โดย
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕
"อาจารย์ครับ ผมอยากรู้เรื่องการเจริญสติครับ อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยสิครับ"
นักศึกษามักจะหาโอกาสทั้งออนไลน์ออฟไลน์มาปรึกษาเรื่องการเจริญสติอยู่เสมอๆ
ทำให้รู้สึกว่ายุคปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นแค่ยุคของความเสื่อมโทรมทางด้านจิต
ใจ และด้านจิตวิญญาณ ดังที่สื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศออกข่าวกันมากมาย
แต่ยังเป็นยุคเบ่งบานของการพัฒนาจิตอีกด้วย
ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องการฝึกฝนพัฒนาจิตใจตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หนังสือขายดีอันดับต้นๆ ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ
ก็เป็นหนังสือแนวธรรมะและพัฒนาตนเอง สถานปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นมากมาย
มีครูบาอาจารย์ที่สอนเก่งๆ หลายท่าน สื่อต่างๆ
ที่สามารถดาวน์โหลดมาชมมาฟังจากอินเทอร์เน็ตก็มากมาย
เรียกว่าฟังจนตายก็ยังฟังไม่หมด
แม้กระทั่งแอพพลิเคชันทางมือถือก็มีให้ใช้บนทุกระบบปฏิบัติการ
หัวใจสำคัญของการฝึกฝนเหล่านี้ก็คือ
การเจริญสติ (Mindfulness) หรือ "การอยู่กับปัจจุบันขณะ" ซึ่งล้วนได้รับการวิจัยและพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้กับหลายวงการ
ทางภาคธุรกิจ
บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีสถาบันการศึกษาหรือแคมปัสเป็นของตนเอง เช่น
กูเกิ้ล หรือ แอปเปิ้ล ก็จัดให้มีหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่อง (สตีฟ จอบส์
ก็เป็นชาวพุทธนิกายเซนที่ปฏิบัติจริงจังมาก) แม้กระทั่งบริษัทชั้นนำของไทย
เช่น เครือบริษัทเอสซีจี ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ในด้านการศึกษา การฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วยการเจริญสตินั้นเป็นหัวใจหลักของแนวคิด
"จิตตปัญญาศึกษา"
ซึ่งเป็นที่สนใจและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย มีศูนย์ เกิดหลักสูตร
และรายวิชาเปิดสอนในหลายมหาวิทยาลัยในโลกและในแทบทุกมหาวิทยาลัยของไทย
วงการที่ได้ใช้ประโยชน์จากการความรู้นี้อย่างมากวงการหนึ่ง คือ วงการสาธารณสุข โดยผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ
ศาสตราจารย์ จอน คาบัต-ซินน์
แห่งศูนย์การเจริญสติทางการแพทย์ สาธารณสุข และสังคม
คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
เขาเป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์สูงสุดของนิกายเซนในเกาหลีใต้
และยังได้เรียนรู้จากแพทย์รางวัลโนเบล
ทำให้เขาผสานศาสตร์ทั้งสองและคิดค้นเทคนิคการลดความเครียดโดยใช้หลักการ
เจริญสติ (Mindfulness-Based Stress Reduction) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก
มีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า ๑๗,๐๐๐ ราย
และมีการนำไปใช้ในสถานบริการด้านสาธารณสุขมากกว่าสองร้อยแห่งทั่วโลก
ศาสตราจารย์ จอน คาบัต-ซินน์
เป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการเจริญสติสมัยใหม่
เขาทำให้การเจริญสติเป็นที่เข้าใจ ยอมรับ และขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
เขาจัดอบรมให้กับซีอีโอ ผู้พิพากษา ผู้สอนศาสนา แม้กระทั่งนักกีฬาโอลิมปิก
ในหนังสือ
Full Catastrophe Living เขาได้เขียนถึง
เจ็ดเสาของการเจริญสติ (The Seven Attitudinal Pillars of Mindfulness Practice)
โดยเป็นหลักทางทัศนคติ
ว่าผู้ที่ใส่ใจฝึกฝนการอยู่กับปัจจุบันขณะนั้นควรมีทีท่าหรือวางจิตวางใจ
อย่างไร เมื่อพิจารณาดูแล้วก็น่าสนใจ เพราะใช้ภาษาเรียบง่าย
สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางควบคู่กับที่สอนกันอยู่ในไทยได้
โดยเขาแจกแจงไว้ว่าเสาทั้งเจ็ดของการเจริญสตินี้ประกอบด้วย
๑. การไม่ตัดสิน (Non-judging)
คือการฝึกเป็นเหมือนกับพยานที่รับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราโดยไม่ไป
ตัดสินใดๆ ไม่ไปให้ค่าเป็นบวกเป็นลบ เป็นดีเป็นไม่ดี เป็นชอบไม่ชอบ
การตัดสินให้ค่านี้เรามักทำจนเป็นนิสัย
บ่อยครั้งก็โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ก็รู้ตัวแต่ห้ามไม่ได้
รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาวนาช่วงเข้าพรรษาเขียนเล่าให้ฟังเมื่อเช้านี้ว่า
"เมื่อ
คืนวานภาวนาไม่ได้เลย ฟุ้ง ห่วง กังวลเรื่องงานที่ต้องไปร่วมอภิปราย
แต่รู้สึกไม่พร้อมเลย กลัวพูดไม่ดี แล้วผลก็เป็นอย่างที่กังวล พูดๆ
ไปเกิดนึกอะไรไม่ออก เศร้าจัง ...
แต่ก็ยอมรับความไม่ได้เรื่องในตัวเราได้ยากเหลือเกิน"
เช่นนี้น่าจะเพิ่มการเท่าทันการตัดสินโดยการฝึกสังเกตลมหายใจของเรา
หรือลองสังเกตดูว่าในช่วง ๑๐
นาทีนั้นใจเรามัววุ่นอยู่กับการชอบหรือไม่ชอบประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
อยู่ตรงหน้าสักกี่มากน้อย
๒. ความอดทน (Patience) หลายครั้งผู้ฝึกฝนใจร้อน
อยากให้เกิดผลเช่นนั้นเช่นนี้โดยไว รุ่นน้องที่ทำงานเพิ่งเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ
ตนเองอยู่ในความทุกข์ ฝึกไปก็มักจะตั้งคำถามทำนองว่า
"นี่ทำมาตั้งนานแล้วทำไมไม่เห็นเกิดมรรคเกิดผลอะไรเลย"
ความอดทนถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจและยอมรับว่า
สิ่งต่างๆ มีการเกิดขึ้นเป็นไปในรูปแบบและเวลาของมันเอง
เราไม่สามารถไปกะเกณฑ์ให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้
ยกตัวอย่างผีเสื้อที่อยู่ในดักแด้
หากเราไปนำออกมาก่อนเวลาที่เหมาะสมก็ไม่สามารถจะบินได้
แม้ว่าเราจะทำไปด้วยความหวังดีสักเพียงใดก็ตาม
๓. จิตใจพร้อมที่จะเรียนรู้ (Beginner's Mind) สิ่งที่เราคิดว่าเรา
"รู้แล้ว" คือ อุปสรรคขวางกั้นการที่เราจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ
ได้ตามความเป็นจริง
เพราะเรามองไปที่สิ่งใดเรามักจะเห็นสิ่งที่เราเห็นแล้วหรือรู้จักแล้วเป็น
หลัก พร้อมกับให้ชื่อ ให้คำ พากย์ไปเบ็ดเสร็จ
ในการอบรมแนวจิตวิวัฒน์-จิตตปัญญาจึงมักมีแบบฝึกหัดให้มองหาสิ่งใหม่มิติ
ใหม่ของสิ่งที่เราคิดว่ารู้จักดีอยู่แล้ว เช่น ปากกาหรือนาฬิกาที่ติดตัวเรา
เมื่อกลับไปก็สามารถไปฝึกมองหรือมีประสบการณ์กับกิจกรรมที่เราทำบ่อยๆ
หรือบางทีรู้สึกว่าเบื่อ เช่น ขับรถเส้นทางเดิมๆ กลับบ้าน
ฝึกให้เรามองคนรู้จักเดิมๆ ด้วยสายตาใหม่ จนกระทั่งมักมีการพูดกันเล่นๆ ขำๆ
ว่ามาเรียนแล้วกลับไปจะพบว่าได้ภรรยาใหม่ สามีใหม่
ความนี้ไม่ได้หมายถึงมีภรรยาหรือสามีอีกคน
แต่คือคนเดิมที่เราเห็นสิ่งใหม่ในตัวเขา
๔. ความไว้วางใจ (Trust)
เราต้องฝึกที่จะเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง
ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันจะถูกหรือผิดก็ตาม
การบ่มเพาะความไว้วางใจนี้เช่นนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ในการฝึก
เจริญสติ
ซึ่งคือกระบวนการฝึกที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ที่จะฟัง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ยิ่งเราไว้วางใจตัวเรามากเท่าไหร่
เราก็จะไว้วางใจคนอื่นง่ายขึ้นเท่านั้น
นี่จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง
เพราะระบบโรงเรียนของเราฝึกให้ผู้เรียนตอบคำถามให้ถูกต้อง
นักเรียนต่างแข่งขันกันพยายามทายให้ได้ว่าคำตอบที่ครูอยากฟังคืออะไร
แทนที่จะฝึกจริงแท้กับความคิด กับความรู้สึกของตนเอง
การฝึกความไว้วางใจจึงเป็นการฝึกที่จะเชื่อประสบการณ์ตรงของตนเอง
ไม่ใช่เชื่อคำตอบจากครูหรือผู้มีอำนาจ
๕. ความไม่มุ่งเป้า (Non-striving)
เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในโลกนี้เป็นไปเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เพื่อจะได้อะไรบางอย่างหรือไปที่ไหนสักแห่ง
แต่นั่นไม่ใช่เสาหรือหลักของการเจริญสติ ซึ่งเป็นการฝึกทำเพื่อที่จะ
"ไม่ทำ" เป็นพาราดอกซ์ (ความจริงคู่ขัดแย้ง) ซึ่งฟังดูเหมือนจะเพี้ยนๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ในความทุกข์ ความเครียดหรือความเจ็บปวด
ดังตัวอย่างรุ่นน้องข้างต้น ผู้ไม่อยากทนอยู่กับความทุกข์ที่ทับถมในใจ
อยากภาวนาให้ไปจากที่ตรงนี้เสียที ทั้งๆ
ที่หัวใจของการฝึกเจริญสติแท้จริงแล้ว คือ
การได้อยู่ตรงนี้อย่างเต็มที่เสียทีต่างหาก การฝึกเพื่อจะผ่อนคลาย หายเจ็บ
หรือแม้กระทั่งบรรลุธรรมจึงขัดกับหลักการเจริญสติโดยตรง
๖. การยอมรับ (Acceptance) บ่อยครั้งที่เรามักจะปฏิเสธ ต่อต้าน
ไม่ยอมรับความเป็นจริงตรงหน้า โดยเฉพาะหากว่าไม่ตรงกับใจของเรา เราใช้แรง
กำลัง เวลาไปมหาศาลเพื่อที่จะแข็งขืนดึงดัน
พยายามให้บางอย่างเป็นอย่างอื่นจากที่มันเป็นจริงๆ ทั้งๆ
ทางที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนแปลง คือ การยอมรับ ซึ่งก็คือ
การมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างแท้จริงตามที่มันเป็นในปัจจุบัน
การยอมรับนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะงอมืองอเท้า
ปล่อยให้ใครจะทำอะไรหรือเป็นอะไรก็ช่าง
เพียงแค่หมายความว่าเราไม่ต้องเสียเวลาไปต่อต้านความจริง
มีสองความเชื่อที่มนุษย์มักตัดสินตนเองอยู่เสมอๆ คือ ฉันไม่ดีพอ และ
ฉันไม่เป็นที่รัก ตัวอย่างรุ่นพี่ที่รู้สึกว่าตนเองไม่เก่งไม่ดีพอ
ยากที่จะยอมรับตนเองนั้น วิธีที่เหมาะที่สุดอาจจะเป็นการบอกกับตัวเองว่า
"เราก็เป็นของเราอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
และในระหว่างนี้ เราจะยอมรับตัวเราอย่างที่เราเป็นด้วย"
๗. การปล่อยวาง (Letting Go) ในการฝึกปฏิบัติ อาจมีบางความคิด
ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งสภาวะ ที่เราชอบใจอยากจะเก็บเอาไว้
และในทางกลับกันก็อาจจะมีบางความคิด ความรู้สึก หรือสภาวะที่เราอยากปฏิเสธ
การปล่อยวางในการเจริญสติ คือ
การตั้งใจที่จะไม่ไปทำอะไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังที่พระไพศาล วิสาโล
ใช้วลีที่ว่า "ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา" เป็นการสรุปความที่ตรงประเด็น
เจ็ดเสาของการเจริญสตินี้ชี้แนะแนวทางให้ผู้ปฏิบัติรู้จักวางจิตวางใจให้
เหมาะสมได้อย่างชัดเจน
และช่วยเสริมทั้งการเจริญสติตามรูปแบบและในชีวิตประจำวันได้
โดยมากแล้วพวกเราเหล่านักปฏิบัติต่างก็มุ่งมั่นในการพัฒนาฝึกฝนการเจริญสติ
ของตนอยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุนี้เอง
หลายครั้งหลายคราวก็เป็นผลให้เราคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป
ยิ่งปฏิบัติมามากก็ยิ่งคาดหวังถึงความก้าวหน้า
หวังว่าจะทำได้ดีดังที่เคยทำได้บ้าง
ความตั้งใจดีอันเกิดจากความมุ่งมั่นจริงจังต่อการปฏิบัติจึงมักกลายให้เกิด
ทัศนคติที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการฝึกฝนของเราไปโดยปริยาย
ไม่ว่าจะเป็นการด่วนตัดสินตัวเอง
ความร้อนใจอยากเห็นความก้าวหน้าเห็นผลตามคาด
การที่เราเชื่อว่าเรารู้แล้วทำให้ประมาทและพลาดการเรียนรู้ระหว่างรายทาง
ความกังวลสงสัยไม่อาจวางใจ การดึงดันไม่ยอมรับสภาพ และสุดท้ายคือการยึดติด
โดยเฉพาะกับประสบการณ์ที่ดีในการปฏิบัติ
การพัฒนาจิตจากการเจริญสติมีหัวใจหลักคือ การอยู่กับปัจจุบันขณะ
และวิถีทางการปฏิบัติก็มีได้หลายแนวตามจริต ตามความสนใจของแต่ละบุคคล
เมื่อราว 8 ปีที่ผ่านมานั้น ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี
ได้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีคุณค่ามากเล่มหนึ่ง ชื่อว่า
“การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ”
กล่าวถึงโมเดลสำคัญคือ ธรรมจักรแห่งจิตวิวัฒน์
ซึ่งแต่ละซี่ของธรรมจักรนั้นเป็นช่องทางการพัฒนาจิตที่หลากหลาย อาทิ
การทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม (และต่อมาถูกเรียกว่าจิตอาสา)
การศึกษาเพื่อพัฒนาจิตใจ (ในปัจจุบันคือจิตตปัญญาศึกษา)
วิปัสสนากรรมฐานเป็นวิถีชีวิต สื่อสร้างสรรค์ ฯลฯ
โดยทุกซี่เชื่อมโยงร่วมกันด้วยแกน คือ เรื่องการเจริญสติ
อันเป็นการวิวัฒน์จิตนั่นเอง
ในโลกปัจจุบันที่การค้นคว้าหาข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ
เราต่างสามารถหาแนวทางวิธีการฝึกฝนตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านแนะไว้ได้
ทั้งจากหนังสือ อินเตอร์เนท และสื่อซีดี
อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ในบริบทหรือแวดวงของวงการไหน
ก็สามารถเลือกช่องทางการพัฒนาจิตที่เข้ากันและสอดคล้องกับเงื่อนไขของเราได้
เจ็ดเสาของการเจริญสติจึงช่วยเสริมให้ได้เป็นอย่างดีว่าเราพึงวางทัศนคติของ
เราอย่างไรในการปฏิบัติ
คำแนะนำที่ผมจะให้แก่ลูกศิษย์ที่อยากรู้เรื่องการเจริญสติ
จึงมักไม่สามารถบอกเขาอย่างรวบรัดและจำกัดเฉพาะแนวทางหนึ่งใดได้
ด้วยหนทางนี้เป็นวิถีทางที่มีการเดินทางอันยาวไกล
ผู้เรียนย่อมต้องเป็นผู้เลือกและเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง
แต่จะด้วยรูปแบบใด แนวทางไหน ในช่องทางอะไรก็ตาม
หากปฏิบัติด้วยทัศนคติที่เอื้อต่อการฝึกฝนใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ
ก็ย่อมเป็นหนทางส่งเสริมให้เกิดสติ สู่การวิวัฒน์จิตของตน