู้ดีหรือร้าย พวกเขาแก่เร็วกว่าพวกเราในตอนนี้ ฉะนั้นความคิดความอ่านไม่ได้เด็กแล้ว
สรุปแล้วคือช่วงที่เรียนในโรงเรียนนายร้อย ทุกคนเรียนเก่ง นายพจน์ เป็นคนแรกได้รับเลือกไปศึกษาต่อที่เยอรมนี (ขณะนั้นเป็นจักรวรรดิเยอรมัน) ตามด้วย นายเทพ นายดิ่น และสุดท้ายคือนายวัน นายพจน์ไปเรียนถึง 7-8 ปี ระหว่างปี 2447-2455 ระหว่างที่เรียน รุ่นน้องคือ นายเทพ นายดิ่น ไปต่อจะเหลือมกัน 5-6 ปี จนกลายเป็นมิตรภาพ ส่วนน้องเล็กคือ นายวัน ไปทีหลัง ไปเหลือมกับนายพจน์ 1-2 ปี โดย
ระหว่างเรียนที่เยอรมนีนั้น นายเทพจะสนิทกับนายวันมาก จนถึงกับเป็นศิษย์-อาจารย์ ตามที่ตนเข้าใจนั้น เหตุผลหนึ่งคือ การอยู่เรียนด้วยกันมานาน สนิทสนมจนกลายเป็นความเคารพนับถือ และใกล้ชิดกันเกือบตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้
ต่อมานายพจน์ได้ไปเรียนต่อที่เดนมาร์กก่อนกลับไทยมารับราชการ ส่วนคนที่แปลกที่สุดคือ นายวัน ซึ่งไปเรียนที่เยอรมนีหลังสุด เป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี ทำให้เรียนต่อไม่ได้ ต้องย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยโพลีเทคนิคที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ไม่ทันจบก็ไปสมัครรบ ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการที่ฝรั่งเศสและเดินทางกลับไทยพร้อมกับทหารอาสากองที่ 2
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมถึงเรียนที่เยอรมนี หากจำเหตุการณ์ ร.ศ.112 ได้้ รัชกาลที่ 5 นอกจากปฏิรูปทั้งระบบแล้ว ยังจัดตั้งกองทัพประจำการ ซึ่งต่างจากการเข้าเป็นทหารแบบศักดินาที่วิชาต่อสู้ต้องเรียนเอง อาวุธต้องหาเอง บางทีข้าวปลาต้องหุงหาเอง จนเกิดเหตุการณ์นั้นที่ทำให้ รัชกาลที่ 5 ตระหนักว่าต้องทำให้ประเทศทันสมัย ตั้งกระทรวง รวมถึงการจัดกองทัพแบบยุโรป ซึ่งสมัยนั้นมหาอำนาจทางทหารที่ขึ้นชื่อที่สุดคือฝรั่งเศสและเยอรมนี ส่วนอังกฤษเป็นเด่นทางเรือ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิเยอรมนี โดดเด่นในเรื่องแสนยานุภาพของทหาร ซึ่งสยามมีนักเรียนนายร้อยคนแรกที่จบจากเยอรมนีนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าของวังบางขุนพรหม และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม
นักเรียนสยามที่เรียนเยอรมนีเรียกว่าได้รับรูปแบบการจัดทัพ การรบ วัฒนธรรมทหารแบบเยอรมันมาเต็ม และคนที่มีส่วนแปลตำรารบของเยอรมันมาใช้ในการสอนคือ นายเทพ
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ นักเรียนนายร้อยไทยไม่มีการรวมรุ่นเหมือนปัจจุบัน ยกตัวอย่่างนักเรียนนายร้อยปัจจุบันที่มีรุ่น เราก็รักกัน ไม่คิดเป็นการณ์อื่นนอกจากดูแลกันและกัน จึงเข้าใจนักเรียนนายร้อยรุ่นนายพจน์ นายเทพนั้น คงไม่มีกิจกรรมอย่างอื่น
เรื่องรุ่นกลับเป็นที่ีรู้จักต่อสาธารณชน เพราะเริ่มมีพลังที่เบ่งบานอยู่นอกกองทัพ นั้นคือ รุ่น จปร.7 หรือที่เรียกกันว่า “ยังเติร์ก” และที่สูสีกันคือ จปร. 5 ซึ่งเป็นรุ่นของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงตั้งข้อสังเกตว่า การรวมรุ่นที่มีพลังของรุ่น 5 และ 7 มันเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนหน้านั้น อำนาจทหารรวมศูนย์อยู่ที่ ผู้บัญชาการทหารบก แต่พอขุมพลังนี้ถูกทำลายโดยพลังนักศึกษาประชาชน เอกภาพที่เคยมีได้หายไป
นอกจากนั้น ทหารเกิดความรู้สึกว่าทั้งที่ทุ่มกำลังรบทั้งในและนอกประเทศ แต่ทำไมสังคมถึงรังเกียจ นักเรียนนายร้อยแต่งเครื่องแบบเดินออกไปข้างนอกไม่ได้ ถูกนักเลงถอดหมวก เขกหัว ทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งได้คิดจริงจังเริ่มจากคุยกันในรุ่น ที่ว่าทำไมทหารตกต่ำ แล้วจะกู้เกียรติกลับมาอย่างไร ความปึกแผ่นของรุ่นจึงเริ่มขึ้นตรงนั้น
|
ต่อมาเมื่อทั้ง 5 นายทหารเรียนจบ กลับมารับราชการในเมืองไทย คนที่มีบทบาท ผลงานที่โดดเด่นจนมีการขบคิดคือ นายเทพ ที่ได้เป็นพระยาทรงสุรเดช เลือกเส้นทางทหารช่าง ขณะที่ พระยาพหลฯ กับพระยาศรีสิทธิสงครามเลือกเป็นทหารปืนใหญ่
พระยาทรงสุรเดช รับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ 2 ปี ก่อนย้ายไปโคราช และได้สร้างผลงานคือสร้างรางรถไฟเล็กสำหรับรับส่งทหารจากสถานีไปค่ายทหาร จนเป็นที่โดนใจ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้ง 1 เยอรมนีที่มีโครงการสร้างรถไฟต้องหยุดไป จึงได้พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้บังคับทหารช่างได้รับมอบหมายทหารช่างไปสร้างรางรถไฟของเยอรมนีที่เหลือค้างไว้ จากขุนตาลไปถึงเชียงใหม่ และทำเสร็จในเวลา 6 เดือน เคล็ดลับอยู่ที่การจัดระบบหน่วยทหาร แบ่งเป็นหน่วยวางราง ตอกหมุด ทำหน้าที่ชัดเจน ต่อมาได้รับมอบหมายทำรางต่อจากฉะเชิงเทราไปอรัญประเทศ และเส้นทางที่ 3 คือจากโคราชไปถึงท่าช้าง จนมีชื่อเสียงกระฉ่อน เป็นที่โปรดปรานของบรรดาเจ้านาย แล้วได้ย้ายกลับมากรุงเทพฯ เป็นครูวิชาการฝ่ายทหาร ตรงนี้เองที่ทำให้ชื่อเสียงของพระยาสุรเดชเบ่งบานคือการแปลตำราการรบให้กองทัพบกใช้ ที่ใช้ได้ตั้งแต่ระดับกอง จนถึงพลทหาร โดยมีพระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ช่วย
ชื่อเสียงของพระยาทรงสุรเดช เด่นไม่มีทหารใดเทียบเคียง ซึ่งสะท้อนว่า ทหารสมัยนั้นกระหายความรู้ โดยมีงานวิจัยรองรับระบุว่า นับตั้งแต่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถหลังเรียนจบที่รัสเซีย มาตั้งโรงเรียนนายร้อยโดยเปลี่ยนการสอนจากท่องจำมาเป็นแสดงความคิด จนถึงกับมีการตีพิมพ์เสนาสาร ทำให้เป็นที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงสุรเดชในฐานะอาจารย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ในฐานะศิิษย์
ต่อมามีนักเรียนนายร้อยจากฝรั่งเศสแปลตำราปืนใหญ่ ต่อมารู้จักในตอนนั้นคือ หลวงพิบูลสงคราม
งานเขียนของนายหนหวยเรื่อง ประชาธิปกเจ้าฟ้าประชาธิปไตย เขียนว่า ทหารในยุค 2475 นับถือกันที่ความรู้ความสามารถ สะท้อนความสัมพันธ์ศิษย์อาจารย์ในหมู่ทหาร แม้ตอนนี้ไม่ค่อยเรียกกัน แต่ในโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนเสนาธิการ ยังคงมีค่านิยมบนฐานของความรู้
และด้วยผลงานการแปลตำราของพระยาสุรเดช รองรับความกระหายใคร่รู้ของทหาร ทำให้พระยาทรงสุรเดช โดดเด่นเป็นอย่างมาก และยังได้ไปดูงานที่สหรัฐฯและญี่ปุ่น แล้วได้ไปเรียกตัวพระยาพหลฯมาเป็นอาจารย์ใหญ่แทน 3 ปี
ขณะที่ พระยาพหลฯ หลังเรียนจบเยอรมนี ก็ได้ไปเรียนที่เดนมาร์กด้านการช่างแสน แต่เกิดเงินไม่พอ ได้ทำเรื่องถึงไทย เจ้านายเห็นแล้วไม่พอใจ จึงเรียกพระยาพหลฯกลับมา รับราชการเป็นร้อยตรี และถูกส่งเป็นผู้หมวดปืนใหญ่อยู่ที่ราชบุรี ไต่เต้าตามตำแหน่ง แต่ไม่มีผลงานโดดเด่น
ระหว่างที่พระยาทรงสุรเดช กับพระยาศรีสิทธิสงครามดูงานก็ได้พบกับพล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งชักชวนร่วมก่อการ แต่ทั้งสองยังไม่ได้ตอบรับ ก่อนแยกย้ายกันไป กลับมารับราชการ
เมื่อเข้าปี 2475 ตอนนี้ พระยาทรงสุรเดช ได้เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก ไม่ได้คุมกำลังพล พระยาพหลฯ อยู่ในตำแหน่งรองจเรทหารบก ไม่มีหน่วยบังคับบัญชา พระยาฤทธิอัคเนย์(ไม่ได้เรียนต่างประเทศ) อยู่ที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นคนเดียวมีกำลังพลอยู่ 2 กองพัน พระประศาสน์พิทยายุทธ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เกือบทั้งหมดเป็นทหารสายวิชาการ
สู่ร่วมก่อการอภิวัฒน์สยาม 2475
ก่อนจะเข้าเรื่องเหตุการณ์อภิวัฒน์ พ.อ.บัญชรได้เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ยังมีอีกเรื่องที่เพิ่งมีการค้นพบคือ พระยาศรีสิทธิสงครามมีศักดิ์เป็นตาของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่เพียงแค่นั้น บิดาของพล.อ.สุรยุทธ์ ยังร่วมก่อการอภิวัฒน์แต่เป็นทหารระดับปลายแถว แต่ต่อมาจะรู้จักในชื่อของ ‘สหายคำตัน’ พ.ท.พโยม จุลานนท์ เสนาธิการกองทัพปลดแอกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
จากการค้นคว้า ระบุว่า พระยาศรีสิทธิสงครามได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ ในตอนนั้นเป็นเสนาธิการกองทัพที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นเสนาธิการของหน่วยหรือใหญ่ที่สุดในบรรดาเสนาธิการ
ระหว่างที่พระยาทรงสุรเดชและพระยาศรีฯ ร.ท.ประยูรชักชวนแต่ไม่สำเร็จ พอกลับไทยก็ชวนอีก โดยชวนพระยาทรงสุรเดชก่อน ตามด้วยพระประศาสน์ฯ พระยาศรีสิทธิสงครามได้รับเชิญและได้ถามถึงแผน แต่พระยาทรงสุรเดชไม่เปิดเผย ซึ่งแผนก่อการนั้นไม่มีลายลักษณ์อักษรอาจเพราะเรื่องรักษาความลับ หรือไม่ทราบได้ ทำให้พระยาศรีไม่ขอร่วมแต่สัญญาว่าจะไม่แพร่งพรายให้ใครรู้
ก่อนที่วันที่ 24 มิถุนายน ได้เกิดเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับพระยาฤทธิอัคเนย์เรื่องแผนการณ์ที่หวังจะจบศึกโดยเร็ว แต่พระยาทรงสุรเดชไม่เห็นด้วยเพราะเสี่ยงรบกันเละ จนให้อ.ปรีดีไกลเกลี่ย
ในเรื่องขุมกำลังนอกจากกองทัพปืนใหญ่ที่ 1 แล้วยังมีนักเรียนโรงเรียนนายร้อย ซึ่งรุ่นนั้นมีนักเรียนที่ภายหลังรู้จักในชื่อ จอมพลประภาส จารุเสถียร
นายหนหวยบันทึกว่า ในช่วงก่อการพระยาพหลฯ ได้ประกาศโดยใช้ข้อเขียนสั้นๆ ซึ่งคนละฉบับกับประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่หลวงประดิษฐ์มนูญธรรมเขียนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง พระยาฤทธิอัคเนย์ุคุมอยู่ภายนอก มีนักเรียนนายร้อยอยู่วงใน
ตอนที่เคลื่อนพลที่เกียกกาย พระยาทรงสุรเดชสั่งพระประศาสน์พิทยายุทธ์จับตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระยาสีหราชเดโชชัย และหลวงเสนาสงคราม แต่เหตุการณ์จริงจับได้แค่ 2 เห็นว่าพระประศาสน์ฯรับบทหนักสุดเพราะต้องจับกรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่วังบางขุนพรหม ทั้งที่พระประศาสน์ฯกับกรมพระนครสวรรค์วรพินิตมีความสัมพันธ์กัน ตอนที่ถูกจับ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ถึงกับตรัสว่า “ตาวัน นี่แกเอาด้วยหรือ”
เมื่อถึงตรงนี้ จะเห็นมิตรภาพของ 3 คน คือพระยาทรงสุรเดช พระยาศรีสิทธิสงครามและพระยาพหลฯ เป็นที่รับรู้กันในเรื่องความเก่งกาจของนักเรียนเยอรมนี กับความเป็นเพื่อนรัก ช่วงนั้นทั้ง 3 สนิทกันจนทำให้เสนาธิการกระทรวงกลาโหมให้ฉายาทั้ง 3 ว่า “ทะแกล้วทหารสามเกลอ” ตามบทประพันธ์เรื่องสามทหารเสือ
หลังก่อการอภิวัฒน์ พระยาทรงสุรเดชมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ ยกเลิกกองทัพหรือเพียงกองพัน ตั้งตำแหน่งผู้บังคับการต่างๆ ขึ้นตรงกับผู้บัญชาการทหารบก ให้พระยาพหลฯเป็นผู้บัญชาการทหารบก ส่วนตัวพระยาทรงสุรเดช รับตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการหรืออีกนัยคือรองผู้บัญชาการทหารบก แม้ตำแหน่งพระยาพหลฯอยู่สูง แต่คนกำกับดูแลตัวจริงคือพระยาทรงสุรเดช
พระยาทรงสุรเดช เป็นคนเก่งแต่เป็นคนไม่คบค้าสมาคม อยู่กับงาน กับตำรา ไม่ถนัดเรื่องสังสรรค์และเป็นคนพูดน้อย เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่และออกจะดูถูกนายทหารคนอื่น ตรงกันข้ามกับพระยาพหลฯที่สุภาพ และคนที่อ่อนน้อมก็คือหลวงพิบูลสงคราม แต่การที่พระยาทรงสุรเดชปรับโครงสร้างกองทัพก็ได้สร้างไม่พอใจกับพระยาพหลฯ กลายเป็นข้อบาดหมาง
ส่วนพระยาศรีสิทธิสงคราม ชีวิตหลังอภิวัฒน์สยาม ถูกย้ายจากกระทรวงกลาโหมไปอยู่กระทรวงธรรมการ ในตำแหน่งผู้ตรวจการณ์ลูกเสือ อยู่อย่างสงบเจียมตัว
ความร้าวฉานสู่การรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนา
ความแตกร้าวในหมู่คณะราษฎรสายทหารเริ่มเกิดขึ้น เช่นเดียวกับรอยร้าวในสายพลเรือนจากกรณีการเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจจากทำให้รัฐสภาแตกแยก พระยามโนปกรณ์ฯไม่เสนอเค้าโครงเข้าสภาพิจารณา แม้ดร.ปรีดี จะใช้ฐานส.ส.ร่วมผลักดัน
31 มีนาคม 2476 ได้มีการประชุมสภา ความขัดแย้งคุกรุ่นมาก สมาชิกเข้าร่วมประชุม ได้ใช้เส้นสายของพระยาทรงสุรเดช ให้นำทหารมาตรวจอาวุธสมาชิก ส.ส.ที่เข้าสู่สภา และเช็คความเรียบร้อยด้วยการเอาปืนมาส่องไปยังประธานสภา สร้างความไม่พอใจให้กับสภาผู้แทนราษฎร
พระยามโนปรณ์ออกคำสั่งปิดที่ประชุมสภาแบบไม่มีกำหนด ซึ่งหลายคนเห็นแย้งว่าทำไม่ได้ เท่ากับเป็นการยึดอำนาจ และตามด้วยประกาศ พรบ.กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ดร.ปรีดี ต้องเดินทางออกนอกประเทศ
ตอนนี้ บรรดาสายทหารไม่พอใจในตัวพระยาพหลฯกับพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลฯไม่มีกำลัง จึงเข้ากับหลวงพิบูลสงคราม
มิถุนายน 2476 ความเคลื่อนไหวของพระยามโนฯ แม้ปิดประชุมสภา แต่ยังมีอำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มเปี่ยม และหันไปหาพระยาทรงสุรเดช
กลุ่มทหารหนุ่มนำโดยหลวงพิบูลเริ่มแข็งขันบวกกับสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนของนายปรีดี
ในช่วงนี้เองย้อนกลับไปความขัดแย้งระหว่างสายทหาร พระยาทรงสุรเดชเสนอไปยังสี่ทหารเสือว่าจะครบปีของการอภิวัฒน์สยามว่า วางมือกัน จึงเกิดการวางมือกันทั้ง 4 คน เหตุผลเบื้องหลังคือ หวังให้ผู้มีอำนาจเห็นชอบใบลาออกยกเว้นพระยาทรงสุรเดช แต่ที่น่าสนใจคือ 4 คนที่ลาออกจะลาออกเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง แต่ตำแหน่งทางการทหารยังคงอยู่
วันที่ 18 มิถุนายน 2476 ได้มีประกาศจากกระทรวงโฆษณาการซึ่งเนื้อหาย้อนแย้ง วันที่ 19 ประกาศออกแค่ตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ในช่วงนี้เอง ได้มีประกาศเฉพาะทหาร ปลดพระยาพหลฯออกจาการเป็นผู้บัญชาการทหารบก ปลดพระยาทรงสุรเดชจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกและเรียกพระยาศรีสิทธิสงครามกลับมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก บันทึกระบุว่า พอประกาศออก พระยาศรีสิทธิสงครามยังไม่ทันเข้ารับตำแหน่งตามกำหนด กลับเข้าที่ทำการ เซ็นย้ายหลวงพิบูลออกจากการคุมกำลังพล วันที่ 20 มิถุนายน หลวงพิบูลจึงนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์ นำพระยาพหลฯกลับไปเป็นผบ.ทบ. และให้พระยาฤทธิอัคเนย์พ้นตำแหน่งผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ที่ 1 ไปเป็นปลัดกระทรวง แล้วให้หลวงพิบูลสงครามรักษาการณ์ตำแหน่งนั้นไป
มาถึงตรงนี้ พระยาทรงสุรเดช ไม่มีตำแหน่ง พระยาศรีสิทธิสงครามพ้นตำแหน่งกลับไปที่กระทรวงธรรมการ ทำให้เกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่การร่วมกับฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองในกบฏบวรเดช
สรุปคือ พระยาพหลฯ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาทรงสุรเดช ไม่มีตำแหน่ง พระยาฤทธิอัคเนย์เป็นปลัด พระประศาสน์พิทยายุทธ์ยังอยู่ตำแหน่ง แต่มีหลวงพิบูลเขยิบเข้ามาตำแหน่งที่สูงขึ้น
ความแตกแยกและตอนจบของแต่ละคน
กบฎบวรเดชเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2476 กองทัพรัฐบาลสู้รบกับกองทัพพระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายบวรเดชในตำแหน่งกองระวังหลัง มีการยิงปะทะตลอดเส้นทางรถไฟถนนวิภาวดี ทุ่งบางเขน ทัพฝ่ายบวรเดชเสียท่าถอยร่นไปตั้งแต่ดอนเมือง ยาวจนถึงโคราชซึ่งเป็นจุดรวมพลเริ่มแรก และตรงบริเวณสถานีหินลับ จังหวัดสระบุรี ระหว่างที่พระยาศรีสิทธิสงครามเข้าเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ได้ถูกยิงเสียชีวิต ในวันที่ 23 ตุลาคม
พระยาทรงสุรเดช หลังจากเดือนมิถุนายน 2476 ได้ขอทุนดูงานกับพระยาพหลฯและให้โดยไปพร้อมกับพระประศาสน์ฯ ในช่วงนั้นบ้านเมืองระส่ำระสาย มีเสียงร้องให้พระยาทรงสุรเดชเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่หลวงพิบูลสงครามเฝ้ามองดูอยู่ จะแรงกดดันหรืออะไรก็ตาม พระยาพหลฯได้เชิญพระยาทรงสุรเดชกลับไทย โดยพระยาทรงสุรเดชปฏิเสธตำแหน่งการเมือง ขอทำงานที่ถนัด ได้อนุมัติตั้งโรงเรียนรบที่เชียงใหม่ แต่พอจอมพลป.พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาทรงสุรเดชเดินทางไปกัมพูชา ต่อมาฝรั่งเศสให้ไปอยู่ไซ่ง่อน ไร้เบี้ยหวัด ชีวิตลำบาก ต้องแกะของเก่าของภรรยาขายหาเงินจุนเจือ และเสียชีวิตในปี 2487 ด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ
พระยาฤทธิอัคเนย์ โดยเกิดเหตุช่วงปลายรัฐบาลพระยาพหลฯ มีการพูดคุยในวังปารุสก์ หลวงพิบูลได้ยื่นข้อหาอยู่เบื้องหลังที่หลวงพิบูลถูกลอบทำร้าย โดยให้ทางเลือกคือเดินทางออกนอกประเทศหรือขึ้นศาลพิเศษ พระยาฤทธิอัคเนย์เลือกไปต่างประเทศอยู่ที่ปีนัง จนสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงก็ย้ายไปสิงคโปร์ ต่อมามีประกาศจับพระยาฤทธิอัคเนย์แทน ทำให้ขาดรายได้ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกถึงสิงคโปร์ และไทยประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร พระยาฤทธิอัคเนย์ถูกจับขัง แต่ถูกปล่อยตัวหลังญี่ปุ่นตีสิงคโปร์แตก หลังสงคราม จอมพลป.พิบูลสงครามแพ้การเมือง นายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาฤทธิอัคเนย์ได้รับการอภัยโทษและกลับไทยไปปฏิบัติธรรมที่วัดอโศการาม
ส่วนพระประศาสน์พิทยายุทธ์ จอมพล ป. พิบูลสงครามส่งไปเป็นทูตที่เยอรมนี ลูกหลานของพระประศาสน์ได้บันทึกว่า ดร.ปรีดีได้ฝากกล่องเงินเล็ก ข้างในมีไพลินพร้อมแนบจดหมายเล็กฉบับหนึ่ง ระบุทำนองคำเตือนให้รีบเดินทางโดยเร็ว แต่พอคำสั่งแต่งตั้งทูตออกก็เดินทางไปตามปกติ แต่เข้าไปเป็นทูตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเยอรมนีแพ้ ทูตไทยถูกจับขังไปอยู่มอสโคว์ ไม่รู้ชะตากรรมลูกหลาน แต่เมื่อรู้ข่าวว่าอยู่ที่วอชิงตัน ก็ได้กลับมาพบกันอยู่ที่ไทย ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และได้เสียชีวิตในวัย 55 โดยลูกสาวระบุว่าบิดาตัวเองเป็นคนดื่มหนัก
พ.อ.บัญชรได้กล่าวสรุปว่า “ทั้งหมดนี้คือเส้นทางของคนแพ้ ไม่มีใครชนะ ถึงที่สุดแล้ว ถ้ายกคำพระคือก็ต้องไปด้วยกันทั้งหมด ส่วนคำถามที่ว่าเรื่องราวของสี่ทหารเสือให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง ลองนึกถึงนิทานอีสปที่มีเรื่องเล่าและมีคติสอนใจตอนท้าย แต่เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราต้องสรุปเรื่องนี้กันเอาเอง”