เคยอ่าน บทความของ นักวิชาการรุ่นใหม่บางท่าน บอกว่า จีวร ของ พระพุทธเจ้า และ พระสมัยพุทธกาลเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสีของชนชั้นสูง เขาจึงสรุปว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของอีลิต แต่จากบทความด้านล่าง สีม่วง (สีน้ำเงิน) เป็นสีที่พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยว่าห้ามใช้ ถ้าเป็นตามนี้ ข้อสันนิษฐานของนักวิชาการท่านนั้น น่าจะผิดจากความเป็นจริง
from https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=883920095469834&id=100015555556981
จีวรสีน้ำเงิน - หนึ่งในสีจีวรที่ไม่พบใช้อีกแล้ว
จีวรพระสงฆ์ในพุทธศาสนาโดยทั่วไปจะเป็นโทนสีร้อนแทบทั้งหมดตั้งแต่แดงหม่น เหลืองหม่น น้ำตาล หรือน้ำตาลเข้มไหม้ แต่สีโทนเย็นที่ได้ปรากฏแหวกแนวออกมานอกเหนือจากนั้นคือสีน้ำเงิน/สีคราม/เขียว (นีล) ซึ่งดูแปลกประหลาดต่างจากกลุ่มสีอื่นๆที่มีการใช้อย่างยิ่งทีเดียว
• ศาริปุตรปริปฤจฉา (Śāriputraparipṛcchā 舍利弗問經) แปลในสมัยตงจิ้น ศตวรรษที่ 4 กล่าวถึงนิกายต่างๆในอินเดียครองจีวรต่างสีกันไปเพื่อกำหนดแยกแยะ ระบุว่านิกายมหิศาสกะ ห่มจีวรสีน้ำเงิน" (青衣)
• สามพันวัตรแห่งมหาภิกษุ (大比丘三千威儀) แปลโดยพระอันซื่อเกา (安世高) ในศตวรรษที่ 2 ระบุเช่นเดียวกันว่านิกายมหิศาสกะ ห่มกาษายะสีน้ำเงิน (青袈裟)
• อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ "นิกายสังครหะ" ซึ่งแต่งขึ้นในลังกา ระบุว่า จีวรสีครามนี้เป็นของนิกายสัมมตียะ เรียกว่ากลุ่ม "นีลปัฏฏทรรศนะ" หมายถึงกลุ่มพระสงฆ์ที่มีทัศนะใหม่แตกต่างจากคณะสงฆ์เดิม เพื่อคานอำนาจของกลุ่มเดิมจึงหันมาครองสีครามหรือสีน้ำเงินเข้ม (นีล)
------------------------------
• ในพระวินัยปิฎกบาลี จีวรขันธกะ พระพุทธเจ้าทรงห้ามจีวรสีน้ำเงิน/สีคราม(นีล) "ภิกษุไม่พึงห่มจีวรสีน้ำเงินล้วน" (น ภิกฺขเว สพฺพนีลกานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ) แต่ในอรรถกถาวินัยของฝ่ายบาลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสีน้ำเงินที่ไม่ควรใช้ย้อมจีวรคือสีแบบดอกแฟลกซ์ (อุมาปุปฺผ) ซึ่งที่จริงเป็นสีม่วง นอกเหนือจากนั้น วินยสังคหอรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นหลังก็ระบุว่า "เว้นใบมะเกลือกับใบครามเสีย น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ควรทุกอย่าง" กล่าวคือไม่ควรใช้ครามที่ให้สีน้ำเงินเข้มในการย้อมผ้าจีวร
• พระวินัยแห่งนิกายมูลสรรวาสติวาท จีวรวัสตุ พบในเมืองกิลกิต (Gilgit) อัฟกานิสถานมีระบุเช่นกันว่า “ภิกษุไม่พึงครองจีวรสีน้ำเงินล้วน” (น ภิกฺษุณา สรฺวนีลํ จีวรํ ธารยิตฺวยมฺ )
-------------------------------
ทั้งที่สีน้ำเงินนี้ดูแปลกประหลาดไปจากสีย้อมฝาดของ "กาษายะ" อื่นๆ ที่ควรจะมีสีเดียวกับดินคือน้ำตาล เหลืองหม่น หรือแดงหม่น แต่มีข้อสันนิษฐานหนึ่งถึงสาเหตุของการใช้สีน้ำเงินย้อมจีวรน่าจะมีที่มาจากคำว่า "เมฆวณฺณํ" (meghavaṇṇaṃ) หรือ "เมฆวรฺณํ" (Meghavarṇā; मेघवर्णा) -"สีของเมฆ" ซึ่งในสายการสืบทอดอรรถกถาและปกรณ์นอกปิฎกของพุทธแต่โบราณทั้งฝ่ายบาลีและสันสกฤตที่ระบุว่าเป็นสีจีวรของพระพุทธเจ้าและพระสาวกในครั้งพุทธกาล โดยให้ความหมายว่าได้แก่ สีของเมฆต้องแสงแดดยามเย็นเป็นสีแดงหม่น
- สีลขันธฎีกาแห่งสายบาลีได้อธิบายว่า: "สีของเมฆ ได้แก่สีของเมฆที่ทาบติดด้วยแสงสนธยา" (เมฆวณฺณนฺติ รตฺต เมฆวณฺณํ สญฺชา ปพานุรญฺชิ ตเมฆสงฺกาสนฺติ อตฺโถ)
- สีลขันธอภินวฎีกา ว่า: "มีสีของเมฆเพราะย้อมดีแล้ว มีสีดำหน่อยหนึ่ง" (สุรญฺชิตภาเวน อิสกํ กณฺหวณฺณาย เมฆวณฺณํ)
file:///C:/Users/Sister/Downloads/219894-Article%20Text-709860-1-10-20191005.pdf
ดังนั้นโดยทั่วไปทั้งสายบาลีและสันสกฤตจึงยอมรับว่า จีวรของพระรุ่นโบราณเป็นสีของเมฆ (เมฆวรฺณ) นี้คือสีแดงหม่น แต่คำว่า "เมฆวรฺณ" เดียวกันนี้ในภาษาสันสกฤตยังเป็นคำที่ใช้เรียก ไม้คราม (India indigo) จึงอาจเป็นไปได้ว่านิกายมหิศาสกะได้เข้าใจคำนี้ว่าเป็นไม้ครามและนำไปสู่การใช้ย้อมจีวรจนเป็นสีน้ำเงิน จากภาพจิตรกรรมสื่อว่ามีการใช้จีวรสีนี้ตั้งแต่อินเดียกลาง อัฟกานิสถาน จนถึงอาณาจักรพุทธบนเส้นทางสายไหมในเอเชียกลาง และเข้าสู่เมืองจีนด้วย
• บทบัญญัติแห่งพระอาจารย์หวงป้อ (黄檗清規) ตำราวินัยปฏิบัติของอารามเซนในเมืองจีนประมาณศตวรรษที่ 9 ระบุว่า พระภิกษุผู้ศิษย์สืบสายธรรมหรืออุปัฏฐากของพระอาจารย์เจ้าอาวาสในพิธีแขวนภาพจำลองและรำพันไว้ทุกข์พระอาจารย์ผู้ล่วงลับครองกาษายะสีน้ำเงิน (青袈裟) *กรณีนี้ดูเหมือนจะเป็นจีวรที่ใช้ในกรณีพิเศษเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นบริขารอธิษฐานประจำตน
สีของกาษายะน้ำเงินไม่มีการใช้ในเมืองจีนอีกแล้ว แต่อิทธิพลของผ้าสีน้ำเงินในอดีตโบราณอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุดครองประจำวันที่ใช้เทียบแทนจีวรของพระสงฆ์จีนมีการใช้สีน้ำเงินและสีฟ้า ไปจนถึงฟ้าเหลือบเทาเรื่อยมาจนปัจจุบัน
พระสงฆ์จีนน่าจะใช้ชุดครองสีน้ำเงินมาอย่างน้อยก็ประมาณศตวรรษที่ 10 ตามตำนานทิเบตเล่าว่าเมื่อคณะสงฆ์ทิเบตแทบหมดสิ้นและต้องนิมนต์พระสงฆ์จีนเข้าร่วมนั่งอันดับในการรื้อฟื้นการอุปสมบท เพื่อเป็นการรำลึกบุญคุณพระสงฆ์จีน ในชุดอังสะชั้นในของพระทิเบต (ส่วนใหญ่เป็นสีแดง หรือสีเหลืองขอบแดง) จึงมีการเย็บด้ายสีน้ำเงินติดไว้ เพราะพระจีนในสมัยนั้นใช้ชุดครองสีน้ำเงินเป็นหลัก
-------------------------------
พระภิกษุสงฆ์บางกลุ่มในอดีตน่าจะได้แก่ นิกายมหิศาสกะหรือนิกายสัมมตียะเคยใช้จีวรสีน้ำเงิน น่าจะย้อมด้วยครามจนเป็นสีโทนดำคล้ำแต่เมื่อซักไปจะกลายเป็นสีน้ำเงิน
พระจ้านหนิง-วินยาจารย์สมัยซ่งได้ให้ข้อมูลว่านิกายมหาสังฆิกะใช้จีวรสีน้ำเงิน-เขียว (แต่ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบที่ทำให้ดูน่าเชื่อถือในข้อนี้ มิฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจีวรสีน้ำเงินเป็นสีที่ใช้แพร่หลายในบางพื้นที่และอาจไม่จำกัดนิกายเคร่งครัด)
ในปัจจุบันไม่ปรากฏพระสงฆ์นิกายไหนในโลกนี้ใช้จีวรสีนี้เป็นบริขารอีกแล้ว แต่ในอดีตดูเหมือนจะเคยมีพระภิกษุสงฆ์บางกลุ่มที่ใช้สีน้ำเงินจริง ดังปรากฏหลักฐานประปรายในศิลปะรุ่นโบราณ เช่น
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งบามิยาน (Bamiyan) ประเทศอัฟกานิสถาน
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งกิซิล (Qizil) มณฑลซินเจียง ประเทศจีน บนเส้นทางสายไหม
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งอชันตา (Ajanta) รัฐมหาราษฏร์ ประเทศอินเดีย
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งเบเซกลิก (Bezeklik) ตูร์ฟาน มณฑลซินเจียง ประเทศจีน
• จิตรกรรมฝาผนังที่การาชาร์ (Karashar) มณฑลซินเจียง ประเทศจีน
จิตรกรรมฝาผนังที่คูหาวิหารอัลจิ (Alchi) แห่งลาดัข ในกัศมีร์ ประเทศอินเดีย
อ่าน และ ภาพเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1086778548517320&id=100015555556981