Sunday, July 26, 2015

รามายณะ วิจารณ์

สองบทความในมติชน วิจารณ์รามยณะ ได้อย่างน่าสนใจ ในแง่มุม ชนชั้น และ แง่มุมการกลืนศาสนาพุทธ

1 http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1431955667
รามายณะ มหากาพย์แห่งชนชั้น โดย น.พ.สมเกียรติ ธาตรีธรมติชนรายวัน 18 พฤษภาคม 2558


ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ในวัยเด็กเคยชื่นชมและชื่นชอบเรื่องรามายณะหรือรามเกียรติ์มาก เคยรวมเงินค่าขนมซึ่งได้วันละสองสลึงกับพี่ชาย ซื้อหนังสือรามเกียรติ์ซึ่งออกรายวันเล่มละหนึ่งบาท ระหว่างติดตามอ่านก็เอาใจช่วยพระราม พระลักษณ์ และเกลียดทศกัณฐ์อย่างยิ่ง รู้สึกสนุกและสะใจทุกครั้งกับความเก่งของหนุมานเมื่อรบชนะและฆ่าบรรดายักษ์ได้

เมื่อเติบใหญ่ขึ้น มีความรับรู้ด้านสังคมในเชิงลึกมากขึ้น ได้เห็นปัญหาสังคม เห็นความเหลื่อมล้ำจากการเอาเปรียบเชิงระบบ ความซับซ้อนของการเบียดเบียนและการเก็บเกี่ยวทรัพยากรโดยกลุ่มคนที่มีศักยภาพสูงกว่า การใช้ความเชื่อสยบและสะกดคนผู้อ่อนด้อยกว่าทางการศึกษาและความคิด เพื่อคงความได้เปรียบในการบริโภคทรัพยากรของโลกและสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อหวนกลับไปอ่านรามายณะหรือรามเกียรติ์อีกครั้งก็มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางความรู้สึกและแนวทางวิเคราะห์โดยสิ้นเชิง

ทำไมสีดาต้องเป็นลูกสาวทศกัณฐ์

การที่ผู้ชายคนหนึ่งจะเอาลูกสาวตนเองเป็นเมียนั้น เป็นภาวะที่สุดอัปยศ เป็นความต่ำช้าในสายตาของสังคม จึงมีการผูกเรื่องให้ทศกัณฐ์พยายามเอาสีดาซึ่งเป็นลูกสาวมาเป็นเมีย แต่เพื่อให้แนบเนียน ไม่เจาะจงเกินไป จึงผูกเรื่องให้ทศกัณฐ์ไม่รู้ทั้งที่มีหลายช่องทางที่จะรู้ได้ เนื่องจากสีดาได้รับการดูแลจากเหล่านางฟ้าและเลี้ยงดูโดยฤๅษี อีกทั้งยังมีพิเภกซึ่งเพียงจับยามดูโดยไม่ต้องมีหน่วยลาดตระเวนหรือสายลับก็รู้ทุกอย่างของทุกฝ่ายได้อย่างละเอียด การผูกเรื่องจึงเป็นการจงใจให้ทศกัณฐ์พยายามเอาลูกสาวเป็นเมีย ให้เป็นภาพลักษณ์ที่ทุเรศแม้จะไม่รู้ก็ตาม

ทำไมทศกัณฐ์และพันธมิตรต้องเป็นยักษ์

ที่มาของทศกัณฐ์เป็นการกลับชาติมาเกิดของนนทกซึ่งเป็นยักษ์ที่ทำหน้าที่ต่ำต้อย คอยล้างเท้าเทวดาที่มาเฝ้าพระอิศวร ระหว่างนนทกกำลังล้างเท้า พวกเทวดาก็ลูบหัวเล่นจนนนทกหัวล้าน เหตุการณ์ในมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้านนทกผู้ต่ำต้อยยอมสยบ สงบเสงี่ยมเจียมตัวทำหน้าที่ต่อไปจนสิ้นอายุขัย แต่ไม่ใช่เช่นนั้น นนทกลุกขึ้นสู้ เมื่อได้อาวุธคือนิ้วเพชรจึงทำการตอบโต้เหล่าเทวดาล้มตาย ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาปราบด้วยการหลอกให้ชี้นิ้วเข้าตัวเอง เมื่อนนทกต่อว่าว่าพระนารายณ์มีถึงสี่กรตัวเองจึงแพ้ พระนารายณ์จึงสาปให้นนทกไปเกิดใหม่ มีสิบหัวยี่สิบแขน พระนารายณ์จะตามไปเอาชนะอีก นนทกที่กลายมาเป็นทศกัณฐ์จึงมีสถานะของยักษ์ที่ไม่ยอมแพ้ สื่อถึงการเป็นตัวแทนของผู้ต่ำต้อย ผู้ถูกกดขี่รังแกและถูกเอาเปรียบที่ลุกขึ้นสู้ การดำเนินของเรื่องหลังจากนั้น เมื่อนนทกกลายมาเป็นทศกัณฐ์แล้วก็ถูกตามไปฆ่าเผ่าพงศ์วงศ์ยักษ์ที่ไม่ยอมสยบต่อเทวดาเกือบหมดสิ้น ที่เหลืออยู่คือผู้ที่สยบยอมต่อเหล่าเทวดา เป็นการสื่อว่าบรรดาผู้ต่ำต้อยจะต้องยอมสยบต่อบรรดาผู้อยู่ในชนชั้นที่เหนือกว่าคือบรรดาเทวดาและพรรคพวกเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะต้องถูกฆ่าล้างผลาญหมดโคตร 

เทียบเคียงกับการแบ่งชั้นวรรณะในอินเดียก็คือการสื่อถึงบรรดาผู้มีวรรณะต่ำที่ต้องยอมรับ ยอมสยบต่อผู้มีวรรณะสูงโดยไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นก็จะถูกประทับตราว่าเป็นยักษ์แข็งข้อ จะต้องถูกฆ่าถูกลงโทษข้ามชาติข้ามภพไม่รู้จบดังที่นนทกได้ประสบ

ทําไมทหารพระรามต้องเป็นลิง

ลิงซึ่งพูดได้ รับคำสั่งได้ มีพฤติกรรมเหมือนคนทุกประการนั้นสื่อถึงบรรดาคนผู้ต่ำต้อย บรรดาผู้คนซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคมที่นอกจากต้องแบกภาระหนักในการครองชีพแล้ว ยังต้องมีหน้าที่รับใช้ชนชั้นสูงจนตัวตายโดยไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เป็นที่รับรู้ และไม่เป็นที่ยอมรับ แม้ว่าหน้าที่นั้นเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของชนชั้นสูงก็ตาม

ทำไมหนุมานซึ่งแสนจะเก่งกาจจึงครองเมืองไม่ได้

หลังชนะศึกทศกัณฐ์ พระรามให้หนุมานร่วมครองเมืองอโยธยากึ่งหนึ่ง หนุมานให้เกิดความรู้สึก "เร่าร้อนฤทัยดังไฟกัลป์" ทนอยู่บนบัลลังก์ไม่ได้ต้องคืนเมืองให้พระราม พระรามจึงแผลงศรนำทางให้ไปสร้างเมืองชื่อนพบุรีให้ใหม่ ปรากฏว่าหนุมานก็ยังออกท่าลิงเกาแกะร่างกาย ท่าทางไม่สง่า ไม่สมเป็นเจ้าเมือง เป็นที่ดูถูกของบริวารจนต้องคืนเมืองให้พระรามอีก สื่อถึงภาวะที่ต่อให้เก่งแค่ไหนถ้าอยู่ในกลุ่มคนชั้นต่ำ เทียบได้กับลิง ถึงจะอยู่ในตำแหน่งของคนของชนชั้นสูง ลิงหรือคนชั้นต่ำก็ไม่มีทางจะเป็นใหญ่ ไม่มีทางปกครองคนได้ ไม่มีทางจะมีบุคลิกสง่างามเหมือนคนหรือเหมือนชนชั้นสูงได้ ต้องย้อนกลับไปเป็นลิง เป็นคนชั้นต่ำตลอดไป

ว่าด้วยท้าวมาลีวราช

โดยสถานะมีโอกาสที่จะรู้ภูมิหลังของสีดาว่าเป็นลูกสาวของทศกัณฐ์ ก็ไม่สนใจสืบสาว รู้ทั้งรู้ว่าพระรามเป็นนารายณ์อวตารซึ่งไม่มีทางแพ้ ก็ยังแช่งทศกัณฐ์ซ้ำ รู้ทั้งรู้ว่าทศกัณฐ์คือนนทกผู้ต่ำต้อย ผู้ถูกรังแก ผู้ถูกสาป ก็ยังเอาประเด็นความไม่รู้ว่าสีดาคือลูกสาวของตัวเองของทศกัณฐ์มาซ้ำเติม การลักพาเมียคนอื่นนั้นไม่ดีแน่นอน แต่มีคำถามว่า เป็นเหตุการณ์ที่เป็นไปเองตามกิเลสตัณหาของทศกัณฐ์หรือเป็นไปตามแผนที่วางไว้แล้วที่จะผลาญวงศ์ยักษ์ ฐานเป็นคนชั้นต่ำที่บังอาจแข็งข้อต่ออำนาจชนชั้นสูง หากทศกัณฐ์ไม่ขโมยเมียพระราม ไหนเลยจะได้ผลาญยักษ์ ท้าวมาลีวราชก็รู้ว่าพระรามเป็นนารายณ์อวตารมาเพื่อผลาญยักษ์ หากไม่ต้องการให้มีการตายกันมากมายก็เพียงเอาข้อเท็จจริงที่สีดาเป็นลูกทศกัณฐ์ ซึ่งเทวดาทั้งหลายก็รู้และก็ได้สมรู้ร่วมคิดเลี้ยงดูสีดามาตั้งแต่เล็ก มาบอกให้ทศกัณฐ์รู้เท่านั้น เรื่องก็จะจบด้วยดีแต่ไม่ทำ เป็นความหลายมาตรฐาน เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นความลำเอียงอย่างยิ่งของกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามแผนที่จะผลาญยักษ์

ข้อสังเกต

พระรามแม้จะเก่งกาจมีฤทธิ์เดชมากมายก็จะไม่ชนะทศกัณฐ์ได้ถ้าไม่มีลิง ตลอดเรื่องรามายณะจึงสื่อถึงสองนัยยะคือ

นัยยะแรก ชนชั้นสูงตระหนักดีว่าจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนชั้นต่ำคอยแวดล้อมรับใช้ เป็นผู้ผลิต เป็นผู้คอยยกให้ชนชั้นสูงยังคงสูงอยู่ได้ จึงผูกเรื่องให้ลิงหรือคนชั้นต่ำอยู่ช่วยเหลือ อยู่รับใช้ตลอด ยอมเจ็บยอมตายแทนเพียงเพื่อให้ชนชั้นสูงได้สมประสงค์

อีกนัยยะหนึ่งคือ แม้คนชั้นต่ำจะยอมเจ็บยอมตายเพื่อชนชั้นสูงแล้วก็อย่าหมายว่าจะตีเสมอได้ อย่าหมายว่าจะได้ครองตำแหน่งเสมอได้ เพราะจะเกิดภาวะ "เร่าร้อนฤทัยดังไฟกัลป์" เป็นการแยกกันชัดเจนระหว่างเทวดากับคนออกจากลิง อำนาจการปกครองและการบริหารเป็นของคนหรือชนชั้นสูง ลิงนั้นอย่างดีก็สมควรเพียงได้รับรางวัลเป็นสิ่งของ หลังจากนั้นก็จงรับใช้ต่อไป จงต่ำต้อยต่อไป ต้องเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของชนชั้นสูงและบริวารซึ่งประกาศตัวเป็นคนดีในอาณัติชนชั้นสูงเท่านั้น ไม่ต้องมีสิทธิมีเสียง ไม่ต้องมีส่วนในการปกครองเพราะเป็นเพียงลิง หากไม่ยอมรับสถานะดังกล่าวก็จะถูกนับถูกประทับตราให้เป็นยักษ์ที่ไม่ยอมสยบซึ่งจะถูกตามไปทำลาย ไปบดขยี้จนไม่มีที่ยืนและที่อยู่ ต้องตระหนักว่าลิงนั้นก็คือลิง ให้มีจำนวนมากเพียงใดหรือเก่งเพียงใดก็คือลิง

เหตุการณ์อื่นๆ ตลอดเรื่องเป็นเพียงศิลปะการดำเนินเรื่องให้สนุกชวนติดตามเท่านั้น


2 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1433349309


รามายณะ มหากาพย์กับพุทธศาสนา โดย กลิ่นบงกช
มติชนรายวัน 3 มิถุนายน 2558


ได้ อ่านบทความชื่อ รามายณะ มหากาพย์แห่งชนชั้น ของ นพ.สมเกียรติ ธาตรีธร ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 หน้า 21 แล้ว ถูกใจมากตามมุมมองของท่าน บทความนั้น พอสรุปใจความเชิงสงสัยได้ 5 ประเด็น คือ

1.ทำไมฤๅษีวาลมิกิ ผู้แต่งรามายณะหรือรามเกียรติ์ จึงแต่งให้นางสีดา เป็นลูกของทศกัณฐ์ แล้วต่อมาทศกัณฐ์ต้องใช้ชีวิตยักษ์เป็นจำนวนมาก เพื่อทำสงครามแย่งเอาลูกสาวของตนมาเป็นเมีย

2.ทำไม ผู้แต่งรามเกียรติ์จึงแต่งให้กำลังรบของทศกัณฐ์เป็นยักษ์และเป็นยักษ์ที่ ชั่วช้าเลวทราม ขนาดทำสงครามเพื่อแย่งลูกสาวของตนมาทำเมีย

3.ทำไม ผู้แต่งรามเกียรติ์ จึงแต่งให้ลิงเป็นทหารของพระราม โดยมีหนุมานเป็นหัวหน้าลิง แล้วแต่งให้ทหารลิงเก่งกว่ายักษ์สามารถปราบยักษ์ได้ราบคาบ พวกลิงแม้จะตาย แต่พอลมพัดมาอ่อนๆ พวกลิงก็ฟื้นมารบได้อีก แต่พวกยักษ์เมื่อตายแล้วก็ตายเลย

4.ทำไมผู้แต่งรามเกียรติ์ จึงแต่งให้หนุมานผู้ซึ่งช่วยพระรามฆ่ายักษ์ แล้วนำนางสีดากลับมาได้ แต่ไม่มีวาสนาจะครองเมืองได้

5.ทำไม ผู้แต่งรามเกียรติ์ จึงแต่งเรื่องท้าวมาลีวราช ผู้เป็นพรหมผู้ทรงธรรม แต่แต่งให้ไม่ทรงธรรมคือหมายความว่า เมื่อให้พระพรหมมาลีวราชผู้ทรงธรรมมาตัดสินคดีทศกัณฐ์ทำสงครามแย่งเมียพระ รามแล้วทำไมไม่แต่งให้ท้าวมาลีวราชวินิจฉัยว่า นางสีดานั้นเป็นลูกทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์จะเอามาเป็นเมียไม่ได้ เมื่อวินิจฉัยอย่างนี้แล้ว เรื่องก็จะจบ แต่ท้าวมาลีวราชไม่พูดความจริง กลับพูดเข้าข้างทศกัณฐ์ทำนองเห็นใจทศกัณฐ์ โดยใช้คำพูดพอสรุปได้ว่า อันนางสีดานี้เป็นหญิงงามหาหญิงในสามโลกเทียบไม่ได้ แม้แต่ตัวกูผู้ทรงธรรมก็ยังหวั่นไหวเพราะความสวยงามของนาง หากแต่กูอาศัยอุเบกขาญาณจึงกลับใจได้

ใน บทความดังกล่าวคุณหมอได้อธิบายอย่างน่าอ่าน แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ผู้สนใจโปรดอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเองก็แล้วกัน สำหรับบทความต่อไปนี้จะกล่าวมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น



ผู้เขียนบทความนี้มีความเห็นเหมือนกันกับคุณหมอที่ว่าฤๅษีวาลมิกิมีนัยยะทางการเมืองในการแต่งเรื่องรามเกียรติ์ แต่นัยยะในมุมมองของผู้เขียน มองว่า ฤๅษีวาลมิกิมุ่งกดพระพรหมให้ตกต่ำ และมุ่งสร้างศรัทธาในพระเจ้าองค์ใหม่ที่ตัวสร้างขึ้นแทนพระพรหมซึ่งผู้เขียน จะขยายความต่อไป

หากเรา ศึกษาเรื่องภารตวิทยา คือความรู้เรื่องดินแดนอินเดีย เราจะพบว่า ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้น ประชาชนอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งศาสนานี้สอนว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก มนุษย์พระพรหมเป็นผู้สร้าง แม้แต่โลกพระพรหมก็เป็นผู้สร้าง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์กลับสอนตรงกันข้ามกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือเมื่อพูดถึงกำเนิดโลก พระองค์ก็ตรัสไว้ในอัคคัญญสูตรว่าโลกเกิดโดยธรรมชาติ พระพรหมมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เมื่อพูดถึงการเกิดของมนุษย์ พระองค์ก็ตรัสว่า มนุษย์เมื่อเริ่มแรกปฐมกับป์เกิดโดยโอปปาติกะคือลอยเกิดขึ้น ส่วนมนุษย์ยุคหลังจากนั้น เกิดจากพ่อแม่อยู่ร่วมกัน

เมื่อ พระพุทธเจ้าสอนความจริงที่เห็นกันชัดๆ อย่างนี้ ชาวอินเดียสมัยนั้นจึงนับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวอินเดียเกือบทั้งประเทศนับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาในยุคนั้นจึงรุ่งเรืองเหมือนแสงอาทิตย์ ส่วนศาสนาพราหมณ์ร่วงโรยอับแสงเหมือนแสงหิ่งห้อย

ประชาชน ชาวอินเดียส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา ชาวพุทธอินเดียต่างก็พูดสรรเสริญพระพุทธเจ้ากันปากต่อปาก คำพูดสรรเสริญพระพุทธเจ้าอย่างอื่นหมื่นแสนพวกพราหมณ์พอฟังได้ แต่มีอยู่คำหนึ่งที่พราหมณ์ฟังไม่ได้ เพราะฟังไปแล้วมันแสนจะขมขื่น คำพูดคำนั้นก็คือ คำพูดว่าพระพรหมมากราบบูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมนุษย์ในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวไว้ว่า ในสมัยนั้นชาวชมพูทวีปลือกันทั่วว่า พระพรหมมาเฝ้าพระพุทธเจ้า มากราบ ไหว้พระพุทธเจ้า พวกพราหมณ์ฟังคำนี้แล้วยากที่จะทำใจได้ เพราะพวกพราหมณ์บูชาพระพรหมกับทั้งพระพุทธศาสนาก็เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับ ศาสนาพราหมณ์ แล้วในเมื่อพระพรหมมากราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าเสียเช่นนี้พวกพราหมณ์จะอดสูใจ ขนาดไหน

อนึ่ง การที่พวกพราหมณ์ได้ฟังว่า พระพรหมมากราบไหว้พระพุทธเจ้ายังพอทน แต่ที่พวกพราหมณ์ฟังไม่ได้จริงๆ ก็คือการที่ชาวบ้านพูดกันว่า ขณะชาวบ้านกำลังนำอาหารเลิศรสมาทำพิธีเผาเพื่อบูชาพระพรหมอยู่นั้น พระพรหมก็ปรากฏกายให้เห็นแล้วกล่าวกับ ชนผู้บูชาพระพรหมอยู่ว่า การที่พวกท่านนำอาหารมีค่ามากมาเผาบูชาเรานั้น เป็นการสูญเปล่า หาประโยชน์มิได้ ขอให้ท่านน้อมนำอาหารเลิศรสต่างๆ ไปถวายพระอรหันต์ที่ท่านนั่งคอยอยู่ในบ้านของท่านจะมีอานิสงส์มากกว่าบูชา เราด้วยการเผาของมีราคาเช่นนี้ (เรื่องนี้ปรากฏในพระไตรปิฎกผู้เขียนจำไม่ได้ว่าสูตรใด) ชาวบ้านผู้บูชาพระพรหมได้เห็นพระพรหมปรากฏกายให้เห็นพร้อมแนะนำความจริงเช่น นั้นก็เลยเลิกบูชาพระพรหม หันมานับถือพระพุทธศาสนา 

คำพูดเช่นนี้แหละที่พวกพราหมณ์อดทนไม่ได้และก็คงมีความแค้นใจที่พระพรหมไม่ไว้หน้าตนทั้งที่ตนก็นับถือบูชาพระพรหมอยู่



เมื่อ พวกพราหมณ์มีความรู้สึกเสียหน้า จึงเกิดการประชดเลิกบูชาพระพรหมโดยตั้งพระเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาแทน ผู้ที่เป็นหัวหอกในการเลิกบูชาพระพรหมและหาพระเจ้าองค์ใหม่แทนพระพรหมก็คือ ศังกราจารย์ ผู้นี้เกิดเมื่อปี พ.ศ.1331-1361 เขาแอบไปบวช แล้วศึกษาพระไตรปิฎกจนช่ำชอง แล้วสึกออกมาใช้ความรู้จากพระพุทธศาสนา ดำเนินการตั้งพระเจ้าองค์ใหม่ กลืนพระพุทธศาสนาเป็นฮินดู และแต่งเรื่องรามเกียรติ์หมิ่นพระพรหม เพื่อสร้างศรัทธาในพระเจ้าของใหม่ของเขา

งานขั้นแรก ของ ศังกราจารย์ ก็คือหาชื่อพระเจ้าองค์ใหม่ แทนพระอินทร์และพระพรหม ซึ่งเป็นเทพที่ชาวอินเดียรู้จักและมีนามปรากฏในพระเวท ดูเหมือนศังกราจารย์จะสร้างพระศิวะแทนพระพรหม เพราะให้เป็นผู้ สร้าง แล้วสร้างพระวิษณุแทนพระอินทร์ ซึ่งมีผิวกายเขียวเหมือนกัน แล้วสร้างชื่อศาสนาใหม่ของเขาว่าศาสนาฮินดู แทนศาสนาพราหมณ์ แล้วสร้างกติกาให้พระวิษณุอวตารมาเกิดเพื่อปราบคนชั่ว 

แผนการขั้นที่ 2 ก็คือกลืนพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาฮินดู โดยวิธีที่ชาวพุทธรับไม่ได้ กล่าวคือตั้งพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระวิษณุ หรือเป็นอวตารของพระนารายณ์ แผนนี้ทำให้ชาวพุทธอินเดียที่เป็น ชาวบ้านคาดไม่ถึงว่าจะทำลายพุทธศาสนาได้อย่างไร สำหรับสงฆ์ในอินเดียยุคนั้นก็เสื่อมสุดสุดแล้ว เพราะเป็นลัทธิมหายานที่เพิกถอนวินัยอยู่ร่ำไป มิได้คำนึงถึงความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนา พอมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 เมื่อพวกมุสลิมมาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา ทำลายวิหาร ทำลายชีวิตพระสงฆ์มหายานที่อาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยนาลันทาอย่างโหดเหี้ยม แล้วจากนั้นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็หมดสิ้นไปจากดินแดนอินเดีย และนั่นคือโอกาสอันงามของศาสนาฮินดู

แผนขั้นที่ 3 ของ ศังกราจารย์ คือแต่งรามเกียรติ์ หมิ่นพระพรหม สร้างศรัทธาในพระเจ้าองค์ใหม่ของเขา ลักษณะโครงสร้างรามเกียรติ์ของศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิ ก็ คือ สร้างตัวละครฝ่ายพระพรหมให้เป็นฝ่ายคนชั่ว เช่น แต่งให้ทศกัณฐ์ชั่วถึงขนาดจะแย่งลูกสาวของตนซึ่งเป็นเมียของคนอื่นอยู่เอามา เป็นเมียของตน ทศกัณฐ์เป็นลูกของยักษ์ชื่อ ท้าวลัสเตียน ซึ่งครองกรุงลงกา ท้าวลัสเตียนเป็นลูกของพระพรหม และคงจะหมายให้เป็นพระพรหมที่มาไหว้พระพุทธเจ้านั่นแหละ

จากนี้ลองมาดูตัวละครฝ่ายดีของฤๅษีวาลมิกิบ้าง ฤๅษีวาลมิกิสร้างตัวละครฝ่ายพระศิวะให้เป็นฝ่ายดีให้มาปราบทศกัณฐ์ ผู้เป็นฝ่ายชั่ว กล่าวคือสร้างพระรามเป็นลูกของท้าวทศรถ ท้าวทศรถเป็นลูกของท้าวอัชบาล ท้าวอัชบาลเป็นลูกของอโนมาตัน อโนมาตันเป็นลูกของพระศิวะ



มูลเหตุของสงคราม เกิดจากทศกัณฐ์วางแผนแย่งลูกสาวของตนเอง ซึ่งเป็นเมียพระรามอยู่ นำมาเป็นเมียของ ตน ผลของสงครามทศกัณฐ์เป็นฝ่ายแพ้ พระรามเป็นฝ่ายชนะ การชนะของพระรามเป็นการชนะทั้งในเรื่องรามเกียรติ์ และศาสนาฮินดูชนะศาสนาพุทธในประเทศอินเดีย ถ้า จะพูดสำนวนปัจจุบัน ต้องพูดว่าชนะทั้งในจอและนอกจอ ชนะในจอก็คือในเรื่องรามเกียรติ์พระรามซึ่งเป็นฝ่ายพระศิวะชนะทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นลูกหลานพระพรหม ชนะนอกจอก็คือฮินดูชนะพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ประเทศอินเดียเกือบทั้งประเทศนับถือพระศิวะ แทบทุกคนพร่ำภาวนาแต่คำว่าสีดารามๆ พุทธศาสนาแทบจะไม่มีเหลือ

อยาก จะบอกความจริงแก่ชาวพุทธทั้งหลายว่า เรื่องรามเกียรติ์ที่ฤๅษีวาลมิกิเขียนนั้น แกนำเนื้อเรื่องในชาดกชื่อ ทศรถชาดกไปเขียน ชื่อตัวละครเหมือนกัน ความในชาดกนั้นมีโดยสรุปว่า พระราชาพระนามว่าทศรถ (ทดรด) ครองเมืองพาราณสี พระองค์มีพระโอรส ราชธิดา 3 องค์ คือ พระราม พระลักษณม์ และนางสีดา 

ต่อมาเมื่อพระมารดาของพระรามสิ้นพระชนม์ท้าวเธอจึงมีพระมเหสีใหม่ เมื่อพระมเหสีใหม่มีพระโอรสสององค์ พระราชามีพระโสมนัสทำนองคนแก่หลงลูกชายจึงออกปากให้พรพระมเหสีใหม่ว่าต้องการอะไรให้ขอ แล้วจะพระราชทานให้ นางจึงขอราชสมบัติให้ลูกชายของตัวเอง พระราชาทศรถทรงพิโรธ ตวาดมเหสีใหม่ว่า อีถ่อยมึงจะให้ลูกชายกูฉิบหายหรือ! แล้วไม่พระราชทานให้

ต่อ มาท้าวเธอดำริว่า ธรรมดาผู้หญิงมุ่งจะเอาชนะอย่างเดียว ถ้าพระรามยังอยู่ในวัง อาจมีอันตรายแก่ชีวิต จึงให้โหรคำนวณอายุของพระองค์ว่าจะมีอายุอยู่กี่ปี โหร คำนวณแล้ว กราบทูลว่าจะมีอายุต่ออีก 12 ปี ท้าวเธอให้เรียกหาพระรามมาเฝ้า แล้วรับสั่งให้ลูกชาย ราม-ลัก ษณม์ออกไปอยู่ในป่า 12 ปี เมื่อพ่อตายแล้วให้มาเอาราชสมบัติ ในการไปอยู่ป่านางสีดาน้องสาวขอตามไปด้วยพ่อก็อนุญาต พระรามไปอยู่ป่าได้เพียง 9 ปี พ่อก็สวรรคต เมื่อพ่อสวรรคต มเหสีใหม่ก็สั่งให้เสนาบดีมอบราชสมบัติให้พระภรต ลูกชายของตน

คำ สั่งของมเหสีใหม่ พระภรตและเสนาบดีไม่เอาด้วย แต่ยกกองทัพไปเชิญพระรามมาครองเมืองแทน วันราชาภิเษกพระประยุรญาติและประชาชนน้อมถวายนางสีดา ผู้เป็นน้องสาวให้เป็นมเหสี นี่คือเนื้อความโดยสรุปในทศรถชาดกที่ฤๅษีวาลมิกินำไปแต่งเรื่องรามเกียรติ์ ผู้สนใจชาดกเรื่องนี้โปรดไปอ่านในพระไตรปิฎกเล่ม 60 หน้า 72 พิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยปี 2525

เท่า นั้นยังไม่พอ ! ศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิยังนำเอากุณาลชาดก มาแต่งเป็นเรื่อง มหาภารตยุทธ ที่ชาวอินเดียหลงใหลอยู่ทุกวันนี้ คนไทยบางส่วนก็พลอยหลงใหลไปด้วย ความสรุปในกุณาลชาดกมีว่า นางกัณหาราชธิดาติดแม่ของพระเจ้าพาราณสี ขอมีสิทธิเลือกคู่เอง ถึงวันเลือกคู่นางเลือกพระราชบุตรพี่น้อง 5 คนของพระเจ้าบัณฑุราช เป็นสามีทั้ง 5 คน นามราชบุตร 5 คนนั่นคือ อรชุน นกุล ภีมเสน ยุธิษฐิละ และสหเทพ นางกัณหามีสามีคราวเดียวถึง 5 คนแล้ว ก็ยังไม่อิ่มในกาม ยังแอบไปสังวาสกับบุรุษเปลี้ยอีก

จุดหมายของชาดกเรื่องนี้ คือตำหนิผู้หญิงไม่อิ่มในกาม

ข้อสังเกต

ใน ทศรถชาดก นางสีดาเป็นลูกสาวของท้าวทศรถ แต่ศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิเปลี่ยนมาเป็นลูกทศกัณฐ์ มีจุดมุ่งหมายอะไร มุ่งจะประณามทศกัณฐ์ผู้เป็นหลานพระพรหมว่าเลวทรามขนาดจะเอาลูกทำเมียใช่ไหม ในชาดกเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระรามเป็นอดีตชาติของพระองค์ แต่ศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิเปลี่ยนเป็นอวตารของพระวิษณุ

ในกุณาลชาดก เป็นเรื่องของนางกัณหา มีสามีคราวเดียว 5 คน โดยสามีทั้ง 5 คนนั้นเป็นพี่น้องกัน ศังกราจารย์ได้เปลี่ยนดังนี้ พี่น้อง 5 คนนั้นศังกราจารย์เปลี่ยนยุธิษฐิละมาเป็น พี่ใหญ่แทนอรชุน นางกัณหาเปลี่ยนไปเป็นเทราปตี เพิ่มการทำสงครามระหว่างวงศ์บัณฑุราชกับวงศ์เการพ เพิ่มพระกฤษณะเข้ามาโดยไม่มีในชาดก

ใน การทำสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร (อยู่เมืองเดลี) อรชุนเป็นแม่ทัพฝ่ายบัณฑุราช ทุรโยชน์เป็นแม่ทัพฝ่ายเการพ เมื่อกองทัพเผชิญหน้ากันอรชุนไม่กล้าสั่งรบ เพราะล้วนแต่ญาติพี่น้องทั้งนั้น พระกฤษณะเป็นสารถีให้อรชุน เกลี้ยกล่อมอรชุนให้สั่งรบในฐานะกษัตริย์ต้องทำสงคราม คำยุของกฤษณะอินเดียยกย่องว่า เพลงขับพระเจ้า (ภควศิตะ) ผล ของสงครามอรชุนเป็นฝ่ายชนะ ศังกราจารย์ก็สรุปว่า พระกฤษณะคือพระนารายณ์อวตารมา สำหรับในกุณาลชาดกพระพุทธเจ้าตรัสว่าอรชุนเป็นอดีตชาติของพระองค์ ผู้สนใจกุณาลชาดก โปรดอ่านในพระไตรปิฎกเล่ม 62 หน้า 559 พิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยปี 2525

ชาวพุทธทั้งหลาย! เมื่อทราบเรื่องนี้แล้ว ขอให้มีสติ แล้วมองตากัน ส่วนใครจะหัวเราะหรือร้องไห้ก็ตามอัธยาศัยเทอญ


No comments: