Thursday, September 30, 2021

การอธิบาย QE โดยคุณบอส

ที่มา 
https://www.facebook.com/Bossficial/posts/3059562350988386

เรื่องกรณี Debt-ceiling ที่กำลังเป็นปัญหาในสหรัฐตอนนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมโคตรจะสุดแสนเบื่อ มันเกิดขึ้นซ้ำซากและเกิดขึ้นมาตลอดเรื่อยๆ แล้วมันก็ทำให้ตลาดหุ้นกลัว แต่ท้ายที่สุดมันก็ผ่านไปทุกครั้ง
ผมได้ยินเรื่องนี้มาตลอด แต่จะพีคๆหน่อยก็ตั้งแต่สมัยเป็นนักเก็งกำไรอิสระอยู่ในห้องค้ากสิกร (พหลโยธิน) ตั้งแต่ยุคโบราณช่วงพี่กวี จะลงมาพูดคุยกับนักเก็งกำไรทั้งหลายในช่วงบ่ายวันอังคาร
และเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่ายทุกครั้งเพราะมันจะเป็นเรื่องการเมืองของสภาสหรัฐ เป็นหนึ่งในประเด็นการเมืองมาตลอด สมัยโอบามาก็ต้องปรับเพดานหนี้ สมัยทรัมพ์ก็ต้องทำ สมัยไบเดนก็ต้องทำ
คือไอ้พรรคเวรทั้งคู่เนี่ย ตัวก่อหนี้ทั้งคู่แหละ ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใครหรอกเอาจริงๆ แล้วพอเวลาใครเป็นฝ่ายค้านมันก็จะชวนค้านว่าทำให้เสียระบบการคลัง ก่อหนี้เกินตัว บลาบลา อะไรเงี้ย
และทุกครั้งก็จะมาพร้อมเรื่องเดิม ... "ปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดีไหม?"
หลายคนอาจจะ งง ว่า มันคืออะหยังกันวะ แล้วเรื่องนี้มันแก้ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะได้อย่างไร
จริงๆสหรัฐกับไทยในเรื่องนี้จะว่าไปแล้ว คล้ายกัน อย่างในไทยเองก็มีกฎหมายในเรื่องของการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งถ้ารัฐบาลอยากจะก่อหนี้เพิ่มเติม เกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ก็ต้องไปแก้กฎหมายตรงนั้นถึงจะทำได้
สหรัฐก็มีกฎหมายที่คล้ายกันนี้ โดยหลักการแล้วก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลนั้นก่อหนี้ได้ตามใจจนเกินกว่าเพดานหนี้ อารมณ์เหมือนรัฐบาลมีบัตรเครดิตใบหนึ่ง ที่เอาไว้ดูแลคนทั้งประเทศ บัตรนั้นก็ควรมีวงเงินกำหนดไว้ ถ้าไม่กำหนดก็รูดเพลินก่อหนี้เพียบ
แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วการก่อหนี้ของรัฐบาลแบบ "ตามใจ"​ มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะวงเงินใช้จ่ายที่มันมากกว่างบประมาณยังไงซะก็ต้องออกพระราชบัญญัติ มีโครงการ มีการวางกรอบ สำรวจราคา อะไรต่างๆอยู่แล้วตามปกติ
สิ่งที่มันเป็นวงรอบของหนี้ก็คือ สมมติว่า ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว สมมติว่าปี 2543 รัฐบาลออกพันธบัตรเอาไว้อายุ 20 ปี ดังนั้นกำหนดไถ่ถอนก็คือปี 2563 โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะออกหนี้อยู่แล้วเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศตามโครงการต่างๆ
และหนี้โดยมากก็จะมีการหมุนต่อไปเรื่อยๆ (Rollover) ดังนั้นรัฐบาลก็อาจจะก่อหนี้เรื่อยๆเพิ่มทุกปี เพราะจำนวนหนึ่งนั้นก็มาเพื่อชำระหนี้เดิมต่อไป
มันก็จะมาถึงทางตันเมื่อกฎหมายห้ามก่อหนี้เพิ่ม แต่หนี้ที่มีอยู่ก็ต้องชำระคืนตามกำหนดไถ่ถอน และค่าใช้จ่ายต่างๆก็ไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าตามถนนหนทาง ซ่อมบำรุงถนน อะไรต่างๆ ทุกอย่างของประเทศ
ดังนั้นสิ่งที่มันเป็นไอเดียมาโดยตลอดคือให้กระทรวงการคลังของสหรัฐนั้น "ออกเหรียญ" ทำด้วยโลหะแพลทินัม จำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือเท่าไหร่ก็ได้) จากนั้นเอาเหรียญนี้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้หลักตอนนี้ของรัฐบาลสหรัฐก็คือธนาคารกลางสหรัฐ
และรัฐบาลสหรัฐก็ออกหนี้ก้อนใหม่ได้ในวันเดียวกัน ดังนั้นก็ไม่ต้องไปนั่งปวดหัวกับเรื่องของเพดานหนี้อีกต่อไป
หลายคนอาจจะ งง ยังไงวะ?
คือจริงๆแล้วมันเป็นวิธีการในเชิง "บัญชี" ขอเล่าให้ฟังง่ายๆแบบเทียบกับไทยก็ได้ เพราะมีกฎหมายคล้ายกัน
อันดับแรกที่ต้องเข้าใจคือ เรามีสององค์กรหลักที่ดูแลเรื่องเงินๆทองๆ ของประเทศนี้ องค์กรแรกก็คือ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ "หา" และ "ใช้" เงินในประเทศนี้
องค์กรในการดูแลของกระทรวงการคลังด้านการ "หาเงิน" เช่น กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร ก็เป็นเรื่องของภาษีต่างๆ ตั้งแต่ภาษีบุคคล ภาษีนำเข้า ภาษีเหล้าเบียร์บุหรี่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม บลาบลา ที่รัฐบาลจะเก็บจากเราและบริษัทต่างๆนั่นแหละ
ส่วนการ "ใช้เงิน" เช่น กรมบัญชีกลาง มีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินเดือนข้าราชการ อะไรต่างๆเป็นต้น
จุดสำคัญคือ "กรมธนารักษ์" นั้นมีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ (ภายใต้กองกษาปณ์) ซึ่งก็คือหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังนั่นแหละ โอเคจำไว้ให้ขึ้นใจนะ "กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญได้"
อีกองค์กรก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆ เช่นพวกธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นถือเป็น "หน่วยงานอิสระ" ไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงอะไร จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีโรงพิมพ์ธนบัตร มีหน้าที่ผลิตเงินกระดาษที่เราใช้กัน เป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นอธิบายง่ายๆคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น "พิมพ์แบงค์ได้"
ทั้งสองอย่างนี้ ไม่ว่าจะเหรียญกษาปณ์ หรือ ธนบัตร อยู่ภายใต้กฎหมายอีกฉบับหนึ่งก็คือ "พระราชบัญญัติเงินตรา" ที่กำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้ว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจในการออกใช้เหรียญกษาปณ์ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการออกใช้ธนบัตร
กลับมาที่สหรัฐ คล้ายกัน กฎหมายเรื่องกระทรวงการคลังออกใช้เหรียญกษาปณ์ และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ออกใช้ธนบัตร คล้ายกฎหมายไทย
ทีนี้อย่างกรณีสหรัฐเราจะเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายหนึ่งก็คือการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE - Quantitative Easing)
โดยธนาคารกลางสหรัฐ ก็คีย์ตัวเลขขึ้นมาดื้อๆ ใส่บัญชีแล้วก็เอาเงินที่ "เสก" ขึ้นมานั้น ไปซื้อพันธบัตร/ตราสารหนี้ ในตลาดรอง ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐก็กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ รายหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ
อธิบายคร่าวๆนโยบาย QE นี้คือการปรับลดผลตอบแทนในตลาดรองของพันธบัตรและตราสารหนี้ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ลดดอกเบี้ยต่ำจนกระทั่งต่ำที่สุดแล้ว แต่ผลตอบแทนในตลาดยังสูง นโยบายนี้จะไปกระตุ้นให้ผลตอบแทนในตลาดรองต่ำลง
โดยทฤษฎีก็คือการทำให้คนมองไม่เห็นว่า ทั้งฝากธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตร ไม่เห็นผลตอบแทน คนก็ "อาจจะ" พิจารณานำเงินไปทำอย่างอื่น เช่น ชอปปิ้ง ซ่อมบ้าน เปลี่ยนรถใหม่ อะไรก็ว่าไป เพราะเก็บเงินไว้ "ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว"
พอมันมาถึงประเด็นในข้อที่ว่า เพดานหนี้มันติดหล่มทางกฎหมาย ทะเลาะโวยวายกันในสภาอยู่แทบทุกปี มันก็มีอยู่สองอย่างที่จะไปแก้ไขเรื่องวุ่นวายไร้สาระนี้ให้มันจบลงได้
หนึ่ง - ยกเลิกอีกฎหมายบ้านั้นซะ แล้วรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมานั่งถกเถียงเรื่องเพดานหนี้สาธารณะอะไรกันอีกต่อไป จะก่อหนี้อะไรก็ออก พระราชบัญญัติมา ทำไปตามระเบียบเดิม
สอง - เลิกเถียงกันสักทีปวดหัว ให้กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์ออกมาซะเลย แล้วเอาเหรียญนั้นจ่ายหนี้เดิมแล้วก่อหนี้ใหม่แทน
ถามว่าทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเป็นไปได้ไหม?
เป็นไปได้ครับ ง่ายด้วย
เพราะอะไร?
เพราะข้อแรกคือไม่ว่าจะกฎหมายทั้งสหรัฐหรือไทย ในพระราชบัญญัติเงินตรา ไม่ได้มีการกำหนดว่า "ห้ามเกิน" เท่าไหร่
และสอง ไม่ได้กำหนดไว้ว่าห้ามทำ ดังนั้นในเชิงกฎหมายแล้ว สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า "ห้าม" ก็ถือว่าสามารถทำได้ตามกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายนั่นเอง
แต่โดยทั่วไปตามหลักปฏิบัติสากลแล้ว การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ ก็ต้องมีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น ทองคำ หรือทรัพย์อื่นๆ เพื่อให้เราสามารถมั่นใจได้ว่ากระดาษที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของทุกคนในประเทศนั้น "มีค่า"
ส่วนเหรียญกษาปณ์นั้น ไม่ได้มีการกำหนดสินทรัพย์หนุนหลังอยู่แล้วเพราะเหรียญนั้นผลิตด้วยโลหะ ดังนั้นโลหะไม่ว่ามันจะเป็นสังกะสี ทองแดง ทองคำ เงิน ดีบุก อะไรก็ตาม มันมีมูลค่าในตัวมันอยู่แล้ว
ดังนั้นการผลิตเหรียญกษาปณ์ ก็จะผลิตออกตามมูลค่าที่ไม่เกินโลหะ เช่น ต้นทุนการผลิตเหรียญบาท อาจจะใช้โลหะผสมมูลค่า 50 สตางค์ เป็นต้น เพราะถ้าเหรียญบาท โลหะที่ใช้มูลค่าสูงกว่า 1 บาท มันก็จะทำให้เกิดการทำ Arbitrage ขึ้น
หรือก็คือ คนจะไปแลกหาเหรียญบาทแล้วเอามันไปหลอม จากนั้นก็เอาโลหะไปขาย เป็นต้น
แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดไว้ว่า ห้ามทำเหรียญมูลค่าเท่าใด ในขณะที่การกำหนดเรื่องของการชำระด้วยเหรียญที่เป็นกฎกระทรวงว่า เหรียญ 10 บาท ห้ามชำระเกินเท่านั้นเท่านี้ ก็มีการกำหนดแค่เรื่องของเหรียญแบบเฉพาะเจาะจง ตามมูลค่าในตลาด
แต่ไม่ได้ออกกฎหมายในข้อที่ว่า หากกระทรวงการคลังไทย ออกเหรียญมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จะไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ เพราะกฎกระทรวงหนึ่งในการกำหนดห้ามชำระเกิน ก็มีแค่กำหนดสำหรับเหรียญ 10 บาท 5 บาท 1 บาท และสตางค์ต่างๆ
ทำความเข้าใจตามทันมั้ย? อะไรก็ตามที่กฎหมาย ไม่ได้กำหนด ไม่ได้ห้าม ก็ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย
ช่องโหว่ตรงนี้มันก็เลยทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาตลอดทุกครั้งเวลาเถียงกันเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ ให้กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์ นำเหรียญนี้ไปชำระหนี้กับธนาคารกลาง
เมื่อทำเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่าจำนวน "หนี้" ก็จะลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกไปจากบัญชี จ่ายให้ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ ก็จะ "ลบ" สัดส่วนหนี้สินของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐนั้นออก และถือเหรียญ 1 ล้านล้าน เป็นรูปแบบทรัพย์สิน
สิ่งที่กระทรวงการคลังสหรัฐกลัวนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีเงินสดใช้ เพราะในทางทฤษฎีแล้วกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตลอด และมีรายจ่ายตลอดก็ตามที แต่มันหมุนเวียนไปตามปกติของเศรษฐกิจอยู่แล้ว
ที่กังวลในเรื่องนี้ก็คือเรื่องการที่รัฐบาลสหรัฐจะ "ผิดนัดชำระหนี้" ดังนั้นสิ่งนี้จะไปแก้ไขตรงนั้นได้ ธนาคารกลางสหรัฐรับเหรียญมาแล้ว ก็ถือว่าจ่ายหนี้เสร็จ จากนั้นกระทรวงการคลังสหรัฐ ก็ไปก่อหนี้ใหม่แทน
พูดง่ายๆคือ คลังสหรัฐออกเหรียญมา คืนเงินให้ผู้ถือพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน สมมติว่าธนาคารกลางสหรัฐเจ้าเดียว 1 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐรับเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว คลังสหรัฐก็จะมีหนี้สินลดลง 1 ล้านล้าน เพราะชำระให้ธนาคารกลางสหรัฐไปแล้ว ครบถ้วนตามกำหนด ไม่ผิดนัดชำระหนี้
จากนั้นอีก 1 นาทีถัดมา คลังสหรัฐเขียนสัญญาเงินกู้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ว่าไป
ธนาคารกลางรับสัญญาเงินกู้ แล้วธนาคารกลางสหรัฐก็ "จ่าย" 1 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยเหรียญที่พึ่งรับมาให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐ
อันนี้อธิบายให้ฟังแบบภาพง่ายๆ ในทางปฏิบัติจริงมันจะซับซ้อนหน่อยเพราะผู้ถือหนี้ไม่ได้มีแค่รายเดียว แต่มันทำได้ เพราะท้ายที่สุดการจ่ายคืนทางบัญชีที่ต้องทำผ่านธนาคาร มันก็เป็นแค่การ Settlement ทางบัญชีกันในระบบอยู่ดีนั่นแหละ
แต่ถามว่าควรไหม? มันก็ไม่ควร เพราะมันก็ดูเป็นการใช้กลไกเล่นแร่แปรธาตุ กับช่องว่างทางกฎหมาย ในขณะที่องค์กรรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และธนาคารกลาง ก็ควรเป็นองค์กรที่น่าเคารพและเชื่อถือได้ มีความโปร่งใส และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ
แต่มันก็ไม่แน่ที่วิธีการอย่างนี้จะไม่ถูกนำออกมาใช้ อย่างกรณี QE ที่ทุกคนกลัวว่าเงินจะกลายเป็นกระดาษเช็ดตูด ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย
ทุกวันนี้ทำกันมาเป็นสิบปี ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินที่ถูกสร้างขึ้น ถ้ามันเป็นการสร้างแล้วแปลงไปอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ มันก็จะถูกสร้างสมดุลในกลไกของตลาด
อารมณ์เหมือนธนาคารกลาง พิมพ์เงินออกมา เพื่อแทรกแซงสภาวะตลาดในช่วงที่มันกำลังสั่นคลอน นำไปซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่อง
ธนาคารกลางสหรัฐก็แค่ปรับบทบาทเป็นผู้ถือหนี้แทน พอครบกำหนดชำระ ก็รับชำระมา และเงินที่ถูกสร้างขึ้นก็ถูกทำลายออกไป เป็นต้น
ส่วนในเชิงที่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายหนี้เกินตัว ก่อหนี้มากเกินไป หรือไม่ ตรงนี้จริงๆมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลนั้นสามารถตั้งงบประมาณขาดดุลได้ และกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งถ้ามันอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะได้คืนมาก็คือ มีรายได้ในรูปแบบภาษีที่สูงขึ้น และสัดส่วนของหนี้สินจะลดลงเรื่อยๆ หากการลงทุนนั้นได้ผล เศรษฐกิจเติบโต
อธิบายภาพตามอย่างนี้ว่า สมมติ ราชอาณาจักรน้องบอส มี GDP อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เรามีหนี้อยู่แล้ว 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือก็คือ 50% ของ GDP ก็ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร
จากนั้นนายกรัฐมนตรีมองว่า ราชอาณาจักรน้องบอส น่าจะก้าวไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว และเทคโนโลยี เราจะรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น และดึงดูดบริษัทใหญ่ๆเข้ามาตั้ง Super Cloud Server ในประเทศ
เราลงทุนเพิ่ม 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่กว่าจะเก็บเงินให้ได้แสนล้าน อาจจะต้องรอกันอีกหลายสิบปี และในทางเศรษฐกิจแล้วนั้น "เวลา คือโอกาส เวลาคือเงินตราสกุลหนึ่ง"
นายกตัดสินใจ โอเคเราลุย ลงทุนเลย กู้ 1 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นหนี้ของประเทศจะอยู่ที่ 60% ของ GDP นึกภาพตามทันเนอะ
เรานำเงินนั้นมาลงทุน สร้างทุกสรรพสิ่ง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราชักชวนบริษัทใหญ่ๆต่างๆมาลงทุนสำเร็จ เป็น Super Cloud Server ระดับภูมิภาค เกิดการจ้างงานของ Apple, Google, Microsoft ในสำนักงานของราชอาณาจักรบอสบอส
ประชาชนนับหมื่นคนมีงานทำ เมื่อคนมีงานก็ต้องจ่ายภาษี, เมื่อคนมีเงินมากขึ้นก็อยากยกระดับฐานะ ปรับปรุงบ้านใหม่ เปลี่ยนรถใหม่ ก็มาในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่งให้กำไรบริษัทต่างๆมีกำไรก็ต้องเสียภาษีนิติบุคคล
เศรษฐกิจก็เติบโตขึ้น จาก GDP 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 5 ปีกลายเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือก็คือเติบโตราวเกือบ 4% ต่อปี และในระยะ 5 ปีนี้ เราไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม
ดังนั้นสัดส่วนหนี้เดิมของเราที่ 1 แสนล้าน ที่ก่อขึ้นมา โดยไม่ได้ก่อเพิ่มในระยะ 5 ปีต่อไป ทำให้หนี้ต่อ GDP จากเดิม 5 แสนล้าน + 1 แสนล้านที่กู้ใหม่เพื่อ Project นี้ เทียบกับ GDP ที่เศรษฐกิจเติบโตมาถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ก็จะกลายเป็น 50% ของ GDP
ตามทันมั้ย? เดิม GDP 1 ล้านล้าน, มีหนี้เดิม 5 แสนล้าน และก่อหนี้ใหม่ 1 แสนล้าน เท่ากับเรามีหนี้ต่อ GDP ที่ 60% ผ่านมา 5 ปี เราไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม แต่ก็ยังไม่ได้จ่ายหนี้เดิม หนี้มีเท่าเดิม 6 แสนล้าน แต่ GDP เติบโตขึ้นมาเป็น 1.2 ล้านล้าน ดังนั้นหนี้ก็จะลดลงเหลือแค่ 50% ของ GDP
ในกรณีนี้ก็คือถ้าเงินมันถูกนำไปใช้ต่อยอด พัฒนา และสร้างความคุ้มค่าที่ถูกที่ควร ต่อให้เรากู้เงินเยอะ นำไปลงทุนอย่างคุ้มค่า ท้ายที่สุดสัดส่วนหนี้มันก็จะลดลงเอง เพราะเศรษฐกิจมันเติบโตได้คุ้มค่าต่อหนี้ที่เราก่อ
เราต้องไม่กลัวหนี้ ถ้าเราอยากที่จะเติบโต กรณีใช้เหรียญปั๊มขึ้นมาชำระหนี้มันก็เรื่องหนึ่งที่ฟังดูลดความน่าเชื่อถือและความรู้สึกไม่ใช่น้อย
แต่การมีหนี้ของประเทศ ถ้ามันถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม และต่อยอดสร้างมูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้มันคือภาระหนี้ที่ประชาชนที่ต้องใช้ร่วมกัน แต่ในวันที่เศรษฐกิจเติบโต เราก็ได้ประโยชน์จากมันเช่นเดียวกัน
จบส์ จะมีคนอ่านมาถึงตรงนี้กี่คนวะเนี่ย 55555

No comments: