Friday, July 03, 2020

เสวียนจ้าง : มหาสมณะแห่งต้าถัง

เสวียนจ้าง : มหาสมณะแห่งต้าถัง
from  คุยสามก๊ก ถกไซ่ฮั่น

https://www.facebook.com/3KingdomsXihan/posts/989298494850684?__xts__[0]=68.ARCT6NCEPMzpLeCoH0tRWvjXq8HaK-OsC5ALSpC-W_uStiOQaDNZhE_KLFxicutKAAeLdTuAEKj4e-HxJ8v750BXWG8NXOOZjFp22fMZI7A38FQsCPgTCO-IaVPiKOtPmXyEzLo9SKUUW59S9bS8ewsztBJG3jQGCNu8wmWhCRLJWemJrLUSt51X5wOXtyRaffy60YoBmOK-7hk5vDCinUWg7IZKUFzE-rjPfS0zZzBLqnN1aRNdQCSG3hD07XZAhqKsnmstj7hdL7blvyspVXKxFC2QfR7fUNE1ErztPLLVASORIQOb1sIC7J8HExGxaXslaTxSqMvEWuD7gvcQLY0&__tn__=K-R

เสวียนจ้าง : มหาสมณะแห่งต้าถัง
.
พระเสวียนจ้าง หรือ ที่ชาวไทยคุ้นชื่อในสำเนียงว่าก พระถังซำจั๋ง เป็นพระเถราจารย์คนสำคัญของจักรวรรดิถัง ในสมัยของถังไท่จง และสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยถังเกาจง การเดินทางผจญภัยสู่ชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกสู่แผ่นดินถัง เป็นหมุดหมายสำคัญที่สร้างความรุ่งเรืองให้แก่พุทธศาสนาในแผ่นดินจีนและเอเชียตะวันออกตราบจนปัจจุบันนี้ แม้ว่าเมื่อตัดเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ที่เราคุ้นชินกันจากเรื่องไซอิ๋วออกไปแล้วก็ตาม เรื่องราวความมุ่งมั่นของพระเสวียนจ้างก็ยังคงตระการตาลึกล้ำอยู่ไม่น้อยกว่าเรื่องราวปาฏิหารย์ในเทพนิยายไซอิ๋วเลย
.
● เล่าเรียนทั่วแผ่นดิน ไม่อาจสิ้นสงสัย
.
พระเสวียนจ้าง นามเดิม เฉินฮุ้ย (Chen Hui/ 陳褘) หรือ เฉินอี (Chen Yi/ 陳禕) ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวปัญญาชน รับราชการและเป็นอาจารย์ในสถานศึกษาของรัฐมาหลายชั่วอายุคน เฉินฮุ่ย (Chen Hui/ 陈惠) บิดาของเขานั้นเป็นบัณฑิตที่สมาทานลัทธิขงจื๊ออย่างเข้มข้น ต่อมาจึงหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ส่วนพี่ชายคนที่สองของเฉินฮุ้ยก็ออกบวชที่วัดจิ้งถูในเมืองลั่วหยาง ในวัยเด็กเขามักไปวิ่งเล่นวัดจิ้งถูอยู่เสมอ เมื่อวัย 13 ปี จึงได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้สมณนามว่า “เสวียนจ้าง” มีความหมายว่าเป็นผู้ลึกซึ้งในคัมภีร์ พระเสวียนจ้าง เป็นคนฉลาดหลักแหลม ประกอบการปลูกฝังในครอบครัวนักคิดมาแต่เยาว์วัย จึงมักศึกษาพระธรรมจนลืมกินลืมนอนอยู่เสมอ จนเมื่ออายุได้ 15 ปี ก็สามารถท่องพระคัมภีร์ “เนี่ยตั้งจิง” ได้อย่างแตกฉาน
.
ช่วงปลายราชวงศ์สุยต้นราชวงศ์ถัง พระเสวียนจ้างและพี่ชายเดินทางไปศึกษาธรรมกับพระเถระหลายรูปแถบเสฉวน โดยพำนักอยู่ที่วัดคงฮุ่ย เพื่อศึกษาให้แตกฉานยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ยิ่งเรียนก็ยิ่งอยากรู้เพิ่มเติม พระเสวียนจ้างบอกลาพระพี่ชาย เดินทางสู่ดินแดนเจียงตง ใช้เวลาพำนักอยู่ที่วัดเทียนหวงเมืองจิงโจวครึ่งปี จากนั้นเดินทางขึ้นเหนือไปยังเหอหนาน เหอเป่ย ซานตง ยิ่งศึกษาเท่าไหร่ก็ยิ่งพบว่าการศึกษาพระธรรมคัมภีร์ในแผ่นดินถัง ยิ่งมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องเนื้อหาที่ไม่เคลียร์ และผู้รู้ที่ยังไม่แตกฉานในธรรมได้หมดจดอย่างที่พระเสวียนจ้างกระหายใครรู้ ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเดินทางออกจากแผ่นดินต้าถังสู่ชมพูทวีป เพื่อศึกษาพระธรรมจากต้นกำเนิดที่แท้จริง
.
● ท่องแดนตะวันตก สู่ชมพูทวีป
.
พระเสวียนจ้างได้เดินทางไปศึกษาภาษาจากชาวต่างประเทศในนครฉางอาน และตระเตรียมความพร้อมเรื่องปัจจัยก่อนที่จะออกเดินทางไกล ในเวลานั้นจักรวรรดิถังมีปัญหากับเผ่าทูเจวี๋ยทางชายแดนตะวันตก การจะเดินทางออกจากต้าถังไปยังตะวันตกจึงเป็นเรื่องเข้มงวด พระเสวียนจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ท้ายที่สุดจึงลักลอบออกเดินทางไปกับคณะพ่อค้า ในเดือน 8 ค.ศ. 627
.
พระเสวียนจ้างออกเดินทางด้วยความยากลำบาก ระหว่างทางม้าที่ขี่มาก็ตายลง พระที่เดินทางมาด้วยกันก็ท้อใจเดินทางกลับเสีย เมื่อถึงด่านอวี้เหมินกวนสุดเขตแดนทางตะวันตกของแผ่นดินต้าถัง ด้วยความช่วยเหลือของหลี่ชางเจ้าเมืองกวาโจว ที่ยอมฉีกหมายจับ ปล่อยตัวพระเสวียนจ้างไป ทำให้ท่านได้ออกจากด่านอวี้เหมินกวนโดยสวัสดิภาพ
.
พระเสวียนจ้างได้รับม้าจากชายชรา และได้ชายชาวซีอวี้ผู้หนึ่งชื่อสวีจื้อถงนำทาง (คาดกันว่าสวีจื้อถงเป็นแรงบันดาลใจให้อู๋เฉิงเอินเขียนตัวละคร ซุนหงอคง ขึ้นมา) แต่กระนั้นสวีจื้อถงก็หลบหายไประหว่างทาง พระเสวียนจ้างต้องเดินทางต่อเพียงลำพัง ผ่านแว่นแคว้นและอุปสวรรคมากมาย เช่น ม้าที่ใช้ขี่มาระหว่างทางเกิดตายลง ต้องเดินเท้าผ่านทะเลทราย ประสบภาวะขาดน้ำจนเกือบมรณภาพ ถูกโจมตีจากทหารที่เฝ้าป้อม ถูกกษัตริย์แห่งแคว้นเกาชางกักตัวไว้เพราะต้องการให้พระเสวียนจ้างอยู่สั่งสอนธรรมที่แคว้นของตนเองตลอดไป และอื่น ๆ อีกมากมาย
.
● ศึกษาธรรม ณ นาลันทา
.
พระเสวียนจ้างเดินทางสู่ชมพูทวีปอย่างยากลำบาก จนในที่สุดก็บรรลุถึงชมพูทวีปในฤดูร้อน ปี ค.ศ. 628 นอกจากสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเขาแล้ว การได้มาศึกษาที่วัดนาลันทา ที่เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลก ณ เวลานั้น สามารถบำบัดความกระหายใคร่รู้ของเขาได้เป็นอย่างดี
.
ในวันแรกที่พระเสวียนจ้างเดินทางไปถึงนาลันทา พระสงฆ์นับพันรูป ต่างเดินทางมารอต้อนรับเขา เนื่องจากทราบข่าวว่ามีภิกษุชาวถังที่เดินทางดั้นด้นจากดินแดนอันไกลโพ้น เพื่อมาศึกษาพระธรรมจากดินแดนต้นกำเนิด เสวียนจ้างคำนับพระศีลภัทร พระเถราจารย์ผู้มีอายุ 100 กว่าปีเป็นพระอาจารย์ พระศีลภัทรซึ่งชราภาพและไม่ออกสั่งสอนศิษย์นานแล้วรับพระเสวียนจ้างเป็นศิษย์เป็นกรณีพิเศษ
.
พระศีลภัทรใช้เวลา 15 เดือน ถ่ายทอดโยคะสูตรซึ่งเป็นพระสูตรที่เข้าใจยากที่สุดต่อพระเสวียนจ้าง นอกจากพระศีลภัทรแล้ว พระเสวียนจ้างใช้เวลาศึกษากับพระอาจารย์และภิกษุผู้รู้ท่านอื่น ๆ อยู่ในนาลันทาเป็นเวลา 5 ปี จากนั้นจึงเดินทางสู่ทางตอนใต้ของอินเดียเพื่อศึกษาพระธรรมเพิ่มเติม
.
● จาริกทั่วชมพูทวีป เป็นพระอาจารย์ที่นาลันทา
.
ภายหลังจากการศึกษาจากนาลันทา พระเสวียนจ้างออกจาริกทั่วแผ่นดินชมพูทวีปอีกเป็นเวลา 6 ปี ผ่านแว้นแคว้นใหญ่น้อยนับร้อยแคว้น ไปคำนับยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา จึงวนกลับมาที่นาลันทาอีกครั้ง พระอาจารย์ศีลภัทรมอบหมายให้พระเสวียนจ้างสอนคัมภีร์มหายานสัมปริครหศาสตร์แก่พระรูปอื่น ๆ
.
ในครั้งนั้นมีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มาเขียนทฤษฎี 10 ประการแปะไว้ที่ประตูนาลันทา ท้าทายบรรดาภิกษุทั้งหลายที่ศึกษาในนาลันทาว่าหากใครล้มทฤษฎีเหล่านี้ได้ เขาจะยอมตัดศีรษะตัวเอง ทว่าก็ไม่มีใครสามารถโต้งแย้งทฤษฎีของพราหมณ์คนนี้ลงได้ พระเสวียนจ้างอาสาโต้แย้งทฤษฎีดังกล่าวของพราหมณ์ โดยมีพระอาจารย์ศีลภัทรเป็นพยานในการโต้กถาธรรมในครั้งนี้ ท้ายที่สุดพราหมณ์เป็นพ่ายยอมแพ้ พระเสวียนจ้างไม่ลงโทษเอาชีวิตพราหมณ์ตามที่เขาประกาศไว้ พราหมณ์จึงติดตามรับใช้ท่าน
.
คำสอนของพระเสวียนจ้างเป็นที่เลื่องลือในยุคนั้น กษัตริย์หรรษาวรรธนะและกษัตริย์กุมารราชาทรงเลื่อมใสมาก ทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกันจัดงานชุมนุมพระพุทศาสนาครั้งใหญ่ขึ้นที่เมืองกันยากุพชะ ในปี ค.ศ. 642 กษัตริย์ 18 แคว้นมาร่วมงาน รวมทั้งมีพระสงฆ์ชั้นสูงกว่า 3,000 รูป พระสงฆ์ที่ศึกษาอยู่ที่นาลันทากว่า 3,000 รูป และนักบวชในศาสนาอื่นอีกกว่า 2,000 คน เป็นการรวมตัวบุคคลสำคัญด้านวัฒนธรรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย
.
พระเสวียนจ้างได้รับเชิญให้แสดงธรรมซึ่งส่วนมากเป็นคำสอนทางมหายาน และได้เขียนคัมภีร์มหายานสมปริตรศาสตร์ติดไว้ที่นอกงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้ามาถกเถียงได้ แต่ตลอดระยะเวลา 18 วัน ของการจัดงาน ไม่ปรากฏว่ามีใครโต้แย้งข้อเขียนของพระเสวียนจ้างเลย ถือได้ว่าในงานนี้พระเสวียนจ้างนำเสนอทั้งแบบปากเปล่าและแบบโปสเตอร์อย่างครบถ้วน กษัตริย์หลายแคว้นและผู้เข้าร่วมงานหลายคนศรัทธาในตัวเขามาก มอบรางวัลจำนวนมากให้แก่เขา แต่พระเสวียนจ้างก็แจกจ่ายทรัพย์เหล่านั้นให้แก่ผู้ยากจนทั้งหมด ทำให้ชื่อเสียงของเขาขจรขจายไปทั่วทั้งชมพูทวีป
.
● คืนสู่จักรวรรดิถัง มุ่งมั่นแปลพระไตรปิฎก
.
แม้จะอุดมไปด้วยชื่อเสียงในชมพูทวีป และมีข้อเสนอจากกษัตริย์อินเดียหลายแคว้นที่ต้องการให้พระเสวียนจ้างไปถ่ายทอดธรรมแก่ราษฎรของตน บางแคว้นจึงกับเสนอจะสร้างวัดให้ถึง 10 แห่ง แต่ในใจของพระเสวียนจ้างยังคงคิดถึงแผ่นดินถังบ้านเกิดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกษัตริย์หรรษาวรรธนะพยายามรั้งตัวเขาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเมื่อไม่อาจรั้งต่อไปได้แล้ว กษัตริย์หรรษาวรรธนะจึงจัดขบวนคาราวานส่งพระเสวียนจ้าง บรรดาคนที่มาส่งพระเสวียนจ้างต่างหลั่งน้ำตาด้วยความอาลัยรัก
.
ต้นปี ค.ศ. 645 พระเสวียนจ้างนำพระไตรปิฎกกว่า 650 เล่ม กลับสู่ดินแดนถัง เมื่อขาไป เขาออกไปอย่างคนผิดกฎหมาย แต่เมื่อกลับมาเขาได้รับการต้อนรับอย่งเอิกเกริกจากจักรพรรดิถังไท่จงและประชาชนชาวถัง พระเสวียนจ้างเล่าเรื่องการเดินทางและการศึกษาของเขาให้ถังไท่จงฟัง ถังไท่จงชักชวนให้เขาสึกมาช่วยราชการ แต่เขาปฏิเสธ
.
พระเสวียนจ้างทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน ถังไท่จงได้จัดวัดต้าฉือเอิน (วัดมหาการุณยาราม) ให้เป็นที่สำหรับทำงานแปลของพระเสวียนจ้าง จนล่วงมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิถังเกาจง ก็ได้สร้างเจดีย์ห่านป่าใหญ่ขึ้นเพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกไว้ที่วัดแห่งนี้ ภายหลังการทุ่มเทให้กับงานแปลและเผยแพร่ศาสนามายาวนา พระเสวียนจ้างก็มรณภาพลงใน เดือน 2 ปี ค.ศ. 664
.
พระเสวียนจ้างได้บันทึกการเดินทางไปทางตะวันตกและการจาจิกไปทั่วชมพูทวีป เป็นหนังสือในชื่อว่า “ต้าถังซีอวี้จี้” หรือ “บันทึกเรื่องอัสดงคตประเทศแห่งมหาราชวงศ์ถัง” ให้ข้อมูลแว่นแคว้นที่พระเสวียนจ้างได้จาริกไปรวม 111 แคว้น และที่ได้ยินมาอีก 28 แคว้น ส่วนเรื่องราวประวัติของพระเสวียนจ้างได้รับการท่ายทอดจากภิกษุฮุ่ยลี่ ศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านต่อมา ในหนังสือชื่อ “ต้าถังต้าฉือเอินซื่อซันจั้งฝ่าซือจ้วน” หรือ “ประวัติพระเสวียนจ้างแห่งมหาการุณยารามในมหาราชวงศ์ถัง” หนังสือทั้งสองเป็นต้นเค้าให้นักประพันธ์ยุคราชวงศ์หมิง นาม อู่เฉิงเอิน นำมาต่อเติมเสริมแต่ง เพิ่มอิทธิปาฏิหารย์ สอดแทรกคติธรรม จนกลายเป็นเรื่อง “ซีโหยวจี้” (ท่องแดนตะวันตก) ที่เรารู้จักกันในชื่อเรื่อง “ไซอิ๋ว” 1 ใน 4 วรรณกรรมเอกของจีน ที่เลื่องลืออยู่ตราบจนทุกวันนี้
.
เรียบเรียงจาก
เกร็ดประวัติศาสตร์จีน 5,000 ปี, ไอรีน แป
https://www.matichonweekly.com/column/article_267897

No comments: