Wednesday, November 10, 2021

มุมมองต่อ พระพุทธเจ้า โดยคุณ Sãi Bản Mường

มุมมองต่อ พระพุทธเจ้า โดยคุณ

Sãi Bản Mường


 https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1238187966709710&id=100015555556981

ย้อนมองพระพุทธะในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ —ครูของเรา
[ภาพวาดจำลองพระพุทธเจ้าในฐานะภิกษุรูปหนึ่งแห่งอินเดียโบราณ]
________________
ชาวพุทธและผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะมองภาพพระพุทธเจ้าเป็นจอมศาสดาผู้ทรงฤทธานุภาพเหนือมนุษย์ พร้อมด้วยลักษณะอันวิเศษเกินบรรยาย เปล่งรัศมีประกาย สามารถควบคุมดินฟ้าอากาศหรือทำให้คนศรัทธาได้เพียงเห็นรูปลักษณะ และบริหารจัดการคณะสงฆ์พร้อมพุทธบริษัทอย่างราบรื่นไปตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มประกาศพระศาสนาไปจนปรินิพพาน
ภาพที่ปรากฏในพระคัมภีร์ดั้งเดิม เช่น พระวินัยปิฎก และพระสูตรในนิกายทั้งห้าแห่งฝ่ายบาลีและอาคมะทั้งสี่แห่งปิฎกจีน สำแดงรูปพระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลประวัติศาสตร์ แตกต่างอย่างมากจากสามัญสำนึกของชาวพุทธ ซึ่งมักมองผ่านพระพุทธรูปและภาพวาดต่างๆ ที่จำลองต่อเนื่องกันมาหลายยุคสมัย โดยสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ที่มีเคยมีชีวิตจริง ซึ่งน้อยนักที่แง่มุมนี้จะถูกนำมาพูดถึง
▪️พระพุทธเจ้าในคัมภีร์รุ่นเก่านั้นปรากฏพระองค์เป็นสมณะรูปหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับนักบวชที่มีหลากหลายในยุคสมัยนั้น เนื้อความต่างๆ ระบุชัดเจนว่าทรงมีศีรษะโล้นเปล่าเช่นเดียวกับภิกษุสาวกของพระองค์ และหลายครั้งที่คนอื่นไม่อาจแยกแยะพระองค์ออกจากภิกษุสาวกได้ สองเท้าเปลือยเปล่าสัมผัสฝุ่นผงของพื้นดินโคลนเหยียบย่ำบิณฑบาตเพื่อดำรงชีพและเดินจาริกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทรงรักที่จะทำกิจต่างๆ ด้วยตนเอง ทรงเข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มรวมทั้งมิตรต่างศาสนาอย่างเป็นกันเอง แม้จะมีผู้ติดตามจำนวนมากที่ต้องการพบปะสนทนา แต่ก็ทรงรักความสงบสงัดวิเวกลำพัง ในความเป็นมนุษย์ก็ทรงมีปัญหาด้านสุขภาพ (นัยว่ามีเหตุมาจากการทรมานร่างกายอย่างหนักปางตายเมื่อครั้งยังหนุ่ม) ซึ่งต้องพึ่งพาการรักษาของแพทย์ควบคู่ไปกับการเยียวยาด้วยอำนาจจิตแห่งสมาธิ มีความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยที่ต้องพักผ่อน และพึงใจกับความเงียบสงบแห่งป่ามากกว่าเสียงอึกทึกคราคร่ำของหมู่บ้าน เมืองหลวง และผู้คนจำนวนมาก
▪️จากชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งแสวงหาความหมายของชีวิตและทดลองผ่านวิธีการมากมายของสำนักลัทธิต่างๆ แต่ก็ไม่เห็นว่าเป็นทาง ในที่สุดก็ได้ค้นพบด้วยตนเองซึ่งวิถีเพื่อเข้าใจธรรมชาติแห่งกายและใจที่นำไปสู่ความเป็นอิสระจากทุกข์และปัญหาในชีวิต จนได้นามว่า "ผู้ตื่น" หรือ "พุทธะ" (Buddha) วิถีอันทั้งเรียบง่ายตรงไปตรงมาแต่ก็ลึกซึ้งสุขุมอย่างยิ่งจนเห็นว่ายากเกินกว่าจะอธิบายให้ผู้อื่น แต่ด้วยเล็งเห็นความสามารถที่แฝงอยู่ภายในเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกัน จึงออกเดินทางเพื่อแบ่งปันสิ่งอันได้ค้นพบ ว่าด้วยสภาพตามธรรมชาติและการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อความไม่ถูกผูกมัดในทุกข์และเป็นอิสระ เรียกกันทั่วไปว่า "ธรรมะ" (Dharma)
▪️กลุ่มผู้ฝึกปฏิบัติตามเพิ่มจำนวนตามลำดับอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน "สังฆะ" (Sangha) ผู้มีวิถีชีวิตแห่งความเป็นอิสระ กลุ่มคนผู้ดำเนินชีวิตตามทางนี้อย่างจริงจังได้เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้คนร่วมสมัยดำเนินตาม เป็นส่วนทำให้ "ธรรมะ" หรือคำสอนจากการค้นพบของพุทธะแพร่ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วงเวลายาวนานนับ 45 ปีที่ออกแบ่งปันความเข้าใจนี้ก็ทำให้คำสอนได้รับการพัฒนาจนครอบคลุมอย่างรอบด้านในชีวิตอันหลากหลายของมนุษย์
▪️การจัดการองค์กรควบคู่ไปกับงานเผยแผ่เป็นสิ่งท้าทาย เพราะนอกจากผู้คนที่ศรัทธาและผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเต็มที่ ยังต้องประสบปัญหามากมายที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก กล่าวคือพฤติกรรมจากนิสัยและพื้นเพที่แตกต่างหลากหลายในสังฆะเองเมื่อมาอยู่ร่วมกัน กับความไม่พอใจ การต่อต้าน การริษยาจ้องทำลายล้างและโจมตีโดยผู้ที่ถือความเชื่ออื่นหรือขั้วอำนาจทางการเมือง แต่เราพบว่าพระพุทธะสามารถผ่านมาได้เสมอ มิใช่ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์เหนือมนุษย์ แต่ด้วยปัญญาและเมตตาอย่างยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้หนึ่ง ประกอบกับความสงบนิ่งแจ่มใสและความมีสาระที่แท้จริงโดยปราศจากความกลัว จึงได้ทรงถูกยกย่องเป็น ผู้นำและเป็นครูชั้นเลิศของโลก
▪️ในความเป็นจริง พุทธะแสดงตนในฐานะ "เพื่อน" (กัลยาณมิตร) สำหรับชาวโลก มากกว่าจะเป็นผู้นำใดๆ ที่เพียงแต่แนะนำให้เพื่อนได้ค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง และด้วยเหตุนั้นจึงทรงร่วมลงทำกิจวัตรต่างๆ ในแบบเดียวกับภิกษุสาวกอื่นๆ โดยแทบไม่มีอะไรพิเศษยิ่งกว่า ทรงวางรูปแบบให้สงฆ์ดูแลกันและกันเช่นเดียวกับที่ดูแลพระองค์ ทรงใกล้ชิดกับเหล่าภิกษุและฆราวาสเพื่อสอดส่องดูความเป็นไปและดูแลอย่างทั่วถึง
คำสอนเปี่ยมด้วยเมตตาเอื้อเฟื้อและให้โอกาสสำหรับผู้ผิดพลาดเสมอ แม้จะมีทั้งท่าทีที่อ่อนโยนและแข็งแรง แต่ก็ทรงปรารถนาให้มีความเป็นอิสระและการแปรเปลี่ยนที่ทำออกมาจากใจมากกว่าการบังคับ ไม่ได้ทำตัวเป็นนักกฎหมายเพื่อบัญญัติข้อห้ามต่างๆ แต่ทรงให้สังฆะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและผลกระทบในชีวิตจริงจนเห็นชัดแล้วจึงกำหนดให้เป็นวินัย (ดั่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน มิใช่อำนาจสั่งการของบุคคล) ทว่า พร้อมกันนั้นก็ทรงเปี่ยมด้วยความเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัว เท่าทันลักษณะของสังคมรอบข้าง และยืดหยุ่นปรับตัวตามบริบท (ตราบที่ยังรักษาหลักการไว้ได้) เป็นท่าทีที่อิสระและมีเหตุผล มิใช่ท่าทียืนกรานอย่างแข็งกร้าวยึดถือเอารูปแบบเป็นสัจจะสูงสุด
▪️พุทธะทรงยกธรรมหรือหลักการดำเนินในชีวิตเป็นใหญ่และทรงถอยไปอยู่เบื้องหลังเสมอ โดยมิให้ติดกับตัวบุคคลใดๆ แม้แต่ตัวพระองค์เอง สำหรับผู้ที่รักในตัวพระองค์เพราะได้สัมผัสถึง "ธรรมอันมีชีวิต" ก็ทรงให้ยึดธรรมนั้นเองเป็นตัวแทนเพื่อให้ธรรมนั้นแลมีชีวิตในตัวผู้นั้นต่อไป ในที่สุดก็ทรงถือว่าพระองค์ไม่ได้เป็นผู้บริหารปกครองอะไรทั้งนั้น แต่สังฆะดำเนินไปด้วยหลักธรรมของผู้ปฏิบัติที่เป็นสมาชิกแต่ละบุคคลนั้นเอง
▪️จุดเริ่มต้นของ "พระพุทธเจ้า" กับการค้นพบที่เป็นการพัฒนาทางจิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่คราวได้นั่งใต้ร่มเงาไม้โพธิ์ การออกเดินทางเพื่อสั่งสอนและสื่อสารต่อโลก พร้อมคำสอนหรือ "ธรรมะ" ที่ถือเป็นตัวแทนต่อไป ยังคงเป็นที่ประทับใจของผู้คนจากหลากหลายพื้นเพรากเหง้า และได้รับการสืบทอดต่อเนื่องไปในทั่วโลก จนปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษาที่แตกต่างเสมอมา ด้วยเป็นภูมิปัญญาอันมาจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะมิติภายใน ความเท่าทันแรงจูงใจเบื้องหลังพฤติกรรมต่างๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจของปัจเจกบุคคล เพื่อชีวิตที่สงบสุข ขยายครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติตนที่เหมาะสมในแง่มุมอันหลากหลายของสังคม
▪️ภาพของพุทธะ—ผู้เป็นครู (ศาสดา) ได้ถูกเพิ่มเติมสีสันเพื่อสร้างความเชื่อและศรัทธา เพื่อให้ผู้คนได้เห็นแบบอย่างและมีแรงใจให้หันมาสู่ธรรมที่อยู่ในจิตของตนนั้น หรืออาจกลายไปเพื่อความมั่งคั่งและผลประโยชน์ขององค์กร ภาพของบุคคลในประวัติศาสตร์ถูกแทนที่ด้วยบุคคลในตำนาน ชีวิตจริงในธรรมชาติของมนุษย์ถูกแทนที่ด้วยปาฏิหาริย์ แม้ยังเหลือหลักฐานในชั้นคัมภีร์และโบราณคดีอยู่มากมายพอให้สืบทราบได้ แต่เราจะอาจรู้แน่ชัดจริงแท้ที่สุดละหรือว่า พุทธะนั้นคือใคร? หรืออะไร?
ภาพในใจที่เรามีต่อพระพุทธะเป็นเพียงสิ่งสะท้อนจากประสบการณ์อันจำกัดที่ได้รับรู้ของเราแต่ละคน ดังนั้นจงเปิดใจให้กว้าง เพราะพุทธะในใจของแต่ละคนย่อมไม่มีความตรงกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในตำนาน บุคคลในประวัติศาสตร์ หรือเพียงสภาวะที่ไร้บุคคล
... "ความเป็นพุทธะ" ที่แท้ ที่ตลอดชีวิตของท่านได้สื่อสารกับเรานั่นอาจเป็นความเข้าใจต่อธรรมชาติของตนเอง คือพุทธะที่อยู่ในทุกคน ในธรรมชาติ และในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายของชีวิต

Thursday, September 30, 2021

การอธิบาย QE โดยคุณบอส

ที่มา 
https://www.facebook.com/Bossficial/posts/3059562350988386

เรื่องกรณี Debt-ceiling ที่กำลังเป็นปัญหาในสหรัฐตอนนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมโคตรจะสุดแสนเบื่อ มันเกิดขึ้นซ้ำซากและเกิดขึ้นมาตลอดเรื่อยๆ แล้วมันก็ทำให้ตลาดหุ้นกลัว แต่ท้ายที่สุดมันก็ผ่านไปทุกครั้ง
ผมได้ยินเรื่องนี้มาตลอด แต่จะพีคๆหน่อยก็ตั้งแต่สมัยเป็นนักเก็งกำไรอิสระอยู่ในห้องค้ากสิกร (พหลโยธิน) ตั้งแต่ยุคโบราณช่วงพี่กวี จะลงมาพูดคุยกับนักเก็งกำไรทั้งหลายในช่วงบ่ายวันอังคาร
และเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่ายทุกครั้งเพราะมันจะเป็นเรื่องการเมืองของสภาสหรัฐ เป็นหนึ่งในประเด็นการเมืองมาตลอด สมัยโอบามาก็ต้องปรับเพดานหนี้ สมัยทรัมพ์ก็ต้องทำ สมัยไบเดนก็ต้องทำ
คือไอ้พรรคเวรทั้งคู่เนี่ย ตัวก่อหนี้ทั้งคู่แหละ ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใครหรอกเอาจริงๆ แล้วพอเวลาใครเป็นฝ่ายค้านมันก็จะชวนค้านว่าทำให้เสียระบบการคลัง ก่อหนี้เกินตัว บลาบลา อะไรเงี้ย
และทุกครั้งก็จะมาพร้อมเรื่องเดิม ... "ปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดีไหม?"
หลายคนอาจจะ งง ว่า มันคืออะหยังกันวะ แล้วเรื่องนี้มันแก้ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะได้อย่างไร
จริงๆสหรัฐกับไทยในเรื่องนี้จะว่าไปแล้ว คล้ายกัน อย่างในไทยเองก็มีกฎหมายในเรื่องของการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งถ้ารัฐบาลอยากจะก่อหนี้เพิ่มเติม เกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ก็ต้องไปแก้กฎหมายตรงนั้นถึงจะทำได้
สหรัฐก็มีกฎหมายที่คล้ายกันนี้ โดยหลักการแล้วก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลนั้นก่อหนี้ได้ตามใจจนเกินกว่าเพดานหนี้ อารมณ์เหมือนรัฐบาลมีบัตรเครดิตใบหนึ่ง ที่เอาไว้ดูแลคนทั้งประเทศ บัตรนั้นก็ควรมีวงเงินกำหนดไว้ ถ้าไม่กำหนดก็รูดเพลินก่อหนี้เพียบ
แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้วการก่อหนี้ของรัฐบาลแบบ "ตามใจ"​ มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะวงเงินใช้จ่ายที่มันมากกว่างบประมาณยังไงซะก็ต้องออกพระราชบัญญัติ มีโครงการ มีการวางกรอบ สำรวจราคา อะไรต่างๆอยู่แล้วตามปกติ
สิ่งที่มันเป็นวงรอบของหนี้ก็คือ สมมติว่า ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว สมมติว่าปี 2543 รัฐบาลออกพันธบัตรเอาไว้อายุ 20 ปี ดังนั้นกำหนดไถ่ถอนก็คือปี 2563 โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะออกหนี้อยู่แล้วเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศตามโครงการต่างๆ
และหนี้โดยมากก็จะมีการหมุนต่อไปเรื่อยๆ (Rollover) ดังนั้นรัฐบาลก็อาจจะก่อหนี้เรื่อยๆเพิ่มทุกปี เพราะจำนวนหนึ่งนั้นก็มาเพื่อชำระหนี้เดิมต่อไป
มันก็จะมาถึงทางตันเมื่อกฎหมายห้ามก่อหนี้เพิ่ม แต่หนี้ที่มีอยู่ก็ต้องชำระคืนตามกำหนดไถ่ถอน และค่าใช้จ่ายต่างๆก็ไม่มีวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าตามถนนหนทาง ซ่อมบำรุงถนน อะไรต่างๆ ทุกอย่างของประเทศ
ดังนั้นสิ่งที่มันเป็นไอเดียมาโดยตลอดคือให้กระทรวงการคลังของสหรัฐนั้น "ออกเหรียญ" ทำด้วยโลหะแพลทินัม จำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือเท่าไหร่ก็ได้) จากนั้นเอาเหรียญนี้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้หลักตอนนี้ของรัฐบาลสหรัฐก็คือธนาคารกลางสหรัฐ
และรัฐบาลสหรัฐก็ออกหนี้ก้อนใหม่ได้ในวันเดียวกัน ดังนั้นก็ไม่ต้องไปนั่งปวดหัวกับเรื่องของเพดานหนี้อีกต่อไป
หลายคนอาจจะ งง ยังไงวะ?
คือจริงๆแล้วมันเป็นวิธีการในเชิง "บัญชี" ขอเล่าให้ฟังง่ายๆแบบเทียบกับไทยก็ได้ เพราะมีกฎหมายคล้ายกัน
อันดับแรกที่ต้องเข้าใจคือ เรามีสององค์กรหลักที่ดูแลเรื่องเงินๆทองๆ ของประเทศนี้ องค์กรแรกก็คือ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ "หา" และ "ใช้" เงินในประเทศนี้
องค์กรในการดูแลของกระทรวงการคลังด้านการ "หาเงิน" เช่น กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, กรมศุลกากร ก็เป็นเรื่องของภาษีต่างๆ ตั้งแต่ภาษีบุคคล ภาษีนำเข้า ภาษีเหล้าเบียร์บุหรี่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม บลาบลา ที่รัฐบาลจะเก็บจากเราและบริษัทต่างๆนั่นแหละ
ส่วนการ "ใช้เงิน" เช่น กรมบัญชีกลาง มีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินเดือนข้าราชการ อะไรต่างๆเป็นต้น
จุดสำคัญคือ "กรมธนารักษ์" นั้นมีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ (ภายใต้กองกษาปณ์) ซึ่งก็คือหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังนั่นแหละ โอเคจำไว้ให้ขึ้นใจนะ "กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญได้"
อีกองค์กรก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆ เช่นพวกธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นถือเป็น "หน่วยงานอิสระ" ไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงอะไร จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีโรงพิมพ์ธนบัตร มีหน้าที่ผลิตเงินกระดาษที่เราใช้กัน เป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นอธิบายง่ายๆคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น "พิมพ์แบงค์ได้"
ทั้งสองอย่างนี้ ไม่ว่าจะเหรียญกษาปณ์ หรือ ธนบัตร อยู่ภายใต้กฎหมายอีกฉบับหนึ่งก็คือ "พระราชบัญญัติเงินตรา" ที่กำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้ว่า กระทรวงการคลังมีอำนาจในการออกใช้เหรียญกษาปณ์ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการออกใช้ธนบัตร
กลับมาที่สหรัฐ คล้ายกัน กฎหมายเรื่องกระทรวงการคลังออกใช้เหรียญกษาปณ์ และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ออกใช้ธนบัตร คล้ายกฎหมายไทย
ทีนี้อย่างกรณีสหรัฐเราจะเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายหนึ่งก็คือการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE - Quantitative Easing)
โดยธนาคารกลางสหรัฐ ก็คีย์ตัวเลขขึ้นมาดื้อๆ ใส่บัญชีแล้วก็เอาเงินที่ "เสก" ขึ้นมานั้น ไปซื้อพันธบัตร/ตราสารหนี้ ในตลาดรอง ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐก็กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ รายหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ
อธิบายคร่าวๆนโยบาย QE นี้คือการปรับลดผลตอบแทนในตลาดรองของพันธบัตรและตราสารหนี้ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ลดดอกเบี้ยต่ำจนกระทั่งต่ำที่สุดแล้ว แต่ผลตอบแทนในตลาดยังสูง นโยบายนี้จะไปกระตุ้นให้ผลตอบแทนในตลาดรองต่ำลง
โดยทฤษฎีก็คือการทำให้คนมองไม่เห็นว่า ทั้งฝากธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตร ไม่เห็นผลตอบแทน คนก็ "อาจจะ" พิจารณานำเงินไปทำอย่างอื่น เช่น ชอปปิ้ง ซ่อมบ้าน เปลี่ยนรถใหม่ อะไรก็ว่าไป เพราะเก็บเงินไว้ "ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว"
พอมันมาถึงประเด็นในข้อที่ว่า เพดานหนี้มันติดหล่มทางกฎหมาย ทะเลาะโวยวายกันในสภาอยู่แทบทุกปี มันก็มีอยู่สองอย่างที่จะไปแก้ไขเรื่องวุ่นวายไร้สาระนี้ให้มันจบลงได้
หนึ่ง - ยกเลิกอีกฎหมายบ้านั้นซะ แล้วรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมานั่งถกเถียงเรื่องเพดานหนี้สาธารณะอะไรกันอีกต่อไป จะก่อหนี้อะไรก็ออก พระราชบัญญัติมา ทำไปตามระเบียบเดิม
สอง - เลิกเถียงกันสักทีปวดหัว ให้กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์ออกมาซะเลย แล้วเอาเหรียญนั้นจ่ายหนี้เดิมแล้วก่อหนี้ใหม่แทน
ถามว่าทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเป็นไปได้ไหม?
เป็นไปได้ครับ ง่ายด้วย
เพราะอะไร?
เพราะข้อแรกคือไม่ว่าจะกฎหมายทั้งสหรัฐหรือไทย ในพระราชบัญญัติเงินตรา ไม่ได้มีการกำหนดว่า "ห้ามเกิน" เท่าไหร่
และสอง ไม่ได้กำหนดไว้ว่าห้ามทำ ดังนั้นในเชิงกฎหมายแล้ว สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า "ห้าม" ก็ถือว่าสามารถทำได้ตามกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายนั่นเอง
แต่โดยทั่วไปตามหลักปฏิบัติสากลแล้ว การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ ก็ต้องมีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น ทองคำ หรือทรัพย์อื่นๆ เพื่อให้เราสามารถมั่นใจได้ว่ากระดาษที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของทุกคนในประเทศนั้น "มีค่า"
ส่วนเหรียญกษาปณ์นั้น ไม่ได้มีการกำหนดสินทรัพย์หนุนหลังอยู่แล้วเพราะเหรียญนั้นผลิตด้วยโลหะ ดังนั้นโลหะไม่ว่ามันจะเป็นสังกะสี ทองแดง ทองคำ เงิน ดีบุก อะไรก็ตาม มันมีมูลค่าในตัวมันอยู่แล้ว
ดังนั้นการผลิตเหรียญกษาปณ์ ก็จะผลิตออกตามมูลค่าที่ไม่เกินโลหะ เช่น ต้นทุนการผลิตเหรียญบาท อาจจะใช้โลหะผสมมูลค่า 50 สตางค์ เป็นต้น เพราะถ้าเหรียญบาท โลหะที่ใช้มูลค่าสูงกว่า 1 บาท มันก็จะทำให้เกิดการทำ Arbitrage ขึ้น
หรือก็คือ คนจะไปแลกหาเหรียญบาทแล้วเอามันไปหลอม จากนั้นก็เอาโลหะไปขาย เป็นต้น
แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดไว้ว่า ห้ามทำเหรียญมูลค่าเท่าใด ในขณะที่การกำหนดเรื่องของการชำระด้วยเหรียญที่เป็นกฎกระทรวงว่า เหรียญ 10 บาท ห้ามชำระเกินเท่านั้นเท่านี้ ก็มีการกำหนดแค่เรื่องของเหรียญแบบเฉพาะเจาะจง ตามมูลค่าในตลาด
แต่ไม่ได้ออกกฎหมายในข้อที่ว่า หากกระทรวงการคลังไทย ออกเหรียญมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จะไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ เพราะกฎกระทรวงหนึ่งในการกำหนดห้ามชำระเกิน ก็มีแค่กำหนดสำหรับเหรียญ 10 บาท 5 บาท 1 บาท และสตางค์ต่างๆ
ทำความเข้าใจตามทันมั้ย? อะไรก็ตามที่กฎหมาย ไม่ได้กำหนด ไม่ได้ห้าม ก็ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย
ช่องโหว่ตรงนี้มันก็เลยทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาตลอดทุกครั้งเวลาเถียงกันเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ ให้กระทรวงการคลังปั๊มเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์ นำเหรียญนี้ไปชำระหนี้กับธนาคารกลาง
เมื่อทำเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่าจำนวน "หนี้" ก็จะลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกไปจากบัญชี จ่ายให้ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ ก็จะ "ลบ" สัดส่วนหนี้สินของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐนั้นออก และถือเหรียญ 1 ล้านล้าน เป็นรูปแบบทรัพย์สิน
สิ่งที่กระทรวงการคลังสหรัฐกลัวนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีเงินสดใช้ เพราะในทางทฤษฎีแล้วกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตลอด และมีรายจ่ายตลอดก็ตามที แต่มันหมุนเวียนไปตามปกติของเศรษฐกิจอยู่แล้ว
ที่กังวลในเรื่องนี้ก็คือเรื่องการที่รัฐบาลสหรัฐจะ "ผิดนัดชำระหนี้" ดังนั้นสิ่งนี้จะไปแก้ไขตรงนั้นได้ ธนาคารกลางสหรัฐรับเหรียญมาแล้ว ก็ถือว่าจ่ายหนี้เสร็จ จากนั้นกระทรวงการคลังสหรัฐ ก็ไปก่อหนี้ใหม่แทน
พูดง่ายๆคือ คลังสหรัฐออกเหรียญมา คืนเงินให้ผู้ถือพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน สมมติว่าธนาคารกลางสหรัฐเจ้าเดียว 1 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐรับเหรียญ 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว คลังสหรัฐก็จะมีหนี้สินลดลง 1 ล้านล้าน เพราะชำระให้ธนาคารกลางสหรัฐไปแล้ว ครบถ้วนตามกำหนด ไม่ผิดนัดชำระหนี้
จากนั้นอีก 1 นาทีถัดมา คลังสหรัฐเขียนสัญญาเงินกู้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ว่าไป
ธนาคารกลางรับสัญญาเงินกู้ แล้วธนาคารกลางสหรัฐก็ "จ่าย" 1 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยเหรียญที่พึ่งรับมาให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐ
อันนี้อธิบายให้ฟังแบบภาพง่ายๆ ในทางปฏิบัติจริงมันจะซับซ้อนหน่อยเพราะผู้ถือหนี้ไม่ได้มีแค่รายเดียว แต่มันทำได้ เพราะท้ายที่สุดการจ่ายคืนทางบัญชีที่ต้องทำผ่านธนาคาร มันก็เป็นแค่การ Settlement ทางบัญชีกันในระบบอยู่ดีนั่นแหละ
แต่ถามว่าควรไหม? มันก็ไม่ควร เพราะมันก็ดูเป็นการใช้กลไกเล่นแร่แปรธาตุ กับช่องว่างทางกฎหมาย ในขณะที่องค์กรรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และธนาคารกลาง ก็ควรเป็นองค์กรที่น่าเคารพและเชื่อถือได้ มีความโปร่งใส และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ
แต่มันก็ไม่แน่ที่วิธีการอย่างนี้จะไม่ถูกนำออกมาใช้ อย่างกรณี QE ที่ทุกคนกลัวว่าเงินจะกลายเป็นกระดาษเช็ดตูด ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย
ทุกวันนี้ทำกันมาเป็นสิบปี ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินที่ถูกสร้างขึ้น ถ้ามันเป็นการสร้างแล้วแปลงไปอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ มันก็จะถูกสร้างสมดุลในกลไกของตลาด
อารมณ์เหมือนธนาคารกลาง พิมพ์เงินออกมา เพื่อแทรกแซงสภาวะตลาดในช่วงที่มันกำลังสั่นคลอน นำไปซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่อง
ธนาคารกลางสหรัฐก็แค่ปรับบทบาทเป็นผู้ถือหนี้แทน พอครบกำหนดชำระ ก็รับชำระมา และเงินที่ถูกสร้างขึ้นก็ถูกทำลายออกไป เป็นต้น
ส่วนในเชิงที่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายหนี้เกินตัว ก่อหนี้มากเกินไป หรือไม่ ตรงนี้จริงๆมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลนั้นสามารถตั้งงบประมาณขาดดุลได้ และกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งถ้ามันอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น สิ่งที่รัฐบาลจะได้คืนมาก็คือ มีรายได้ในรูปแบบภาษีที่สูงขึ้น และสัดส่วนของหนี้สินจะลดลงเรื่อยๆ หากการลงทุนนั้นได้ผล เศรษฐกิจเติบโต
อธิบายภาพตามอย่างนี้ว่า สมมติ ราชอาณาจักรน้องบอส มี GDP อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เรามีหนี้อยู่แล้ว 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือก็คือ 50% ของ GDP ก็ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร
จากนั้นนายกรัฐมนตรีมองว่า ราชอาณาจักรน้องบอส น่าจะก้าวไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว และเทคโนโลยี เราจะรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น และดึงดูดบริษัทใหญ่ๆเข้ามาตั้ง Super Cloud Server ในประเทศ
เราลงทุนเพิ่ม 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่กว่าจะเก็บเงินให้ได้แสนล้าน อาจจะต้องรอกันอีกหลายสิบปี และในทางเศรษฐกิจแล้วนั้น "เวลา คือโอกาส เวลาคือเงินตราสกุลหนึ่ง"
นายกตัดสินใจ โอเคเราลุย ลงทุนเลย กู้ 1 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นหนี้ของประเทศจะอยู่ที่ 60% ของ GDP นึกภาพตามทันเนอะ
เรานำเงินนั้นมาลงทุน สร้างทุกสรรพสิ่ง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราชักชวนบริษัทใหญ่ๆต่างๆมาลงทุนสำเร็จ เป็น Super Cloud Server ระดับภูมิภาค เกิดการจ้างงานของ Apple, Google, Microsoft ในสำนักงานของราชอาณาจักรบอสบอส
ประชาชนนับหมื่นคนมีงานทำ เมื่อคนมีงานก็ต้องจ่ายภาษี, เมื่อคนมีเงินมากขึ้นก็อยากยกระดับฐานะ ปรับปรุงบ้านใหม่ เปลี่ยนรถใหม่ ก็มาในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่งให้กำไรบริษัทต่างๆมีกำไรก็ต้องเสียภาษีนิติบุคคล
เศรษฐกิจก็เติบโตขึ้น จาก GDP 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 5 ปีกลายเป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือก็คือเติบโตราวเกือบ 4% ต่อปี และในระยะ 5 ปีนี้ เราไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม
ดังนั้นสัดส่วนหนี้เดิมของเราที่ 1 แสนล้าน ที่ก่อขึ้นมา โดยไม่ได้ก่อเพิ่มในระยะ 5 ปีต่อไป ทำให้หนี้ต่อ GDP จากเดิม 5 แสนล้าน + 1 แสนล้านที่กู้ใหม่เพื่อ Project นี้ เทียบกับ GDP ที่เศรษฐกิจเติบโตมาถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ก็จะกลายเป็น 50% ของ GDP
ตามทันมั้ย? เดิม GDP 1 ล้านล้าน, มีหนี้เดิม 5 แสนล้าน และก่อหนี้ใหม่ 1 แสนล้าน เท่ากับเรามีหนี้ต่อ GDP ที่ 60% ผ่านมา 5 ปี เราไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม แต่ก็ยังไม่ได้จ่ายหนี้เดิม หนี้มีเท่าเดิม 6 แสนล้าน แต่ GDP เติบโตขึ้นมาเป็น 1.2 ล้านล้าน ดังนั้นหนี้ก็จะลดลงเหลือแค่ 50% ของ GDP
ในกรณีนี้ก็คือถ้าเงินมันถูกนำไปใช้ต่อยอด พัฒนา และสร้างความคุ้มค่าที่ถูกที่ควร ต่อให้เรากู้เงินเยอะ นำไปลงทุนอย่างคุ้มค่า ท้ายที่สุดสัดส่วนหนี้มันก็จะลดลงเอง เพราะเศรษฐกิจมันเติบโตได้คุ้มค่าต่อหนี้ที่เราก่อ
เราต้องไม่กลัวหนี้ ถ้าเราอยากที่จะเติบโต กรณีใช้เหรียญปั๊มขึ้นมาชำระหนี้มันก็เรื่องหนึ่งที่ฟังดูลดความน่าเชื่อถือและความรู้สึกไม่ใช่น้อย
แต่การมีหนี้ของประเทศ ถ้ามันถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม และต่อยอดสร้างมูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้มันคือภาระหนี้ที่ประชาชนที่ต้องใช้ร่วมกัน แต่ในวันที่เศรษฐกิจเติบโต เราก็ได้ประโยชน์จากมันเช่นเดียวกัน
จบส์ จะมีคนอ่านมาถึงตรงนี้กี่คนวะเนี่ย 55555

Saturday, September 25, 2021

เฟตตูชินี่เห็ดทรัฟเฟิล สูตรเชฟทักษ์


(แปะไว้ จะได้หาง่ายๆ) เนื้อหาจากโพสต์เชฟทักษ์ ทั้งหมด
ที่มา  https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=137282824650074&id=105874777790879

หน้าฝน ชื้นๆอย่างนี้ ก็ไม่พ้นฤดูกาลของเห็ดสิครับ โดยเฉพาะคนที่หลงรักกลิ่นของเห็ดทรัฟเฟิล ซึ่งถือว่าเป็นเห็ดที่แพงที่สุดในโลก กิโลกรัมละเป็นแสนบาท ต้องไม่พลาดเมนูนี้
❤️ พาสต้าสูตรนี้เป็นชนิดครีมซอสแบบ light ครับ กล่าวคือมันจะไม่หนักมาก เบาๆ แต่เข้มข้นถูกใจคนไทย เพราะไม่ได้ใช้ครีมอย่างเดียว แต่ใช้นมสดเป็นส่วนใหญ่ครับ
1. พาสต้าเส้นแบน (Fettuccine) 8 ก้อน (ในแพ็คเค้าจะม้วนมาเป็นก้อนๆ) ซื้อที่
2. เห็ดแชมปิยองสีน้ำตาล Brown Button Mushroom หั่นหนา 1 ซม. 200 กรัม (1กล่อง 35 บาทเอง ที่แม๊คโคร)
3. ทรัฟเฟิลเข้มข้น (Truffle Paste) 3 ช้อนโต๊ะ
(กระปุกละ 500กรัม ราคา 570 บาทที่แม๊คโคร คุ้มนะครับ) แม็คโคร คู่คิดธุรกิจคุณ
4. นมสดไขมันเต็ม 1 ถ้วยตวง หรือ 200 มิลลิลิตร
5. ครีมแท้ ชนิดวิปปิ้งครีม 50 มิลลิลิตร
6. เนยสดชนิดจืด 1 ช้อนโต๊ะ
7. หอมใหญ่ 1/4 ลูก สับละเอียดยิบ
8. กระเทียมจีน 1 กลีบเล็ก สับละเอียดยิบ
9. เกลือป่น 1/2 ช้อนชา (เริ่มต้น)
10. พริกไทดำตามชอบ
1. ต้มเส้น โดยเริ่มจากตั้งน้ำเปล่าให้เดือด ใส่เส้นพาสต้าลงไปต้ม (ไฟกลาง) ช่วงแรกให้คนหน่อยครับ ต้มไป 10 นาที (หรือตามที่ระบุที่ห่อ) เอาขึ้นใส่กระชอน ล้างน้ำเย็นเพื่อหยุดความร้อน จากนั้นนำน้ำมันในขวด truffle paste 1 ช้อนชาใส่ลงไปเคลือบเพื่อไม่ให้เส้นติด และเพิ่มความหอม พักเส้นรอไว้
2. ทำซอสเห็ดทรัฟเฟิล โดยเริ่มจากการผัดเห็ด หอมใหญ่ เนย และเกลือในกะทะไฟกลางถึงแรง ประมาณ 2 นาทีจนเห็ดเกรียม และเหี่ยวลง
3. ใส่กระเทียม ลงไปผัดอีก 30 วินาที
4. ใส่นมสดลงไป ตามด้วยครีม ต้มกับเห็ดที่ผัดแล้วจนเดือด และนมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล (ขั้นตอนนี้ ถ้าใครไม่อยากกินพาสต้า สามารถตักขึ้นทานเป็นซุปเห็ดได้เลย อร่อย นัว หอม หวานมาก)
5. ต้มไปอีกซัก 1 นาที จนครีมซอสงวดลงเล็กน้อย
6. ปิดไฟ และใส่ truffle paste ลงไปผสม
7. ชิมน้ำซอส ต้องให้เค็มนำนิดนึง เค็มนำหมายความว่าตอนชิมซอสแล้วถ้าอร่อยพอดี ให้เติมเกลือลงไปอีกซัก 1/4 ช้อนชา มันจะเค็มเกินไปหน่อย แต่พอใส่เส้นลงไปคลุกมันจะพอดี
8. เปิดไฟกลาง ใส่เส้นที่ต้มสุกแล้วลงไปคลุกกับซอส ตอนนี้เหมือนน้ำซอสจะยังเหลวๆนองๆ แต่พอคนต่อไปอีก 30 วินาที น้ำซอสจะซึมเข้าไปในเส้น และซอสจะเข้นขึ้นพอดี
9. ตักขึ้นใส่จาน ใส่พริกไทดำป่นก่อนเสิร์ฟ
⭕️⭕️⭕️เจาะลึกเทคนิคเนิร์ดๆ⭕️⭕️⭕️
(ส่วนนี้สำหรับเด็กเนิร์ด ใครขี้เกียจอ่าน ข้ามไปสรุปด้านล่างสุดได้เลย 🤓🤓🤓)
1️⃣ในขั้นตอนที่ 1 ที่ให้ต้มเส้นก่อนทำซอส ล้างด้วยน้ำเย็น และใส่น้ำมันทีหลัง ถ้าเพื่อนชาวอิตาเลี่ยนมาอ่านคงนั่งด่าในใจ เพราะมันคือการทำตรงข้ามกับชาวอิตาเลี่ยนหมดเลย 5555
ของเขาจะต้องทำซอสพร้อมต้มเส้น พอเริ่มผัดเห็ดเตานึง อีกเตาก็จะเริ่มต้มเส้น น้ำที่ต้มเส้นก็ต้องใส่เกลือจนเค็มเหมือนน้ำทะเลเมดิเตอเรเนียนพอซอสทำและปรุงเสร็จหมาดๆ เส้นจะสุกพอดี เขาจะยกเส้นร้อนๆขึ้นจากน้ำเปล่าลงน้ำซอสทันที มันเป็นศิลปะของชาวอิตาเลี่ยนแบบ home cook
แต่ที่ผมให้ต้มเส้นก่อน เพราะมันเป็นเทคนิคการ preparation แบบร้านอาหาร เตรียมทุกอย่างให้พร้อม ตอนทำซอสจะได้ไม่ต้องมาพวงกับการต้มเส้นไงครับ ทำให้เสร็จทีละอย่าง ปลอดภัยกว่า ถ้าเซียนแล้วค่อยทำแบบอิตาเลี่ยนเขา
2️⃣ในขั้นตอนที่ 2 ตอนผัดเห็ด เกลือ และเนยขั้นตอนนี้สำคัญมากๆเพราะเป็นการสร้างกลิ่นรสของเห็ดที่หอมหวล
เนยกับไฟแรงๆ ผสมกับหอมใหญ่จะช่วยให้เห็ดเกรียมเป็นสีน้ำตาลไวขึ้น เนยมีโปรตีนนม มีกรดอะมิโน หอมใหญ่จะปล่อยน้ำตาลออกมา เกลือช่วยลดค่ากิจกรรมของน้ำ (water activity)
ทั้งหมดนี้ช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาล (Maillard Reaction) กับเห็ดได้ไวขึ้น ซึ้งจากโพสต์ก่อนๆได้อธิบายไปแล้วว่า ปฏิกิริยานี้จะให้ทั้งสี และกลิ่นแบบ meaty หรือเนื้อย่างเกรียมๆ ทั้งๆที่ไม่มีเนื้อสัตว์ในสูตรนี้เลย
อีกทั้งเนยยังมีกลิ่นจาก diacetyl ซึ่งให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของเนยสดอีกด้วย
ต่างจากการใช้น้ำมันพืชผัด เพราะน้ำมันพืชไม่มีกรดอะมิโน ไม่มีโปรตีนนม และไม่มีกลิ่นหอมเหมือนเนย เราใส่เนยแค่นิดเดียวครับ แค่ 1 ช้อนโต๊ะเอง แต่มันสร้างความแตกต่างมากๆ ไม่อ้วนมากหรอกครับ
3️⃣ในขั้นตอนที่ 3 กระเทียมต้องใส่ตอนหลัง เพราะถ้าใส่ไปตั้งแต่แรก กระเทียมมีสิทธิ์ที่จะไหม้ได้ ถ้ากระเทียมไหม้ มันจะขม แทนที่จะได้รสหอมหวานของกระเทียมสุก การที่เราสับกระเทียมละเอียด ผัดต่อไปอีก 30 วินาทีก็สุกแล้ว
4️⃣ในขั้นตอนที่ 4 สูตรในเน็ตทั่วไป มักจะให้ใส่แต่ครีม ในครีมซอส แต่การใส่ครีมล้วนๆลงไปมันเลี่ยนมากๆๆครับ และยิ่งตอนใส่เส้นลงไปผัด เส้นจะคายแป้งออกมา ยิ่งทำให้ครีมมีความ “แหยะ และเหนอะหนะ” ในปากไปอีก
ในร้านอาหารที่เวลาสั่งพาสต้าครีมซอส เค้าจะใส่นมสดเป็นหลักต่างหากครับ เราเลยกินแล้วอร่อย ตักได้เรื่อยๆ ไม่เลี่ยน สูตรนี้ผมเลยให้ใส่ นมต่อครีม อัตราส่วน 4:1 ครับ
ใครกลัวอ้วน ใส่นมอย่างเดียวเลยก็ได้นะครับ มันจะยิ่งเบาไปอีก
ตอนทำซอสตอนนี้ถ้าใครลองชิมน้ำซอสในขั้นตอนนี้จะพบว่ามันกลมกล่อม หอมหวานมากทั้งๆที่ไม่ได้ใส่ผงชูรส แหะๆ ก็ใช่สิครับ ในเห็ดมันอัดแน่นไปด้วยผงชูรสธรรมชาติที่เรียกว่า “กัวไนเลต” มันเป็นนิวคลิโอไทด์ชนิดหนึ่งครับ
อีกทั้งในหอมใหญ่ยังมีน้ำตาลที่ให้ความหวาน บวกกับกลิ่นหอมของสีน้ำตาลจากเห็ดผัดเนยเกรียมๆ ที่อธิบายไว้ในข้อ 2 ที่ช่วยขับรสทุกอย่างให้หอม และกลมกล่อมมากๆครับ เทคนิคเหล่านี้ช่วยทำให้อาหารอร่อยขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งผงชูรสสังเคราะห์
5️⃣ในขั้นตอนที่ 5 การที่ต้มต่อไปอีก1นาที ช่วยให้ทั้งรสและสีของเห็ดซึมออกผสมกับนมและครีม จะได้ซอสสีน้ำตาลสวย
6️⃣ในขั้นตอนที่ 6 ต้องปิดไฟก่อนใส่ truffle paste เพราะใน truffle paste มีกลิ่นของทรัฟเฟิลที่ไม่ทนความร้อนครับ ดังนั้นการจะใส่ทรัฟเฟิลลงไปต้องใส่ทีหลังสุดเลย ไม่งั้นถ้าใส่ไปผัดตั้งแต่แรก กลิ่นจะระเหยหายไปหมดครับ (เหมือนกับกลิ่นวานิลลาแท้ ที่ไม่ทนความร้อนเหมือนกัน)
truffle paste ที่ให้ใส่นี้ มันไม่ได้ทำมาจากเห็ด truffle 100% หรอกครับ ไม่เช่นนั้นกระปุกนี้คงราคาประมาณ 50,000 บาท 😹 มันทำมาจากเห็ดแชมปิยองบดละเอียด ผสมกับเห็ดทรัฟเฟิลสีดำแท้ๆ เพียง 4% ครับ แค่ 4% ก็ฉุนมากๆแล้วครับ เห็ดนี้กลิ่นแรงมาก และเห็ดทรัฟเฟิลตัวมันเองไม่มีรสชาตินะ จืดมากๆ ไม่มีความอูมามิเหมือนแชมปิยอง หรือแม้แต่เห็ดหอมด้วยซ้ำ
ดังนั้นในขวด truffle paste นี้ถูกต้องแล้วครับ มีแชมปิยองและน้ำมันมะกอกเป็นตัวพากลิ่น (carrier)ให้น้องทรัฟเฟิล และยังให้รสนัว อูมามิ จากตัวของมันเองอีกด้วยที่ อธิบายไว้ในข้อ 4) และมันยังทำให้ซอสมีเกล็ดเห็ดสีดำๆละลายอยู่เหมือนใส่เห็ดทรัฟเฟิลจริงๆช่วยให้พาสต้าจานนี้ดูแพงและขายได้แพงขึ้นด้วยครับ
ขวดใหญ่นี้น้ำหนักครึ่งกิโล ราคา 570 บาทซึ่งถือว่าถูกมากๆ สำหรับ truffle lovers ใช้ได้นาน ผัดได้หลายสิบจานเลยครับ (ผมซื้อที่แมคโครลาดพร้าว)
7️⃣ในขั้นตอนที่ 7) สำคัญมาก เพราะเป็นตัววัดความสามารถของลิ้นครับ ซอสมันต้องเค็มนำนิดนึง แต่ไม่เค็มปี๋ พอใส่เส้น เส้นจะดูดเกลือเข้าไป ทำให้ซอสเค็มลดลงภายหลังครับ
8️⃣ในขั้นตอนที่ 8ตอนนี้จำเป็นต้องเปิดไฟอีกครั้งครับ เพื่อเป็นการอุ่นเส้นที่ต้มสุกรอไว้จนอาจจะเย็นไปแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องกลิ่นทรัฟเฟิลครับ ตอนนี้กลิ่นมันถูกตรีงไปในครีมซอสแล้วครับ
ผัดซอสกับเส้นไปอีกซักพัก ตอนแรกน้ำจะนองๆหน่อย แต่พอผัดไปซักพัก ในขั้นตอนนี้แป้งจากเส้นจะออกมาทำให้ครีมซอสข้นขึ้น และเคลือบเส้นครับ เกลือในซอสก็จะซึมไปในเส้น ตักใส่จานเป็นการจบข่าว
ลองทำดูนะครับ อร่อยเหมือนในร้านอาหารอิตาเลี่ยนแพงๆเลย แต่ถ้าเราทำเอง จานนึงไม่ถึง 100 บาทครับ
1) กลิ่นทรัฟเฟิล (กลิ่นหลัก) มาจากการใช้ truffle paste ที่มีส่วนผสมของเห็ดแชมปิยอง(70%)และทรัฟเฟิล(4%)
2) กลิ่นรองหรือกลิ่นที่ช่วยเสริมกลิ่นทรัฟเฟิล มาจากการผัดเนยและเห็ดแชมปิยองสดด้วยไฟแรงจนเกรียม
3) ความเข้มข้นที่ไม่เลี่ยน มาจากการใช้นมสดต่อครีม 4:1 และปล่อยให้น้ำซอสนองๆเส้นในช่วงแรก พอผัดต่อไปน้ำซอสจะงวดเคลือบเส้นเอง
ปล. หลายคนมี truffle oil ที่บ้านอยู่แล้ว ใส่ได้เลยครับ จะยิ่งหอมขึ้นไปอีก เหยาะบนพาสต้าตอนก่อนจะเสิร์ฟก็ได้ครับ กลิ่นจะได้ไม่หาย



Sunday, April 04, 2021

จีวรสีน้ำเงิน - หนึ่งในสีจีวรที่ไม่พบใช้อีกแล้ว

เคยอ่าน บทความของ นักวิชาการรุ่นใหม่บางท่าน บอกว่า จีวร ของ พระพุทธเจ้า และ พระสมัยพุทธกาลเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสีของชนชั้นสูง เขาจึงสรุปว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของอีลิต แต่จากบทความด้านล่าง สีม่วง (สีน้ำเงิน) เป็นสีที่พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยว่าห้ามใช้ ถ้าเป็นตามนี้ ข้อสันนิษฐานของนักวิชาการท่านนั้น น่าจะผิดจากความเป็นจริง

 
from https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=883920095469834&id=100015555556981


 จีวรสีน้ำเงิน - หนึ่งในสีจีวรที่ไม่พบใช้อีกแล้ว

จีวรพระสงฆ์ในพุทธศาสนาโดยทั่วไปจะเป็นโทนสีร้อนแทบทั้งหมดตั้งแต่แดงหม่น เหลืองหม่น น้ำตาล หรือน้ำตาลเข้มไหม้ แต่สีโทนเย็นที่ได้ปรากฏแหวกแนวออกมานอกเหนือจากนั้นคือสีน้ำเงิน/สีคราม/เขียว (นีล) ซึ่งดูแปลกประหลาดต่างจากกลุ่มสีอื่นๆที่มีการใช้อย่างยิ่งทีเดียว
• ศาริปุตรปริปฤจฉา (Śāriputraparipṛcchā 舍利弗問經) แปลในสมัยตงจิ้น ศตวรรษที่ 4 กล่าวถึงนิกายต่างๆในอินเดียครองจีวรต่างสีกันไปเพื่อกำหนดแยกแยะ ระบุว่านิกายมหิศาสกะ ห่มจีวรสีน้ำเงิน" (青衣)
• สามพันวัตรแห่งมหาภิกษุ (大比丘三千威儀) แปลโดยพระอันซื่อเกา (安世高) ในศตวรรษที่ 2 ระบุเช่นเดียวกันว่านิกายมหิศาสกะ ห่มกาษายะสีน้ำเงิน (青袈裟)
• อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ "นิกายสังครหะ" ซึ่งแต่งขึ้นในลังกา ระบุว่า จีวรสีครามนี้เป็นของนิกายสัมมตียะ เรียกว่ากลุ่ม "นีลปัฏฏทรรศนะ" หมายถึงกลุ่มพระสงฆ์ที่มีทัศนะใหม่แตกต่างจากคณะสงฆ์เดิม เพื่อคานอำนาจของกลุ่มเดิมจึงหันมาครองสีครามหรือสีน้ำเงินเข้ม (นีล)
------------------------------
• ในพระวินัยปิฎกบาลี จีวรขันธกะ พระพุทธเจ้าทรงห้ามจีวรสีน้ำเงิน/สีคราม(นีล) "ภิกษุไม่พึงห่มจีวรสีน้ำเงินล้วน" (น ภิกฺขเว สพฺพนีลกานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ) แต่ในอรรถกถาวินัยของฝ่ายบาลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสีน้ำเงินที่ไม่ควรใช้ย้อมจีวรคือสีแบบดอกแฟลกซ์ (อุมาปุปฺผ) ซึ่งที่จริงเป็นสีม่วง นอกเหนือจากนั้น วินยสังคหอรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นหลังก็ระบุว่า "เว้นใบมะเกลือกับใบครามเสีย น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ควรทุกอย่าง" กล่าวคือไม่ควรใช้ครามที่ให้สีน้ำเงินเข้มในการย้อมผ้าจีวร
• พระวินัยแห่งนิกายมูลสรรวาสติวาท จีวรวัสตุ พบในเมืองกิลกิต (Gilgit) อัฟกานิสถานมีระบุเช่นกันว่า “ภิกษุไม่พึงครองจีวรสีน้ำเงินล้วน” (น ภิกฺษุณา สรฺวนีลํ จีวรํ ธารยิตฺวยมฺ )
-------------------------------
ทั้งที่สีน้ำเงินนี้ดูแปลกประหลาดไปจากสีย้อมฝาดของ "กาษายะ" อื่นๆ ที่ควรจะมีสีเดียวกับดินคือน้ำตาล เหลืองหม่น หรือแดงหม่น แต่มีข้อสันนิษฐานหนึ่งถึงสาเหตุของการใช้สีน้ำเงินย้อมจีวรน่าจะมีที่มาจากคำว่า "เมฆวณฺณํ" (meghavaṇṇaṃ) หรือ "เมฆวรฺณํ" (Meghavarṇā; मेघवर्णा) -"สีของเมฆ" ซึ่งในสายการสืบทอดอรรถกถาและปกรณ์นอกปิฎกของพุทธแต่โบราณทั้งฝ่ายบาลีและสันสกฤตที่ระบุว่าเป็นสีจีวรของพระพุทธเจ้าและพระสาวกในครั้งพุทธกาล โดยให้ความหมายว่าได้แก่ สีของเมฆต้องแสงแดดยามเย็นเป็นสีแดงหม่น
- สีลขันธฎีกาแห่งสายบาลีได้อธิบายว่า: "สีของเมฆ ได้แก่สีของเมฆที่ทาบติดด้วยแสงสนธยา" (เมฆวณฺณนฺติ รตฺต เมฆวณฺณํ สญฺชา ปพานุรญฺชิ ตเมฆสงฺกาสนฺติ อตฺโถ)
- สีลขันธอภินวฎีกา ว่า: "มีสีของเมฆเพราะย้อมดีแล้ว มีสีดำหน่อยหนึ่ง" (สุรญฺชิตภาเวน อิสกํ กณฺหวณฺณาย เมฆวณฺณํ)
file:///C:/Users/Sister/Downloads/219894-Article%20Text-709860-1-10-20191005.pdf
ดังนั้นโดยทั่วไปทั้งสายบาลีและสันสกฤตจึงยอมรับว่า จีวรของพระรุ่นโบราณเป็นสีของเมฆ (เมฆวรฺณ) นี้คือสีแดงหม่น แต่คำว่า "เมฆวรฺณ" เดียวกันนี้ในภาษาสันสกฤตยังเป็นคำที่ใช้เรียก ไม้คราม (India indigo) จึงอาจเป็นไปได้ว่านิกายมหิศาสกะได้เข้าใจคำนี้ว่าเป็นไม้ครามและนำไปสู่การใช้ย้อมจีวรจนเป็นสีน้ำเงิน จากภาพจิตรกรรมสื่อว่ามีการใช้จีวรสีนี้ตั้งแต่อินเดียกลาง อัฟกานิสถาน จนถึงอาณาจักรพุทธบนเส้นทางสายไหมในเอเชียกลาง และเข้าสู่เมืองจีนด้วย
• บทบัญญัติแห่งพระอาจารย์หวงป้อ (黄檗清規) ตำราวินัยปฏิบัติของอารามเซนในเมืองจีนประมาณศตวรรษที่ 9 ระบุว่า พระภิกษุผู้ศิษย์สืบสายธรรมหรืออุปัฏฐากของพระอาจารย์เจ้าอาวาสในพิธีแขวนภาพจำลองและรำพันไว้ทุกข์พระอาจารย์ผู้ล่วงลับครองกาษายะสีน้ำเงิน (青袈裟) *กรณีนี้ดูเหมือนจะเป็นจีวรที่ใช้ในกรณีพิเศษเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นบริขารอธิษฐานประจำตน
สีของกาษายะน้ำเงินไม่มีการใช้ในเมืองจีนอีกแล้ว แต่อิทธิพลของผ้าสีน้ำเงินในอดีตโบราณอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุดครองประจำวันที่ใช้เทียบแทนจีวรของพระสงฆ์จีนมีการใช้สีน้ำเงินและสีฟ้า ไปจนถึงฟ้าเหลือบเทาเรื่อยมาจนปัจจุบัน
พระสงฆ์จีนน่าจะใช้ชุดครองสีน้ำเงินมาอย่างน้อยก็ประมาณศตวรรษที่ 10 ตามตำนานทิเบตเล่าว่าเมื่อคณะสงฆ์ทิเบตแทบหมดสิ้นและต้องนิมนต์พระสงฆ์จีนเข้าร่วมนั่งอันดับในการรื้อฟื้นการอุปสมบท เพื่อเป็นการรำลึกบุญคุณพระสงฆ์จีน ในชุดอังสะชั้นในของพระทิเบต (ส่วนใหญ่เป็นสีแดง หรือสีเหลืองขอบแดง) จึงมีการเย็บด้ายสีน้ำเงินติดไว้ เพราะพระจีนในสมัยนั้นใช้ชุดครองสีน้ำเงินเป็นหลัก
-------------------------------
พระภิกษุสงฆ์บางกลุ่มในอดีตน่าจะได้แก่ นิกายมหิศาสกะหรือนิกายสัมมตียะเคยใช้จีวรสีน้ำเงิน น่าจะย้อมด้วยครามจนเป็นสีโทนดำคล้ำแต่เมื่อซักไปจะกลายเป็นสีน้ำเงิน
พระจ้านหนิง-วินยาจารย์สมัยซ่งได้ให้ข้อมูลว่านิกายมหาสังฆิกะใช้จีวรสีน้ำเงิน-เขียว (แต่ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบที่ทำให้ดูน่าเชื่อถือในข้อนี้ มิฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจีวรสีน้ำเงินเป็นสีที่ใช้แพร่หลายในบางพื้นที่และอาจไม่จำกัดนิกายเคร่งครัด)
ในปัจจุบันไม่ปรากฏพระสงฆ์นิกายไหนในโลกนี้ใช้จีวรสีนี้เป็นบริขารอีกแล้ว แต่ในอดีตดูเหมือนจะเคยมีพระภิกษุสงฆ์บางกลุ่มที่ใช้สีน้ำเงินจริง ดังปรากฏหลักฐานประปรายในศิลปะรุ่นโบราณ เช่น
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งบามิยาน (Bamiyan) ประเทศอัฟกานิสถาน
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งกิซิล (Qizil) มณฑลซินเจียง ประเทศจีน บนเส้นทางสายไหม
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งอชันตา (Ajanta) รัฐมหาราษฏร์ ประเทศอินเดีย
• จิตรกรรมฝาผนังที่พุทธคูหาแห่งเบเซกลิก (Bezeklik) ตูร์ฟาน มณฑลซินเจียง ประเทศจีน
• จิตรกรรมฝาผนังที่การาชาร์ (Karashar) มณฑลซินเจียง ประเทศจีน
จิตรกรรมฝาผนังที่คูหาวิหารอัลจิ (Alchi) แห่งลาดัข ในกัศมีร์ ประเทศอินเดีย อ่าน และ ภาพเพิ่มเติม https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1086778548517320&id=100015555556981

Tuesday, January 05, 2021

รีวิว Thinking Fast & Slow || Done Author || Daniel Kahneman โดยคุณ Tossasat Rattanopassakul

ที่มา https://www.facebook.com/photo/?fbid=4291710280845913&set=a.185309461486036

Thinking Fast & Slow || Done
Author || Daniel Kahneman

หนังสือในตำนานที่ได้รับคำเตือนอย่างล้มหลามว่าอ่านยาก อ่านเหนื่อย แต่ก็เป็น Wish List ของเราเลย เพราะ แดเนียล คาเนมาน คือผู้ที่ถูก refer จากนักเขียนที่เราชอบมากๆ หลายคน (จริงๆแล้ว ทฤษฎีที่ทำให้แดเนียลได้รับรางวัลโนเบลในปี 2002 คืองานเขียนที่ถูกนำไปใช้อ้างอิงมากที่สุด ทั้งในแวดวงจิตวิทยา และ เศรฐศาสตร์) Thinking Fast & Slow ถูกตีพิมพ์ในปี 2011 และเป็นเหมือนปฐมบทของหนังสือจิตวิทยาทั้งปวง ถึงแม้หนังสือสายนี้จะมีเนื้อหาทับซ้อน ซ้อนทับกันปานใดก็ตาม แต่ถ้าชอบสายนี้ ยังไงก็ต้องอ่าน เพราะเป็นเหมือนการเข้าใจ pure theory ก่อนที่จะแตกแขนงไปสู่ many fancy executions

และคำเตือน... ย่อแล้ว นี่ย่อมากๆแล้วจริงๆ แต่ยาวมาก ยาวที่สุดที่เคยย่อมาให้กลั้นใจแล้วอ่านต่อไปได้เลย

หนังสือเริ่มต้นจากการสังเกต​ว่า ทำไมคนเรามักจะตอบคำถามทางสติถิได้ไม่ถูกต้อง ความสงสัยนำไปสู่การคาดการณ์ว่า สมองของมนุษย์น่าจะมีระบบปฏิบัติการ 2 ส่วน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคำนวนและเปรียบเทียบนั้นทำงานได้ช้ากว่าและไม่ได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่สมอง​ส่วนที่เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดพื้นฐาน การมองเห็น สังเกตุ​ จดจำ และตัดสินใจนั้น ทำงานอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เราจึงใช้สมองส่วนความทรงจำตอบคำถามออกไปก่อนที่จะได้คิดวิเคราะห์​อย่างจริงจัง

การค้นพบเล็กๆนี้คือจุดเริ่มต้นสำคัญ ว่าระบบความคิดของมนุษย์นั้น ทำงานผ่านระบบปฏิบัติการ 2 ส่วน

[ พาร์ท 1 ]
system 1 คือระบบออโต้ไพลอท ที่ทำให้ร่างกายดำเนินไปตาม ‘ธรรมชาติ’ -​ (สัญชาตญาณ​การเอาชีวิตรอด)​ หรือเหตุการณ์​ที่คุ้นเคยจากการทำซ้ำๆจนเป็นลักษณะ​นิสัย (habit)​ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุ​การณ์​ที่ไม่อยู่ในสารบบของลักษณะ​นิสัยอันคุ้นเคย สมองจะทำการเปิดระบบ system​ 2 ขึ้นมาทำงานทันที ในขณะที่ใช้งานระบบนี้ สมองจะต้องใช้พลังงานเป็นอย่างมากเพื่อรวบรวมสมาธิและประมวลผล และทำให้เราอยู่ในสภาวะ ‘รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา’ เพื่อทำภารกิจอย่าง การควบคุมตัวเองให้สุภาพเรียบร้อบ ระแวดระวังภัย จดจำชุดข้อมูล ไปจนถึงการคิดคำนวนและการเปรียบเทียบ

และเนื่องจาก system 2 นั้นใช้พลังงานมหาศาล จึงมีข้อจำกัด 3 ข้อ
1 - สมองจะไม่สามารถใช้งาน system 2 สองงานพร้อมๆกันได้ [ เช่น จดจำชุดตัวเลขและคำนวณผลคูณในใจต่อกันหลายชุด สมองต้องค่อยๆสลับหน้าที่ ทีละลำดับไปอย่างเชื่องช้า หรืออาจจะถึงกับทำให้เราต้องหยุดกิจกรรมอื่นๆใน system 1 เช่น หยุดเดิน หรือหยุดฟัง ซึ่งก็คือการลดภาระในการทำงานของสมองลง ]
2 - ถ้าเราใช้พลังงาน (กลูโคลส) ไปจนหมด สมองจะไม่สามารถใช้ system 2 ต่อไปได้
3 - ทำให้ร่างกายพยายามใช้ system 2 ให้น้อยที่สุด

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ต้องใช้ความคิดมากๆ เรามักต้องการให้หยุดกิจกรรมอื่นๆ หรือความวุ่นวายรอบๆตัวลง หรือเมื่อเราใช้สมองอย่างหนักจนรู้สึกเหนื่อยล้า การกินกลูโคลสจะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็มักจะหงุดหงิด หรือโมโหง่าย ในช่วงเวลาที่ใช้สมองหนักหน่วง [ ตึงเครียด ] เนื่องจากเรากำลังใช้ system 2 ทำงานบางอย่างอยู่ system 2 จึงลดการทำหน้าที่ ‘ควบคุมตัวเองให้มีมารยาท' ลง

ความน่าสนใจก็คือ system 1 นั้นทรงพลังมากกว่าที่คิด สมองของเราเกิดการรับรู้ ประมวลผล และสร้างความเชื่อมากมายที่เราไม่ทันรู้ตัว (และไม่สามารถควบคุมได้) ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดที่เราเคยรับรู้เข้าไว้ด้วยกันเหมือนร่างแห เช่น เมื่อเราเห็นคำว่า อาหาร เราอาจนึกถึง ไก่ย่าง ต้มยำ หรืออาหารที่เราชอบทันที และไม่ใช่แค่นั้น สมองของเรายังนึกไปถึง กุ้งตัวโตๆ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กลิ่นหอมของมะนาวในต้มยำอีกด้วย

และที่น่าขนลุกยิ่งกว่านั้น การนึกถึงมีผลต่อพฤติกรรม​ของเราอย่างไม่น่าเชื่อ [ เช่นตอนนี้คุณอาจจะกำลังรู้สึกหิว ] - คนที่ต้องเล่นเกมสะกดคำ ที่เต็มไปด้วยคำที่เกี่ยวกับคนแก่จะเคลื่อนที่ช้าลง - หรือแม้แต่การได้เห็นรูปเงินจำนวนมากในภาพแบคกราวน์ของคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น (Priming Effect)

system 1 จะถูกกระตุ้นโดยสารที่ได้รับซ้ำๆ ความรู้สึกปลอดภัย หรือการมีความสุข - ในทางตรงกันข้าม ความเศร้า หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย ก็จะกระตุ้นให้ system 2 ทำงาน

เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำ (ถึงแม้ว่าจะบังเอิญ) จะถูกบันทึกให้เป็น ‘เรื่องปกติ’ ใน system 1 เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นอีก system 2 จะไม่ทำงาน และยิ่งตอกย้ำความ ปกติ ให้มากขึ้น - การได้รับสารในรูปแบบของเรื่องเล่าก็สามารถถูกบันทึกลงใน system 1 ได้เช่นกัน

system 1 จะรีบข้ามไปยังข้อสรุปให้เร็วที่สุด โดยพยายามหาเหตุผลที่ดู ‘สมเหตุสมผล’ มากที่สุด (ไม่ใช่หาเหตุผลมาสนับสนุนให้มากที่สุด) - โดยจะพยายามคาดเดาและสรุปเรื่องราวจากข้อมูลบางอย่างที่ได้รับมาไม่ว่าจะน้อยเพียงใด มากกว่าที่จะขอข้อมูลเพิ่ม หรือตั้งคำถามว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับการหาข้อสรุปนั้นๆ - เช่น มักจะรีบสรุปว่า หัวหน้าที่มาใหม่น่าจะดี เพราะเค้าฉลาดมากและมีเหตุผล - โดยที่ไม่ได้ใส่ใจขอข้อมูลเพิ่ม ( ฉลาด +เปิดเผย กับ ฉลาด +ขี้โกง นั้นต่างกันมาก)

เหตุการณ์​แบบสุ่มเกิดขึ้นในธรรมชาติ​เสมอๆ แต่ system 1 จะพยายามลดการสงสัย และหาความเชื่อมโยงของข้อมูลเท่าที่มี (WYSIATS - what you see is all that is) เพื่อรีบสรุป ‘ข้อเท็จจริง’ ให้กับทุกๆเหตุการณ์​ เพื่อคงความรู้สึกสบายใจ​ของเราไว้ (ความสบายใจทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานเปิด system 2) - การดึงข้อมูลจากความทรงจำที่ดูจะเชื่อมโยงกันได้ขึ้นมารวมกันเพื่อสร้าง ‘เหตุผล’ ให้กับเหตุการณ์ต่างๆนั้นเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะ system 1 เก็บข้อมูลไว้เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ทำให้เรามักจะมองเห็นความสัมพันธ์​ของเหตุการณ์​ต่างๆ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วความสัมพันธ์​นั้นจะไม่มีอยู่จริง และเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ​ก็ตาม

สุดท้าย system 1 และ 2 นั้น นอกจากจะทรงพลัง ก็อ่อนไหวอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเรายิ้ม หรือใช้กล้ามเนื้อแบบเดียวกับการยิ้ม หรือแม้แต่ผงกหัวซ้ำๆ เรามันจะใช้ system 1 - ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราขมวดคิ้ว หรือสะบัดหัวไปทางซ้ายและขวา เราก็มักจะใช้ system 2 [ จากการทดลองให้นักศึกษาทำโจทย์ทางสถิติง่ายๆ ในขณะที่รับการทดสอบกล้ามเนื้อคอ ด้วยการสะบัดหัวไปในทิศทางต่างๆกัน นักศึกษาที่สะบัดหัวไปทางซ้ายและขวา ตอบถูกมากกว่า นักศึกษาที่สะบัดหัวขึ้นลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ]

[ พาร์ท 2 ]
หลังจากแดนนี่ปูพื้นความรู้ของ system 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว หนังสือจะพาเราไปดูอคติทางการรับรู้ (bias) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยระบบทั้งสองกัน

Small Numbers - system 1 มักจะทึกทักเอาเองว่าเหตุการณ์​เฉพาะที่เราได้พบเห็น สามารถใช้เป็น ’ตัวแทน’ เหตุการณ์​ในลักษณะเดียวกันในครั้งอื่นๆได้ ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ตามหลักสถิติ เพราะถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เล็กเกินไป

Anchoring Effect - คือ priming effect ในรูปแบบของตัวเลข (หรืออะไรก็ตามที่ system 1 สามารถแปลงเป็นระดับ มาก-น้อย ได้)​ ซึ่งการตัดสินใจของเรามักจะโน้มเอียงไปทางตัวเลขนั้น ถึงแม้ว่าเราจะรับรู้ว่าตัวเลขนั้นไม่เกี่ยวข้อง (เลขแบบสุ่ม) หรือไม่ถูกต้อง (มาก/น้อย ผิดปกติ)​ แต่เราแทบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะ system 1 รับสารนั้นโดยอัตโนมัติและไม่สามารถย้อนความทรงจำกลับไปที่จุด ‘ไม่เคยรับสาร’ ได้

Representative Bias - เนื่องจาก system 1 ให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพ และมักใช้หลักการ ‘ตัวแทน’ เพื่อตอบคำถามที่ยากกว่าด้วยคำถามที่ง่ายกว่า (บริษัทจะประสบความสำเร็จมั้ย? >> ผู้นำองค์กรเก่งรึปล่าว? >> ผู้นำองค์กรดูมีสง่าราศีรึปล่าว?) หลังจากได้ข้อสรุปที่ดูเป็นไปได้ system 1 ก็จะรีบหาข้อมูลอื่นๆที่เป็นไปในเชิงบวกมาสนับสนุน (เค้าเป็นที่รักของลูกน้อง หน้าตาดี และไม่ฟุ้งเฟ้อ) และรีบหาเหตุผลเพื่อแก้ต่างว่าข้อมูลในเชิงลบนั้นไม่เกี่ยวข้อง (เค้ามีปัญหาครอบครัวแต่นั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน เค้าอาจจะฉุนเฉียวแต่นั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท) - จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะในเหตุผลสนับสนุนและแก้ต่างนั้นสามารถมองให้เป็นเชิงลบได้ทันที ซึ่งนั้นก็คือลักษณะเด่นของ system 1 - การสร้าง ‘เหตุผล’ ให้กับเรื่องที่ไม่มีเหตุผล

Less is more - เมื่อ ‘ความน่าจะเป็น’ ไม่เท่ากับ ‘ความเป็นไปได้’ โดยปกติ เมื่อเพิ่มคุณสมบัติเฉพาะเข้าไปมากเท่าไหร่ [สุนัข +ตัวใหญ่ +สีดำ +มีแผลที่ตา] system 1 จะยิ่งรู้สึกว่ามี ‘ความเป็นไปได้’ มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ที่จะเกิดเหตุการณ์ที่กำหนด [สุนัขทำร้ายคน] เพราะคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นทำให้การสร้างเรื่องราวดู ‘สมเหตุสมผล’ มากยิ่งขึ้น - แต่ในทางสถิติยิ่งเพิ่มคุณสมบัติเฉพาะเข้าไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ ’ความน่าจะเป็น’ ลดลง เพราะกลุ่มตัวอย่างเป้าหมายมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

Regression to mean - หรือการปรับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยเป็นเรื่องปกติทางสถิติซึ่งอธิบายด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์​ ว่าเหตุการณ์​ที่ดีกว่าปกติไปมาก มักจะตามมาด้วยเหตุการณ์​ที่แย่ลง (และเช่นเดียวกัน เหตุการณ์​ที่แย่มากๆมักจะตามมาด้วยเหตุการณ์​ที่ดีขึ้น)​ ซึ่งสามารถพบตัวอย่างได้ตั้งแต่เหตุการณ์​ต่างๆในชีวิตประจำวัน การทำงาน การเดินทาง อาหารที่กิน ไปจนถึงเหตุการณ์​สำคัญอย่างการแข่งขันกีฬา แต่ system 1 ก็มักจะหาเหตุการณ์อื่นๆมาสร้าง ’เหตุผล’ ให้เหตุการณ์สุดโต่งเหล่านั้น และมักจะลงเอยด้วยการเข้าใจผิดว่าสามารถ ‘คาดการณ์’ เหตุการณ์เหล่านั้นได้ และเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำ มากกว่าค่าความน่าจะเป็นที่แท้จริง

ถึงแม้ว่าการค้นหา ความน่าจะเป็น หรือการ ‘คาดการณ์อนาคต’ นั้น ต้องพึ่งพาการคำนวณทางสถิติเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง แต่สมองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มองหาข้อมูลทางสถิติโดยธรรมชาติ เนื่องจาก system 1 ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานนั้นพยายามตอบคำถามที่ยาก (สถิติ) ด้วยคำตอบที่ง่ายกว่า (ความสมเหตุสมผล) อยู่เสมอ และ system 2 ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิง “ปริมาณ" และมีความสามารถในการคำนวณก็จะไม่ถูกนำมาใช้ตราบใดที่ system 1 ยังสามารถตอบคำถามได้ (ถึงแม้ว่าจะตอบผิดคำถามก็ตาม)

ก่อนจะข้ามสู่บทถัดไป แดนนี่ก็ให้คำแนะนำเล็กๆว่า พยายามรู้ตัวให้ได้เมื่อมีโอกาสในการเผชิญกับ illusions และ bias ด้วยตัวเอง จะทำให้เราคุ้นเคยกับการเปิด system 2 เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์เหล่านี้ในอนาคต (แบบเดียวกับที่ทริกของภาพลวงตาหลอกเราได้ครั้งเดียว) และพึงระลึกไว้เสมอว่า system 1 มักจะคาดการณ์ผิดพลาด และโดยมากมักจะสุดโต่งกว่าความเป็นจริง เมื่อรู้ตัวแล้วก็ใช้ system 2 หาค่า base rate เพื่อทำ anchoring จากนั้นจึงทำ regression to base rate อีกที

[ พาร์ท 3 ]
หลังจากปูพื้นทฤษฎีหลักและทฤษฎีย่อยเรียบร้อย แดนนี่ก็เปิดฉากพาร์ทสามอย่างออกรสด้วยการเปิดเผยความบกพร่องทางการรับรู้ของสมองผ่านมุมมองของการเข้าใจผิดในสาขาอาชีพต่างๆ

เนื่องจากสมองรับเข้าเรื่องราวใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และเมื่อข้อมูลเก่าขัดแย้งกับข้อมูลใหม่ (เช่นสิ่งที่เคยเชื่อมั่น ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง)​ สมอง [ ซึ่งเราจะรู้ในภายหลังว่าคือ system 1 ] จะไม่สามารถเก็บทั้ง 2 ข้อมูลที่ขัดแย้งกันได้ ดังนั้น system 1 จะทำการเลือกเก็บข้อมูลที่คิดว่า 'จริง' ที่สุดไว้ และลบข้อมูลที่ขัดแย้งทิ้งไป ผลก็คือ สมองจะเชื่อว่าเราคิดและเข้าใจเหตุการณ์​ว่าเป็นแบบนั้นอยู่แล้วตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ​ซึ่งจะนำมาซึ่งสิ่งที่เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจาก system 1 จะพยายามเชื่อมโยงข้อมูล 'เท่าที่มี'​ ให้เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด โดยพยายามเน้นข้อมูล 'บางอย่าง'​ ให้มีความสำคัญมากเกินจริง ทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นว่าเราค้นพบ เหตุและผล ของเหตุการณ์ในอดีต ที่เป็นเสมือนกุญแจแห่งความลับสู่การพยากรณ์ (เพราะถูกเน้นให้ชัดเจนขึ้นหลังจากเหตุการณ์​เกิดขึ้นไปแล้ว)​ ดังนั้นเราจึงเชื่อต่อไปอีกว่า เราน่าจะสามารถหาเหตุ​ผลแบบเดียวกัน เพื่อที่จะคาดการณ์​อนาคตได้ ทั้งๆที่แท้จริงแล้วเหตุผล​นั้นมีความเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์​น้อยกว่านั้นมาก โดยแดนนี่ได้โจมตีหนังสือยอดฮิตประเภท "ลักษณะ​นิสัยของ CEO ที่นำมาซึ่งความสำเร็จ" ว่าคุณลักษณะ​ของ CEO อาจจะมีผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงน้อยกว่า ความโชคดี และ ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม น่าจะทำนายความสำเร็จได้แม่นยำกว่า ลักษณะนิสัย

ความมั่นใจที่เกิดขึ้น ถูกอธิบายด้วยหลักการทำงานของ system 1 ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความถูกต้องหรือปริมาณของข้อมูล แต่ให้ความสำคัญกับการที่ข้อมูลจำนวนน้อยๆ สามารถเชื่อมโยงกันจน ‘มีเหตุผล’ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากของ system 1) เมื่อความมีเหตุมีผลถูกสร้างขึ้น โดยเฉพาะจากข้อมูลที่เกิดจากการได้เห็นด้วยตาของตัวเอง ภาพลวงตาของความเชื่อมั่นก็ฝังลึกลงไปใน system 1 ของเราอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ซึ่งข้อผิดพลาดนี้มักเกิดขึ้นกับผู้เชี่ยวชาญมากกว่าบุคคลทั่วไป เพราะถูกสังคมหล่อหลอมให้เชื่อว่า ยิ่งมีความรู้มาก ก็ยิ่งมีความสามารถ “เหนือกว่า” คนทั่วๆไป ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเองมากกว่าและตกเข้าสู่กับดักของการเชื่อมั่นว่าข้อมูลเท่าที่มีใช้คาดการณ์อนาคตได้ง่ายขึ้น แดนนี่ชี้ให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของนักวิเคราะห์หุ้น เศรษฐกิจ และการเมือง ว่ามีความน่าเชื่อถือมากกว่าการเดาสุ่มเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นักวิเคราะห์ทั้งหมดที่เชื่อถือไม่ได้ นักวิเคราะห์บางประเภทที่ตกเข้าสู่ภาพลวงตาของความเชื่อมั่นในตัวเองง่ายกว่า ไม่ใช่เพราะว่ามีความสามารถน้อยกว่านักวิเคราะห์ในสายงานอื่นๆ แต่เป็นเพราะพวกเค้าคือนักรบที่รบในสมรมูมิที่ไม่อาจเอาชนะได้ต่างหาก

แดนนี่ได้ร่วมกันหาคำตอบที่ว่า “แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญคนไหน (และครั้งไหน) น่าเชื่อถือ?” ร่วมกับ แกรี่ คลีน นักจิตวิทยาที่มาจากฝั่งตรงข้าม คลีนเชื่อในสัญชาตญาณของมนุษย์ และยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า “การตัดสินใจของอัลกอริทึ่มไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าการตัดสินใจของมนุษย์ (ที่เชี่ยวชาญ) ได้”

หลังจาก 7 ปีของการทำงาน (และถกเถียง) ร่วมกัน ทั้งคู่ก็ได้ค้นพบคำอธิบายที่สุดยอดนักจิตวิทยาจากสองขั้วตรงข้ามให้การยอมรับ

กฏข้อแรกคือ - ความเชี่ยวชาญในการคาดการณ์หรือทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของ ‘มนุษย์’ เกิดจากความทรงจำ ‘ที่ถูกต้อง’ ใน system 1 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถเทียบเคียงเหตุการณ์ตรงหน้ากับความทรงจำด้วยเวลาเสี้ยววินาที และสามารถคาดเดาอนาคตได้ทันที เช่นเดียวกับที่ นักดับเพลิงสามารถรู้ต้นเพลิงได้ทันทีที่เหยียบเข้าบ้าน เซียนหมากรุกอ่านเกมออกทันทีที่เห็นรูปแบบหมากบนกระดาน นักวิเคราะห์ของเก่าแยกของจริงและของปลอมออกทันที และ วิสัญญีแพทย์รู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติในการวางยาสลบ [ซึ่งก็จะสอดคล้องกับ Blink ของมัลคอม]

จุดร่วมของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้นำไปสู่กฏข้อที่สอง - เหตุและผลที่ทำให้เกิดสถาณการณ์เหล่านั้นต้อง ‘ตายตัว’ และสามารถฝึกฝนซ้ำๆเพื่อทำให้จดจำคอนดิชั่นของเหตุการณ์แต่ละแบบได้อย่างแม่นยำ ในส่วนนี้มีปัจจัยที่สำคัญอีกเรื่องที่แยก ผู้เชี่ยวชาญที่เราเชื่อถือได้ ออกจาก ผู้เชี่ยวชาญที่เราเชื่อถือได้ยาก นั่นก็คือความเร็วของการฟีดแบคผลลัพธ์หลังจากการคาดการณ์ เนื่องจาก system 1 เป็นระบบออโต้ไพลอทที่ว่องไวและอยู่เหนือการควบคุม การฟีดแบคโดยฉับพลัน จะทำให้จดจำ เหตุและผล ของเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้อง - เช่นการเดินหมากรุกและรู้ทันทีว่าเดินถูกหรือพลาดจากการรีแอคของคู่แข่งขัน หรือการเหยียบเบรกตอนเข้าโค้ง แล้วรู้ทันทีว่ารถเข้าโค้งได้ดี หรือจะไถลออกจากถนนจนเกิดอุบัติเหตุ - แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราจดจำข้อมูลคาดเคลื่อน เมื่อการคาดการณ์ได้ฟีดแบคที่ช้าลง เนื่องจากเหตุการณ์ที่ system 1 จดจำไว้ว่าเป็น ‘เหตุ’ อาจถูกเปลี่ยนแปลงจากการบันทึกข้อมูลอื่นๆทับลงไปในขณะที่รอฟีดแบค ยิ่งยาวนาน ความทรงจำของมนุษย์ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ถูกต้อง และในที่สุดเมื่อผลลัพธ์ที่เชื่องช้าออกมาตรงกับการคาดการณ์ system 1 ก็มักจะทึกทักเอาเหตุผลบางอย่างที่จดจำได้ชัดเจนกว่ามาคาดการณ์ และ เหตุ-ผล ผิดๆ ก็คือจุดเริ่มต้นของความมั่นใจที่ผิดพลาดของผู้เชี่ยวชาญ

จากกฏทั้งสองข้อ แดนนี่และคลีนจึงได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้เชี่ยวชาญบางสาขาที่ไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่ไม่ได้มี ‘เหตุผลที่ตายตัว’ ได้ เช่น ตลาดหุ้น โอกาสในการประสบความสำเร็จของสินค้าใหม่ ทิศทางของสงคราม หรือแม้แต่การวิเคราะห์โรคที่ซับซ้อน - เพราะตลาดหุ้นนั้นแทบไม่ได้ถูกซื้อขายอยู่บนเหตุและผล และอาการบ่งชี้ของโรคบางชนิดก็ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว - ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเพียงแค่ต่อสู้อยู่ในสมรภูมิที่ไม่มีทางเอาชนะได้เท่านั้นเอง

ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเหล่านี้ อัลกอริทึ่มจึงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า - เช่นการวิเคราะห์ตลาดหุ้น การวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ ไปจนถึงการอ่านค่าอัลตราซาวด์ - เหตุผลที่อัลกอริทึ่มสามารถทำงานประเภทนี้ได้ดีกว่าเนื่องจากการวิเคราะห์หาความน่าจะเป็นในสถาณการณ์ที่ซับซ้อนนั้นต้องใช้ความสามารถทางสถิติซึ่งทำงานตามคำสั่งของ system 2 - ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมนุษย์มักจะถูกแทรกแทรงการทำงานของ system 2 จาก system 1 อันทรงพลัง ซึ่งมักจะให้ความสนใจกับข้อมูลเชิงอารมณ์มากกว่าข้อมูลเชิงปริมาณอันน่าเบื่อ ทำให้เกิดการสร้างเหตุและผลอย่างมีอคติตามมา - ในขณะที่อัลกอริทึ่มนั้นทำตามคำสั่งทางสถิติอย่างเค่งครัดโดยที่ไม่มี system 1 มาทำให้ไขว้เขว

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การใช้สถิติโดยสมบูรณ์ หรือ คอมพิวเตอร์อัลกอริทึ่ม ในการคาดการณ์อนาคตต้องฝ่าขวากหนามของการต่อต้านมากมายในอดีต ก่อนจะมาถึงยุค บิ๊กเดต้าในปัจจุบัน เพราะนอกจากการถูกโจมตีด้าน ‘การตัดสินใจโดยไร้มนุษยธรรมแล้ว’ ยังเป็นภัยคุกคามต่อผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เมื่อวันนึงความสามารถที่พิเศษ กำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ [ แต่ 20 ปีผ่านไป หลังจากการค้นพบที่ทำให้แดนนี่ได้รับโนเบล พลวัฒน์ของโลกก็ได้พาให้เรายอมรับและพัฒนาอัลกอริทึ่ม จนให้กำเนิด เอไอ และวกกลับเข้าสู่วังวนแห่งความหวาดระแวงว่า เอไอ กำลังจะทำลายมนุษยชาติอีกครั้ง ]

แล้วเป็นไปได้มั้ยที่มนุษย์จะสามารถเอาชนะอคติของ system 1 ได้?

แดนนี่แนะนำว่าก่อนอื่นมนุษย์ต้องยอมรับให้ได้ว่า ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ในโลกใบนี้จะต้องใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของเหตุการณ์ประเภทเดียวกัน (Base Rate) - เช่นสินค้าใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ ไม่ได้สามารถประสบความสำเร็จได้ทุกโปรเจค โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นต่ำมาก - และในสถาณการณ์ที่เราต้องพยากรณ์เหตุการณ์ที่ซับซ้อน (ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ system 2) ถึงแม้ว่า system 1 จะชอบรวบรวมข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเรา และปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเราโดยอัตโนมัติ จนทำให้เกิดอคติของความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับ best case scenario อย่างไม่สมเหตุสมผล เราก็สามารถสั่งปิด system 1 ชั่วคราวได้ โดยบังคับตัวเองให้ 'คิดเหตุผล' ที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่สุดโต่งไปในทางตรงกันข้าม (worst case scenario) เมื่อสมองได้สร้างเหตุผลให้กับความเชื่อที่ตรงข้ามกันสองชุด system 2 จะต้องทำงานเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล และจะทำให้เรานึกถึง Base Rate ได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้เริ่ม Anchoring และคำนวณออกจากค่ากลาง

[ พาร์ท 4 ]
แดนนี่จะเริ่มอธิบายถึงทฤษฎีใหม่ที่เค้าคิดค้นขึ้น หลังจากชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของทฤษฎีกระแสหลักต่างๆ ซึ่งหลังจากส่วนนี้ไปจะเหมือนกับหนังสือ Misbehaving ของ Thaler เลย เพราะว่าทั้ง 2 คนทำงานนี้ร่วมกัน

เริ่มจากการพัฒนาทฤษฎี หลีกเลี่ยงความเสี่ยง(หรือความไม่แน่นอน) เป็น หลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Lose Aversion) โดยพิสูจน์ให้เห็นว่า ในมูลค่าที่เท่ากัน มนุษย์เกลียดการสูญเสียมากกว่าชอบการได้รับประมาณ 2 เท่า และมูลค่าส่วนเพิ่มของการสูญเสียหรือได้รับนั้นจะค่อยๆลดลงเมื่อมีมูลค่าตั้งต้นมากขึ้น เพราะมนุษย์รับรู้สิ่งเหล่านี้โดยเปรียบเทียบกับจุดปัจจุบัน (Reference Point)

มนุษย์หลีกหนีการสูญเสียมากกว่าวิ่งเข้าหาการได้รับตามกลไกทางธรรมชาติ [ ลิงที่เอาแต่มองหาของกินก่อนระแวดระวังสิงโตไม่อาจมีชีวิตรอดเพื่อสืบเผ่าพันธ์ต่อไปได้ ] และการสืบทอดทางพันธุกรรมที่ยาวนานก็ทำให้ system 1 มองหาเหตุการณ์ร้ายๆก่อนเสมอๆ (เราสามารถสังเกตเห็นใบหน้าของคนโกรธ 1 คนท่ามกลางใบหน้ามากมายได้ทันที แต่ไม่สามารถมองเห็นใบหน้าของคนยิ้ม 1 คนท่ามกลางใบหน้าเกรี้ยวกราดได้)

การไม่ชอบสูญเสียของมนุษย์นั้น นำแดนนี่ไปค้นพบกับกฎข้อต่อไป คือเมื่อมนุษย์ 'คิดว่า' ตัวเองเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างแล้ว ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็จะเพิ่มมูลค่าให้ของสิ่งนั้นขึ้นเป็นอย่างมาก และทำให้ยิ่งยึดติดกับการไม่ยอมสูญเสีย (Endownment Effect) ในทางกลับกัน ถ้ามนุษย์ไม่ได้มองว่าของสิ่งนั้นเป็นของตน ถึงแม้จะถือครองอยู่เป็นระยะเวลานาน ก็จะให้มูลค่าของการสูญเสีย 'เท่ากับการได้รับของสิ่งนั้นมาใหม่' - เช่นสินค้าสำหรับขาย

หลังจากนั้น แดนนี่ก็พัฒนา 4 folds theory ขึ้นเพื่อช่วยอธิบายว่า ทำไมบางครั้งมนุษย์ถึงยอมรับการสูญเสียเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ถึงแม้ส่วนใหญ่มนุษย์จะยอมเสี่ยงเพื่อหลีกหนีการสูญเสียก็ตาม จุดตัดสำคัญอยู่ที่ส่วนสุดขอบของความน่าจะเป็น
- เมื่อเปรียบเทียบโอกาสที่จะเกิดเรื่องดีๆขึ้น 5% กับ 0% มนุษย์จะให้มูลค่ากับโอกาส 5% สูงเป็นพิเศษ เพื่อที่จะ 'สร้างโอกาส' ขึ้นจากความไม่มีโอกาส (Posibility Effecft) - ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับการ สร้างโอกาสที่จะไม่ต้องสูญเสีย [ ลดโอกาสการเกิดเรื่องแย่ๆ จาก 100% เป็น 95% ]
- ในทางกลับกัน เมื่อเปรียบเทียบโอกาสที่จะเกิดเรื่องดีๆขึ้น 95% กับ 100% มนุษย์จะให้มูลค่ากับโอกาสดี 100% สูงเป็นพิเศษ เพื่อเปลี่ยนโอกาสให้เป็น 'ความแน่นอน' ที่จะได้รับโอกาส หรือ 'ไม่ต้องสูญเสีย' (Certainty Effect) เพราะแม้จะยังไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่มนุษย์ก็จะสร้างความเป็นเจ้าของขึ้นกับของที่ 'เกือบจะ' เป็นของเราอยู่แล้วเช่นกัน [ ลดโอกาสการเกิดเรื่องแย่ๆ จาก 5% เป็น 0% ]

ถึงแม้สมองของมนุษย์อาจจะรับรู้ทั้ง 4 scenario นี้แตกต่างกันตาม context แต่ทางเลือกของ system 1 ค่อนข้างจะคงที่ คือมีแค่ 2 scenario ให้มูลค่าโอกาสดี 5% (ความเสี่ยง 95%) และ โอกาสดี 100% (ความเสี่ยง 0%) มากเป็นพิเศษ ทำให้สามารถยอมสูญเสียได้จำนวนมากกว่าปกติ เพื่อที่จะได้ - ลดการสูญเสียลง จาก 100 > 95% หรือ 5 > 0%

การให้ค่าโอกาส 5% มากเป็นพิเศษ ยังสอดคล้องกับนิสัย (Overweight Rare Event) ซึ่งมนุษย์มักจะประเมิณว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าปกติ (ภัยธรรมชาติร้ายแรง การก่อการร้าย ทีมนอกสายตาชนะทีมตัวเต็ง) และประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์นั้นๆจะยิ่งเพิ่มการให้น้ำหนักความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะภาพความทรงจำใน system 1 นั้นชัดเจนมาก (Vivid Event) - การเพิ่มคำบรรยายเชิงคุณลักษณะต่างๆลงไปในข้อมูลทางสถิติก็ให้ผลเช่นเดียวกัน ตัวเลขที่เรียบง่ายจะทำให้ system 1 Anchoring กับตัวเลข แต่การเพิ่มข้อมูลอื่นๆลงไปในข้อความจะลดความสำคัญของตัวเลขลง เพราะ system 1 ชอบข้อมูลเชิงบรรยายมากกว่าตัวเลข และทำให้การประเมิณความเป็นไปได้เป็นไปตามหลักความ ยาก-ง่าย ของการระลึกถึงเหตุการณ์แทน

ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้มนุษย์ยิ่งหลีกเลี่ยงการสูญเสีย ก็คือการที่มนุษย์รับรู้แต่ละเหตุการณ์แยกจากกัน (narrative bias) การได้ประโยชน์ในสถาณการณ์หนึ่งไม่ถูกนำมาทดแทนความสูญเสียในอีกสถาณการณ์หนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดอื่นๆ เช่น (Sunk Cost Effect) - ยอมสูญเสียมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสเล็กๆที่จะลดการสูญเสียนั้น หรือ (Regret Effect) - การหวาดกลัวการสูญเสียจากการตัดสินใจ จึงเลือกที่จะไม่ตัดสินใจ ทั้งๆที่จริงๆแล้วการไม่ตัดสินใจคือการเลือก 'อีกทางเลือกหนึ่ง' ที่เป็นค่า default เสมอ

การประเมิณผลได้มวลรวมจากหลายเหตุการณ์ หรือ การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของหลายๆเหตุการณ์แทนที่จะประเมิณแยกกัน จะช่วยเปิดระบบ system 2 และช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น - ทริกง่ายๆคือ การสร้างสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเปรียบเทียบกันทันทีเพื่อกระตุ้น system 2 ให้ทำงาน [ หรือลองขมวดคิ้วเยอะๆเพื่อเปิด system 2 บ่อยๆดู ]

[ พาร์ท 5 ]
แดนนี่ปิดท้ายด้วยการนำทฤษฎีไปต่อยอด เปิดทฤษฎีใหม่ 2 Selves ที่ว่าด้วย

(Experiencing Self) - system 2 ที่ค่อยรับรู้เรื่องราวต่างๆโดยละเอียดผ่านช่วงเวลา
(Remembering Self) - system 1 ผู้ที่เลือกจดจำเฉพาะเรื่องราวในจุด Peak & Ending ไม่สนใจระยะเวลา แถมยังชอบเขียนทับข้อมูลเก่าๆจนจำผิดจำถูก หรือบางทีก็จำไม่ได้ ลืมไปเลยก็มี

และแน่นอนว่า system 1 ที่ทรงพลังกว่าเป็นผู้ 'ตัดสินใจ' ในเรื่องต่างๆของชีวิต ผ่านเรื่องราวที่จำได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะ 'ชอบ' - ความเจ็บปวดที่ยาวนานแต่ค่อยๆลดลง มากกว่าความเจ็บปวดที่รุนแรงแต่จบเร็ว - หรือยอมเจ็บปวดในตอนต้นเพื่อมีความสุขในตอนท้าย มากกว่าการมีความสุขที่จบด้วยความเสียใจ - แต่นั่นเป็นเรื่องของการมองย้อนกลับ (hindsight)

เพราะเมื่อให้คาดการณ์อนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น (forthsight) system 1 มักจะประเมินค่าความสุขสูงเกินจริง (แต่งงาน ซื้อรถใหม่ เริ่มงานใหม่) และประเมินความเจ็บปวดมากเกินจริง (อกหัก บาดเจ็บ ตกงาน) นั้นก็เพราะ system 1 จะเลือกเฉพาะเหตุการณ์ที่ชัดเจนมากที่สุด (Peak) และเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น (End) ซึ่งในกรณีนี้ก็คือจุดเดียวกัน - จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ -

ถึงแม้การตัดสินใจที่รอบคอบ (สำหรับเหตุการณ์ในอนาคต) ซึ่งต้องปรับลดความรู้สึกลงตามช่วงเวลา และจำเป็นต้องใช้การเปรียบเทียบและคิดคำนวณนั้น จะต้องทำผ่าน system 2 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรตัดสินใจโดยใช้ system 1 - ถ้าสถานการณ์เหล่านั้น 'มีเหตุผลตายตัว' และ 'ฝึกฝนได้' การฝึกฝน system 1 ให้แม่นยำและถูกต้อง ก็ทำให้การตัดสินใจผ่าน system 1 เป็นเรื่องสมเหตุสมผลและสร้างความได้เปรียบมากกว่า

.
.
.
แดนนี่ทิ้งท้ายให้เราเข้าใจว่าทั้ง system 1 และ 2 ต่างก็มี ข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น และ จุดด้อยที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง และนำแต่ละ system ไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่ถูกต้องต่างหากคือสิ่งสำคัญ

system 1 : ทำงานอยู่เสมอ ว่องไว ชอบข้อมูลเชิงบรรยาย หาเหตุผลและความเชื่อมโยงเพื่อจะได้รีบสรุป คุ้นเคยกับการใช้ตัวแทนและค่าเฉลี่ย ไวต่อสิ่งผิดปกติ แต่จะทำงานต่อเนื่องไม่ยอมหยุด เมื่อมีความสุข หรือ รู้สึกปลอดภัย
Sustem 2 : ใช้พลังงานมากจึงขี้เกียจโดยธรรมชาติ ถูกตั้งค่าให้ปล่อยผ่านสิ่งปกติ และทำงานเมื่อเจอสิ่งผิดปกติ (รวมไปถึงความเศร้าและไม่ปลอดภัย) คุ้นเคยกับตัวเลข หน้าที่หลักคือการคำนวณ เปรียบเทียบ และหาผลรวม