Saturday, August 27, 2011

กำเนิดและการพัฒนาการของอาหารชาววัง (ฉบับย่อ)

หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความของ คุณ สุนทรี อาสะไวย์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันไทยคดีศึกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้วนำมาลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยจุดประสงค์หลักของงานวิจัยคือ การทำความเข้าใจอาหารชาววังที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อมนุษย์และความต้องการทางสังคม เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรมนี้อย่างมียุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองตลาดการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยการเข้าใจลึกซึ้งถึงที่มาจุดกำเนิดของวัฒนธรรมการกินในวังจะทำให้สามารถพัฒนาอาหารชาววังนี้ได้อย่างมีคุณภาพ แม้ว่าบทความจะเน้นเรื่องธุรกิจแต่ผมก็เห็นว่าน่าสนใจ ผู้เขียนได้เล่าเกร็ด และเรื่องราวไทยๆเกี่ยวกับอาหารไทยที่เราหลงลืมหรือไม่เคยได้ยินมาก่อนเกี่ยวกับอาหารไทยไว้ด้วย จึงขอนำมาเล่าใหม่ในลีลาชาวบ้านๆแอบมองรั้ววังในบล็อกนี้

ส่วนผู้สนใจอ่านฉบับเต็มขอเิชิญได้ที่ (มี 4 ตอน)
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4


หลังการปราบดาภิเษกขึ้นพระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่แทนกรุงธนบุรีที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำใน พ.ศ. 2325 พระบรมมหาราชวังจึงกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงรวมทั้งอาหารด้วย โดยราชสำันักฝ่ายในที่เป็นเจ้านายฝ่ายหญิงและลูกหลานของข้าราชการที่ถวายตัวมีบทบาทสำคัุญในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเืพื่อรับใช้พระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรใหม่ ซึ่งบทบาทของฝ่ายในนี้ช่วยส่งเสริมตำแหน่งและอำนาจของสตรีในวัง
สตรีใดที่ได้รับถวายหน้าที่เป็นฝ่ายอาหารที่เีรียกว่า "เครื่องต้น" จะเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายและมีโอกาสได้เลื่อนขั้นหรือรับรางวัลจากพระมหากษัตริย์ได้ อย่างเจ้าฟ้าบุญรอด เจ้าตำรับอาหารแห่งกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ก็ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี

อาหารชาววังหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากับข้าวเจ้านาย ก็มีลักษณะพื้นฐานทั่วไปเหมือนอาหารชาวบ้าน แต่อาหารชาววังจะมีคุณลักษณะพิเศษคือ

1. ความอุดมสมบูรณ์และความสดใหม่ของวัตถุดิบในการประกอบอาหาร

2. มีวิธีการทำอันซับซ้อน ประณีต พิถีพิถัน ต้องใช้เวลา เช่น ข้าวแช่ชาววังที่นอกจากต้องหุงข้าวให้สวยแล้วยังต้องนำไปใส่ตะแกรง ใช้ผ้าขาวบางขัดเมล็ดข้าวจนสวยกรากแล้วค่อยใส่น้ำลอยดอกไม้หอมแล้วอบร่ำด้วยเทียนหอมอีก กลิ่นจึงหอมและใสสะอาดไม่มีตะกอนเหมือนข้าวแช่ชาวบ้าน ในบางครั้งที่ของทำยากก็ต้องการกำลังผู้คนในการทำจำนวนมากเช่น ขนมจีบไทยที่ต้องแบ่งคนผัด คนนวดแป้ง คนปั้น

3. มีความแปลกแตกต่าง วิจิตรบรรจง กล่าวคือ นอกจากเป็นอาหารปากแล้วยังต้องเป็นอาหารตา

4. มีรสชาติที่นุ่มนวล กินแล้วไม่สะดุด คือ รสไม่จัด ไม่เผ็ดมาก แต่ไม่ได้หวาน เพียงแต่มีความกลมกล่อมเป็นหลัก ไม่มีของหมักๆดองๆอย่างหน่อไม้ ไม่มีของคาวๆ เช่น ไตปลา ไม่มีของแข็ง ไม่มีกระดูก อาหารจะเคี้ยวง่ายและตัดพอดีคำ

5. แต่ละมื้อจะจัดเป็นชุดที่เรียกว่า "เครื่องเจ้านาย" ประกอบด้วยอาหารรสหลากหลายอย่างน้อย 7 ประเภท ซึ่งต้องมีครบรสชาิติอาหารไทยคือ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ซึ่งจะจัดถวายในถาดเงินหรือถาดทอง และรสชาติของแต่ละอย่างต้องสอดคล้องกัน เช่น น้ำพริกที่เผ็ดๆก็จะมีหมูหวานเพื่อล้างความเผ็ด

นี่คือลักษณะเด่นของอาหารชาววัง แ่ต่วังแต่ละที่ก็จะมีสูตรการทำต่างกันไป โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง โดยทั่วไปแล้วอาหารชาววังมีความแพร่หลายอยู่ในขอบเขตที่จำกัดคืออยู่ในแวดวงของเจ้านายและพระประยูรญาติ แต่ละครัวก็จะมีตำรับของตัวเองไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ จะสอนให้เฉพาะวงเครือญาติหรือศิษย์ที่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความจงรักภักดีและรับใช้ใกล้ชิด บทความนี้จะศึกษาเฉพาะตำรับอาหารชาววังที่เจ้าของตำรับได้รวบรวมและมีหลักฐานอ้างอิงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้รวบรวมส่วนใหญ่ก็เป็นสะใภ้ของราชวงศ์หรือตระกูลขุนนาง ซึ่งมีรายชื่อตำรับอาหารดังนี้

1. ตำรับอาหารของพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี "กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน"

เป็นตำรับอาหารชาววังที่เก่าแก่ที่สุด ที่ปรากฏหลักฐานมาถึงปัจจุบันคือ พระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อยกย่องความสามารถด้านอาหารของพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ารอด โดยอาหารในตำรับมีเครื่องคาว ผลไม้และ เครื่องหวาน ที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นนานาชาติที่ถูกสอดแทรกอยู่ในตำรับอาหารนี้ไม่ว่าจะเป็น มัสมั่นที่ได้อิทธิพลจากแขก (อาหารอันดับหนึ่งของโลกจากเว็บไซต์ CNN) ยำใหญ่ที่ใส่น้ำปลาญี่ปุ่น (โชยุ) หรือ ขนมจีบ และรังนกที่เป็นอาหารจีน เรียกได้ว่า ท่านเป็นอัจฉริยะด้านอาหารที่รู้เชี่ยวชาญอาหารทั้งไทยและเทศ และพัฒนาปรับเปลี่ยนอาหารต่างชาติให้เข้ามาอยู่ในตำรับอาหารไทย ได้อย่างเลิศรส (ลิงก์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานที่นี่ หรือ ที่นี่)

2. ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ บุนนาค "ตำราแม่ครัวหัวป่าก์"
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นบุตรีคนโตของ นายสุดจินดา (พลอย ชูโต บุตรจมื่นศรีสรรักษ์) กับคุณนิ่ม สวัสดิชูโต (ธิดาพระยาสุรเสนา) นับเนืองเป็นราชนิกุลบางช้าง ได้แต่งงานกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงธรรมการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นสตรีที่เฉลียวฉลาด และสามารถในกิจการหา ผู้เสมอเหมือนยาก มีความชำนาญในการประกอบอาหาร คาวหวาน เย็บปักถักร้อย ประดิษฐ์ และตกแต่ง เป็นผู้ริเริ่มทำลูกชุบให้ดูเหมือนของจริงถึงขนาดประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้ ซึ่งรับประทานได้ทั้งหมด งานปักรูปเสือลายพาดกลอนได้รับพระราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ 4 และส่งไปประกวดในระดับโลก ได้รับรางวัลที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเงินหลายพันดอลลาร์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาอุณาโลมแดง เมื่อ พ.ศ.2436 ในคราวเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสภากาชาดไทย ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ร.ศ.130 สิริอายุได้ 65 ปี

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น ผู้พิมพ์หนังสือตำราอาหารออกเผยแพร่ขึ้นเป็น ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ.127 ตรงกับ พ.ศ.2451 (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยตั้งชื่อว่า “แม่ครัวหัวป่าก์” ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการเขียนตำรากับข้าวกันเป็นกิจจะลักษณะเลย หนังสือ “แม่ครัวหัวป่าก์” จึงนับเป็นตำรากับข้าว เล่มแรกของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัุญของสังคมไทยเพราะการมีตำรับอาหารประจำชาติของตนเองเปรียบเสมือนการยกระดับประเทศให้มีความทันสมัยเท่าเทียมกับประเทศตะวันตก โดยได้ริเริ่มทดลองใช้วิธีการชั่งตวงวัดเป็นมาตรวัดไทยโบราณคือ บาท สลึง เฟื้อง ไพ ไว้ใช้ในการประกอบอาหาร ให้มีมาตรฐานเหมือนทางตะวันตก จึงทำให้ได้รสชาติอาหาร ที่คงที่ ซึ่งโดยธรรมเนียมในการปรุงอาหารของไทยในสมัยก่อนนั้นไม่นิยมการใช้ชั่งตวงวัดอย่างยุโรป แต่อาศัยความชำนาญหัดเรียนรู้ด้วยตนเอง สืบทอดกันตามโคตรตระกูล ซึ่งก็ได้สร้างความรำคาญใจให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่เป็นแม่ครัวมือเก่าบ้างพอควร ในตำรับแม่ครัวหัวป่าก์แบ่งเป็น 5 เล่ม แต่ละเล่มประกอบอาหารประเภทใหญ่ๆ 7 ประเภทคือ หุงต้มข้าว ต้มแกง กับข้าวของจาน เครื่องจิ้มผักปลาแกล้ม ของหวาน ขนม ผลไม้ และเครื่องว่าง ซึ่งการจัดจำแนกนี้ถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการจัดหมวดหมู่ตำรารุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน

อาหารในหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ทุกประเภทจะมีทั้งอาหารไทย อาหารเทศ อาหารพื้นเมืองที่ได้รับการปรับแต่งให้เป็นในวังเช่น ปลาร้า ไตปลา กะปิ ตะพาบน้ำ อีกทั้งยังรวมสูตรอาหารที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วย นอกจากนี้แม่ครัวหัวป่าก์ได้เขียนเล่าเรื่องสนุกๆของประวัติศาสตร์ไทยรวมทั้งสภาพธรรมชาิติและความเป็นอยู่ของคนไทยในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย เช่น ประวัติขนมค้างคาวของเจ้าครอกทองอยู่ หรือ ทุเรียนต้องทุเรียนบางบน (บางขุนนนท์) หรือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับตลาดรอบๆกรุง

ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ได้ถูดจัดพิมพ์ครั้งแรกในประติทินบัตรแลจดหมายเหตุเมื่อปีพ.ศ.2432 และได้ตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือเมื่อคราวที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ทำบุญฉลองอายุครบ 61 ปี และฉลองวาระสมรส 40 ปีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ร.ศ.127 แจกเป็นของชำร่วยจำนวน 400 ฉบับ และระหว่างนั้นก็ได้รับการพิมพ์ใหม่หลายครั้งจนปัจจุบันเป็นครั้งที่ 6 เมื่อปีพ.ศ. 2545
(ข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ และ ที่นี่)



3. ตำรับอาหารของหม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์
หม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์ (บุนนาค) เป็นภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) ท่านจึงอยู่ในฐานะสะใภ้ของสกุลบุนนาค เช่นเดียวกับ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ สำหรับตำรับอาหารของหม่อมส้มจีน นั้นปรากฏหลักฐานในรูปหนังสือครั้งแรกในปีพ.ศ. 2441 ในชื่อว่า ตำรากับเข้า เมื่อเปรียบเทียบกับตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยนแล้ว ตำรากับเข้าของหม่อมส้มจีนจะมีรายการอาหารน้อยกว่าเน้นประเภทแกงและกับ และเน้นการใช้วัตถุดิบที่เป็นเนื้อสัตว์ป่าเช่น แย้ อ้น หมูป่า เป็นต้น


4. ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นธิดาของหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน) ซึ่งเป็นเจ้าของสวนอยู่ที่บางยี่ขัน ธนบุรี มารดาชื่อหุ่น กำเนิดในสกุลสนธิรัตน์ สมรสกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) สกุลไกรฤกษ์ เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายโดยตรงจากชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขายตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และเริ่มรับราชการในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีสืบต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งกรณีของตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร จะไม่เน้นถ่ายทอดสู่วงนอกเหมือนของสองท่านก่อนนี้แต่เน้นให้สืบทอดภายในตระกูลไกรฤกษ์และญาติของตน ตำราอาหารนี้จะมีการแบ่งอาหารหลายอย่างมากกว่าสิบประเภท และมีอาหารจีนมากขึ้นเช่น หนังแรดเอ็นกว่าง ข้าวผัดเต้าหู้ยี้ หรือ แกงจืดเซี่ยงจี๊ แต่ก็ยังมีอาหารนานาชาติเช่น ข้าวบุหรี่ (อย่างเเขกเทศ ที่นำข้าวไปผัดกับเนยก่อนหุงรวมกับหญ้าฝรั่นใส่ไก่) ข้าวหมกไก่
ที่่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ จะมีอาหารจีนที่ำทำทานง่ายๆมากขึ้น อาจจะสะท้อนภาพสังคมสมัยนั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชาวจีนเริ่มมีฐานะในสังคมเพิ่มขึ้นจนอาหารจีนได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากขึ้น

4 ตำรับอาหารนี้คือ ตำรับอาหารชาววังดั้งเดิมที่ถึงแม้จะเก่าแก่กว่าร้อยปี แต่ก็สามารถเห็นได้ถึงกระแสโลกาภิวัฒน์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันจนทำให้อาหารในวังบางส่วนกลายเป็นอาหารนานาชาิติโดยปริยาย ต่อมาเมื่อพ.ศ.2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยทำให้ความสำคัญของอาหารในวังลดลงไป บางส่วนสูญหายไปกับยุคสมัย เพราะ เจ้านายเ้จ้าของสูตรไม่ถ่ายทอดเพราะหวงวิชา แต่ก็ได้มีลูกหลานในวังได้นำอาหารในวังมาประยุกต์และเผยแพร่ใหม่ในสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ทำให้อาหารสูตรในวังแพร่หลายสู่้สามัญชนมากขึ้น ผู้ที่ได้ถือว่าเป็นผู้สืบทอดสูตรอาหารในวังที่สำคัญในยุคนี้ได้แก่

1. มรว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ กับ เชลล์ชวนชิม


การเผยแพร่อาหารในสื่อสารมวลชนเริ่มครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสโดย บริษัททำล้อยาง มิชชิลิน ที่ทำแจกลูกค้าเป็นคู่มือในการเดินทางสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์โดยเริ่มครั้งแรกในปีพ.ศ. 2443 หม่อมถนัดศรีก็เช่นกัน โดยการสนับสนุนของเชลล์เเก๊สใ้ห้เขียนคอลัมน์เชลล์ชวนชิมในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์และต่อมาในมติชน รวมถึงจัดรายการโทรทัศน์อย่าง การบินไทยไขจักรวาล ครอบจักรวาล รวมไปถึงพ่อลูกเข้าครัวทำให้อาหารในวังได้มีโอกาสเผยแพร่สู่วงกว้าง นอกจากนี้หม่อมถนัดศรียังเป็นผู้แนะนำร้านอาหารตำรับชาววังให้คนธรรมดาได้ลองไปลิ้มรสอย่าง ห้องอาหารท่านหญิงที่ถนนประมวญ สีลม ห้องอาหารหลายรสที่ซอยสุขุมวิท 49 ห้องอาหารดรรชนี เชิงสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย สวนทิพย์ ปากเกร็ด และห้องฝั่งน้ำ โรงแรมรอยัลริเวอร์ที่เป็นลูกศิษย์ของมล. เติบ ชุมสาย

2. มล. เติบ ชุมสาย

มี่พี่สาวคือ มล. ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่สูตรอาหารวังรุ่นใหม่ด้วย เเต่มล. เติบ จะมีผลงานปรากฏเป็นรูปเล่มด้วย อาทิ ตำรับอาหารประจำวัน ตำรับอาหารทางทีวี และ กับข้าวรัตนโกสินทร์ เป็นต้น และที่สำคัญได้มีโอกาสทำรายการ"แม่บ้าน" ถ่ายทอดทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม และ ช่อง 9 ติดต่อกันนานถึง 20 ปี ซึ่งข้อดีของตำรับอาหารมล.เติบคือการนำเสนอตำรับอาหารชาววังให้ทำได้ง่ายขึ้นสำหรับแม่บ้านสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง ประสบความสำเร็จมากจนฮิตติดดาว สามารถเอาสูตรไปเปิดร้าน "ครัวชุมสาย" ซอยราชครู ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าด้วย นอกจากนี้หม่อมเติบยังได้มีโอกาสเป็นพระเครื่องต้นทำอาหารถวายในหลวงองค์ปัจจุบัน รวมถึงทำอาหารเลี้ยงดาราระดับโลกอย่าง มาร์ลอน แบรนโด เนื่องในโอกาสเลี้ยงปิดกล้องภาพยนตร์ ugly american ที่ถ่ายทำในไทยและมรว.คึกฤทธิ์นำแสดงอีกด้วย

อนึ่ง หลังจากการเผยแพร่อาหารของ หม่อมถนัดศรี และหม่อมเติบทำให้เกิดผู้แนะนำอาหารในสื่อมวลชนขึ้นอีกมากมายอย่าง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รงค์ วงษ์สวรรค์ แม่ช้อยนางรำ พิชัย วาสนาส่ง เป็นต้น


3. วิษุวัต สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้สืบทอดอาหารตำรับวังบ้านหม้อ
ตำรับวังบ้านหม้อเป็นวังของพระองค์เจ้ากุญชร ต้นราชสกุล ณ บางช้าง ที่มีเจ้าจอมมารดาศิลาที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระศรีสุริเยนทรฯ ทำให้วังบ้านหม้อเป็นวังหนึ่งที่ได้รับสืบทอดตำรับอาหารมาจากสายของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ แต่ปัญหาคือ เจ้าของสูตรที่สืบทอดกันมาหวงสูตรมาก แม้แต่ลูกหลานก็ไม่ยอมให้ แต่โชคดีที่คุณ วิษุวัต สุริยกุล ณ อยุธยา ลุกหลานของสกุลนี้ได้พยายามเก็บบันทึกสูตรและขอเรียนจากผู้เฒ่าผู้แก่จนสามารถเก็บรักษาวิชาอาหารได้บางส่วน อย่าง ขนมจีบไทยและปั้นสิบ ที่มีวิธีทำเฉพาะของวังนี้เท่านั้น ปัจจุบัน ขนมจีบและปั้นสิบของวังบ้านหม้อได้ผลิตออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปในรูปแบบอาหารกล่อง โดยส่งไปขายทุกวันศุกร์ที่ร้านภูฟ้า (สยามดิสคัฟเวอรี่และจตุรัสจามจุรี) และทุกวันเสาร์ที่สวนจตุจักร


4. ตำรับบ้านจักรพงษ์ หรือวังท่าเตียน
เดิมเป็นของพระเจ้าลูกเธอ เ้จ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ปัจจุบันได้ตกทอดสู่ทายาทคือ มรว. นริศรา จักรพงษ์ ปัจจุบันได้เปิดพื้นที่บางส่วนเป็นโรงแรมและ้ร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารตำรับชาววัง สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaivillas.com

อ่านเสร็จแล้วต้องขอไปลองชิม:-)

Sunday, August 21, 2011

กรุงศรีปฏิวัติ : ศึก ๒ ราชวงศ์ วงศ์พระราม รบ วงศ์พระอินทร์

เป็นบทความประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยาตอนต้นที่น่าสนใจจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จึงนำมาแปะไว้เผื่อผู้สนใจ
โดย ปรามินทร์ เครือทอง

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1312195601&grpid=no&catid=&subcatid=
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1312196673&grpid=no&catid=&subcatid=

มีใครสามารถอดทนรอเก็บความคั่งแค้นไว้ด้วยความสงบ ได้ถึง ๑๘ ปี



สมเด็จพระราเมศวร ทรงผ่านเหตุการณ์นี้มาได้ พระราชบัลลังก์ที่ต้องตกเป็นของพระองค์ชัดๆ ในฐานะ หน่อพระพุทธเจ้าŽ ของสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ก็เป็นจริงเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพราะถูกสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ยึดŽ ไป ส่วนพระองค์ต้องทรงล่าถอยกลับไปยังฐานที่มั่นเก่า ณ เมืองลพบุรี เฝ้ารอจังหวะและโอกาสอย่างอดทนถึง ๑๘ ปี



ที่น่าเจ็บปวดยิ่งขึ้น คือการเฝ้ารออย่างอดทนเกือบ ๒ ทศวรรษนี้ กลับเป็นการเฝ้าดูความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของศัตรู



เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ถือเป็นยุคสมัยเริ่มแรกของการขยายความมั่นคง ยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการ กำราบŽ หัวเมืองเหนือในอำนาจของรัฐสุโขทัย เช่น ในปีพุทธศักราช ๑๙๑๔ หรือปีรุ่งขึ้นหลังจากทรงทำรัฐประหารยึดกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จขึ้นไปยึดเมืองเหนือ แม้จะมีคำอธิบายว่าการศึกครั้งแรกนี้ ทรงยึดได้ไม่เกินนครสวรรค์ก็ตาม



ศักราช ๗๓๓ กุญศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ แลได้เมืองเหนือทั้งปวงŽ๑

การเสด็จขึ้น ไปเอาเมืองเหนือŽ นั้น มิได้สำเร็จเด็ดขาดในคราวเดียว แม้ตลอดรัชกาลของพระองค์ก็ยังทำไม่สำเร็จดังที่ทรงตั้งพระทัยไว้ ดังนั้นเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงมีแต่เสด็จ ไปเอาเมืองเหนือŽ ทั้งสิ้น



เหตุที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ต้องมี การบ้านŽ ในการทำสงครามกับเมืองเหนือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ทรง ญาติดีŽ กับรัฐสุโขทัยอยู่ ก็เพราะว่ากษัตริย์สุโขทัยที่เป็นพี่เขยคือพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) นั้นเสด็จสวรรคตในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ขึ้นปกครองกรุงศรีอยุธยานั่นเอง๒ ทำให้กษัตริย์สุโขทัยพระองค์ใหม่คือ พระมหาธรรมราชา (ที่ ๒) และหัวเมืองใหญ่น้อย ไม่ยอมรับอำนาจจากกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป



และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์สุพรรณภูมิ เมื่อถูกทำรัฐประหารหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงไม่มีการต่อต้าน หรือยื่นมือเข้าช่วยเหลือจากรัฐพันธมิตรเมืองเหนือใดๆ เลย


ยึดหัวเมืองเหนือ การบ้านŽ ของขุนหลวงพ่องั่ว

เมืองชากังราวหรือเมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของรัฐสุโขทัย ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) หมายมั่นปั้นมือจะต้องพิชิตให้ได้ ดังนั้นระยะเวลา ๑๘ ปี ตลอดรัชกาลของพระองค์ จึงทรงยกทัพเข้าตีเมืองนี้หลายต่อหลายครั้ง เช่น ในปีจุลศักราช ๗๓๕ (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากังราว รบกับพระยาคำแหงเจ้าเมืองชากังราว โดยมีพระยาใสแก้วที่ฝ่ายสุโขทัยส่งให้ลงมาช่วยรบ การศึกคราวนี้พระยาใสแก้วตายในสนามรบ ส่วนพระยาคำแหงหนีเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในเมือง ทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ไม่สามารถตีเมืองชากังราวแตกได้



และดูเหมือนว่าหัวเมืองเหนือ จะไม่ยอมให้กรุงศรีอยุธยากวาดรวมเข้าเป็นเมืองบริวารได้ง่ายๆ ดังนั้น ๒ ปีถัดมา ในปีจุลศักราช ๗๓๗ (พ.ศ. ๑๙๑๘) สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ก็ยกทัพขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก หัวใจŽ ของรัฐสุโขทัยในขณะนั้น ครั้งนี้ได้ทั้งตัวเจ้าเมืองขุนสามแก้วและกวาดต้อนชาวเมืองมาเป็นจำนวนมาก



ปีรุ่งขึ้นจุลศักราช ๗๓๘ (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปตีชากังราวเป็นการแก้มืออีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทรงทำได้ดีกว่าคราวก่อน แม้จะมีท้าวผ่าคองจากเมืองเหนือมาช่วยรบเสริมทัพชากังราว แต่ปรากฏว่าท้าวผ่าคองแตกทัพหนีไป ส่วนพระยาคำแหงเจ้าเมืองนั้น ไม่แน่ชัดว่าถูกจับตัวได้หรือไม่ เพราะพระราชพงศาวดารบันทึกเพียงว่า จับได้ตัวท้าวพระญาและเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมากŽ ซึ่งเป็นไปได้ว่าการศึกคราวนี้ก็คงยังไม่ได้ตัวพระยาคำแหงและเมืองชากังราว เพราะอีกเพียง ๒ ปีต่อมา กรุงศรีอยุธยาก็ยกทัพเข้าตีชากังราวอีก



ศักราช ๗๔๐ มะเมียศก เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเปนสามารถ แลเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคมŽ๓



ผลจากการได้เมืองชากังราวมาในครั้งนี้ ย่อมมีความหมายถึงการได้รัฐสุโขทัยมาด้วย เนื่องจากทรงมีชัยเหนือพระมหาธรรมราชา (ที่ ๒) กษัตริย์แห่งรัฐสุโขทัย เป็นอันว่า การบ้านŽ สำคัญของพระองค์บรรลุผลระดับหนึ่งแล้ว



ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรงตัดสินใจที่จะ ทำการบ้านŽ ให้ถึงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคอยสนับสนุนช่วยเหลือรัฐสุโขทัยอยู่เรื่อยๆ และที่สำคัญการจะขึ้นตีไปถึงเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นถือว่า ทางสะดวกŽ เพราะไม่มีรัฐสุโขทัยกีดขวางอีกต่อไป



ดังนั้นในปีจุลศักราช ๗๔๘ (พ.ศ. ๑๙๒๙) จึงยกทัพไปหมายจะตีเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ แต่ทัพกรุงศรีอยุธยายกมาได้เพียงเมืองลำปาง เพราะไม่สามารถตีเมืองลำปางแตกได้ ต้องยกทัพหลวงกลับกรุงศรีอยุธยา



จะเห็นได้ว่าตลอด ๑๘ ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) นั้น ทรงติดพันอยู่กับราชการ หัวเมืองเหนือŽ เกือบตลอดเวลา คือในปีจุลศักราช ๗๓๓, ๗๓๔, ๗๓๕, ๗๓๗, ๗๓๘, ๗๔๐ และทิ้งห่างไปอีก ๘ ปี จึงยกทัพไปหมายจะตีเชียงใหม่ในปีจุลศักราช ๗๔๘



เหตุที่ทรงทิ้งห่างไว้ถึง ๘ ปีนั้น อาจจะเป็นเพราะทรงพอพระทัยเพียงแค่ได้รัฐสุโขทัย ซึ่งเป็นอันตรายต่อกรุงศรีอยุธยามากกว่าเมืองเชียงใหม่ เท่ากับ การบ้านŽ เสร็จแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะทรงพระชราแล้วก็เป็นได้



หากคำนวณพระชนมายุตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ว่าทรงครองราชสมบัติเมื่อพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา๔ ดังนั้นเมื่อคราวยกทัพไปตีเชียงใหม่จึงมีพระชนมายุมากถึง ๗๙ พรรษาแล้ว



แม้จะทรงพระชรามากถึงเพียงนี้แล้ว แต่ก็ยังเกิดเหตุศัตรูประชิดหัวเมือง ทำให้ต้องทรง ออกกำลังŽ อีกครั้ง



สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรง ฝืนสังขารŽ ด้วยพระชนมายุ ๘๑ พรรษา เสด็จออกสงครามครั้งสุดท้ายเพื่อตีเมืองชากังราวในปีจุลศักราช ๗๕๐ (พ.ศ. ๑๙๓๑)



เหตุที่ต้องทรงนำทัพออกรบคราวนี้ ไม่ได้เป็นเพราะเมืองชากังราวแข็งเมือง แต่เป็นเพราะเจ้ามหาพรหมกษัตริย์เชียงรายประสงค์จะได้พระสีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ จึงยกทัพมาประชิดเมืองชากังราว ฝ่ายเจ้าเมืองกำแพงเพชรขณะนั้นคือพระยาญาณดิส หรือในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกว่า ติปัญญาอำมาตย์ ก็ส่งสาสน์ขอความช่วยเหลือมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงต้องยกทัพมาหมายจะรบกับเจ้ามหาพรหม แต่ทัพทั้งสองยังไม่ทันได้รบพุ่งกัน เพราะพระยาญาณดิสขอให้เจ้ามหาพรหมถอยออกไปตั้งทัพที่เมืองตาก เจ้า



มหาพรหมก็ยินยอมทำตามเพราะได้พระสีหลปฏิมาไปแล้ว พร้อมกับประกาศว่าหากกองทัพกรุงศรีอยุธยายกตามมาก็พร้อมจะรบกัน กองทัพกรุงศรีอยุธยาซึ่งตั้งทัพอยู่เพียงปากน้ำโพ ก็ไม่ได้ยกตามขึ้นไป



เหตุหนึ่งที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่คิด ปิดบัญชีŽ กับเจ้าเมืองเหนือ ก็อาจเป็นเพราะถึงคราว สุดวิสัยŽ แล้วก็เป็นได้



ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก แลเสด็จกลับคืน ครั้งเถิงกลางทางสมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน...Ž๕



แม้จะเป็นการประชวรสวรรคตที่ค่อนข้างปัจจุบันทันด่วน แต่หากคิดถึงพระชนมายุที่มากถึง ๘๑ พรรษาแล้ว ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดหวังหยั่งเชิงแต่ประการใด ที่สำคัญสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) น่าจะทรงเตรียมการทางการเมืองไว้พอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเรื่ององค์รัชทายาท



แต่สิ่งที่ทรงคิดไม่ถึงก็คือ ปัญหาทางการเมืองหลังจากพระองค์สวรรคต ไม่ได้เกิดขึ้นภายในกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่ปัญหาการแก่งแย่งราชบัลลังก์ระหว่างพี่น้อง หรือขุนนางอำมาตย์ แต่เป็นปัญหาที่ทรง ปล่อยŽ ไปเมืองลพบุรี เมื่อ ๑๘ ปีก่อน และบัดนี้ได้ย้อนกลับมา ทวงŽ ราชบัลลังก์คืนนั่นเอง


ปฏิวัติครั้งที่ ๒

วงศ์พระราม ขอคืนราชบัลลังก์

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงศึกครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ว่า เสด็จมาแค่ปากน้ำโพŽ๖ ยังไม่ได้ขึ้นไปจนถึงเมืองชากังราว ก็มีการเจรจาหย่าศึกกันเสียก่อน



การยุติศึกครั้งนี้ดูจะเป็นผลดีต่อกรุงศรีอยุธยาอย่างยิ่ง เพราะหากสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรงฝืนพระวรกายเข้ารบด้วยเจ้ามหาพรหม ผลอาจจะเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ และบานปลายถึงเสียบ้านเสียเมืองได้ เพราะมีพระอาการประชวรหนักอยู่ ไม่น่าจะนำทัพจนมีชัยเหนือศัตรูได้



ดังนั้นเมื่อทรงยกทัพกลับพระนครได้เพียงกลางทางก็เสด็จสวรรคต การอัญเชิญพระบรมศพกลับพระนครคงใช้เวลาประมาณ ๑ วัน



ช่วงเวลาเช่นนี้ ย่อมเกิด ความเคลื่อนไหวŽ จากฝ่ายต่างๆ ไปทั่วแผ่นดิน



ข่าวการสวรรคตย่อมไปเร็วกว่าพระบรมศพ นี่คือจังหวะและโอกาสในการ ขยับตัวŽ ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม



เวลานั้นภายในพระนครคงจะโกลาหลพอสมควร ไม่ว่าจะต้องเตรียมการรับพระบรมศพกลับสู่พระนคร การจุกช่องล้อมวังเตรียมอัญเชิญ หน่อพระพุทธเจ้าŽ ขึ้นครองราชสมบัติในทันที



เมื่อข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) และการอัญเชิญ เจ้าทองลันŽ พระราชกุมารที่มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ แพร่กระจายออกไป เจ้าเมืองใหญ่น้อยจากหัวเมืองต่างๆ ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู ย่อมตระเตรียมการเดินทางมาสู่พระนคร เพื่อถวายบังคมพระบรมศพและถวายพระพรพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่



แต่สมเด็จพระราเมศวรทรงเตรียมไพร่พลเพื่อการอื่น ทรงรอเวลาเช่นนี้มาอย่างยาวนานและน่าจะทรง พร้อมเสมอŽ สำหรับการทวงราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาสู่ราชวงศ์อู่ทองอีกครั้ง



ด้วยเหตุนี้การรัฐประหารครั้งที่ ๒ ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาจึงสำเร็จเด็ดขาดภายในเวลาเพียง ๗ วัน

แลจึงเจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบูรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้พิฆาฎเจ้าทองลันเสียŽ๗



ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับอื่นๆ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นอีกเล็กน้อยดังนี้

สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติŽ๘



และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต กล่าวถึง เทคนิครัฐประหารŽ ไว้ว่า

เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรจนหมดพระสติแลสิ้นหวังว่าจะหายประชวร จึงแสดงพระองค์ขึ้นโดยเปิดเผย ทรงรวบรวมพวกข้าราชบริพารเท่าที่จะหาได้ขึ้นไว้อย่างลับๆ



ครั้นเมื่อพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว พระองค์จึงลอบเสด็จเข้าไปยังพระนครศรีอยุธยาในเพลากลางคืน บุกโจมเข้าไปในราชฐานแล้วกระทำประทุษร้ายแก่เยาวกษัตริย์ให้สำเร็จโทษเสียด้วยความขัดเคือง แล้วสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้งหนึ่งŽ๙



สรุปว่าพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ บันทึกไว้ตรงกันว่าทรง ยกพลมาแต่เมืองลพบุรีŽ ในทำนองยกพลเข้ายึดเมือง ส่วนวัน วลิต บันทึกว่าเป็น แผนลอบสังหารŽ คือ ลอบเข้าไปในกรุงศรีอยุธยาในยามค่ำคืนŽ



ส่วนใครจะถูกหรือผิดนั้น ไม่สำคัญเท่ากับตอนจบที่เหมือนกันคือ สมเด็จพระราเมศวรทรงทำรัฐประหารครั้งนี้สำเร็จโดยง่าย เป็นการนำกรุงศรีอยุธยาคืนจาก วงศ์พระอินทร์Ž แห่งสุพรรณบุรี กลับมาเป็นของ วงศ์พระรามŽ แห่งอโยธยาอีกครั้ง



การรัฐประหารที่จบลงด้วย บัลลังก์เลือดŽ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยานี้ ได้สร้างความยากลำบากต่อคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพอสมควร เพราะเมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทำรัฐประหารสมเด็จพระราเมศวรครั้งก่อนนั้น ทรงเห็นว่าสมเด็จพระราเมศวรทรง ยอมŽ ยกราชบัลลังก์ให้แต่โดยดี โดยมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะมีการ คืนŽ ราชบัลลังก์ให้เมื่อสิ้นรัชกาล คล้ายกับความพยายามที่จะอธิบายเรื่องการ แทรกŽ ขึ้นสู่บัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และจะ คืนŽ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างไรอย่างนั้น



ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อสมเด็จพระราเมศวรถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาธิราช น่าจะมีความตกลงหรือเข้าพระทัยกันว่า สมเด็จพระราเมศวรเป็นรัชทายาทของสมเด็จพระบรมราชาธิราช คือตกลงกันว่า เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชแล้ว ก็ให้สมเด็จพระราเมศวรเข้ามาครองกรุงศรีอยุธยาอย่างเดิม ด้วยเหตุนี้จึงปล่อยให้สมเด็จพระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรีอย่างเดิมŽ๑๐



แต่แล้วเหตุการณ์กลับกลายเป็นว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ยกราชสมบัติให้กับเจ้าทองลัน พระราชโอรส เสมือนมีการ หักหลังŽ กันขึ้น ดังนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงอธิบายแก้ให้ว่า



เห็นจะไม่ทันได้ทรงสั่งเสียจัดวางการเรื่องรับรัชทายาท ข้าราชการพวกหนึ่งซึ่งมีความนิยมต่อเจ้าทองลันหรือไม่นิยมต่อสมเด็จพระราเมศวร จึงยกเจ้าทองลันราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช อันหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ว่ามีพระชันษาได้ ๑๕ ปี ขึ้นครองราชสมบัติŽ๑๑



แต่เมื่อเหตุการณ์รัฐประหารจบลงด้วยการนำเอากฎมนเทียรบาล ว่าด้วยการสำเร็จโทษเจ้านายมาใช้เป็นครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงอธิบายในบรรทัดต่อมาว่า มีผู้นิยมต่อเจ้าทองลันน้อย



พอสมเด็จพระราเมศวรทราบว่าพวกข้างกรุงศรีอยุธยายกเจ้าทองลันขึ้นครองราชสมบัติ ก็รีบรวบรวมไพร่พลยกลงมากรุงศรีอยุธยา เห็นจะไม่ได้มีผู้ใดต่อสู้เท่าใดนัก ด้วยผู้นิยมต่อเจ้าทองลันมีน้อย สมเด็จพระราเมศวรจึงได้กรุงศรีอยุธยา และจับเจ้าทองลันได้ภายใน ๗ วัน ถ้าหากว่าการที่ยกเจ้าทองลันขึ้นครองราชสมบัติต้องด้วยความนิยมของคนทั้งหลาย เห็นสมเด็จพระราเมศวรจะชิงราชสมบัติได้ด้วยยาก หากจะได้ก็คงจะช้ากว่า ๗ วันŽ



สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคงจะมีพระประสงค์ดี ไม่ต้องการให้คนเห็นว่าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาเริ่มต้นด้วยการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์ ดังนั้นจึงทรงอธิบายการรัฐประหารครั้งแรกของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ว่าเป็นการ ยอมŽ มากกว่า ยึดŽ แต่เมื่อข้อเท็จจริงแสดงออกไปอีกทางหนึ่ง จึงต้องทรง อธิบายแก้Ž อีกในครั้งต่อๆ มา แม้แต่คำว่า พิฆาตŽ ก็ทรงเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง ทรงใช้แต่เพียงว่า จับเจ้าทองลันได้Ž

แต่สิ่งหนึ่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ กลับเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบจนบัดนี้ นั่นคือ ความนิยมต่อเจ้าทองลันŽ



เหตุใดสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงทรงเลือกเจ้าทองลันให้เป็นรัชทายาท แน่นอนว่าพระองค์คงจะต้องมีพระราชโอรสจำนวนมาก หากไม่นับ พระเทพาหูราชŽ ที่ประสูติจากพระมหาเทวีแห่งราชวงศ์สุโขทัย๑๒ ซึ่งคงจะเป็นการลำบากหากจะให้ ข้ามฟากŽ มาครองกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในเรื่อง ความนิยมŽ แต่พระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ก็น่าจะมีไม่น้อย เพราะทรงเป็นทั้งกษัตริย์แห่งสุพรรณบุรีและกรุงศรีอยุธยา



แต่เหตุผลที่จะต้องเป็นเจ้าทองลันพระองค์นี้เท่านั้น ก็คงจะเป็นเพราะเป็นพระราชโอรสพระองค์โตหรือทรงเป็น หน่อพระพุทธเจ้าŽ ที่เกิดในเศวตฉัตรแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั่นเอง



เพราะเมื่อเทียบเวลาที่ทรงครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๑๘ ปี กับพระชนมายุของเจ้าทองลันเมื่อขึ้นครองราชสมบัติคือ ๑๕ พรรษา (วัน วลิต ว่า ๑๗ พรรษา) ก็เป็นเวลาที่สอดคล้องกันพอดี



ส่วนพระราชโอรสในแผ่นดินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุพรรณบุรีหรือสุโขทัย ล้วนไม่มีสิทธิเทียบเท่ากับเจ้าทองลันได้ และอาจจะก่อปัญหาเรื่อง ความนิยมŽ ที่เลวร้ายกว่ากรณีของเจ้าทองลันก็เป็นได้



อย่างไรก็ดี ความนิยมต่อเจ้าทองลันŽ ก็อาจจะไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่พระองค์ไม่สามารถรักษาเมืองจากการรัฐประหารครั้งนี้ได้ เพราะสมเด็จพระราเมศวรไม่ยอมรอนานไปกว่านี้อีกแน่ และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการรัฐประหารครั้งนี้ทรง เตรียมพร้อมŽ อยู่เสมอตลอด ๑๘ ปี



เมื่อการรอคอยสิ้นสุดลง สมเด็จพระราเมศวรทรงทำมากกว่าการยึดเมืองคืน ทรงสำเร็จโทษกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ และทรงสยบรัฐสุพรรณบุรีไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวอันจะเป็นภัยต่อกรุงศรีอยุธยาได้นานกว่า ๒๐ ปี ใน ๒ รัชกาล


รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร

กษัตริย์อันเป็นที่รักของขุนนางและราษฎร

สมเด็จพระราเมศวรทรงครองกรุงศรีอยุธยาไม่ยาวนานนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่ทรงรอคอย คือเป็นเวลาเพียง ๗ ปี (บางฉบับว่า ๖ ปี) แต่นับว่าเป็น ๗ ปี ที่มีความหมายต่อราชวงศ์อู่ทองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยา และการควบคุมนครรัฐอื่นๆ ที่เคยมีปัญหากับกรุงศรีอยุธยา

พระราชพงศาวดารไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสมเด็จพระราเมศวรมากนัก โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ไม่ได้พูดถึงเลยแม้แต่น้อย ส่วนฉบับอื่นๆ ก็พูดถึงแต่เพียงทรงทำศึกกับเชียงใหม่และกรุงกัมพูชา แต่ที่ชัดเจนคือ ตลอดรัชกาลของพระองค์กรุงศรีอยุธยาและกรุงสุโขทัย ไม่เคยกระทบกระทั่งกันเลย



ส่วน วัน วลิต ได้บันทึกเรื่องราวที่ทำให้เราได้รู้จักกับพระองค์มากขึ้นบ้าง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงหลังจากทรงขึ้นครองแผ่นดิน ก่อนหน้านี้ วัน วลิต ได้กล่าวถึงพระองค์ในทำนองว่าเป็นคนไม่ฉลาด โหดร้าย กระหายเลือด โลภ ตัณหาจัด และเรื่องในทางลบอื่นๆ จนเมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติครั้งที่ ๒ แล้ว ก็ทรงเปลี่ยนเป็นคนละคนเลยทีเดียว



พระองค์ได้ละพระนิสัยเดิมแล้วทั้งสิ้น ในรัชสมัยครั้งที่สองนี้ พระองค์ทรงพระคุณอันเลิศผิดกว่าความชั่วร้ายที่เป็นมนทินคราวเสวยราชครั้งที่แล้ว ทรงพระเมตตา มีพระการุณยภาพ ละเมียดละไม ไม่ด่วนลงพระราชอาญา แต่กลับพระราชทานอภัยโทษให้โดยง่ายดาย



พระองค์ทรงพระปัญญา สุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าในการใช้พระแสงบนช้างทรงและม้าทรง อีกทั้งอย่างทหารราบเดินเท้าด้วย ทรงบำเพ็ญทานแด่พระภิกษุสงฆ์แลยาจกวณิพก



ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไว้หลายแห่ง เนื่องจากทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา จึงมักเสด็จไปทรงสักการะบูชาพระพุทธเจ้า (gods - พระมหาเจดีย์ฐานทั้งห้า?) อยู่เนืองๆ ทำให้พระองค์ดูดุจภิกษุมากกว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์



พระองค์ทรงเป็นที่รักของเหล่าขุนนางและสามัญชนŽ๑๓

ไม่ว่า วัน วลิต จะถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปเพียงใด แต่สำหรับประโยคที่ว่า พระองค์ทรงเป็นที่รักของเหล่าขุนนางและสามัญชนŽ (He was much loved by the mandarins and the common man) ได้พิสูจน์ไว้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการเมืองภายในและภายนอก ปลอดจากการรบกวนไปยาวนานทั้งในรัชสมัยของพระองค์ และรัชสมัยต่อมา ซึ่งปกครองโดยพระราชโอรสของพระองค์



แม้ภายนอกจะดูสงบก็จริงอยู่ แต่คลื่นใต้น้ำนั้นเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา มหากาพย์แห่งสองราชวงศ์ ทั้ง วงศ์พระรามŽ และ วงศ์พระอินทร์Ž จึงยังไม่ถึงตอนอวสาน


ปฏิวัติโค่น วงศ์พระรามŽ

ศักราช ๗๕๗ กุญศก สมเด็จพระราเมศวรเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่านเจ้าพระญารามเสวยราชสมบัติŽ๑๔



สมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๑๙๓๘ ด้วยพระชนมายุ ๕๖ พรรษา ครองราชสมบัติ ๗ ปี



สมเด็จพระราเมศวรทรงพระประชวรก่อนเสด็จสวรรคต ดังนั้นจึงน่าจะมีโอกาส สั่งราชการŽ ไว้ล่วงหน้าถึงองค์รัชทายาท หรือไม่เช่นนั้น สมเด็จพระรามราชาธิราชŽ ก็คงจะเป็น หน่อพระพุทธเจ้าŽ จึงได้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์โดยอัตโนมัติ



พระราชประวัติของสมเด็จพระรามราชาธิราชนั้น เรารู้เพียงว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวรเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นปริศนา



แม้แต่จำนวนปีที่ทรงครองราชสมบัติก็ยังสับสน พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ระบุใกล้เคียงกันคือ ๑๔-๑๕ ปี, สังคีติยวงศ์ว่า ๓ ปี, วัน วลิต ว่า ๓ ปี เป็นต้น



หากยึดเอาพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่แม่นยำเรื่องศักราชที่สุดเป็นหลัก ก็จะได้ปีที่ทรงครองราชสมบัติตั้งแต่ปีจุลศักราช ๗๕๗-๗๗๑ นับปีเริ่มต้นและปีสุดท้ายด้วยก็จะได้ ๑๕ ปี



อย่างไรก็ดี จำนวนปีที่ทรงปกครองกรุงศรีอยุธยานั้นไม่น่าสงสัยมากไปกว่า ไม่มีพระราชพงศาวดารฉบับใดที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจไว้แม้แต่เพียงเหตุการณ์เดียว เรื่องราวของพระองค์มาปรากฏ ก็เมื่อทรงถูกทำรัฐประหารในตอนท้ายเท่านั้น



ส่วน วัน วลิต ได้พูดถึงพระราชประวัติไว้เล็กน้อยดังนี้



พระราม กษัตริย์สยามองค์ที่ ๖ เสวยราช ๓ ปี



พระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวร เสด็จขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระชนม์ ๒๑ พรรษา ทรงพระนามพระราม (Prae Rhaem) เสวยราชอยู่ ๓ ปี...Ž



ข้อความต่อจากนี้ วัน วลิต ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ถูกทำรัฐประหาร แต่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากหลักฐานชิ้นอื่นอย่างมาก



พระองค์ทรงพระปัญญาน้อย ตัดสินพระทัยผิดพลาดที่ส่งพระเชษฐาของพระทองจัน (ซึ่งถูกพระราเมศวร พระราชบิดาพระองค์จับสำเร็จโทษ) ให้เสด็จไปครองเมืองสุพรรณบุรี (Soupanna Boury) และพระราชทานอำนาจให้ล้นมือ จนท่านเจ้าเมืองนี้ประสบชัยชนะและสามารถปลงพระชนม์กษัตริย์พระรามลงได้ แล้วสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์



ไม่มีสิ่งใดที่จะกล่าวถึง พระรามกษัตริย์พระองค์นี้อีกต่อไป ก็ดังกล่าวมาแล้วว่าพระองค์ครองราชอยู่เป็นเวลาอันสั้น มิได้ทรงกระทำสิ่งใดที่สลักสำคัญขึ้นไว้Ž๑๕



แต่หลักฐานจากพระราชพงศาวดารอื่นๆ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ตรงกันว่า การรัฐประหารเกิดขึ้นจากเสนาบดีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขัดแย้งกับสมเด็จพระรามราชาธิราชจนถึงขั้น แตกหักŽ



ศักราช ๗๗๑ ฉลูศก สมเด็จพระรามเจ้ามีความพิโรธแก่เจ้าเสนาบดี แลท่านให้กุมเจ้าเสนาบดีๆ หนีรอด (แลข้ามไป) อยู่ฟากปท่าคูจามนั้น แลเจ้าเสนาบดีจึงให้ไปเชิญสมเด็จ (พระอินท) ราชาเจ้า มาแต่เมืองสุพรรณบูรี ว่าจะยกเข้ามาเอาพระนครศรีอยุทธยาถวาย...Ž๑๖



เจ้าเสนาบดีŽ ท่านนี้ ดูท่าจะเป็นใหญ่สูงสุดในบรรดาขุนนางอำมาตย์ และอาจจะเป็นเชื้อพระวงศ์อีกด้วย เพราะพระราชพงศาวดารฉบับนี้ไม่นิยมเรียกขุนนางอำมาตย์ทั่วไปด้วยคำว่า เจ้าŽ (พระราชพงศาวดารฉบับอื่นเรียกท่านผู้นี้ว่า เจ้าพระยามหาเสนาบดีŽ แต่ตำแหน่ง เจ้าพระยาŽ เกิดขึ้นหลังจากนี้หลายรัชกาล)



แต่จะเป็น เจ้าŽ ฝ่ายไหนนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะจากเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้เห็นที เจ้าเสนาบดีŽ คงจะไม่นับญาติกับ วงศ์พระรามŽ อีกต่อไป ดังนั้นพอหนีรอดได้ก็ ย้ายพรรคŽ ไปสนับสนุนเจ้า วงศ์พระอินทร์Ž ราชวงศ์สุพรรณภูมิทันที



ความผิดพลาดครั้งนี้ของสมเด็จพระรามราชาธิราช คือการปล่อยให้ เจ้าเสนาบดีŽ หนีไปตั้งหลักได้ คงคิดไม่ถึงว่าผลของมันจะบานปลายถึงขั้นนำไปสู่จุดจบของพระองค์ ความสงบเรียบร้อยตลอด ๑๕ ปี ที่ทรงรับอานิสงส์จากสมเด็จพระราเมศวรก็เป็นอันหมดสิ้นลง



เจ้าเสนาบดีŽ ไม่ได้หนีตายออกจากพระนครไปเพียงลำพัง แต่เป็นการ ยกพลŽ ออกจากพระนคร ก่อนจะตัดสินใจ ยกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครŽ ได้ในที่สุด โดยมีสมเด็จพระอินทราชาหรือสมเด็จพระนครอินทราธิราช เจ้าผู้ครองนครรัฐสุพรรณบุรี หลานของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ยกพลเข้ามาสนับสนุน



ครั้นแลสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาเถิงไซ้ จึงเจ้าเสนาบดียกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครศรีอยุทธยาได้ จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าขึ้นเสวยราชสมบัติŽ๑๗



เทคนิครัฐประหารŽ ครั้งนี้คงเป็นการล้อมพระนครทั้ง ๒ ด้าน โดยมี เจ้าเสนาบดีŽ เป็นแม่ทัพใหญ่เป็นฝ่ายบุกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาจากทางทิศใต้ของเกาะเมืองคือบริเวณปทาคูจาม จนกระทั่งบุกเข้าถึงพระราชวังหลวงปล้นเอาราชบัลลังก์ได้สำเร็จ



ฝ่ายสมเด็จพระอินทราชานั้นคงจะทรงเข้าร่วมเป็น ทัพสนับสนุนŽ นำกำลังพลล้อมพระนครฝั่งทิศเหนือหรือตะวันออกในคราวนี้ด้วย



เมื่อบุกเข้าพระราชวังได้ ทำรัฐประหารสำเร็จ เจ้าเสนาบดีŽ ท่านนี้ ก็ทำตัวเป็น ผู้จัดการรัฐบาลŽ โดยอัญเชิญสมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป



หลังจากนั้นสมเด็จพระอินทราชาก็ไม่ได้ สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์Ž สมเด็จพระรามราชาธิราช เพื่อเป็นการแก้แค้นให้กับเจ้าทองลัน พระญาติŽ ของพระองค์ ที่ถูกสมเด็จพระราเมศวรสำเร็จโทษไปเมื่อรัฐประหารครั้งก่อน แต่ทรงพระเมตตา ให้สมเด็จพระญารามเจ้าไปกินเมืองปท่าคูจามŽ ทางทิศใต้ของเกาะเมืองนั่นเอง

การรัฐประหารครั้งที่ ๓ ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา มีผลทำให้ราชวงศ์อู่ทองสลายตัว หมดบทบาท และหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอย่างถาวร



ศึกแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณภูมิถึงตอนอวสานอย่างแท้จริง



ต่อจากนี้ไป ก็ได้เวลารบกันเองแล้ว!




เชิงอรรถ

๑ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับพิมพ์ตามฉบับพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๖, ๒๕๔๐), น. ๑.

๒ ประเสริฐ ณ นคร. สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๑), น. ๓๑๑.

๓ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, น. ๒.

๔ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต. (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ม.ป.ป)., น. ๑๑.

๕ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, น. ๒.

๖ แสง มนวิทูร (แปล). ชินกาลมาลีปกรณ์. (กรุงเทพฯ : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย, ๒๕๑๘), น. ๑๑๒.

๗ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, น. ๓.

๘ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๖), น. ๑๑๕.

๙ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต. น. ๑๒.

๑๐ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑, น. ๔๒๗.

๑๑ เรื่องเดียวกัน, น. ๔๒๘.

๑๒ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองกรุงสุโขทัย. (กรุงเทพฯ : เจ้าพระยา, ๒๕๒๘), น. ๑๘.

๑๓ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต. น. ๑๒.

๑๔ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, น. ๓.

๑๕ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต. น. ๑๓.

๑๖ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, น. ๓.

๑๗ เรื่องเดียวกัน, น. ๓.