Saturday, November 26, 2016

สรุปลำดับเวลาเรื่องอมรินทร์ และกรณีเบียร์ช้างอย่างง่าย

by
Theerapat Charoensuk

from
https://www.facebook.com/terasphere/posts/10153884052216809
https://www.facebook.com/terasphere/posts/10153884428081809

สรุปลำดับเวลาเรื่องอมรินทร์ และกรณีเบียร์ช้างอย่างง่าย
1. สนพ.อมรินทร์ (AMARIN) ก่อตั้งโดยคุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ นักคิดนักเขียนยุค 14 ตุลา โดยเริ่มจากการผลิตนิตยสารบ้านและสวนได้รับความนิยม เป็นนิตยสารแนวการจัดบ้านรุ่นแรกๆ ของไทย ต่อมาประสบความสำเร็จกับนิตยสารแฟชัน "แพรว" และแฟชันวัยรุ่น "แพรวสุดสัปดาห์"
2. อมรินทร์เติบโตมา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ หลายเรื่อง เช่นติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ พระมหาชนก และเรื่องทองแดง
3. อมรินทร์พรินติ้ง ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 3 มกราคม 2535
4. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และสมเด็จพระเทพฯ ทรงถือหุ้นส่วนหนึ่งในสนพ.อมรินทร์ (1.58% และ 0.63%) ตามลำดับ
5. ร้านหนังสือ "นายอินทร์" ของอมรินทร์ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่มาจากพระราชนิพนธ์เรื่อง "นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" (The Man called intrepid)
6. อมรินทร์ได้จัดประกวดวรรณกรรม นายอินทร์อะวอร์ด โดยผู้ชนะจะได้รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพ ถือเป็นรางวัลวรรณกรรมอันดับต้นของไทย
7. คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2545 จากนั้น คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ภรรยา และคุณระริน อุทกะพันธุ์ บุตรสาว เป็นผู้บริหารสืบต่อ
8. อมรินทร์เป็นผู้นำแนวคิด "ชีวจิต" โดยดร.สาทิส อินทรกำแหง เผยแพร่ให้เป็นกระแส และมีนิตยสาร "ชีวจิต" ตามมา รวมถึงแนวคิดแบบ "The secret" ซึ่งแปลมาจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นผู้ที่ทำให้ท่าน ว.วชิรเมธี โด่งดังเข้าสู่กระแสสื่อหลัก ภาพลักษณ์ของอมรินทร์จึงออกมาในแนวทางยึดหลักธรรมะ พอเพียง คนดีมีศีลธรรม และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
9. ระยะหลังปี พ.ศ. 2547 อมรินทร์และร้านนายอินทร์ได้นำเสนอหนังสือแนวธรรมะอ่านง่ายเข้าถึงง่าย เช่น เข็มทิศชีวิตของฐิตินาถ ณ พัทลุง, ผลงานของพระมิตซูโอะ คเวสโก, ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ของทพ.สม สุจีรา เป็นต้น
10. หลังปี 2551 อมรินทร์ได้ขยายกิจการร้านนายอินทร์ออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นเพื่อแข่งขันกับร้านซีเอ็ด และเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าจะประสบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และน้ำมันราคาสูง จนต้องขึ้นค่าสายส่ง อมรินทร์มีกำไรสะสมต่อหุ้นสามารถปันผลได้ราวปีละ 5% กำไรเฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท
11. ปี 2556 มีการประมูลทีวีดิจิตอล อมรินทร์ได้เพิ่มทุนครั้งใหญ่กว่าเท่าตัว เพื่อเข้าประมูลช่องทีวีเป็นของตนเอง ในขณะเดียวกัน ช่วงปลายปีมีการประท้วงของกลุ่ม กปปส. เครืออมรินทร์เป็นผู้สนับสนุนและกระบอกเสียงหลักของการชุมนุมประท้วงทั้งในทางเงินทุนและสื่อเผยแพร่ ถึงกับมีประกาศเวียนในสำนักงานว่าให้พนักงานไปร่วมม็อบชัทดาวน์ประเทศไทยของ กปปส.
12. ปี 2557-2559 อมรินทร์ขาดทุนมหาศาล รวม 2 ปี 3 ไตรมาส ขาดทุนไปถึง 950 ล้านบาท นับแต่ม็อบ กปปส. ราคาหุ้นตกลงเหลือ 1 ใน 3 จากปี 2556 หนี้สินสะสมรวม 4,000 ล้านบาท กระแสเงินสดลดต่ำเหลือเพียง 291 ล้านบาท แต่มีหนี้เงินกู้ระยะสั้นและเงินเบิกเกินบัญชี (OD) ถึง 550 ล้านบาท
13. อมรินทร์ทีวียังไม่ประสบความสำเร็จ เรตติ้งอยู่ในระดับกลุ่มล่าง และรายได้โฆษณาต่ำมากทำให้ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายราววันละ 2 ล้านบาท หนี้สินต่อทุนพุ่งถึงเป็น 4.32 เท่า ถือว่าอันตรายในการดำเนินกิจการ
14. อมรินทร์ได้ร่วมกับบ. คาโดกาว่าโชเต็น ของญี่ปุ่น เปิดตัวหัว สนพ. ฟินิกซ์ เพื่อทำตลาดนิยายแปลญีปุ่่นและมีเดียมิกซ์ในเดือนพฤศจิกายน (เลื่อนจากเดือนตุลาคม)
15. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 บอร์ดบริหาร AMARIN ประกาศเพิ่มทุน และขายหุ้น 47% ให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี แห่งเครือไทยเบฟ ผู้ประกอบกิจการโรงสุราแม่โขงและเบียร์ช้างเป็นเงิน 850 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายดำเนินกิจการต่อไป
16. ตระกูลสิริวัฒนภักดี ขอผ่อนผันจาก กลต. เพื่อไม่ต้องทำ Tender offer ตั้งโต๊ะซื้อหุ้นอิสระ (Free float) ทั้งหมด ซึ่งปกติหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 25% ต้องประกาศรับซื้อหุ้นในตลาด เนื่องจากเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากนอกตลาดโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท
17. ตระกูลสิริวัฒนภักดี จะมีสื่อในมือเทียบเท่ากับตระกูลเจียรวนนท์แห่งทรู-ซีพี รวมถึงเครือข่ายลอจิสติกส์หนังสือและหน้าร้านหนังสือนายอินทร์กว่า 160 สาขาทั่วประเทศทันที
18. ตระกูลอุทกะพันธุ์ยังดำรงตำแหน่งระดับบริหารของอมรินทร์ จนกว่าตระกูลสิริวัฒนภักดีจะแต่งตั้งกรรมการบริหารใหม่ ปิดฉากตำนานของชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ริเริ่มนิตยสารปกิณกะบันเทิงและวงการสื่อไทยยุคร่วมสมัยไปในที่สุด
19. บริษัทคาโดกาวะอมรินทร์ ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคาโดกาวะโชเต็นจากญี่ปุ่น ถือหุ้นใหญ่ 49% อมรินทร์ถือน้อยกว่าที่ 46% และผู้บริหารมาจากญี่ปุ่น
20. คาดว่าจะมีการลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนรวมถึงการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในบริษัทอมรินทร์เร็วๆ นี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ พี่น้องชาวอมรินทร์ทุกท่าน หวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดี

----------------------------------------------

สาเหตุของการขาดทุนหนักของ AMARIN
( ปี 2557 ขาดทุน 86 ล้าน
ปี 2558 ขาดทุน 417 ล้าน
ปี 2559 ถึงไตรมาสสาม ขาดทุน 468 ล้าน)
สภาวะสื่อใหม่ที่เปลี่ยนแปลง สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยประกอบให้ธุรกิจสื่อเสียรายได้ แต่ทำไมอมรินทร์ถึงหนักกว่าเพื่อน? (ถ้าไม่นับเนชัน ที่ใช้วิธีทางบัญชีและกำลังมีปัญหาผู้ถือหุ้นฟ้องร้องกันอยู่)
1. อมรินทร์มีธุรกิจในมือถึงสามแบบ คือ ร้านหนังสือ(รวมสายส่ง) สำนักพิมพ์/โรงพิมพ์ และดิจิตอลทีวี ถ้าอยู่ภาวะรุ่งเรือง ก็จะหนุนเสริมกันทำกำไรได้มาก แต่เมื่อธุรกิจทั้งสามล้วนอยู่ในภาวะธุรกิจอัสดง (sunset business) การขาดทุนและรายจ่ายก็มากเป็นสามเท่า
2. ดิจิตอลทีวีเป็นธุรกิจใหม่ที่ลงทุนใหม่หมดตั้งแต่เริ่มต้น การแย่งบุคลากร การสร้างพื้นที่ถ่ายทำ และโครงข่าย รวมถึงค่าประมูลสิทธิ์ ทำให้เป็นรายจ่ายมหาศาล แม้จะสามารถลงบันทึกบัญชีว่าเป็นสินทรัพย์ทุนและสินทรัพย์ประเภทจับต้องไม่ได้ (intangible asset) แต่ก็เสื่อมค่าลงและก่อรายจ่ายดำเนินการ รวมถึงค่าบำรุงรักษาต่อเนื่อง
3. ดิจิตอลทีวีได้รับผลกระทบหนักหลังรัฐประหาร การถูกนำเวลาไปใช้ให้รายการของรัฐฟรีๆ หลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ การปิดกั้นข่าวสารและห้ามนำเสนอประเด็นร้อนบางประเด็น และเม็ดเงินโฆษณาของรัฐที่หายไป (เพราะบังคับให้ออกอากาศได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณา ต่างจากรัฐบาลปกติ) ทำให้ก้อนเค้กรายได้ของโทรทัศน์เล็กลงอย่างมาก ในขณะที่มีคู่แข่งขันสูง
4. โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่อทั้งหนังสือและโทรทัศน์ คนยอมจ่ายเงินซื้อหนังสือยากขึ้น และคนดูทีวีลดลง คู่แข่งในโซเชียลมีเดียเกิดใหม่อย่าง line TV หรือ facebook live ตอบโจทย์สังคมมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารที่ไม่สามารถนำเสนอเรื่องทันสมัยได้เร็วเท่าโซเชียลมีเดีย
5. ตัวสำนักพิมพ์ของอมรินทร์ปรับตัวได้ช้า และเป็นผู้ตามกระแสมากกว่าจะสร้างสรรค์เพื่อนำ แอพอีบุคมาช้าและทำงานไม่ดีเท่า ookbee, ระบบสั่งหนังสือผ่านเว็บยุ่งยากและไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้, สนพ.หัวใหม่เปิดมาเพื่อตามกระแสนิยม แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ, ฐานนิตยสารเดิมลดลงเพราะแนวคิดการเมืองและการเปลี่ยนแปลงรุ่นอายุผู้อ่าน, นิยายแปลยังคงคุณภาพดี แต่ขาดเรื่องระดับแม่เหล็กทำรายได้ต่างจากในอดีต (เกม ออฟ โทรนส์ คนชอบซีรีส์น้อยคนที่จะทนอ่านนิยายเรื่องยาว)
6. สภาพเศรษฐกิจต่างจังหวัดที่เคยเฟื่องฟูย่ำแย่ลงมาก ร้านสาขาในห้างต่างจังหวัดยอดขายตกฮวบ เพราะภาวะสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ การค้าต่างจังหวัดซบเซา รายจ่ายไม่จำเป็นอย่างหนังสือต้องถูกตัดก่อน ซึ่งในกรณีนี้ซีเอ็ดก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน
7. อมรินทร์ทั้งเครือยังดูขาดเข็มทิศนำแผนเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ ไม่สามารถระบุภารกิจเฉพาะเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหวังว่าการเข้ามาของตระกูลสิริวัฒนภักดีจะเปลี่ยนแปลงความเคยชินของอมรินทร์ เพื่อรักษาสำนักพิมพ์ที่ถือว่ามีคุณภาพแห่งหนึ่งของไทยให้กลับมาประสบความสำเร็จ ฝ่าฟันวิกฤตวงการสื่อนี้ไปอีกครั้ง


No comments: