Monday, June 29, 2015

น้ำขึ้น น้ำลง น้ำแล้ง : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความนี้ให้ภาพสังคมไทย กับ น้ำได้ดี

from 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435543211

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

มติชนรายวัน
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558



คลองสายหนึ่งในกรุงเทพฯ รูปนี้น่าจะถ่ายสมัย ร.5 

มีผู้คาดว่าน่าจะเป็นย่านที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่มีคำอธิบาย

มีเรือนตลาดแบบจีนติดกันเป็นแถว เรียกเรือนแถว แล้วมีบันไดท่าน้ำทอดพาดเรียงกันลงในคลอง สำหรับขนถ่ายสิ่งของขึ้นลงเรือ และเป็นทางลงตักน้ำใช้น้ำกิน กับอาบน้ำ

ช่วงเวลากลางวัน น้ำลงเหลือติดก้นคลอง สองฝั่งเห็นโคลนตม เรือติด จนต้องจอดเกยฝั่งอยู่อย่างนั้น เหลือแอ่งน้ำท้องคลองไว้ให้เรือเล็กแล่นไปมาได้ เรือใหญ่แล่นไม่ได้ 

พอตกกลางคืน น้ำจะขึ้นเต็มฝั่งตามปกติ เป็นอย่างนี้ชั่วนาตาปีสำหรับพื้นที่ใกล้ทะเล อยู่ใต้อิทธิพลของน้ำทะเลขึ้นลง

ปลาตีนริมคลองน้ำลง

เมื่อนุ่งกางเกงขาสั้นเรียนมัธยม ผมเคยอาศัยบ้านญาติอยู่ริมคลองวัดดาวดึงษ์ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี (เข้าออกโดยลงเรือข้ามฟากที่ท่าพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ทุกวันนี้) 

ยุคนั้นยังไม่มีน้ำประปาเข้าไป ผมต้องรอเวลาน้ำขึ้นคอยตักน้ำจากคลองไปแกว่งสารส้ม รอตกตะกอน แล้วช้อนน้ำใสข้างบนใส่ตุ่มไว้ใช้ บางทีน้ำขึ้นกลางวัน แต่บางทีก็ขึ้นกลางคืนตอนดึกๆ ต้องถ่างตารอน้ำขึ้น(ให้รีบตัก)

ถ้าน้ำลงตอนกลางวันจะเห็นปลาตีนแหวกโคลนตมตามริมคลองวัดดาวเต็มไปหมด ผมตื่นเต้นมากๆ เพราะเด็กบ้านนอกเป็นที่ดอนไม่เคยเห็นปลาตีน

ที่เห็นน้ำขึ้นน้ำลงอย่างนี้ได้ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นยุคไม่มีเขื่อนควบคุมน้ำ

[เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปิดใช้งาน 7 กุมภาพันธ์ 2500 หลังจากนั้นมีเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เปิดใช้งาน 17 พฤษภาคม 2507]

แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อน้ำลงในหน้าแล้ง จะเหลือน้ำไหลปิดท้องน้ำเท่านั้น มองเห็นโคลนตมและเศษขยะสิ่งของสองข้างตลิ่ง(แบบเดียวกับคลองในรูปประกอบ)

เมื่อเดินลงเรือข้ามฟากดูน่ากลัวหกล้มตกโคลน เพราะสะพานทอดลงโป๊ะเรือจะชันกว่าตอนน้ำขึ้น

คนกรุงเทพฯสมัยนั้นมองเป็นเรื่องปกติของหน้าแล้ง เพราะมีให้เห็นทุกปี

No comments: