Wednesday, August 29, 2012

วัฒนธรรมร่วมราก วัฒนธรรมเริ่มแรกในอาเซียน มุมมอง สุจิตต์ วงษ์เทศ


เป็นบทความช่วยให้เข้าใจที่มาของเรา ชาวเอเชียอาคเนย์ได้อย่างมาก พร้อมรับการรวมเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เลยขอก็อปมาเก็บไว้ในบล็อกนี้:-)


โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช  (ที่มา:มติชนรายวัน 29 สิงหาคม 2555)
ภาพคนทำท่าคล้ายกบ บนไหหิน ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง สปป.ลาวสัญลักษณ์ของฟ้าฝน และความอุดมสมบูรณ์อย่างสุวรรณภูมิ
ปี 2558 ไทยจะเข้าไปร่วมชายคาเดียวกันกับอีก 9 ชาติ รวมเป็นประชาคมอาเซียน

วัตถุประสงค์ของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนที่เริ่มมีการร่วมมือกันจัดตั้งเป็นสมาคมอาเซียน หรือกระทั่งปัจจุบันก็เพื่อให้รวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นพลังที่ต่อสู้ต่อรองกับประชาคมโลก

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ก็คือสิ่งเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมรากเดียวกัน

อาเซียนมีรากวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นวัฒนธรรมข้าวเหมือนๆ กัน เป็นคนไทด้วยกัน ถ้าใช้ภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้ง เราจะเห็นความร่วมกันของคนในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่ความร่วมกันของปัจจัยสี่ การกินการอยู่ เช่น การเป็นวัฒนธรรมข้าว อาศัยอยู่บนเรือนเสาสูง การถือผีบรรพบุรุษ ฯลฯ

สุจิตต์ วงษ์เทศ เปิดเรื่องคราวที่รับเชิญไปบรรยายหัวข้อ "วัฒนธรรมร่วมราก วัฒนธรรมเริ่มแรกในอาเซียน" เนื่องในวาระ 50 ปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา

"เราเรียนประวัติศาสตร์โดยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องภูมิศาสตร์ เพราะใช้วิธีการท่องจำแบบเถรวาทะ ใช้คำพูดของอาจารย์เป็นหลัก ไม่มีการเถียง

"หลายปีมาแล้วตอนผมทำศิลปวัฒนธรรมใหม่ๆ ทำเรื่องคนไทยไม่ได้มาจากไหน โดยอธิบายว่าไม่มีหรอกภูเขาอัลไต มันมีแต่น้ำแข็ง คนอยู่ไม่ได้ คนไทยอยู่แถวๆ นี้แหละ อยู่ที่ว่าเราเรียก "คนไทย" ตั้งแต่เมื่อไหร่ มันก็เหมือนกันหมดคนเซาธ์อีสเอเชีย"

สุจิตต์บอกว่า ถ้าจับชายหรือหญิงแต่ละแห่งมายืนเทียบเคียงกัน โดยไม่มีเรื่องของเครื่องแต่งกายและภาษาเข้ามาข้องเกี่ยว แทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นคนชาติใด เพราะว่าท่าทางเหมือนกันหมด โครงกระดูกเหมือนกันหมด รูปร่างใกล้เคียงกันหมด ตั้งแต่หมู่เกาะไปถึงลังกา อินเดียใต้ ทมิฬ

"ผมเคยพาพรรคพวกปักษ์ใต้ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ไปอินเดียใต้ บอกว่าเจอะญาติเต็มเลย หน้าตาเหมือนคนใต้ทั้งนั้น สิงหลกับทมิฬก็พอกับคนนครศรีธรรมราช หรือสุราษฎร์ธานี คือคนกลุ่มเดียวกันหมด" 

ภาพสลักรูป ชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือกวนเกษียรสมุทร ที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา (ภาพจาก www.sujitwongthes.com)


ความเหมือนๆ กันในคนกลุ่มประเทศเหล่านี้ สุจิตต์แจกแจงไว้เป็นข้อๆ 8 ข้อด้วยกัน

กินข้าวเหนียวเป็นหลัก ตั้งแต่ 5,000 ปีเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่สิบสองปันนาจนถึงนครศรีธรรมราช

"พันธุ์ข้าวเหนียวเป็นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้าวเจ้าเป็นของต่างประเทศ"

แม้ว่าเรื่องนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่สุจิตต์บอกว่า เมื่อดูหลักฐานจากการเข้ามาของพุทธศาสนาจากอินเดีย ครั้งนั้นข้าวเจ้าเข้ามาด้วย และทำให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยข้าวเจ้า จึงเรียกว่า ข้าว "เจ้า" เพื่อให้ต่างจากข้าแผ่นดิน จะเห็นว่ามีนาหลวงไว้ปลูกข้าวเจ้า เราจะพบนาหลวงอยู่แถวเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนเปลี่ยนข้าวเจ้า ก็มีนาหลวงปลูกข้าวเหนียว เอาไว้ไหว้ผี

กับข้าว "เน่าแล้วอร่อย"

เช่น ปลาแดก ปลาร้า น้ำบูดู เน่าแล้วอร่อยหมด ไม่มีปลาทำให้เน่า เอาถั่วมาทำให้เน่า ฉะนั้นภาคเหนือมีถั่วเน่าอร่อย เพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่พบเฉพาะที่เอเชียอาคเนย์ ที่อื่นอาจจะมีบ้าง แต่ไม่เป็นกระแสหลักอย่างเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงกะปิ น้ำปลา ด้วย

อยู่ เรือนเสาสูง

ประเด็นของเรือนเสาสูงอยู่ที่ "ใต้ถุน" ไม่เกี่ยวกับเรื่องหนีน้ำ เพราะใช้ใต้ถุนเป็นฟังก์ชั่นสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของคน เรือนเอาไว้นอนเฉยๆ หนีสัตว์ ตอนดึก แต่ตอนกลางวันอยู่ใต้ถุน หุงข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงหมา อยู่ที่ใต้ถุนหมด หนีน้ำเป็นเพียงผลพลอยได้

เรือนไทย ที่บอกว่าทำหน้าจั่วสวยงามมักจะบอกว่าเป็นเรือนของประชาชน มันเป็นเรือนขุนนางเจ้านาย ไพร่ทั้งหลายอยู่กระท่อมไม้ไผ่ เกิดมาออกจากมดลูกแม่ก็ "ตกฟาก" ถึงมีเวลาตกฟาก เพราะพื้นเป็นฟากไม้ไผ่ 

กลองสัมฤทธิ์ พบที่ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว (ภาพจากศิลปะสุวรรณภูมิ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2550)


ผู้หญิงเป็นหัวหน้า นี่เป็นเรื่องปกติ ผมไม่ได้ใช้คำว่า "ผู้หญิงเป็นใหญ่" เพราะก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก เพียงแค่ผู้หญิงเป็นหัวหน้าในพิธีกรรม เช่น พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เช่น ลาวมีผีฟ้า เขมรมีผีมด มอญมีผีเม็ง ผีพวกนี้ลงผู้หญิง ผู้หญิงจึงเป็นผู้เข้าทรง

ในสังคมเซาธ์อีสเอเชีย เวลาแต่งงานผู้ชายต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง เขาถึงเรียกว่า "เจ้าบ่าว" บ่าว แปลว่า "ขี้ข้า" สาว แปลว่า นาย, ผู้เป็นใหญ่

สิ่งที่เหมืนกันอีกอย่างคือ เซ่นวักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในอุษาคเนย์มีบุคลิกเฉพาะ คือ ไหว้ "กบ"

กบ คนดึกดำบรรพ์ถือว่ามากับน้ำ เป็นผู้บันดาลให้เกิดฝน จึงเคารพกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กลองมโหระทึก มีกบอยู่บนหน้ากลอง ใช้ตีเพื่อขอฝน เรียกว่า วัฒนธรรมดองซอน เพราะพบครั้งแรกที่ดองซอน ประเทศเวียดนาม แต่ไม่ได้ทำแค่ที่เวียดนาม ในจีนก็มี พบมากว่าที่เวียดนามเสียอีก

เพราะกบเป็นสัญลักษณ์ของน้ำนี่เอง กบจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีภาพเขียนสีที่พวกจ้วงเขียนเป็นรูปคนทำท่าเป็นกบ คือถ่างขาเป็นรูปฉาก แล้วส่งอิทธิพลมาถึงภาคอีสานภาคกลางของไทย อย่างที่กาญจนบุรี คือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการบูชากบ

ในผ้าทอทั้งเซาธ์อีสเอเชียจะมีลายกบ คือทำท่ากางแขนกางขาเหมือนกบที่ถูกแผ่สองสลึงจะถูกบูชายัญ

สุจิตต์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอก เขาเรียกอวัยวะเพศหญิงว่า "กบ" เช่น ผู้หญิงถ้านั่งหวอออก จะบอกว่านั่งดีๆ เดี๋ยวกบออก และเรียกเด็กน้อยเด็กผู้หญิง ว่า "อีเขียดน้อย"

การทำท่ากบ คนกางแขนกางขาย่อเข่าเป็นสี่เหลี่ยม มันคือ ท่ารำละคร ท่ารำโนราห์ ท่าโขน ท่ายักษ์กับท่าลิง ต้องแบะขาย่อเข่า นั่นแหละท่ากบ

อีกอันหนึ่งคือ ประเพณีของอุษาคเนย์ คือ การทำศพ เมื่อมีคนตายจะเก็บศพไว้หลายวันให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยย่อยสลายเหลือแต่กระดูก แล้วจึงทำพิธีอีกครั้ง

กระดูกที่เก็บจะอยู่ในภาชนะพิเศษ ทำด้วยดินเผาเรียก หม้อดินเผา หรือ แคปซูลและหิน มีตัวอย่างให้เห็นคือ ไหหินในลาว หีบหินบนปราสาทนครวัดกับหมู่เกาะ

"หีบหิน (หีบศพ) เดิมทีมีอยู่ในปราสาทนครวัด ในบรรดาหมู่เกาะทั้งหลายจะมีหีบหิน แต่ก่อนมีเต็มไปหมด...

ส่วนที่ตั้งพระบรมโกศเป็นซุ้มที่จำลองมาจากปราสาทนครวัด สัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ตามหลักฐานเพิ่งมีสมัยพระเจ้าปราสาททอง เลียนแบบปราสาทหินนครวัด แต่ทำหินไม่ได้ เอาไม้ก็ยังดี

สิ่งที่ร่วมกันที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันก็คือ ฆ้อง นี่แหละฆ้องศักดิ์สิทธิ์ เสียงที่ตีเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ค้นพบเมื่ออย่างน้อย 2,000-3,000 ปี เมื่อเสียงมันกังวาน การได้ยินเสียงที่กังวาน ครั้งแรกมนุษย์แทบจะขาดใจตาย กลัวมาก เป็นเสียงที่สื่อสารกับสวรรค์ จึงศักดิ์สิทธิ์สืบมาจนปัจจุบัน ในอินโดนีเซียก็มีใหญ่กว่าเมืองไทยด้วย ฉะนั้นเสียงฆ้องจึงเป็นเสียงที่สำคัญที่สุดในวงปี่พาทย์

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีมาก่อนอินเดีย คือ 2,000-3,000 ปีมาแล้วก่อนจะรับอารยธรรมอินเดียเข้ามาร่วมกับเซาธ์อีสเอเชีย

ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราโกหกตัวเอง สิ่งที่เรารับมาจากอินเดีย อย่างการไหว้ หรือลายไทย ลายกนก ความจริงมาจากอินเดีย

เอาเป็นว่าวัฒนธรรมที่เราเรียกว่า "ไทย" มีส่วนทั้งก้าวหน้าและล้าหลัง แต่สิ่งที่เราใช้ส่วนใหญ่มันเป็นส่วนที่ล้าหลัง

ส่วนที่ก้าวหน้าก็มี เช่น เรื่องของอาหาร มีการผสมผสานสูง แกงน้ำข้นก็แขก แกงน้ำใสก็เจ๊ก ทั้งหมดคือการผสมผสานจากนานาชาติ แล้วเกิดสิ่งใหม่

หรืออย่าง "ไข่เจียว" ในเมืองจีนไม่มีหรอก แต่กระทะเหล็กซึ่งเป็นเทคโนโลยีของจีน ส่งผลให้อาหารไทยพัฒนา

No comments: