Saturday, August 27, 2011

กำเนิดและการพัฒนาการของอาหารชาววัง (ฉบับย่อ)

หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความของ คุณ สุนทรี อาสะไวย์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันไทยคดีศึกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้วนำมาลงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยจุดประสงค์หลักของงานวิจัยคือ การทำความเข้าใจอาหารชาววังที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อมนุษย์และความต้องการทางสังคม เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรมนี้อย่างมียุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองตลาดการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยการเข้าใจลึกซึ้งถึงที่มาจุดกำเนิดของวัฒนธรรมการกินในวังจะทำให้สามารถพัฒนาอาหารชาววังนี้ได้อย่างมีคุณภาพ แม้ว่าบทความจะเน้นเรื่องธุรกิจแต่ผมก็เห็นว่าน่าสนใจ ผู้เขียนได้เล่าเกร็ด และเรื่องราวไทยๆเกี่ยวกับอาหารไทยที่เราหลงลืมหรือไม่เคยได้ยินมาก่อนเกี่ยวกับอาหารไทยไว้ด้วย จึงขอนำมาเล่าใหม่ในลีลาชาวบ้านๆแอบมองรั้ววังในบล็อกนี้

ส่วนผู้สนใจอ่านฉบับเต็มขอเิชิญได้ที่ (มี 4 ตอน)
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4


หลังการปราบดาภิเษกขึ้นพระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่แทนกรุงธนบุรีที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำใน พ.ศ. 2325 พระบรมมหาราชวังจึงกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงรวมทั้งอาหารด้วย โดยราชสำันักฝ่ายในที่เป็นเจ้านายฝ่ายหญิงและลูกหลานของข้าราชการที่ถวายตัวมีบทบาทสำคัุญในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเืพื่อรับใช้พระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรใหม่ ซึ่งบทบาทของฝ่ายในนี้ช่วยส่งเสริมตำแหน่งและอำนาจของสตรีในวัง
สตรีใดที่ได้รับถวายหน้าที่เป็นฝ่ายอาหารที่เีรียกว่า "เครื่องต้น" จะเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายและมีโอกาสได้เลื่อนขั้นหรือรับรางวัลจากพระมหากษัตริย์ได้ อย่างเจ้าฟ้าบุญรอด เจ้าตำรับอาหารแห่งกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ก็ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี

อาหารชาววังหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากับข้าวเจ้านาย ก็มีลักษณะพื้นฐานทั่วไปเหมือนอาหารชาวบ้าน แต่อาหารชาววังจะมีคุณลักษณะพิเศษคือ

1. ความอุดมสมบูรณ์และความสดใหม่ของวัตถุดิบในการประกอบอาหาร

2. มีวิธีการทำอันซับซ้อน ประณีต พิถีพิถัน ต้องใช้เวลา เช่น ข้าวแช่ชาววังที่นอกจากต้องหุงข้าวให้สวยแล้วยังต้องนำไปใส่ตะแกรง ใช้ผ้าขาวบางขัดเมล็ดข้าวจนสวยกรากแล้วค่อยใส่น้ำลอยดอกไม้หอมแล้วอบร่ำด้วยเทียนหอมอีก กลิ่นจึงหอมและใสสะอาดไม่มีตะกอนเหมือนข้าวแช่ชาวบ้าน ในบางครั้งที่ของทำยากก็ต้องการกำลังผู้คนในการทำจำนวนมากเช่น ขนมจีบไทยที่ต้องแบ่งคนผัด คนนวดแป้ง คนปั้น

3. มีความแปลกแตกต่าง วิจิตรบรรจง กล่าวคือ นอกจากเป็นอาหารปากแล้วยังต้องเป็นอาหารตา

4. มีรสชาติที่นุ่มนวล กินแล้วไม่สะดุด คือ รสไม่จัด ไม่เผ็ดมาก แต่ไม่ได้หวาน เพียงแต่มีความกลมกล่อมเป็นหลัก ไม่มีของหมักๆดองๆอย่างหน่อไม้ ไม่มีของคาวๆ เช่น ไตปลา ไม่มีของแข็ง ไม่มีกระดูก อาหารจะเคี้ยวง่ายและตัดพอดีคำ

5. แต่ละมื้อจะจัดเป็นชุดที่เรียกว่า "เครื่องเจ้านาย" ประกอบด้วยอาหารรสหลากหลายอย่างน้อย 7 ประเภท ซึ่งต้องมีครบรสชาิติอาหารไทยคือ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ซึ่งจะจัดถวายในถาดเงินหรือถาดทอง และรสชาติของแต่ละอย่างต้องสอดคล้องกัน เช่น น้ำพริกที่เผ็ดๆก็จะมีหมูหวานเพื่อล้างความเผ็ด

นี่คือลักษณะเด่นของอาหารชาววัง แ่ต่วังแต่ละที่ก็จะมีสูตรการทำต่างกันไป โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง โดยทั่วไปแล้วอาหารชาววังมีความแพร่หลายอยู่ในขอบเขตที่จำกัดคืออยู่ในแวดวงของเจ้านายและพระประยูรญาติ แต่ละครัวก็จะมีตำรับของตัวเองไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ จะสอนให้เฉพาะวงเครือญาติหรือศิษย์ที่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความจงรักภักดีและรับใช้ใกล้ชิด บทความนี้จะศึกษาเฉพาะตำรับอาหารชาววังที่เจ้าของตำรับได้รวบรวมและมีหลักฐานอ้างอิงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้รวบรวมส่วนใหญ่ก็เป็นสะใภ้ของราชวงศ์หรือตระกูลขุนนาง ซึ่งมีรายชื่อตำรับอาหารดังนี้

1. ตำรับอาหารของพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี "กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน"

เป็นตำรับอาหารชาววังที่เก่าแก่ที่สุด ที่ปรากฏหลักฐานมาถึงปัจจุบันคือ พระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อยกย่องความสามารถด้านอาหารของพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ารอด โดยอาหารในตำรับมีเครื่องคาว ผลไม้และ เครื่องหวาน ที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นนานาชาติที่ถูกสอดแทรกอยู่ในตำรับอาหารนี้ไม่ว่าจะเป็น มัสมั่นที่ได้อิทธิพลจากแขก (อาหารอันดับหนึ่งของโลกจากเว็บไซต์ CNN) ยำใหญ่ที่ใส่น้ำปลาญี่ปุ่น (โชยุ) หรือ ขนมจีบ และรังนกที่เป็นอาหารจีน เรียกได้ว่า ท่านเป็นอัจฉริยะด้านอาหารที่รู้เชี่ยวชาญอาหารทั้งไทยและเทศ และพัฒนาปรับเปลี่ยนอาหารต่างชาติให้เข้ามาอยู่ในตำรับอาหารไทย ได้อย่างเลิศรส (ลิงก์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานที่นี่ หรือ ที่นี่)

2. ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ บุนนาค "ตำราแม่ครัวหัวป่าก์"
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นบุตรีคนโตของ นายสุดจินดา (พลอย ชูโต บุตรจมื่นศรีสรรักษ์) กับคุณนิ่ม สวัสดิชูโต (ธิดาพระยาสุรเสนา) นับเนืองเป็นราชนิกุลบางช้าง ได้แต่งงานกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงธรรมการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นสตรีที่เฉลียวฉลาด และสามารถในกิจการหา ผู้เสมอเหมือนยาก มีความชำนาญในการประกอบอาหาร คาวหวาน เย็บปักถักร้อย ประดิษฐ์ และตกแต่ง เป็นผู้ริเริ่มทำลูกชุบให้ดูเหมือนของจริงถึงขนาดประดิษฐ์เป็นกระถางต้นไม้ ซึ่งรับประทานได้ทั้งหมด งานปักรูปเสือลายพาดกลอนได้รับพระราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ 4 และส่งไปประกวดในระดับโลก ได้รับรางวัลที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเงินหลายพันดอลลาร์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาอุณาโลมแดง เมื่อ พ.ศ.2436 ในคราวเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสภากาชาดไทย ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ร.ศ.130 สิริอายุได้ 65 ปี

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น ผู้พิมพ์หนังสือตำราอาหารออกเผยแพร่ขึ้นเป็น ครั้งแรก เมื่อ ร.ศ.127 ตรงกับ พ.ศ.2451 (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยตั้งชื่อว่า “แม่ครัวหัวป่าก์” ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการเขียนตำรากับข้าวกันเป็นกิจจะลักษณะเลย หนังสือ “แม่ครัวหัวป่าก์” จึงนับเป็นตำรากับข้าว เล่มแรกของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัุญของสังคมไทยเพราะการมีตำรับอาหารประจำชาติของตนเองเปรียบเสมือนการยกระดับประเทศให้มีความทันสมัยเท่าเทียมกับประเทศตะวันตก โดยได้ริเริ่มทดลองใช้วิธีการชั่งตวงวัดเป็นมาตรวัดไทยโบราณคือ บาท สลึง เฟื้อง ไพ ไว้ใช้ในการประกอบอาหาร ให้มีมาตรฐานเหมือนทางตะวันตก จึงทำให้ได้รสชาติอาหาร ที่คงที่ ซึ่งโดยธรรมเนียมในการปรุงอาหารของไทยในสมัยก่อนนั้นไม่นิยมการใช้ชั่งตวงวัดอย่างยุโรป แต่อาศัยความชำนาญหัดเรียนรู้ด้วยตนเอง สืบทอดกันตามโคตรตระกูล ซึ่งก็ได้สร้างความรำคาญใจให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่เป็นแม่ครัวมือเก่าบ้างพอควร ในตำรับแม่ครัวหัวป่าก์แบ่งเป็น 5 เล่ม แต่ละเล่มประกอบอาหารประเภทใหญ่ๆ 7 ประเภทคือ หุงต้มข้าว ต้มแกง กับข้าวของจาน เครื่องจิ้มผักปลาแกล้ม ของหวาน ขนม ผลไม้ และเครื่องว่าง ซึ่งการจัดจำแนกนี้ถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการจัดหมวดหมู่ตำรารุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน

อาหารในหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ทุกประเภทจะมีทั้งอาหารไทย อาหารเทศ อาหารพื้นเมืองที่ได้รับการปรับแต่งให้เป็นในวังเช่น ปลาร้า ไตปลา กะปิ ตะพาบน้ำ อีกทั้งยังรวมสูตรอาหารที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วย นอกจากนี้แม่ครัวหัวป่าก์ได้เขียนเล่าเรื่องสนุกๆของประวัติศาสตร์ไทยรวมทั้งสภาพธรรมชาิติและความเป็นอยู่ของคนไทยในช่วงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย เช่น ประวัติขนมค้างคาวของเจ้าครอกทองอยู่ หรือ ทุเรียนต้องทุเรียนบางบน (บางขุนนนท์) หรือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับตลาดรอบๆกรุง

ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ได้ถูดจัดพิมพ์ครั้งแรกในประติทินบัตรแลจดหมายเหตุเมื่อปีพ.ศ.2432 และได้ตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือเมื่อคราวที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ทำบุญฉลองอายุครบ 61 ปี และฉลองวาระสมรส 40 ปีเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ร.ศ.127 แจกเป็นของชำร่วยจำนวน 400 ฉบับ และระหว่างนั้นก็ได้รับการพิมพ์ใหม่หลายครั้งจนปัจจุบันเป็นครั้งที่ 6 เมื่อปีพ.ศ. 2545
(ข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ และ ที่นี่)



3. ตำรับอาหารของหม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์
หม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์ (บุนนาค) เป็นภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) ท่านจึงอยู่ในฐานะสะใภ้ของสกุลบุนนาค เช่นเดียวกับ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ สำหรับตำรับอาหารของหม่อมส้มจีน นั้นปรากฏหลักฐานในรูปหนังสือครั้งแรกในปีพ.ศ. 2441 ในชื่อว่า ตำรากับเข้า เมื่อเปรียบเทียบกับตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยนแล้ว ตำรากับเข้าของหม่อมส้มจีนจะมีรายการอาหารน้อยกว่าเน้นประเภทแกงและกับ และเน้นการใช้วัตถุดิบที่เป็นเนื้อสัตว์ป่าเช่น แย้ อ้น หมูป่า เป็นต้น


4. ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นธิดาของหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน) ซึ่งเป็นเจ้าของสวนอยู่ที่บางยี่ขัน ธนบุรี มารดาชื่อหุ่น กำเนิดในสกุลสนธิรัตน์ สมรสกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) สกุลไกรฤกษ์ เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายโดยตรงจากชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขายตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และเริ่มรับราชการในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีสืบต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งกรณีของตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร จะไม่เน้นถ่ายทอดสู่วงนอกเหมือนของสองท่านก่อนนี้แต่เน้นให้สืบทอดภายในตระกูลไกรฤกษ์และญาติของตน ตำราอาหารนี้จะมีการแบ่งอาหารหลายอย่างมากกว่าสิบประเภท และมีอาหารจีนมากขึ้นเช่น หนังแรดเอ็นกว่าง ข้าวผัดเต้าหู้ยี้ หรือ แกงจืดเซี่ยงจี๊ แต่ก็ยังมีอาหารนานาชาติเช่น ข้าวบุหรี่ (อย่างเเขกเทศ ที่นำข้าวไปผัดกับเนยก่อนหุงรวมกับหญ้าฝรั่นใส่ไก่) ข้าวหมกไก่
ที่่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ จะมีอาหารจีนที่ำทำทานง่ายๆมากขึ้น อาจจะสะท้อนภาพสังคมสมัยนั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชาวจีนเริ่มมีฐานะในสังคมเพิ่มขึ้นจนอาหารจีนได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากขึ้น

4 ตำรับอาหารนี้คือ ตำรับอาหารชาววังดั้งเดิมที่ถึงแม้จะเก่าแก่กว่าร้อยปี แต่ก็สามารถเห็นได้ถึงกระแสโลกาภิวัฒน์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันจนทำให้อาหารในวังบางส่วนกลายเป็นอาหารนานาชาิติโดยปริยาย ต่อมาเมื่อพ.ศ.2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยทำให้ความสำคัญของอาหารในวังลดลงไป บางส่วนสูญหายไปกับยุคสมัย เพราะ เจ้านายเ้จ้าของสูตรไม่ถ่ายทอดเพราะหวงวิชา แต่ก็ได้มีลูกหลานในวังได้นำอาหารในวังมาประยุกต์และเผยแพร่ใหม่ในสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ทำให้อาหารสูตรในวังแพร่หลายสู่้สามัญชนมากขึ้น ผู้ที่ได้ถือว่าเป็นผู้สืบทอดสูตรอาหารในวังที่สำคัญในยุคนี้ได้แก่

1. มรว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ กับ เชลล์ชวนชิม


การเผยแพร่อาหารในสื่อสารมวลชนเริ่มครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสโดย บริษัททำล้อยาง มิชชิลิน ที่ทำแจกลูกค้าเป็นคู่มือในการเดินทางสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์โดยเริ่มครั้งแรกในปีพ.ศ. 2443 หม่อมถนัดศรีก็เช่นกัน โดยการสนับสนุนของเชลล์เเก๊สใ้ห้เขียนคอลัมน์เชลล์ชวนชิมในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์และต่อมาในมติชน รวมถึงจัดรายการโทรทัศน์อย่าง การบินไทยไขจักรวาล ครอบจักรวาล รวมไปถึงพ่อลูกเข้าครัวทำให้อาหารในวังได้มีโอกาสเผยแพร่สู่วงกว้าง นอกจากนี้หม่อมถนัดศรียังเป็นผู้แนะนำร้านอาหารตำรับชาววังให้คนธรรมดาได้ลองไปลิ้มรสอย่าง ห้องอาหารท่านหญิงที่ถนนประมวญ สีลม ห้องอาหารหลายรสที่ซอยสุขุมวิท 49 ห้องอาหารดรรชนี เชิงสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย สวนทิพย์ ปากเกร็ด และห้องฝั่งน้ำ โรงแรมรอยัลริเวอร์ที่เป็นลูกศิษย์ของมล. เติบ ชุมสาย

2. มล. เติบ ชุมสาย

มี่พี่สาวคือ มล. ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่สูตรอาหารวังรุ่นใหม่ด้วย เเต่มล. เติบ จะมีผลงานปรากฏเป็นรูปเล่มด้วย อาทิ ตำรับอาหารประจำวัน ตำรับอาหารทางทีวี และ กับข้าวรัตนโกสินทร์ เป็นต้น และที่สำคัญได้มีโอกาสทำรายการ"แม่บ้าน" ถ่ายทอดทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม และ ช่อง 9 ติดต่อกันนานถึง 20 ปี ซึ่งข้อดีของตำรับอาหารมล.เติบคือการนำเสนอตำรับอาหารชาววังให้ทำได้ง่ายขึ้นสำหรับแม่บ้านสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง ประสบความสำเร็จมากจนฮิตติดดาว สามารถเอาสูตรไปเปิดร้าน "ครัวชุมสาย" ซอยราชครู ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าด้วย นอกจากนี้หม่อมเติบยังได้มีโอกาสเป็นพระเครื่องต้นทำอาหารถวายในหลวงองค์ปัจจุบัน รวมถึงทำอาหารเลี้ยงดาราระดับโลกอย่าง มาร์ลอน แบรนโด เนื่องในโอกาสเลี้ยงปิดกล้องภาพยนตร์ ugly american ที่ถ่ายทำในไทยและมรว.คึกฤทธิ์นำแสดงอีกด้วย

อนึ่ง หลังจากการเผยแพร่อาหารของ หม่อมถนัดศรี และหม่อมเติบทำให้เกิดผู้แนะนำอาหารในสื่อมวลชนขึ้นอีกมากมายอย่าง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รงค์ วงษ์สวรรค์ แม่ช้อยนางรำ พิชัย วาสนาส่ง เป็นต้น


3. วิษุวัต สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้สืบทอดอาหารตำรับวังบ้านหม้อ
ตำรับวังบ้านหม้อเป็นวังของพระองค์เจ้ากุญชร ต้นราชสกุล ณ บางช้าง ที่มีเจ้าจอมมารดาศิลาที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระศรีสุริเยนทรฯ ทำให้วังบ้านหม้อเป็นวังหนึ่งที่ได้รับสืบทอดตำรับอาหารมาจากสายของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ แต่ปัญหาคือ เจ้าของสูตรที่สืบทอดกันมาหวงสูตรมาก แม้แต่ลูกหลานก็ไม่ยอมให้ แต่โชคดีที่คุณ วิษุวัต สุริยกุล ณ อยุธยา ลุกหลานของสกุลนี้ได้พยายามเก็บบันทึกสูตรและขอเรียนจากผู้เฒ่าผู้แก่จนสามารถเก็บรักษาวิชาอาหารได้บางส่วน อย่าง ขนมจีบไทยและปั้นสิบ ที่มีวิธีทำเฉพาะของวังนี้เท่านั้น ปัจจุบัน ขนมจีบและปั้นสิบของวังบ้านหม้อได้ผลิตออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปในรูปแบบอาหารกล่อง โดยส่งไปขายทุกวันศุกร์ที่ร้านภูฟ้า (สยามดิสคัฟเวอรี่และจตุรัสจามจุรี) และทุกวันเสาร์ที่สวนจตุจักร


4. ตำรับบ้านจักรพงษ์ หรือวังท่าเตียน
เดิมเป็นของพระเจ้าลูกเธอ เ้จ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ปัจจุบันได้ตกทอดสู่ทายาทคือ มรว. นริศรา จักรพงษ์ ปัจจุบันได้เปิดพื้นที่บางส่วนเป็นโรงแรมและ้ร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารตำรับชาววัง สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaivillas.com

อ่านเสร็จแล้วต้องขอไปลองชิม:-)

1 comment:

noka said...

มีประโยชน์และได้รับความรู้ดีทีเดียว อาหารชาววัง หากไม่มีการหวง
วิชา คงได้มีการกินกันแพร่หลายมากกว่าเวลานี้