Wednesday, September 06, 2023

ภูมิศาสตร์ มีผลต่อ สังคม วัฒนธรรม ของคนในแต่ละพื้นที่อย่างไร

 from https://markpeak.net/origins-lewis-dartnell/ 

origins: how the earth shaped human history

ในฐานะผู้สนใจเรื่องภูมิศาสตร์ (geography) และภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ก็มีคำถามในใจตลอดมา ในประเด็นว่าภูมิศาสตร์ (เช่น ภูเขา ทะเลทราย แม่น้ำ ทะเล) มีผลต่อสภาพการเมือง สังคม วัฒนธรรม ของคนในแต่ละพื้นที่อย่างไร

คำถามข้อหนึ่งที่ผมสงสัยมานานมาก คือทำไมขอบเขตแผนที่ของยุโรปถึงหยุดอยู่แถวๆ โมร็อกโก ตั้งแต่ยุคกรีก-โรมันแล้วไม่ไปต่อ ทำไมคนยุโรปถึงไม่สามารถล่องเรือ เดินทางเลาะตามชายฝั่งแอฟริกาเพื่อมาหา “โลกใหม่” ตั้งแต่สองพันปีก่อน ทำไมต้องรอถึงยุคโคลัมบัสถึงกล้าเดินเรือออกมาได้

ผมไม่สามารถหาข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์มาตอบคำถามนี้ได้อย่างกระจ่างแจ้ง (หรือเราหาไม่เจอเองก็ไม่ทราบได้) จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง ในทวิตเตอร์สายภูมิศาสตร์-แผนที่ ที่ติดตามอยู่ มีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้ Origins: How the Earth Shaped Human History ของ Lewis Dartnell เลยตามไปหาข้อมูลเพิ่มดู และพบว่านี่แหละคือสิ่งที่เราตามหามานาน

Lewis Dartnell เป็นอาจารย์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ University of Westminster เขาจบการศึกษาด้านชีววิทยาดาราศาสตร์ (Astrobiology) และมีผลงานหนังสือเล่าเรื่องด้านวิทยาศาสตร์หลายเล่มหลายแขนง

ผลงานเล่มก่อนหน้าของเขาคือ The Knowledge: How to Rebuild Our World from Scratch (2014) พูดเรื่องการสร้างสิ่งต่างๆ วิทยาการในปัจจุบันขึ้นมาใหม่ หากโลกเจอกับหายนะขึ้นมา ซึ่งเพิ่งมาทราบเหมือนกันว่าหนังสือเล่มนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้มังงะเรื่อง Dr.Stone ด้วย ส่วนหนังสือเล่มใหม่ของเขาเพิ่งออกในปี 2023 คือ Being Human: How our Biology shaped World History ที่ตั้งชื่อล้อกับเล่ม Origins แต่เป็นเรื่องชีววิทยาแทนที่จะเป็นเรื่องภูมิศาสตร์

ถ้าใครขี้เกียจอ่านก็สามารถชมคลิปบรรยายของ Dartnell ได้ มีหลายอัน

ผมใช้เวลาอ่านๆ หยุดๆ อ่านๆ Origins อยู่นาน สุดท้ายอ่านจบก็พบว่าสมความมุ่งหมาย ได้คำตอบที่ต้องการ และได้เวลามาเขียนแนะนำให้คนอื่นบ้าง (เผื่อมีคนสนใจแปลเป็นภาษาไทย)

เนื้อหาใน Origins พูดถึงปัจจัยทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา (geology) ที่กลายเป็นตัวกำหนดทิศทางของสิ่งมีชีวิตและสังคมมนุษย์ (อย่างไม่ตั้งใจ) และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของเรา ว่าจริงๆ แล้วปัจจัยเกิดจากอะไร

หนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 บท ขอสรุปเนื้อหาคร่าวๆ ของแต่ละบทดังนี้

บทที่ 1: The Making of Us

บทแรกเปิดมาว้าวพอสมควร เพราะกล่าวถึงว่าลิงวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร โดยกล่าวถึงพื้นที่จุดกำเนิดมนุษย์คือ The East African Rift ช่องเขาแคบๆ ที่อยู่แถบประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน มีภูมิประเทศพิเศษเป็นรูปตัว Y มีภูเขาสูงกันความชื้นที่ลอยมาจากมหาสมุทรอินเดีย มีร่องรอยของภูเขาไฟ เมื่อเจอกับสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากร้อนเป็นเย็น จากเย็นเป็นร้อน จากฝนตกเป็นแห้งแล้ง ช่วยเร่งให้วิวัฒนาการของลิงเร็วขึ้นจนกลายเป็นเผ่า Homo Sapiens และภายหลังเดินทางออกนอกแอฟริกาไปทั่วโลก (อ่านแล้วอยากไปเห็นของจริงเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร)

บทนี้ยังพูดถึงอารยธรรมโบราณต่างๆ ในยูเรเชีย ว่าสอดคล้องกับรอยต่อของเปลือกโลก เพราะมีขี้เถ้าจากภูเขาไฟทำให้เพาะปลูกได้ดี มีอาหารมากพอสำหรับชุมชนมนุษย์ที่อยู่กันเป็นหลักแหล่ง

บทที่ 2: Continental Drifters

ต่อจากบทแรก พูดเรื่องประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของโลกที่มีช่วงยุคน้ำแข็ง (glacial) กับช่วงอากาศอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (interglacial) ที่เกิดจากวัฏจักรการหมุนของโลกรอบดวงอาทิตย์ (Milankovitch cycle) และมีผลต่อระดับน้ำทะเล ช่วงอากาศอุ่น น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลขึ้นสูง ท่วมแผ่นดินบางจุด มีผลต่อสิ่งมีชีวิต และทำให้มนุษย์ในอดีตต้องเดินทางหนีน้ำ ไปหาแหล่งอาหารใหม่ๆ จนกระจายตัวไปทั่วโลก

บทที่ 3: Our Biological Bounty

บทนี้พูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคโบราณ ที่โชคดีมาเจอยุคอากาศอุ่น (interglacial) ที่เรียก Holocene ช่วงประมาณ 11,000 ปีก่อน จึงเริ่มก่อสร้างอารยธรรมตามจุดต่างๆ เช่น Fertile Crescent (เมโสโปเตเมียไล่มาจนถึงอียิปต์) และจีน เริ่มการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น wheat (ข้าวสาลีในเมโสโปเตเมีย), rice (ข้าวในจีน), maize (ข้าวโพดในอเมริกา) และจับสัตว์หลายชนิดมาเลี้ยงเพื่อบริโภค-ใช้งาน พอมีอาหารเลี้ยงประชากรจำนวนมากขึ้นได้ ก็ขยายชุมชนไปเรื่อยๆ กลับไปใช้ชีวิตเร่ร่อนไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ยังพูดถึงข้อได้เปรียบของยูเรเชียในเรื่องภูมิศาสตร์-ชีววิทยา ทำให้สังคมมนุษย์วิวัฒนาการเร็วกว่าฝั่งอเมริกามาก และปัจจัยเรื่องทรัพยากรแม่น้ำในอียิตป์-จีน ที่กลายเป็นแหล่งอารยธรรม

บทที่ 4: The Geography of the Seas

บทนี้กล่าวถึงการจัดการทรัพยากรน้ำ จนทำให้ฮอลแลนด์ที่ถูกบีบคั้นจากการเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล พัฒนาตัวเองเรื่องเทคโนโลยีกังหันน้ำ และเทคโนโลยีการเงิน การระดมทุน สร้างระบบทุนนิยมยุคแรกได้

จากนั้นพูดถึงบทบาทของทะเล โดยเฉพาะทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เป็นจุดศูนย์กลางของยุโรปยุคโบราณ คาแรกเตอร์ของดินแดนสองฝั่งทะเลที่ต่างกัน (ยุโรปเป็นภูเขา ชายฝั่งเว้ามีเกาะแก่ง แอฟริกาเป็นที่ราบ ชายฝั่งเรียบตรง) ทำให้อารยธรรมสองฝั่งทะเลต่างกันมาก

ข้ามมายังมหาสมุทรอินเดีย เส้นทางเดินทะเลโบราณ ความสำคัญของช่องแคบ Aden, Hormuz, Malacca ในเชิงยุทธศาสตร์การยึดครองเป็นเจ้าทะเลในอดีต

บทที่ 5: What We Build With

บทนี้เกี่ยวกับ “วัสดุ” ที่มนุษยชาติใช้งานสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ มาตั้งแต่โบราณ เช่น หิน limestone & หินอ่อน, ไม้ & โคลน ที่นำมาสร้างเป็นอิฐ, ดินสอพอง (chalk) & หินเหล็กไฟ (flint), หินแกรนิต โดยกล่าวถึงวัสดุแต่ละประเภทว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร (ในเชิงธรณีวิทยา) เกิดขึ้นในยุคสมัยไหน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างไร และมนุษย์ค่อยๆ ขุดดินและหินเหล่านี้มาใช้งานได้อย่างไร

บทที่ 6: Our Metallic World

แนวเดียวกับบทที่ 5 แต่เป็นเรื่องโลหะต่างๆ ที่มนุษยชาตินำมาใช้ทำเครื่องมือในแต่ละยุคสมัย เช่น บรอนซ์/สำริด (bronze) ดีบุก (tin) ทองแดง (copper) เหล็ก (iron) และวิธีเปลี่ยนเป็นเหล็กกล้า (steel) โดยพูดถึงจุดกำเนิดของโลหะเหล่านี้บนโลก วิธีการที่มนุษย์นำมาใช้งาน ความหายาก แยกสกัดโลหะต่างชนิดกันได้ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้น

บทนี้มีความเป็นวิชาเคมีสูง (ในหัวข้อย่อยหนึ่งยังตั้งชื่อว่า The Periodic Table in Your Pocket) ค่อนข้างน่าเบื่ออยู่บ้าง มาติดที่บทนี้อยู่นานกว่าจะมีกำลังใจอ่านต่อ

บทที่ 7: Silk Roads and Steppe People

บทนี้พูดเรื่องการบุกเบิกเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมอาณาจักรจีนทางตะวันออก กับเอเชียกลาง-ยุโรปเข้าด้วยกัน โดยเป็นเส้นทางที่หลบเลี่ยงทิเบต ซึ่งเป็นทางตันในเชิงภูมิศาสตร์โลก (เทือกเขาสูง ที่ราบสูง) คนโบราณใช้วิธีลัดเลาะตามช่องเขาและทะเลทรายทางเหนือของทิเบตเพื่อให้เดินทางนำสินค้ามีค่าสูง (ผ้าไหมในยุคแรก และสินค้าอื่นในยุคต่อมา) ไปขายในต่างแดนได้ แต่จริงๆ แล้วเส้นทางเหล่านี้คืออยู่บนรอยของเปลือกโลกที่พุ่งชนกัน และเกิดเป็นจุดโอเอซิสหลายๆ จุดต่อกัน คนและสัตว์จึงมีน้ำและอาหารช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดได้ในพื้นที่ทุรกันดารขนาดนั้น

ครึ่งหลังของบทพูดถึงชาวเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ที่อยู่ตอนเหนือของเส้นทางสายไหมอีกที ว่าเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมเมืองเกษตรกรรมใกล้เคียง ทั้งฝั่งจีนและยุโรปมาตลอดประวัติศาสตร์ เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในตอน Steppe: Eurasia Highway

บทที่ 8: The Global Wind Machine and the Age of Discovery

บทนี้คือสิ่งที่ตามหาจากหนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องการทำงานของ “ลม” ในโลกว่าเป็นอย่างไร เคยเขียนสรุปเรื่องลมไว้แล้วในโพสต์ ว่าด้วยการพัดของลมในโลก และ ทะเลไร้ลม Calm Belt มีอยู่จริงในโลก

หลังจากเข้าใจระบบการทำงานของลมบนโลกแล้ว เนื้อหาครึ่งหลังของบทนี้เป็นการสรุปว่า กะลาสีเรือชาวโปรตุเกสค่อยๆ เรียนรู้การทำงานของลมในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไร และกะลาสีแต่ละรุ่นค่อยๆ เรียนรู้ แก้ปัญหาไปทีละส่วน จนสุดท้าย Bartolomeu Dias เดินทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปได้สำเร็จในปี 1487 และ Vasco da Gama เดินทางไปถึงอินเดียได้ในปี 1498 (เดี๋ยวจะเขียนถึงเรื่องนี้ต่อไป)

บทที่ 9: Energy

บทสุดท้ายพูดเรื่องพลังงานได้น่าสนใจมาก เล่าถึงวิวัฒนาการเรื่องการใช้พลังงานของมนุษยชาติ เริ่มจากการเปลี่ยนพลังงานแสง (solar) ในพืช กลายมาเป็นอาหารของสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นกำลัง (muscle) ทั้งคนและสัตว์ในการลากจูงสิ่งต่างๆ มาสู่ยุคกังหันน้ำ-กังหันลม มาสู่ยุคเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้พลังจากการเผาไม้ จนไม้หมดประเทศอังกฤษ ก่อนมาขุดพบพลังงานชนิดใหม่คือ ถ่านหิน (coal) และน้ำมัน (oil) ที่เกิดจากการสะสมโดยบังเอิญของชั้นหินในโลกเพียงยุคเดียว ซึ่งมนุษย์เรากำลังสูบของสะสมเก่ามาใช้ ที่โลกไม่สามารถผลิตขึ้นมาใหม่โดยง่ายด้วย

สรุป

ผู้เขียนได้รวมประเด็นด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขา ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ฯลฯ มาเรียงร้อยเข้ากันเป็นเรื่องเดียวได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลและข้อจำกัดของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติได้ชัดเจนมาก ดีถึงระดับเกิดความรู้สึกว่า ทำไมเราไม่สอนเรื่องเหล่านี้ในระดับโรงเรียน

ผมได้คำตอบของสิ่งที่อยากรู้มานาน และได้ความรู้พื้นฐานในศาสตร์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันว่าโลกเราเป็นอย่างนี้เพราะอะไร และเป็นพื้นฐานสำหรับการไปต่อยอดหาความรู้เพิ่มเติม เจาะลึกในด้านต่างๆ ได้อีกมาก

Wednesday, July 20, 2022

วิธีล้มประชาธิปไตย

ที่มา โดยคุณ Pakinai
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0jyp8cKWVM9MPTPaTnoRtTHLFLE4hEMVSp1EpfY6iM33yg8ZCjQKLkALjDTeMGqocl&id=539526609

โมเดลที่ฝ่ายขวาใช้ล้มประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2549 มีองค์ประกอบสำคัญตามนี้
1. มวลชนอนุรักษ์นิยม+สลิ่ม
2. กระบวนการยุติธรรม
3. องค์กรอิสระ
4. กองทัพ
5. สถาบันกษัตริย์
6. เครือข่ายชนชั้นนำจารีตและข้าราชการ
7. เครือข่ายกลุ่มทุนขนาดใหญ่
8. ใช้สื่อสารมวลชนเป็นกระบอกเสียง
9. พรรคการเมืองแนวร่วม
--
วิธีการ
1. ปูทางเหตุผลล่วงหน้าเป็นปีด้วยข้อโจมตีสารพัด จริงๆ เท็จๆ ผสมกันไป
2. สร้างการรับรู้ให้คนในสังคม ว่าทำไมต้องต่อต้านรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง
3. จัดตั้งองค์กรนำมวลชน (เช่น พธม, กปปส และอื่นๆ) เพื่อระดมมวลชนลงถนน สร้างเงื่อนไขทางการเมือง สร้างกระแสมวลชน กระแสม้อบ จุดให้ติดเพื่อชุมนุมได้อย่างยาวนาน สามารถสร้างการรับรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องได้
4. ระดมแรงสนับสนุนทุกด้านจากเครือข่ายฝั่งตัวเองไม่ว่าจะเป็นเงิน อาคารสถานที่ ธุรกิจ ฯลฯ
5. ใช้คนของตัวเองฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเชือดให้ตายในทางกฎหมาย จนถึงเอาเข้าคุก
6. เมื่อทำม้อบจนถึงจุดหนึ่ง จุดที่สุกงอมมากพอ มีเหตุผลมากพอ ก็เปิดทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ โดยมีการเมืองมวลชนฝั่งตัวเองยืนปรบมือต้อนรับ ให้ความชอบธรรมการรัฐประหาร
7. เมื่อยึดอำนาจได้ก็ออกแบบกลไกอำนาจทุกจุด สกัดไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามสู้คืนได้ หรือ สู้ยากที่สุด
--
ในกรณีที่ยังกดปราบฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ผล อีกฝ่ายสามารถระดมคนออกมาสู้ได้ ยังเอาชนะได้ วิธีการที่เขาใช้ก็คือใช้อำนาจดิบกดปราบ (รูปธรรม คือ ยิงมวลชนอีกฝ่ายทิ้งกลางเมือง, ว่ากันว่าตัวเลขที่ฝ่ายนั้นตั้งเพดานเอาไว้เมื่อปี 2553 คือยิงทิ้ง 1,000 -1,500 คน 1,000-1,500 คนอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ อันนี้ไม่มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ เป็นข้อมูลปากเปล่า เล่าสู่กันฟัง ไม่จำเป็นต้องเชื่อผม)
--
วิธีคิดเหล่านี้ยังคงอยู่ในหัวพวกมันเหมือนเดิมครับ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก

Saturday, April 23, 2022

ประวัติโดยย่อ ของนายทองด้วง โดยคุณ markpeak

ที่มา https://markpeak.net/thongduang/

ประวัติชีวิตนายทองด้วง

กำลังอ่านหนังสือเรื่อง “2325 เปิดศักราชกรุงเทพฯ” เล่าประวัติช่วงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ (สำนักพิมพ์สารคดี) พบว่าได้เรียนรู้ชีวประวัติของรัชกาลที่ 1 เพิ่มอีกหลายอย่าง

ในฐานะคนไทยทั่วไปที่เรียนประวัติศาสตร์เฉพาะในตำราเรียน เราทราบกันคร่าวๆ แค่ว่า รัชกาลที่ 1 เป็นนายทหารคู่ใจของพระเจ้าตากสิน ที่ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ในภายหลัง, ย้ายเมืองหลวงข้ามฝั่งแม่น้ำมากรุงเทพ และมีตำนาน “อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว” เป็นที่เล่าขาน

โฟกัสใหญ่ๆ ของรัชกาลที่ 1 นอกจากการเป็นปฐมกษัตริย์ผู้ตั้งราชวงศ์จักรี ก็มีเรื่องการยึดอำนาจของพระเจ้าตาก ทำไมต้องยึด พระเจ้าตากตายจริงหรือไม่ ไปบวชที่นครศรีธรรมราชรึเปล่า ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนถกเถียงกันไปเยอะแล้ว

แต่รัชกาลที่ 1 เป็นใครมาจากไหน ทำอะไรมาก่อน กลับเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้กันสักเท่าไรนัก (ถ้าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจจริงจัง) การอ่านหนังสือเล่มนี้เลยตอบคำถาม และเห็นภาพมากขึ้น

ในโอกาสที่เขียนบล็อกนี้ในวันจักรี พ.ศ. 2565 (240 ปีหลังครองราชย์) เลยมาสรุป timeline เส้นทางชีวิตของ “นายทองด้วง” ก่อนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เอาไว้หน่อย

  • พ.ศ. 2279 [อายุ 0 ปี] – “ทองด้วง” เกิดในสมัยอยุธยา ในตระกูลขุนนาง พ่อคือ หลวงพินิจอักษร
  • พ.ศ. 2286 [อายุ 7 ปี] – “บุญมา” น้องชายเกิด
  • ช่วงวัยเด็ก – ไม่ปรากฏข้อมูลมากนัก
  • ช่วงวัยผู้ใหญ่
    • ไม่ได้รับราชการหลวง แต่ไปสังกัดเจ้านาย “พระองค์เจ้าอาทิตย์” พระราชนัดดาพระเจ้าเอกทัศน์
    • น้องชาย บุญมา เข้ารับราชการ เป็นทหารคนสนิทของพระยาตาก
    • แต่งงานกับคุณนาค ซึ่งเป็นลูกของคหบดีเมืองราชบุรี (ภายหลังเป็น สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี)
  • พ.ศ. 2308 [อายุ 29 ปี] – กองทัพพม่าบุกอยุธยา ไปหลบกับพ่อตาอยู่ที่สมุทรสงคราม (บางกุ้ง)
  • พ.ศ. 2310 [อายุ 31 ปี] – กรุงศรีอยุธยาแตก บุญมาหลบหนีตามพระเจ้าตาก ฝ่าวงล้อมทหารพม่าไปตีเมืองจันทน์
  • พ.ศ. 2311 [อายุ 32 ปี]
    • บุญมา มาตามพี่ชายที่บางกุ้ง ไปรับราชการกับพระเจ้าตาก โดยตำแหน่งแรกเป็น พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา
    • งานแรกคือ ปราบก๊กเจ้าพิมาย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์
    • ฉิม ลูกชายคนแรกเกิด (ต่อมาคือ รัชกาลที่ 2)
  • พ.ศ. 2312 [อายุ 33 ปี]
    • ไปปราบก๊กพระยานครศรีธรรมราช แต่ไม่สำเร็จ
  • พ.ศ. 2313 [อายุ 34 ปี]
    • ไปปราบก๊กเจ้าพระฝาง บุญมาได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาสุรศรี, ทองด้วงได้เป็น พระยายมราช
  • พ.ศ. 2314 [อายุ 35 ปี]
    • ไปตีกัมพูชาทางบก สยามชนะได้ดินแดนบางส่วนของกัมพูชา
  • พ.ศ. 2316 [อายุ 37 ปี]
    • สกัดทัพพม่า-ลาว ที่ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา
  • พ.ศ. 2317 [อายุ 38 ปี]
    • ไปตีเมืองเชียงใหม่ + ไปรับมือทัพพม่าที่ศึกบางแก้ว (ราชบุรี)
  • พ.ศ. 2318-2319 [อายุ 39-40 ปี]
    • ศึกอะแซหวุ่นกี้ ที่พิษณุโลก เหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว (ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนบอกว่าไม่มีจริง)
  • พ.ศ. 2322 [อายุ 43 ปี]
    • ศึกเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ ได้พระแก้วมรกต
  • พ.ศ. 2324 [อายุ 45 ปี]
    • ศึกกัมกูชา (อีกรอบ)
  • พ.ศ. 2325 [อายุ 46 ปี]
    • เดินทางกลับจากทัพกัมพูชา มายึดอำนาจพระเจ้าตาก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์

Wednesday, November 10, 2021

มุมมองต่อ พระพุทธเจ้า โดยคุณ Sãi Bản Mường

มุมมองต่อ พระพุทธเจ้า โดยคุณ

Sãi Bản Mường


 https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1238187966709710&id=100015555556981

ย้อนมองพระพุทธะในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ —ครูของเรา
[ภาพวาดจำลองพระพุทธเจ้าในฐานะภิกษุรูปหนึ่งแห่งอินเดียโบราณ]
________________
ชาวพุทธและผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะมองภาพพระพุทธเจ้าเป็นจอมศาสดาผู้ทรงฤทธานุภาพเหนือมนุษย์ พร้อมด้วยลักษณะอันวิเศษเกินบรรยาย เปล่งรัศมีประกาย สามารถควบคุมดินฟ้าอากาศหรือทำให้คนศรัทธาได้เพียงเห็นรูปลักษณะ และบริหารจัดการคณะสงฆ์พร้อมพุทธบริษัทอย่างราบรื่นไปตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มประกาศพระศาสนาไปจนปรินิพพาน
ภาพที่ปรากฏในพระคัมภีร์ดั้งเดิม เช่น พระวินัยปิฎก และพระสูตรในนิกายทั้งห้าแห่งฝ่ายบาลีและอาคมะทั้งสี่แห่งปิฎกจีน สำแดงรูปพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลประวัติศาสตร์ แตกต่างอย่างมากจากสามัญสำนึกของชาวพุทธ ซึ่งมักมองผ่านพระพุทธรูปและภาพวาดต่างๆ ที่จำลองต่อเนื่องกันมาหลายยุคสมัย โดยสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ที่มีเคยมีชีวิตจริง ซึ่งน้อยนักที่แง่มุมนี้จะถูกนำมาพูดถึง
▪️พระพุทธเจ้าในคัมภีร์รุ่นเก่านั้นปรากฏพระองค์เป็นสมณะรูปหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับนักบวชที่มีหลากหลายในยุคสมัยนั้น เนื้อความต่างๆ ระบุชัดเจนว่าทรงมีศีรษะโล้นเปล่าเช่นเดียวกับภิกษุสาวกของพระองค์ และหลายครั้งที่คนอื่นไม่อาจแยกแยะพระองค์ออกจากภิกษุสาวกได้ สองเท้าเปลือยเปล่าสัมผัสฝุ่นผงของพื้นดินโคลนเหยียบย่ำบิณฑบาตเพื่อดำรงชีพและเดินจาริกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทรงรักที่จะทำกิจต่างๆ ด้วยตนเอง ทรงเข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มรวมทั้งมิตรต่างศาสนาอย่างเป็นกันเอง แม้จะมีผู้ติดตามจำนวนมากที่ต้องการพบปะสนทนา แต่ก็ทรงรักความสงบสงัดวิเวกลำพัง ในความเป็นมนุษย์ก็ทรงมีปัญหาด้านสุขภาพ (นัยว่ามีเหตุมาจากการทรมานร่างกายอย่างหนักปางตายเมื่อครั้งยังหนุ่ม) ซึ่งต้องพึ่งพาการรักษาของแพทย์ควบคู่ไปกับการเยียวยาด้วยอำนาจจิตแห่งสมาธิ มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยที่ต้องพักผ่อน และพึงใจกับความเงียบสงบแห่งป่ามากกว่าเสียงอึกทึกคราคร่ำของหมู่บ้าน เมืองหลวง และผู้คนจำนวนมาก
▪️จากชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งแสวงหาความหมายของชีวิตและทดลองผ่านวิธีการมากมายของสำนักลัทธิต่างๆ แต่ก็ไม่เห็นว่าเป็นทาง ในที่สุดก็ได้ค้นพบด้วยตนเองซึ่งวิถีเพื่อเข้าใจธรรมชาติแห่งกายและใจที่นำไปสู่ความเป็นอิสระจากทุกข์และปัญหาในชีวิต จนได้นามว่า "ผู้ตื่น" หรือ "พุทธะ" (Buddha) วิถีอันทั้งเรียบง่ายตรงไปตรงมาแต่ก็ลึกซึ้งสุขุมอย่างยิ่งจนเห็นว่ายากเกินกว่าจะอธิบายให้ผู้อื่น แต่ด้วยเล็งเห็นความสามารถที่แฝงอยู่ภายในเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกัน จึงออกเดินทางเพื่อแบ่งปันสิ่งอันได้ค้นพบ ว่าด้วยสภาพตามธรรมชาติและการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อความไม่ถูกผูกมัดในทุกข์และเป็นอิสระ เรียกกันทั่วไปว่า "ธรรมะ" (Dharma)
▪️กลุ่มผู้ฝึกปฏิบัติตามเพิ่มจำนวนตามลำดับอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน "สังฆะ" (Sangha) ผู้มีวิถีชีวิตแห่งความเป็นอิสระ กลุ่มคนผู้ดำเนินชีวิตตามทางนี้อย่างจริงจังได้เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้คนร่วมสมัยดำเนินตาม เป็นส่วนทำให้ "ธรรมะ" หรือคำสอนจากการค้นพบของพุทธะแพร่ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงเวลายาวนานนับ 45 ปีที่ออกแบ่งปันความเข้าใจนี้ก็ทำให้คำสอนได้รับการพัฒนาจนครอบคลุมอย่างรอบด้านในชีวิตอันหลากหลายของมนุษย์
▪️การจัดการองค์กรควบคู่ไปกับงานเผยแผ่เป็นสิ่งท้าทาย เพราะนอกจากผู้คนที่ศรัทธาและผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเต็มที่ ยังต้องประสบปัญหามากมายที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก กล่าวคือพฤติกรรมจากนิสัยและพื้นเพที่แตกต่างหลากหลายในสังฆะเองเมื่อมาอยู่ร่วมกัน กับความไม่พอใจ การต่อต้าน การริษยาจ้องทำลายล้างและโจมตีโดยผู้ที่ถือความเชื่ออื่นหรือขั้วอำนาจทางการเมือง แต่เราพบว่าพระพุทธะสามารถผ่านมาได้เสมอ มิใช่ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เหนือมนุษย์ แต่ด้วยปัญญาและเมตตาอย่างยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้หนึ่ง ประกอบกับความสงบนิ่งแจ่มใสและความมีสาระที่แท้จริงโดยปราศจากความกลัว จึงได้ทรงถูกยกย่องเป็น ผู้นำและเป็นครูชั้นเลิศของโลก
▪️ในความเป็นจริง พุทธะแสดงตนในฐานะ "เพื่อน" (กัลยาณมิตร) สำหรับชาวโลก มากกว่าจะเป็นผู้นำใดๆ ที่เพียงแต่แนะนำให้เพื่อนได้ค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง และด้วยเหตุนั้นจึงทรงร่วมลงทำกิจวัตรต่างๆ ในแบบเดียวกับภิกษุสาวกอื่นๆ โดยแทบไม่มีอะไรพิเศษยิ่งกว่า ทรงวางรูปแบบให้สงฆ์ดูแลกันและกันเช่นเดียวกับที่ดูแลพระองค์ ทรงใกล้ชิดกับเหล่าภิกษุและฆราวาสเพื่อสอดส่องดูความเป็นไปและดูแลอย่างทั่วถึง
คำสอนเปี่ยมด้วยเมตตาเอื้อเฟื้อและให้โอกาสสำหรับผู้ผิดพลาดเสมอ แม้จะมีทั้งท่าทีที่อ่อนโยนและแข็งแรง แต่ก็ทรงปรารถนาให้มีความเป็นอิสระและการแปรเปลี่ยนที่ทำออกมาจากใจมากกว่าการบังคับ ไม่ได้ทำตัวเป็นนักกฎหมายเพื่อบัญญัติข้อห้ามต่างๆ แต่ทรงให้สังฆะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและผลกระทบในชีวิตจริงจนเห็นชัดแล้วจึงกำหนดให้เป็นวินัย (ดั่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน มิใช่อำนาจสั่งการของบุคคล) ทว่า พร้อมกันนั้นก็ทรงเปี่ยมด้วยความเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัว เท่าทันลักษณะของสังคมรอบข้าง และยืดหยุ่นปรับตัวตามบริบท (ตราบที่ยังรักษาหลักการไว้ได้) เป็นท่าทีที่อิสระและมีเหตุผล มิใช่ท่าทียืนกรานอย่างแข็งกร้าวยึดถือเอารูปแบบเป็นสัจจะสูงสุด
▪️พุทธะทรงยกธรรมหรือหลักการดำเนินในชีวิตเป็นใหญ่และทรงถอยไปอยู่เบื้องหลังเสมอ โดยมิให้ติดกับตัวบุคคลใดๆ แม้แต่ตัวพระองค์เอง สำหรับผู้ที่รักในตัวพระองค์เพราะได้สัมผัสถึง "ธรรมอันมีชีวิต" ก็ทรงให้ยึดธรรมนั้นเองเป็นตัวแทนเพื่อให้ธรรมนั้นแลมีชีวิตในตัวผู้นั้นต่อไป ในที่สุดก็ทรงถือว่าพระองค์ไม่ได้เป็นผู้บริหารปกครองอะไรทั้งนั้น แต่สังฆะดำเนินไปด้วยหลักธรรมของผู้ปฏิบัติที่เป็นสมาชิกแต่ละบุคคลนั้นเอง
▪️จุดเริ่มต้นของ "พระพุทธเจ้า" กับการค้นพบที่เป็นการพัฒนาทางจิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่คราวได้นั่งใต้ร่มเงาไม้โพธิ์ การออกเดินทางเพื่อสั่งสอนและสื่อสารต่อโลก พร้อมคำสอนหรือ "ธรรมะ" ที่ถือเป็นตัวแทนต่อไป ยังคงเป็นที่ประทับใจของผู้คนจากหลากหลายพื้นเพรากเหง้า และได้รับการสืบทอดต่อเนื่องไปในทั่วโลก จนปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาที่แตกต่างเสมอมา ด้วยเป็นภูมิปัญญาอันมาจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะมิติภายใน ความเท่าทันแรงจูงใจเบื้องหลังพฤติกรรมต่างๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจของปัจเจกบุคคล เพื่อชีวิตที่สงบสุข ขยายครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติตนที่เหมาะสมในแง่มุมอันหลากหลายของสังคม
▪️ภาพของพุทธะ—ผู้เป็นครู (ศาสดา) ได้ถูกเพิ่มเติมสีสันเพื่อสร้างความเชื่อและศรัทธา เพื่อให้ผู้คนได้เห็นแบบอย่างและมีแรงใจให้หันมาสู่ธรรมที่อยู่ในจิตของตนนั้น หรืออาจกลายไปเพื่อความมั่งคั่งและผลประโยชน์ขององค์กร ภาพของบุคคลในประวัติศาสตร์ถูกแทนที่ด้วยบุคคลในตำนาน ชีวิตจริงในธรรมชาติของมนุษย์ถูกแทนที่ด้วยปาฏิหาริย์ แม้ยังเหลือหลักฐานในชั้นคัมภีร์และโบราณคดีอยู่มากมายพอให้สืบทราบได้ แต่เราจะอาจรู้แน่ชัดจริงแท้ที่สุดละหรือว่า พุทธะนั้นคือใคร? หรืออะไร?
ภาพในใจที่เรามีต่อพระพุทธะเป็นเพียงสิ่งสะท้อนจากประสบการณ์อันจำกัดที่ได้รับรู้ของเราแต่ละคน ดังนั้นจงเปิดใจให้กว้าง เพราะพุทธะในใจของแต่ละคนย่อมไม่มีความตรงกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในตำนาน บุคคลในประวัติศาสตร์ หรือเพียงสภาวะที่ไร้บุคคล
... "ความเป็นพุทธะ" ที่แท้ ที่ตลอดชีวิตของท่านได้สื่อสารกับเรานั่นอาจเป็นความเข้าใจต่อธรรมชาติของตนเอง คือพุทธะที่อยู่ในทุกคน ในธรรมชาติ และในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายของชีวิต

Thursday, September 30, 2021

การอธิบาย QE โดยคุณบอส

ที่มา 
https://www.facebook.com/Bossficial/posts/3059562350988386

เรื่องกรณี Debt-ceiling ที่กำลังเป็นปัญหาในสหรัฐตอนนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมโคตรจะสุดแสนเบื่อ มันเกิดขึ้นซ้ำซากและเกิดขึ้นมาตลอดเรื่อยๆ แล้วมันก็ทำให้ตลาดหุ้นกลัว แต่ท้ายที่สุดมันก็ผ่านไปทุกครั้ง
ผมได้ยินเรื่องนี้มาตลอด แต่จะพีคๆหน่อยก็ตั้งแต่สมัยเป็นนักเก็งกำไรอิสระอยู่ในห้องค้ากสิกร (พหลโยธิน) ตั้งแต่ยุคโบราณช่วงพี่กวี จะลงมาพูดคุยกับนักเก็งกำไรทั้งหลายในช่วงบ่ายวันอังคาร
และเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่ายทุกครั้งเพราะมันจะเป็นเรื่องการเมืองของสภาสหรัฐ เป็นหนึ่งในประเด็นการเมืองมาตลอด สมัยโอบามาก็ต้องปรับเพดานหนี้ สมัยทรัมพ์ก็ต้องทำ สมัยไบเดนก็ต้องทำ
คือไอ้พรรคเวรทั้งคู่เนี่ย ตัวก่อหนี้ทั้งคู่แหละ ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใครหรอกเอาจริงๆ แล้วพอเวลาใครเป็นฝ่ายค้านมันก็จะชวนค้านว่าทำให้เสียระบบการคลัง ก่อหนี้เกินตัว บลาบลา อะไรเงี้ย
และทุกครั้งก็จะมาพร้อมเรื่องเดิม ... "ปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดีไหม?"
หลายคนอาจจะ งง ว่า มันคืออะหยังกันวะ แล้วเรื่องนี้มันแก้ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะได้อย่างไร
จริงๆสหรัฐกับไทยในเรื่องนี้จะว่าไปแล้ว คล้ายกัน อย่างในไทยเองก็มีกฎหมายในเรื่องของการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งถ้ารัฐบาลอยากจะก่อหนี้เพิ่มเติม เกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ก็ต้องไปแก้กฎหมายตรงนั้นถึงจะทำได้
สหรัฐก็มีกฎหมายที่คล้ายกันนี้ โดยหลักการแล้วก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลนั้นก่อหนี้ได้ตามใจจนเกินกว่าเพดานหนี้ อารมณ์เหมือนรัฐบาลมีบัตรเครดิตใบหนึ่ง ที่เอาไว้ดูแลคนทั้งประเทศ บัตรนั้นก็ควรมีวงเงินกำหนดไว้ ถ้าไม่กำหนดก็รูดเพลินก่อหนี้เพียบ
แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วการก่อหนี้ของรัฐบาลแบบ "ตามใจ"​ มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะวงเงินใช้จ่ายที่มันมากกว่างบประมาณยังไงซะก็ต้องออกพระราชบัญญัติ มีโครงการ มีการวางกรอบ สำรวจราคา อะไรต่างๆอยู่แล้วตามปกติ
สิ่งที่มันเป็นวงรอบของหนี้ก็คือ สมมติว่า ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว สมมติว่าปี 2543 รัฐบาลออกพันธบัตรเอาไว้อายุ 20 ปี ดังนั้นกำหนดไถ่ถอนก็คือปี 2563 โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะออกหนี้อยู่แล้วเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศตามโครงการต่างๆ
และหนี้โดยมากก็จะมีการหมุนต่อไปเรื่อยๆ (Rollover) ดังนั้นรัฐบาลก็อาจจะก่อหนี้เรื่อยๆเพิ่มทุกปี เพราะจำนวนหนึ่งนั้นก็มาเพื่อชำระหนี้เดิมต่อไป
มันก็จะมาถึงทางตันเมื่อกฎหมายห้ามก่อหนี้เพิ่ม แต่หนี้ที่มีอยู่ก็ต้องชำระคืนตามกำหนดไถ่ถอน และค่าใช้จ่ายต่างๆก็ไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าตามถนนหนทาง ซ่อมบำรุงถนน อะไรต่างๆ ทุกอย่างของประเทศ
ดังนั้นสิ่งที่มันเป็นไอเดียมาโดยตลอดคือให้กระทรวงการคลังของสหรัฐนั้น "ออกเหรียญ" ทำด้วยโลหะแพลทินัม จำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือเท่าไหร่ก็ได้) จากนั้นเอาเหรียญนี้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้หลักตอนนี้ของรัฐบาลสหรัฐก็คือธนาคารกลางสหรัฐ
และรัฐบาลสหรัฐก็ออกหนี้ก้อนใหม่ได้ในวันเดียวกัน ดังนั้นก็ไม่ต้องไปนั่งปวดหัวกับเรื่องของเพดานหนี้อีกต่อไป
หลายคนอาจจะ งง ยังไงวะ?
คือจริงๆแล้วมันเป็นวิธีการในเชิง "บัญชี" ขอเล่าให้ฟังง่ายๆแบบเทียบกับไทยก็ได้ เพราะมีกฎหมายคล้ายกัน
อันดับแรกที่ต้องเข้าใจคือ เรามีสององค์กรหลักที่ดูแลเรื่องเงินๆทองๆ ของประเทศนี้ องค์กรแรกก็คือ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ "หา" และ "ใช้" เงินในประเทศนี้
องค์กรในการดูแลของกระทรวงการคลังด้านการ "หาเงิน" เช่น กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร ก็เป็นเรื่องของภาษีต่างๆ ตั้งแต่ภาษีบุคคล ภาษีนำเข้า ภาษีเหล้าเบียร์บุหรี่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม บลาบลา ที่รัฐบาลจะเก็บจากเราและบริษัทต่างๆนั่นแหละ
ส่วนการ "ใช้เงิน" เช่น กรมบัญชีกลาง มีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินเดือนข้าราชการ อะไรต่างๆเป็นต้น
จุดสำคัญคือ "กรมธนารักษ์" นั้นมีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ (ภายใต้กองกษาปณ์) ซึ่งก็คือหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังนั่นแหละ โอเคจำไว้ให้ขึ้นใจนะ "กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญได้"
อีกองค์กรก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆ เช่นพวกธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นถือเป็น "หน่วยงานอิสระ" ไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงอะไร จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีโรงพิมพ์ธนบัตร มีหน้าที่ผลิตเงินกระดาษที่เราใช้กัน เป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นอธิบายง่ายๆคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น "พิมพ์แบงค์ได้"
ทั้งสองอย่างนี้ ไม่ว่าจะเหรียญกษาปณ์ หรือ ธนบัตร อยู่ภายใต้กฎหมายอีกฉบับหนึ่งก็คือ "พระราชบัญญัติเงินตรา" ที่กำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้ว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจในการออกใช้เหรียญกษาปณ์ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการออกใช้ธนบัตร
กลับมาที่สหรัฐ คล้ายกัน กฎหมายเรื่องกระทรวงการคลังออกใช้เหรียญกษาปณ์ และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ออกใช้ธนบัตร คล้ายกฎหมายไทย
ทีนี้อย่างกรณีสหรัฐเราจะเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายหนึ่งก็คือการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE - Quantitative Easing)
โดยธนาคารกลางสหรัฐ ก็คีย์ตัวเลขขึ้นมาดื้อๆ ใส่บัญชีแล้วก็เอาเงินที่ "เสก" ขึ้นมานั้น ไปซื้อพันธบัตร/ตราสารหนี้ ในตลาดรอง ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐก็กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ รายหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ
อธิบายคร่าวๆนโยบาย QE นี้คือการปรับลดผลตอบแทนในตลาดรองของพันธบัตรและตราสารหนี้ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ลดดอกเบี้ยต่ำจนกระทั่งต่ำที่สุดแล้ว แต่ผลตอบแทนในตลาดยังสูง นโยบายนี้จะไปกระตุ้นให้ผลตอบแทนในตลาดรองต่ำลง
โดยทฤษฎีก็คือการทำให้คนมองไม่เห็นว่า ทั้งฝากธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตร ไม่เห็นผลตอบแทน คนก็ "อาจจะ" พิจารณานำเงินไปทำอย่างอื่น เช่น ชอปปิ้ง ซ่อมบ้าน เปลี่ยนรถใหม่ อะไรก็ว่าไป เพราะเก็บเงินไว้ "ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว"
พอมันมาถึงประเด็นในข้อที่ว่า เพดานหนี้มันติดหล่มทางกฎหมาย ทะเลาะโวยวายกันในสภาอยู่แทบทุกปี มันก็มีอยู่สองอย่างที่จะไปแก้ไขเรื่องวุ่นวายไร้สาระนี้ให้มันจบลงได้
หนึ่ง - ยกเลิกอีกฎหมายบ้านั้นซะ แล้วรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมานั่งถกเถียงเรื่องเพดานหนี้สาธารณะอะไรกันอีกต่อไป จะก่อหนี้อะไรก็ออก พระราชบัญญัติมา ทำไปตามระเบียบเดิม
สอง - เลิกเถียงกันสักทีปวดหัว ให้กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์ออกมาซะเลย แล้วเอาเหรียญนั้นจ่ายหนี้เดิมแล้วก่อหนี้ใหม่แทน
ถามว่าทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเป็นไปได้ไหม?
เป็นไปได้ครับ ง่ายด้วย
เพราะอะไร?
เพราะข้อแรกคือไม่ว่าจะกฎหมายทั้งสหรัฐหรือไทย ในพระราชบัญญัติเงินตรา ไม่ได้มีการกำหนดว่า "ห้ามเกิน" เท่าไหร่
และสอง ไม่ได้กำหนดไว้ว่าห้ามทำ ดังนั้นในเชิงกฎหมายแล้ว สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า "ห้าม" ก็ถือว่าสามารถทำได้ตามกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายนั่นเอง
แต่โดยทั่วไปตามหลักปฏิบัติสากลแล้ว การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ ก็ต้องมีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น ทองคำ หรือทรัพย์อื่นๆ เพื่อให้เราสามารถมั่นใจได้ว่ากระดาษที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของทุกคนในประเทศนั้น "มีค่า"
ส่วนเหรียญกษาปณ์นั้น ไม่ได้มีการกำหนดสินทรัพย์หนุนหลังอยู่แล้วเพราะเหรียญนั้นผลิตด้วยโลหะ ดังนั้นโลหะไม่ว่ามันจะเป็นสังกะสี ทองแดง ทองคำ เงิน ดีบุก อะไรก็ตาม มันมีมูลค่าในตัวมันอยู่แล้ว
ดังนั้นการผลิตเหรียญกษาปณ์ ก็จะผลิตออกตามมูลค่าที่ไม่เกินโลหะ เช่น ต้นทุนการผลิตเหรียญบาท อาจจะใช้โลหะผสมมูลค่า 50 สตางค์ เป็นต้น เพราะถ้าเหรียญบาท โลหะที่ใช้มูลค่าสูงกว่า 1 บาท มันก็จะทำให้เกิดการทำ Arbitrage ขึ้น
หรือก็คือ คนจะไปแลกหาเหรียญบาทแล้วเอามันไปหลอม จากนั้นก็เอาโลหะไปขาย เป็นต้น
แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดไว้ว่า ห้ามทำเหรียญมูลค่าเท่าใด ในขณะที่การกำหนดเรื่องของการชำระด้วยเหรียญที่เป็นกฎกระทรวงว่า เหรียญ 10 บาท ห้ามชำระเกินเท่านั้นเท่านี้ ก็มีการกำหนดแค่เรื่องของเหรียญแบบเฉพาะเจาะจง ตามมูลค่าในตลาด
แต่ไม่ได้ออกกฎหมายในข้อที่ว่า หากกระทรวงการคลังไทย ออกเหรียญมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จะไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ เพราะกฎกระทรวงหนึ่งในการกำหนดห้ามชำระเกิน ก็มีแค่กำหนดสำหรับเหรียญ 10 บาท 5 บาท 1 บาท และสตางค์ต่างๆ
ทำความเข้าใจตามทันมั้ย? อะไรก็ตามที่กฎหมาย ไม่ได้กำหนด ไม่ได้ห้าม ก็ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย
ช่องโหว่ตรงนี้มันก็เลยทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาตลอดทุกครั้งเวลาเถียงกันเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ ให้กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์ นำเหรียญนี้ไปชำระหนี้กับธนาคารกลาง
เมื่อทำเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่าจำนวน "หนี้" ก็จะลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกไปจากบัญชี จ่ายให้ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ ก็จะ "ลบ" สัดส่วนหนี้สินของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐนั้นออก และถือเหรียญ 1 ล้านล้าน เป็นรูปแบบทรัพย์สิน
สิ่งที่กระทรวงการคลังสหรัฐกลัวนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีเงินสดใช้ เพราะในทางทฤษฎีแล้วกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตลอด และมีรายจ่ายตลอดก็ตามที แต่มันหมุนเวียนไปตามปกติของเศรษฐกิจอยู่แล้ว
ที่กังวลในเรื่องนี้ก็คือเรื่องการที่รัฐบาลสหรัฐจะ "ผิดนัดชำระหนี้" ดังนั้นสิ่งนี้จะไปแก้ไขตรงนั้นได้ ธนาคารกลางสหรัฐรับเหรียญมาแล้ว ก็ถือว่าจ่ายหนี้เสร็จ จากนั้นกระทรวงการคลังสหรัฐ ก็ไปก่อหนี้ใหม่แทน
พูดง่ายๆคือ คลังสหรัฐออกเหรียญมา คืนเงินให้ผู้ถือพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน สมมติว่าธนาคารกลางสหรัฐเจ้าเดียว 1 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐรับเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว คลังสหรัฐก็จะมีหนี้สินลดลง 1 ล้านล้าน เพราะชำระให้ธนาคารกลางสหรัฐไปแล้ว ครบถ้วนตามกำหนด ไม่ผิดนัดชำระหนี้
จากนั้นอีก 1 นาทีถัดมา คลังสหรัฐเขียนสัญญาเงินกู้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ว่าไป
ธนาคารกลางรับสัญญาเงินกู้ แล้วธนาคารกลางสหรัฐก็ "จ่าย" 1 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยเหรียญที่พึ่งรับมาให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐ
อันนี้อธิบายให้ฟังแบบภาพง่ายๆ ในทางปฏิบัติจริงมันจะซับซ้อนหน่อยเพราะผู้ถือหนี้ไม่ได้มีแค่รายเดียว แต่มันทำได้ เพราะท้ายที่สุดการจ่ายคืนทางบัญชีที่ต้องทำผ่านธนาคาร มันก็เป็นแค่การ Settlement ทางบัญชีกันในระบบอยู่ดีนั่นแหละ
แต่ถามว่าควรไหม? มันก็ไม่ควร เพราะมันก็ดูเป็นการใช้กลไกเล่นแร่แปรธาตุ กับช่องว่างทางกฎหมาย ในขณะที่องค์กรรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และธนาคารกลาง ก็ควรเป็นองค์กรที่น่าเคารพและเชื่อถือได้ มีความโปร่งใส และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ
แต่มันก็ไม่แน่ที่วิธีการอย่างนี้จะไม่ถูกนำออกมาใช้ อย่างกรณี QE ที่ทุกคนกลัวว่าเงินจะกลายเป็นกระดาษเช็ดตูด ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย
ทุกวันนี้ทำกันมาเป็นสิบปี ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินที่ถูกสร้างขึ้น ถ้ามันเป็นการสร้างแล้วแปลงไปอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ มันก็จะถูกสร้างสมดุลในกลไกของตลาด
อารมณ์เหมือนธนาคารกลาง พิมพ์เงินออกมา เพื่อแทรกแซงสภาวะตลาดในช่วงที่มันกำลังสั่นคลอน นำไปซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่อง
ธนาคารกลางสหรัฐก็แค่ปรับบทบาทเป็นผู้ถือหนี้แทน พอครบกำหนดชำระ ก็รับชำระมา และเงินที่ถูกสร้างขึ้นก็ถูกทำลายออกไป เป็นต้น
ส่วนในเชิงที่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายหนี้เกินตัว ก่อหนี้มากเกินไป หรือไม่ ตรงนี้จริงๆมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลนั้นสามารถตั้งงบประมาณขาดดุลได้ และกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งถ้ามันอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะได้คืนมาก็คือ มีรายได้ในรูปแบบภาษีที่สูงขึ้น และสัดส่วนของหนี้สินจะลดลงเรื่อยๆ หากการลงทุนนั้นได้ผล เศรษฐกิจเติบโต
อธิบายภาพตามอย่างนี้ว่า สมมติ ราชอาณาจักรน้องบอส มี GDP อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เรามีหนี้อยู่แล้ว 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือก็คือ 50% ของ GDP ก็ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร
จากนั้นนายกรัฐมนตรีมองว่า ราชอาณาจักรน้องบอส น่าจะก้าวไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว และเทคโนโลยี เราจะรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น และดึงดูดบริษัทใหญ่ๆเข้ามาตั้ง Super Cloud Server ในประเทศ
เราลงทุนเพิ่ม 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่กว่าจะเก็บเงินให้ได้แสนล้าน อาจจะต้องรอกันอีกหลายสิบปี และในทางเศรษฐกิจแล้วนั้น "เวลา คือโอกาส เวลาคือเงินตราสกุลหนึ่ง"
นายกตัดสินใจ โอเคเราลุย ลงทุนเลย กู้ 1 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นหนี้ของประเทศจะอยู่ที่ 60% ของ GDP นึกภาพตามทันเนอะ
เรานำเงินนั้นมาลงทุน สร้างทุกสรรพสิ่ง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราชักชวนบริษัทใหญ่ๆต่างๆมาลงทุนสำเร็จ เป็น Super Cloud Server ระดับภูมิภาค เกิดการจ้างงานของ Apple, Google, Microsoft ในสำนักงานของราชอาณาจักรบอสบอส
ประชาชนนับหมื่นคนมีงานทำ เมื่อคนมีงานก็ต้องจ่ายภาษี, เมื่อคนมีเงินมากขึ้นก็อยากยกระดับฐานะ ปรับปรุงบ้านใหม่ เปลี่ยนรถใหม่ ก็มาในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่งให้กำไรบริษัทต่างๆมีกำไรก็ต้องเสียภาษีนิติบุคคล
เศรษฐกิจก็เติบโตขึ้น จาก GDP 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 5 ปีกลายเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือก็คือเติบโตราวเกือบ 4% ต่อปี และในระยะ 5 ปีนี้ เราไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม
ดังนั้นสัดส่วนหนี้เดิมของเราที่ 1 แสนล้าน ที่ก่อขึ้นมา โดยไม่ได้ก่อเพิ่มในระยะ 5 ปีต่อไป ทำให้หนี้ต่อ GDP จากเดิม 5 แสนล้าน + 1 แสนล้านที่กู้ใหม่เพื่อ Project นี้ เทียบกับ GDP ที่เศรษฐกิจเติบโตมาถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ก็จะกลายเป็น 50% ของ GDP
ตามทันมั้ย? เดิม GDP 1 ล้านล้าน, มีหนี้เดิม 5 แสนล้าน และก่อหนี้ใหม่ 1 แสนล้าน เท่ากับเรามีหนี้ต่อ GDP ที่ 60% ผ่านมา 5 ปี เราไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม แต่ก็ยังไม่ได้จ่ายหนี้เดิม หนี้มีเท่าเดิม 6 แสนล้าน แต่ GDP เติบโตขึ้นมาเป็น 1.2 ล้านล้าน ดังนั้นหนี้ก็จะลดลงเหลือแค่ 50% ของ GDP
ในกรณีนี้ก็คือถ้าเงินมันถูกนำไปใช้ต่อยอด พัฒนา และสร้างความคุ้มค่าที่ถูกที่ควร ต่อให้เรากู้เงินเยอะ นำไปลงทุนอย่างคุ้มค่า ท้ายที่สุดสัดส่วนหนี้มันก็จะลดลงเอง เพราะเศรษฐกิจมันเติบโตได้คุ้มค่าต่อหนี้ที่เราก่อ
เราต้องไม่กลัวหนี้ ถ้าเราอยากที่จะเติบโต กรณีใช้เหรียญปั๊มขึ้นมาชำระหนี้มันก็เรื่องหนึ่งที่ฟังดูลดความน่าเชื่อถือและความรู้สึกไม่ใช่น้อย
แต่การมีหนี้ของประเทศ ถ้ามันถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม และต่อยอดสร้างมูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้มันคือภาระหนี้ที่ประชาชนที่ต้องใช้ร่วมกัน แต่ในวันที่เศรษฐกิจเติบโต เราก็ได้ประโยชน์จากมันเช่นเดียวกัน
จบส์ จะมีคนอ่านมาถึงตรงนี้กี่คนวะเนี่ย 55555

Saturday, September 25, 2021

เฟตตูชินี่เห็ดทรัฟเฟิล สูตรเชฟทักษ์


(แปะไว้ จะได้หาง่ายๆ) เนื้อหาจากโพสต์เชฟทักษ์ ทั้งหมด
ที่มา  https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=137282824650074&id=105874777790879

หน้าฝน ชื้นๆอย่างนี้ ก็ไม่พ้นฤดูกาลของเห็ดสิครับ โดยเฉพาะคนที่หลงรักกลิ่นของเห็ดทรัฟเฟิล ซึ่งถือว่าเป็นเห็ดที่แพงที่สุดในโลก กิโลกรัมละเป็นแสนบาท ต้องไม่พลาดเมนูนี้
❤️ พาสต้าสูตรนี้เป็นชนิดครีมซอสแบบ light ครับ กล่าวคือมันจะไม่หนักมาก เบาๆ แต่เข้มข้นถูกใจคนไทย เพราะไม่ได้ใช้ครีมอย่างเดียว แต่ใช้นมสดเป็นส่วนใหญ่ครับ
1. พาสต้าเส้นแบน (Fettuccine) 8 ก้อน (ในแพ็คเค้าจะม้วนมาเป็นก้อนๆ) ซื้อที่
2. เห็ดแชมปิยองสีน้ำตาล Brown Button Mushroom หั่นหนา 1 ซม. 200 กรัม (1กล่อง 35 บาทเอง ที่แม๊คโคร)
3. ทรัฟเฟิลเข้มข้น (Truffle Paste) 3 ช้อนโต๊ะ
(กระปุกละ 500กรัม ราคา 570 บาทที่แม๊คโคร คุ้มนะครับ) แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ
4. นมสดไขมันเต็ม 1 ถ้วยตวง หรือ 200 มิลลิลิตร
5. ครีมแท้ ชนิดวิปปิ้งครีม 50 มิลลิลิตร
6. เนยสดชนิดจืด 1 ช้อนโต๊ะ
7. หอมใหญ่ 1/4 ลูก สับละเอียดยิบ
8. กระเทียมจีน 1 กลีบเล็ก สับละเอียดยิบ
9. เกลือป่น 1/2 ช้อนชา (เริ่มต้น)
10. พริกไทดำตามชอบ
1. ต้มเส้น โดยเริ่มจากตั้งน้ำเปล่าให้เดือด ใส่เส้นพาสต้าลงไปต้ม (ไฟกลาง) ช่วงแรกให้คนหน่อยครับ ต้มไป 10 นาที (หรือตามที่ระบุที่ห่อ) เอาขึ้นใส่กระชอน ล้างน้ำเย็นเพื่อหยุดความร้อน จากนั้นนำน้ำมันในขวด truffle paste 1 ช้อนชาใส่ลงไปเคลือบเพื่อไม่ให้เส้นติด และเพิ่มความหอม พักเส้นรอไว้
2. ทำซอสเห็ดทรัฟเฟิล โดยเริ่มจากการผัดเห็ด หอมใหญ่ เนย และเกลือในกะทะไฟกลางถึงแรง ประมาณ 2 นาทีจนเห็ดเกรียม และเหี่ยวลง
3. ใส่กระเทียม ลงไปผัดอีก 30 วินาที
4. ใส่นมสดลงไป ตามด้วยครีม ต้มกับเห็ดที่ผัดแล้วจนเดือด และนมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล (ขั้นตอนนี้ ถ้าใครไม่อยากกินพาสต้า สามารถตักขึ้นทานเป็นซุปเห็ดได้เลย อร่อย นัว หอม หวานมาก)
5. ต้มไปอีกซัก 1 นาที จนครีมซอสงวดลงเล็กน้อย
6. ปิดไฟ และใส่ truffle paste ลงไปผสม
7. ชิมน้ำซอส ต้องให้เค็มนำนิดนึง เค็มนำหมายความว่าตอนชิมซอสแล้วถ้าอร่อยพอดี ให้เติมเกลือลงไปอีกซัก 1/4 ช้อนชา มันจะเค็มเกินไปหน่อย แต่พอใส่เส้นลงไปคลุกมันจะพอดี
8. เปิดไฟกลาง ใส่เส้นที่ต้มสุกแล้วลงไปคลุกกับซอส ตอนนี้เหมือนน้ำซอสจะยังเหลวๆนองๆ แต่พอคนต่อไปอีก 30 วินาที น้ำซอสจะซึมเข้าไปในเส้น และซอสจะเข้นขึ้นพอดี
9. ตักขึ้นใส่จาน ใส่พริกไทดำป่นก่อนเสิร์ฟ
⭕️⭕️⭕️เจาะลึกเทคนิคเนิร์ดๆ⭕️⭕️⭕️
(ส่วนนี้สำหรับเด็กเนิร์ด ใครขี้เกียจอ่าน ข้ามไปสรุปด้านล่างสุดได้เลย 🤓🤓🤓)
1️⃣ในขั้นตอนที่ 1 ที่ให้ต้มเส้นก่อนทำซอส ล้างด้วยน้ำเย็น และใส่น้ำมันทีหลัง ถ้าเพื่อนชาวอิตาเลี่ยนมาอ่านคงนั่งด่าในใจ เพราะมันคือการทำตรงข้ามกับชาวอิตาเลี่ยนหมดเลย 5555
ของเขาจะต้องทำซอสพร้อมต้มเส้น พอเริ่มผัดเห็ดเตานึง อีกเตาก็จะเริ่มต้มเส้น น้ำที่ต้มเส้นก็ต้องใส่เกลือจนเค็มเหมือนน้ำทะเลเมดิเตอเรเนียนพอซอสทำและปรุงเสร็จหมาดๆ เส้นจะสุกพอดี เขาจะยกเส้นร้อนๆขึ้นจากน้ำเปล่าลงน้ำซอสทันที มันเป็นศิลปะของชาวอิตาเลี่ยนแบบ home cook
แต่ที่ผมให้ต้มเส้นก่อน เพราะมันเป็นเทคนิคการ preparation แบบร้านอาหาร เตรียมทุกอย่างให้พร้อม ตอนทำซอสจะได้ไม่ต้องมาพวงกับการต้มเส้นไงครับ ทำให้เสร็จทีละอย่าง ปลอดภัยกว่า ถ้าเซียนแล้วค่อยทำแบบอิตาเลี่ยนเขา
2️⃣ในขั้นตอนที่ 2 ตอนผัดเห็ด เกลือ และเนยขั้นตอนนี้สำคัญมากๆเพราะเป็นการสร้างกลิ่นรสของเห็ดที่หอมหวล
เนยกับไฟแรงๆ ผสมกับหอมใหญ่จะช่วยให้เห็ดเกรียมเป็นสีน้ำตาลไวขึ้น เนยมีโปรตีนนม มีกรดอะมิโน หอมใหญ่จะปล่อยน้ำตาลออกมา เกลือช่วยลดค่ากิจกรรมของน้ำ (water activity)
ทั้งหมดนี้ช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาล (Maillard Reaction) กับเห็ดได้ไวขึ้น ซึ้งจากโพสต์ก่อนๆได้อธิบายไปแล้วว่า ปฏิกิริยานี้จะให้ทั้งสี และกลิ่นแบบ meaty หรือเนื้อย่างเกรียมๆ ทั้งๆที่ไม่มีเนื้อสัตว์ในสูตรนี้เลย
อีกทั้งเนยยังมีกลิ่นจาก diacetyl ซึ่งให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของเนยสดอีกด้วย
ต่างจากการใช้น้ำมันพืชผัด เพราะน้ำมันพืชไม่มีกรดอะมิโน ไม่มีโปรตีนนม และไม่มีกลิ่นหอมเหมือนเนย เราใส่เนยแค่นิดเดียวครับ แค่ 1 ช้อนโต๊ะเอง แต่มันสร้างความแตกต่างมากๆ ไม่อ้วนมากหรอกครับ
3️⃣ในขั้นตอนที่ 3 กระเทียมต้องใส่ตอนหลัง เพราะถ้าใส่ไปตั้งแต่แรก กระเทียมมีสิทธิ์ที่จะไหม้ได้ ถ้ากระเทียมไหม้ มันจะขม แทนที่จะได้รสหอมหวานของกระเทียมสุก การที่เราสับกระเทียมละเอียด ผัดต่อไปอีก 30 วินาทีก็สุกแล้ว
4️⃣ในขั้นตอนที่ 4 สูตรในเน็ตทั่วไป มักจะให้ใส่แต่ครีม ในครีมซอส แต่การใส่ครีมล้วนๆลงไปมันเลี่ยนมากๆๆครับ และยิ่งตอนใส่เส้นลงไปผัด เส้นจะคายแป้งออกมา ยิ่งทำให้ครีมมีความ “แหยะ และเหนอะหนะ” ในปากไปอีก
ในร้านอาหารที่เวลาสั่งพาสต้าครีมซอส เค้าจะใส่นมสดเป็นหลักต่างหากครับ เราเลยกินแล้วอร่อย ตักได้เรื่อยๆ ไม่เลี่ยน สูตรนี้ผมเลยให้ใส่ นมต่อครีม อัตราส่วน 4:1 ครับ
ใครกลัวอ้วน ใส่นมอย่างเดียวเลยก็ได้นะครับ มันจะยิ่งเบาไปอีก
ตอนทำซอสตอนนี้ถ้าใครลองชิมน้ำซอสในขั้นตอนนี้จะพบว่ามันกลมกล่อม หอมหวานมากทั้งๆที่ไม่ได้ใส่ผงชูรส แหะๆ ก็ใช่สิครับ ในเห็ดมันอัดแน่นไปด้วยผงชูรสธรรมชาติที่เรียกว่า “กัวไนเลต” มันเป็นนิวคลิโอไทด์ชนิดหนึ่งครับ
อีกทั้งในหอมใหญ่ยังมีน้ำตาลที่ให้ความหวาน บวกกับกลิ่นหอมของสีน้ำตาลจากเห็ดผัดเนยเกรียมๆ ที่อธิบายไว้ในข้อ 2 ที่ช่วยขับรสทุกอย่างให้หอม และกลมกล่อมมากๆครับ เทคนิคเหล่านี้ช่วยทำให้อาหารอร่อยขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งผงชูรสสังเคราะห์
5️⃣ในขั้นตอนที่ 5 การที่ต้มต่อไปอีก1นาที ช่วยให้ทั้งรสและสีของเห็ดซึมออกผสมกับนมและครีม จะได้ซอสสีน้ำตาลสวย
6️⃣ในขั้นตอนที่ 6 ต้องปิดไฟก่อนใส่ truffle paste เพราะใน truffle paste มีกลิ่นของทรัฟเฟิลที่ไม่ทนความร้อนครับ ดังนั้นการจะใส่ทรัฟเฟิลลงไปต้องใส่ทีหลังสุดเลย ไม่งั้นถ้าใส่ไปผัดตั้งแต่แรก กลิ่นจะระเหยหายไปหมดครับ (เหมือนกับกลิ่นวานิลลาแท้ ที่ไม่ทนความร้อนเหมือนกัน)
truffle paste ที่ให้ใส่นี้ มันไม่ได้ทำมาจากเห็ด truffle 100% หรอกครับ ไม่เช่นนั้นกระปุกนี้คงราคาประมาณ 50,000 บาท 😹 มันทำมาจากเห็ดแชมปิยองบดละเอียด ผสมกับเห็ดทรัฟเฟิลสีดำแท้ๆ เพียง 4% ครับ แค่ 4% ก็ฉุนมากๆแล้วครับ เห็ดนี้กลิ่นแรงมาก และเห็ดทรัฟเฟิลตัวมันเองไม่มีรสชาตินะ จืดมากๆ ไม่มีความอูมามิเหมือนแชมปิยอง หรือแม้แต่เห็ดหอมด้วยซ้ำ
ดังนั้นในขวด truffle paste นี้ถูกต้องแล้วครับ มีแชมปิยองและน้ำมันมะกอกเป็นตัวพากลิ่น (carrier)ให้น้องทรัฟเฟิล และยังให้รสนัว อูมามิ จากตัวของมันเองอีกด้วยที่ อธิบายไว้ในข้อ 4) และมันยังทำให้ซอสมีเกล็ดเห็ดสีดำๆละลายอยู่เหมือนใส่เห็ดทรัฟเฟิลจริงๆช่วยให้พาสต้าจานนี้ดูแพงและขายได้แพงขึ้นด้วยครับ
ขวดใหญ่นี้น้ำหนักครึ่งกิโล ราคา 570 บาทซึ่งถือว่าถูกมากๆ สำหรับ truffle lovers ใช้ได้นาน ผัดได้หลายสิบจานเลยครับ (ผมซื้อที่แมคโครลาดพร้าว)
7️⃣ในขั้นตอนที่ 7) สำคัญมาก เพราะเป็นตัววัดความสามารถของลิ้นครับ ซอสมันต้องเค็มนำนิดนึง แต่ไม่เค็มปี๋ พอใส่เส้น เส้นจะดูดเกลือเข้าไป ทำให้ซอสเค็มลดลงภายหลังครับ
8️⃣ในขั้นตอนที่ 8ตอนนี้จำเป็นต้องเปิดไฟอีกครั้งครับ เพื่อเป็นการอุ่นเส้นที่ต้มสุกรอไว้จนอาจจะเย็นไปแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องกลิ่นทรัฟเฟิลครับ ตอนนี้กลิ่นมันถูกตรีงไปในครีมซอสแล้วครับ
ผัดซอสกับเส้นไปอีกซักพัก ตอนแรกน้ำจะนองๆหน่อย แต่พอผัดไปซักพัก ในขั้นตอนนี้แป้งจากเส้นจะออกมาทำให้ครีมซอสข้นขึ้น และเคลือบเส้นครับ เกลือในซอสก็จะซึมไปในเส้น ตักใส่จานเป็นการจบข่าว
ลองทำดูนะครับ อร่อยเหมือนในร้านอาหารอิตาเลี่ยนแพงๆเลย แต่ถ้าเราทำเอง จานนึงไม่ถึง 100 บาทครับ
1) กลิ่นทรัฟเฟิล (กลิ่นหลัก) มาจากการใช้ truffle paste ที่มีส่วนผสมของเห็ดแชมปิยอง(70%)และทรัฟเฟิล(4%)
2) กลิ่นรองหรือกลิ่นที่ช่วยเสริมกลิ่นทรัฟเฟิล มาจากการผัดเนยและเห็ดแชมปิยองสดด้วยไฟแรงจนเกรียม
3) ความเข้มข้นที่ไม่เลี่ยน มาจากการใช้นมสดต่อครีม 4:1 และปล่อยให้น้ำซอสนองๆเส้นในช่วงแรก พอผัดต่อไปน้ำซอสจะงวดเคลือบเส้นเอง
ปล. หลายคนมี truffle oil ที่บ้านอยู่แล้ว ใส่ได้เลยครับ จะยิ่งหอมขึ้นไปอีก เหยาะบนพาสต้าตอนก่อนจะเสิร์ฟก็ได้ครับ กลิ่นจะได้ไม่หาย