Friday, May 19, 2017

ปัญญาปะทุ

https://www.facebook.com/notes/nuttarote-wangwinyoo/%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B8/10155290461233279/
ตอนที่ 1 การสรุปบทเรียนและต่อยอดความรู้ (Reflection leads to synthesis)
การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์นั้นอาจเข้มข้นเต็มไปด้วยความสนุก ซาบซึ้ง ตื่นตาตื่นใจ ได้มุมมองใหม่ แต่หากไม่มีการทบทวนและเก็บเกี่ยวก็อาจจะทำให้ไม่เกิดความชัดเจนแก่ผู้เรียนเอง เหมือนเรียนผ่านๆไป ไม่ได้มีการจดบันทึกในใจหรือในสมองอย่างมั่นคง ราวกับการจารึกสลักไว้เพื่อให้กลับมาระลึกและทบทวนได้เรื่อยๆหลังจากกลับไปสู่ชีวิตปกติที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยินและภาวะโกลาหลของชีวิตทั่วไป
เปรียบได้กับการได้เดินทางมายังดินแดนแห่งความรู้ที่เต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจกับความรู้และประสบการณ์ใหม่ แล้วก่อนออกจากดินแดนนี้เราจะเลือกหยิบฉวยของวิเศษอะไรกลับไปใช้ในโลกมนุษย์
เมื่อเป็นเช่นนี้ การทบทวนและสะท้อนบทเรียนที่ได้รับและจะนำกลับไปใช้ สำคัญไม่แพ้ตัวกระบวนการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ หลายครั้งที่เรารับรู้และเรียนรู้ผ่านอายตนะทั้งห้า แต่เมื่อมีการมาทวนสะท้อนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการรับรู้ใหม่ หรือได้ความเข้าใจใหม่กับตัวเอง แล้วยิ่งได้แบ่งปันพูดคุยกับเพื่อนก็จะยิ่งทำให้ความเข้าใจเข้มข้นและหลากหลายมากขึ้น เกิดไอเดียใหม่ รวมทั้งในแงของสิ่งที่อยากจะนำกลับไปทำก็หลากหลายและสดใหม่มีพลังอีกด้วย เกิดนวัตกรรมอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการสรุปบทเรียนเป็นเหมือนการสร้างหรือสังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเองมากกว่า (สรุปคือสร้าง)
คำถามที่จะช่วยสะท้อนและสะกัดความรู้ให้ผู้เรียน เช่น
  1. ตัวเองได้เรียนรู้อะไร
  2. สิ่งที่ได้รู้นี้มีความหมายหรือสำคัญอย่างไรกับเรา
  3. มันทำให้เราเข้าใจตัวเองหรือคนอื่นมากขึ้นอย่างไร
  4. เราจะใช้ความรู้นี้อย่างไรเมื่อกลับไปสู่ชีวิตของเรา เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร
  5. เราจะเตือนตัวเองอย่างไร หรืออยากจะรักษาความเข้าใจหรือทักษะนี้อย่างไร
  6. ถ้าเราไม่ใช้ความรู้หรือทักษะนี้ จะเกิดผลลัพท์อะไร (optional)
ทั้งนี้ กระบวนการตกผลึกในสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ สภาวะจิตต้องอยู่ในภาวะผ่อนคลายและพร้อมที่จะลงลึกแบบคิดแบบลึกซึ้ง ไม่ต้องรีบมีคำตอบ เป็นการค้นหาหรือควานหา ที่เรียกว่า Contemplation นี่แหล่ะ ให้การคิดแบบน้อมนำประสบการณ์มาสู่ใจ บ่มเอาไว้จนตกผลึกอย่างแยบคาย (หรือภาษาวิชาการเรียกว่า โยนิโสมนัสสิการ) เป็นทักษะธรรมชาติและดั้งเดิมของจิตที่ยังไม่ฟุ้งซ่านยุ่งเหยิง จะเรียกว่าจิตของนักคิด นักวิทยาศาสตร์ นักปฏิบัติธรรม ศิลปินหรือกวีก็ได้ที่เฝ้ามองเรื่องราวได้อย่างพินิจพิจารณา แล้วยิ่งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมองและความเข้าใจที่หลากหลายก็อาจะก่อให้เกิด ปัญญาปะทุ มากมายราวกับไม่ได้ใช้ความพยายามอะไร
สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ว่ากระบวนกร หรือ ฟา มีความเก่งฉกาจในการสร้างกระบวนการณ์เรียนรู้หรือกิจกรรมเด็ดๆเพียงใด แต่ก็อาจจะมองข้ามหรือให้เวลากับกระบวนการสรุปบทเรียนแบบเจียรไนยน้อยไป ด้วยเงื่อนไขของเวลาหรือด้วยความเชื่อว่า “เขาได้กันแล้ว คงไม่ต้องสรุปอะไรมาก” หรือไม่ก็สรุปบทเรียนให้ผู้เรียนไปเลย จะได้ว่าแนวคิดแนวปฏิบัติชัดๆกลับไป หรือไม่ก็ “ไปอ่านในเอกสารประกอบการอบรมนะครับ” ก็อาจจะละเลยการสร้างโอกาสให้กับการขบคิดจนแตกฉานในความรู้ และประจักษ์แจ้งถึงแก่นสารของความรู้ จนถึงขั้นตราตรึงในใจของด้วยตัวผู้เรียนเอง


For more information on Facilitator Training Program please visit KPD website at www.kwanpandin.com